นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตรวจสอบและช่วยเหลือแล้ว หลังพนักงานร้านซูชิถูกลอยแพเกือบ 100 ชีวิต พบลูกจ้าง 50 รายยื่นขอรับเงินประกันว่างงานแล้ว
จากกรณีร้าน "ดารุมะ ซูชิ" ลอยแพพนักงาน โดยพบว่าลูกจ้างทั้งหมดมีชื่ออยู่ในประกันสังคม มีสิทธิได้รับเงินค่าว่างงาน 50% ของค่าจ้าง
ล่าสุดวันนี้ (21 มิ.ย.) มีรายงายว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างดารุมะ ซูชิ ที่ถูกเลิกจ้าง ว่า ตนเองสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตรวจสอบและเร่งให้ความช่วยเหลือในทันที ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ร้านดารุมะ ซูชิ ได้จดทะเบียนในนามบริษัท ดารุมะ ซูจิ จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 87 โครงการเดอะ แจ๊ซ รามอินทรา ชั้นที่ 2 ห้องเอ 217 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่น มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการ มีลูกจ้าง 71 คน ได้เปิดให้บริการอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งสิ้นจำนวน 27 สาขา และเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการสาขาได้ประกาศปิดร้านและเลิกจ้างพนักงาน โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 9 ได้ไปที่สำนักงานใหญ่ แต่ไม่พบบุคคลใดจึงปิดหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 27 มิถุนายน 2565
นอกจากนี้ นายสุชาติยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงแรงงาน ว่าการช่วยเหลือด้านประกันสังคม สำนักงานใหญ่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้แก่ลูกจ้างทั้งของสำนักงานใหญ่มี 8 คน และของสาขา 63 คน เบื้องตันมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนรวม 71 คน ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว 71 คน เมื่อถูกเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินค่าว่างงาน 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หากมีลูกจ้างที่สำนักงานใหญ่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการให้นายจ้างยื่นขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และให้นำส่งเงินสมทบเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งหากมีหลักฐานว่ามีการจ้างงาน มีนิติสัมพันธ์นายจ้าง ลูกจ้างกันจริง เช่น มีสลิปการจ่ายค่าจ้าง หรือหลักฐานอื่นๆ ก็ถือว่าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทน เช่น กรณีเลิกจ้าง หากมีหลักฐานว่าทำงานเกิน 6 เดือน ลูกจ้างก็มีเบิกกรณีว่างงานได้ ส่วนเงินสมทบที่นายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้นำส่งเงินสมทบสำนักงานประกันสังคมจะไปติดตามนายจ้างและดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนการช่วยเหลือด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้เหตุเพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือเป็นการเลิกจ้าง โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับคำจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง
ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถเข้ามายื่นคำร้อง คร.7 และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ด้านนางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน และรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ตนได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ลงพื้นที่มาเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งผู้จัดการร้านได้นำลูกจ้างจำนวน 50 คน มายื่นขอรับเงินประกันการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ยังได้มาตั้งโต๊ะรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบกิจการต่างๆ เช่น เซ็นทรัลรีเทล ไทยเบฟเวอเรจ รวมจำนวนกว่า 1,000 อัตรา เพื่อให้ลูกจ้างได้สมัครงานและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วย