การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยวีดีโอคลิปสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ในรูปแบบสะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกในไทย ตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม–ชุมพร ชาวเน็ตแห่แชร์ และยอดวิวกว่า 1 หมื่นวิว
วันนี้ (24 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย" ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่วีดีโอคลิปสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นสะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกในไทย ขนานไปกับสะพานจุฬาลงกรณ์ (สะพานรถไฟ) และสะพานธนะรัชต์ (สะพานรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจร) ในพื้นที่ อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี ซึ่งก่อสร้างในรูปแบบสะพานรถไฟชนิดคานขึง หรือเอ็กซ์ตราโดสด์ เรลเวย์ บริดจ์ (Extradosed Railway Bridge) ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม–ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร คลิปดังกล่าวมีผู้เข้าชมมากถึง 1 หมื่นครั้ง และแชร์ออกไปนับร้อยครั้ง
สำหรับสะพานดังกล่าว ก่อสร้างขึ้นเนื่องจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดเพื่อตัดเส้นทางกองทัพญี่ปุ่น บริเวณสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ และเมื่อกองทัพญี่ปุ่นสร้างสะพานรถไฟใหม่โดยใช้ไม้ เมื่อนำหัวรถจักรรถไฟไทยมาวิ่งทดสอบ ปรากฎว่าตอม่อชั่วคราวไม่สามารถรับน้ำหนักได้ สะพานไม้จึงหัก หัวรถจักรจมน้ำใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ส่วนระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยังคงหลงเหลือใกล้เคียงกับหัวรถจักร ทำให้การรถไฟฯ ได้แก้แบบการก่อสร้างโดยใช้สะพานคานขึง
สะพานคานขึงเป็นรูปแบบสะพานที่มีการใช้เคเบิลรองรับน้ำหนักของคานเข้ากับเสาหลัก ช่วยลดจำนวนตอม่อที่รองรับน้ำหนักลง แก้ปัญหาข้อจำกัดของสะพานรูปแบบเดิมที่จะใช้ตอม่อจำนวนมาก ซึ่งการก่อสร้างอาจจะไปกระตุ้นให้ระเบิดในแม่น้ำทำงาน โดยสะพานดังกล่าวมีความยาว มีความยาวรวม 340 เมตร ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองมีความยาว 160 เมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการจากนครปฐมถึงชุมพรในปี 2566 ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมและศึกษาประวัติศาสตร์
ชมคลิป คลิกที่นี่
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับสะพานคานขึงดังกล่าว ก่อสร้างโดย บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด ความคืบหน้า ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา 96.506% ช้ากว่าแผน 0.813%