เพจชุมชนคนรักรถเมล์เผยช่องโหว่บัตรโดยสารรายเดือน ขสมก. สำหรับนักศึกษา ไม่จำกัดอายุผู้ใช้บัตรให้รัดกุม ส่งผลให้วัยผู้ใหญ่ที่ตั้งใจโกง เนียนใช้บัตรได้ พอพนักงานขอดูบัตรนักศึกษา เจอด่ากลับและถูกร้องเรียนเข้า 1584 พบบัตรรถปรับอากาศราคาปกติ 1,020 บาท ถ้าเนียนเป็นนักศึกษาจ่ายเพียง 540 บาท สูญเสียรายได้ 480 บาท
วันนี้ (24 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์" โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ช่องโหว่บัตรเดือนนักศึกษา ขสมก.ไม่จำกัดอายุผู้ใช้บัตร ผู้ใหญ่เรียน ป.โท ยังเนียนใช้ พนักงานทักท้วงกลับโดนผู้โดยสารด่ากลับ" ระบุว่า ในปัจจุบัน ขสมก. ได้มีการจำหน่ายบัตรเดือน/สัปดาห์ ซึ่งผู้ใช้งานบัตรสามารถขึ้นรถ ขสมก.ได้แบบบุฟเฟ่ต์ไม่จำกัดเที่ยว ตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งมีทั้งบัตรสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และบัตรสำหรับนักเรียน-นักศึกษา แต่ในส่วนของ "บัตรเดือนสำหรับนักเรียน ม.4 ขึ้นไป และนักศึกษา" ซึ่งปัจจุบันมีราคา 270 บาท (เฉพาะรถร้อนอย่างเดียว) และราคา 540 บาท (ทั้งรถร้อนและรถแอร์) นั้น กลับพบว่า ขสมก.ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการใช้งานบัตรให้รัดกุม โดยไม่ได้จำกัดอายุของผู้ใช้งานบัตรไว้
ส่งผลให้มีผู้โดยสารซึ่งเป็น "วัยผู้ใหญ่" (บางคนก็ผมหงอกแล้ว) ที่กำลังศึกษาอยู่ตามมหาวิทยาลัยเปิด หรือในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี (เช่น ป.โท ป.เอก) สามารถเนียนใช้บัตรเดือนนักศึกษาได้ โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไขของ ขสมก. เพราะเวลาพนักงานบนรถขอดูบัตรนักศึกษา ก็สามารถแสดงบัตรได้ว่าตัวเองศึกษาอยู่ บางเคส เมื่อพนักงานบนรถทักท้วงแล้ว กลายเป็นว่าผู้โดยสารด่าพนักงานกลับอีก หาว่าไม่ได้อบรมบ้าง เมื่อพนักงานถามถึงหัวหน้างานว่ามีวิธีจัดการกับ "นักศึกษาทิพย์" อย่างไร กลับให้คำตอบไม่ได้ เพราะหน่วยงานไม่มี Process เอาไว้ ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของพนักงานบนรถเอง (ซึ่งบางทีก็ไปจบที่อาคาร 3 ชั้น 4 กรมการขนส่งทางบก เพราะโดนผู้โดยสารร้องเรียนเข้า 1584)
เมื่อเทียบกับบัตรโดยสารนักเรียน-นักศึกษาของรถไฟฟ้าต่างๆ ทั้งบัตรแรบบิท BTS บัตร MRT หรือ Airport Rail Link จะมีกำหนดอย่างชัดเจน ว่าผู้ใช้บัตรต้องมีอายุไม่เกิน 23 ปี และพนักงานมีสิทธิ์ในการขอตรวจบัตรประชาชน-บัตรนักเรียน/นักศึกษาของผู้ใช้บัตรได้ เมื่อมีการร้องขอ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโทษของผู้ที่ใช้บัตรโดยสารผิดประเภท โดยริบบัตรคืน และปรับเป็นจำนวนเงิน 20 เท่า ของอัตราค่าโดยสารสูงสุด ฝากให้เป็นการบ้านของ ขสมก. พร้อมบวก ช่วยพิจารณาเงื่อนไขการใช้บัตรให้รัดกุมขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ทั้งหน่วยงาน และจะได้ไม่มีปัญหากันระหว่างพนักงานกับผู้โดยสารอีกครับ"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ด้านชาวเน็ตต่างออกมาทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้ง บางคนถามว่า "จะไปเรียกเค้าว่านักศึกษาทิพย์ได้ไง เค้าก็สมัครเป็นนักศึกษาถูกต้อง" แอดมินตอบกลับมาว่า มันมีเคสคนที่ตั้งใจโกงจริงๆ อยู่ พวกที่พนักงานท้วงขอตรวจบัตรนักศึกษา แล้วไม่ยอมให้ตรวจ แถมด่าพนักงานกลับอีก และพนักงานก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ขณะที่ความเห็นชาวเน็ตที่น่าสนใจ ได้แก่
- ที่ต่างประเทศ คนอายุเยอะๆ ที่ไปเรียน ป.เอกก็ใช้บัตรนักศึกษาได้นะคะ แต่ต้องแสดงบัตรนักเรียน ไม่จำกัดอายุค่ะ
- ผมอายุ 33 ปี ก็ยังเรียน ป.ตรีไม่จบนะ ไม่เกี่ยวว่าจะเรียนระดับชั้นไหน ถ้าคิดว่าอายุมากแล้วห้ามใช้บัตรนักเรียน ก็กำหนดอายุไปเลย เพราะบางคนอายุ 40 50 60 เรียน ป.ตรี ก็มี
- ถือว่า ขสมก. พลาดเองนะ ไม่ออกมาตรการรัดกุม แต่เคสนี้คงมีไม่มาก กระเป๋าตั๋วปล่อยผ่านไปเถอะ ถ้าหัวหงอกมาขึ้นรถอัตรานักศึกษาก็ให้พูดดังๆ ขอดูบัตรนักศึกษาด้วย
- ดันครับ เพราะปล่อยแบบนี้มานานแล้ว จะออกบัตรมาทั้งที ไม่ศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ สุดท้ายหน่วยงานก็เสียประโยชน์เอง
- เราว่าถูกแล้วนะคะ support คนที่โตแล้วอยากเรียน ต้องเดินทาง ออกจะดี ทำให้เยอะๆ เลยค่ะ เด็กๆ มันแทบจะหมดเมืองแล้วนะ ผู้ใหญ่ยังใฝ่เรียนก็ถือเป็นเรื่องดีไหมคะ
- ต้องมองที่จุดประสงค์ของการออกตั๋วสำหรับนักศึกษาก่อนครับ ว่าเพื่ออะไร เพื่อสนับสนุนการศึกษาหรือเปล่า หรือแค่มองว่าสนับสนุนคนอายุน้อย ถ้าจะสนับสนุนให้คนที่กำลังศึกษาเดินทางได้สะดวกและประหยัดลง การไม่เอาประเด็นเรื่องอายุมาเกี่ยวข้องก็ถือว่าถูกต้องครับ ต่างประเทศหลายประเทศก็ทำแบบนี้ ดังนั้นมันไม่ควรมีจะคำว่า "เนียน" หรือ "นักศึกษาทิพย์" ครับ
- เคสแบบนี้ไม่เยอะหรอกครับ ขอให้เป็นนักศึกษาจริง ถือบัตรนักศึกษาเถอะ จะตรี โท เอก ถือว่ามาใช้ สำหรับผมดีกว่า ขับรถคนละคัน
- ขสมก.ไม่ละเอียดเอง เดือนนี้ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้เขาไป แล้วเดือนหน้าก็ต้องเขียนให้รัดกุมกว่านี้
- ต้องออกกฎให้ชัดเจนเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส และจำกัดอายุ
- ควรจะกำหนดอายุผู้ใช้บัตรประเภทนี้ หรือกำหนดระดับศึกษาของผู้ถือบัตรให้ชัดเจน ว่าใช้ได้จนถึง ป.ตรี ปีไหน พร้อมแนบบัตรนักเรียน-นักศึกษาคู่กันด้วย ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทำหนังสือกำหนดชี้แจงกันไปเลย ขืนเป็นแบบนี้ ปัญหาก็ไม่จบไม่สิ้นสักที
- ไม่มีใครแก่เกินเรียนจริงๆ ครับ ฉะนั้นนักเรียน กศน.ก็ใช้ได้สิครับ
- ใช้บัตรคู่กับบัตรนักศึกษา ก็ได้ แล้วกำหนดเงื่อนไขใหม่ บัตรนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ไม่รวม ป.โท ป.เอก
- ม.รามคำแหง ม.สุโขทัยธรรมาธิราช อายุรุ่นป้าก็มีมาใช้ ทำงานเป็นหลักแหล่ง บางคนทำงานธนาคาร ก็ยังงัดเอามาใช้
- ก็ดีนะครับ เป็นการสนับสนุนให้คนศึกษาต่อ สนับสนุนนโยบายรัฐบาล
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้นำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อลดต้นทุนการผลิตบัตรโดยสารแบบกระดาษ และเพื่อสนองนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล โดยการแตะบัตรผ่านเครื่อง EDC ของพนักงานเก็บค่าโดยสารขณะใช้บริการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบเติมเงิน หักเงินตามอัตราค่าโดยสารของรถโดยสารแต่ละประเภท อีกประเภทหนึ่ง คือบัตรล่วงหน้ารายเดือน/รายสัปดาห์
สำหรับบุคคลทั่วไป บัตรรถโดยสารธรรมดา รายสัปดาห์ ราคา 120 บาท รายเดือน ราคา 480 บาท บัตรรถโดยสารปรับอากาศ รายสัปดาห์ ราคา 255 บาท รายเดือน ราคา 1,020 บาท แต่สำหรับบัตรโดยสารสำหรับนักเรียน นักศึกษา ประกอบด้วย บัตรรถโดยสารธรรมดา รายเดือน ตั้งแต่ชั้น ม.3 ลงมา ราคา 135 บาท ตั้งแต่ชั้น ม.4 ขึ้นไป ราคา 270 บาท บัตรรถโดยสารปรับอากาศ รายเดือน ตั้งแต่ชั้น ม.3 ลงมา ราคา 270 บาท ตั้งแต่ชั้น ม.4 ขึ้นไป ราคา 540 บาท
เมื่อ ขสมก. ไม่จำกัดอายุผู้ถือบัตรนักเรียน/นักศึกษา หากมีผู้ใหญ่ที่ใช้สิทธินักศึกษาดังกล่าว เท่ากับว่าส่วนต่างจะสูงถึง 210 บาทสำหรับรถธรรมดา และ 480 บาทสำหรับรถปรับอากาศเลยทีเดียว เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ ขสมก. สูญเสียรายได้ ขณะที่ผ่านมา ขสมก. มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอด ปัจจุบันมีหนี้สินสะสมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟู