xs
xsm
sm
md
lg

"อาจารย์ธรรมศาสตร์" ยกย่อง "ฟ้าเดียวกัน" หลังอยู่มา 20 ปี ชี้เป็นวารสารภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ชื่นชมวารสารฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย หลังอยู่มา 20 ปี เหตุล่าสุดประกาศยุติการทำวารสาร เนื่องจากภาวะขาดแคลนต้นฉบับเพราะมีบทความส่งเข้ามาน้อยลง

จากกรณี สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ประกาศยุติการทำวารสาร โดยจะตีพิมพ์วารสารฟ้าเดียวกันปีที่ 20 ฉบับที่ 2 เป็นเล่มสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากภาวะขาดแคลนต้นฉบับ โดยจะหันมาผลิตหนังสือเล่มและหนังสือชุดเป็นหลัก ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ได้ผลิตวารสารฟ้าเดียวกันจำนวน 56 เล่ม โดยมีผู้อ่านให้การตอบรับ ตลอดจนนักวิชาการและบุคคลทั่วไปที่ได้ร่วมส่งบทความมาตีพิมพ์ แม้มีค่าตอบแทนเพียงน้อยนิดก็ตาม แต่ปัจจุบันมีบทความส่งเข้ามาน้อยลง อาจเนื่องจากสื่อโซเชียลที่ทำหน้าที่ได้รวดเร็วกว่า หรือวารสารของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะตีพิมพ์วารสารในแบบที่พอใจต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Kasian Tejapira" หลังวารสารฟ้าเดียวกันปิดตัวลง โดยได้ระบุข้อความว่า

"วารสารภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย

กล่าวเฉพาะที่ผมได้ศึกษาค้นคว้าประวัติความคิดการเมืองและการเมืองวัฒนธรรมไทยมา ผมคิดว่ามีวารสารทางภูมิปัญญาสังคมการเมืองบางฉบับที่เป็นธงนำบุกเบิกความคิดล้ำหน้าที่สุดในยุคสมัยของมันและจะเข้าใจบรรยากาศทางความคิดของยุคสมัยนั้นได้ ก็แต่โดยตั้งใจอ่านค้นวารสารเหล่านั้น

ในยุคทศวรรษ ๒๔๙๐ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ อักษรสาส์น ของคุณสุภา ศิริมานนท์ กับคณะ ในยุคทศวรรษ ๒๕๐๐ หลังสฤษดิ์ยึดอำนาจและเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ได้แก่ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และต่อมาคือคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ

ในยุคทศวรรษ ๒๕๒๐ หลังการฆ่าหมู่และรัฐประหาร ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ และป่าแตก ได้แก่ วารสารปริทัศน์สารของกลุ่มคนทำหนังสือที่ออกจากป่า, เศรษฐศาสตร์การเมืองของคณาจารย์และนิสิตกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ, และปาจารยสารของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ลูกศิษย์ลูกหาและกัลยาณมิตร

ในยุคทศวรรษ ๒๕๔๐ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ก็ได้แก่ วารสารฟ้าเดียวกันของทีมธนาพล ชัยธวัชกับเพื่อน ซึ่งยืนระยะยาวนานกว่าวารสารอื่นก่อนหน้านี้ทั้งหมด และฝ่าฟันยุคที่การเมืองปรวนแปรพลิกผันสลับซับซ้อนที่สุดยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ก่อนหน้านั้น

ผมคบหารู้จักกับเจ้าอิ๋วและต๋อมมาตั้งแต่ช่วงฉบับแรก จำได้ประทับใจว่าพวกเขาเป็นสองคนที่คุยด้วยแล้ว ทำท่าขี้สงสัย ไม่เชื่อง่ายๆ ที่สุด ผมไม่รู้เลยว่าที่คุยออกจากปากไป โดนทั้งคู่เอาไปเคี้ยว ย่อย แยกธาตุ คายทิ้ง หรือเก็บไว้วิพากษ์วิจารณ์ต่ออย่างไร เสียวสยองอยู่ตลอด มีการวิวาทะ ทะเลาะเบาะแว้ง เข้าใจถูกเข้าใจผิดกันไม่น้อยครั้ง จนกระทั่งค่อยๆ กลายมาเป็นพรรคพวกและเพื่อนมิตรกันท่ามกลางสถานการณ์ผกผันที่พิสูจน์น้ำใจและจุดยืนของกัน

อย่างไรก็ตาม ผมใคร่ชี้ว่าผมตัดสินใจถูกแล้วที่เมื่อวารสารฟ้าเดียวกันชวนให้สมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพด้วยเงินก้อนเขื่องนั้น ผมปฏิเสธทันควัน เพราะไม่เคยเชื่อน้ำยาเลยว่าวารสารเย้ยฟ้าท้าดินแบบนี้จะมีอายุยืน "ตลอดชีพ" ได้ในเมืองไทย แต่อยู่มาได้ ๒๐ ปีก็แน่แล้วล่ะเพื่อนนะ ฮาาาาาา"
กำลังโหลดความคิดเห็น