xs
xsm
sm
md
lg

"สคบ." ลุยสอบร้านบุฟเฟต์แซลมอน ระบุพฤติกรรมเจ้าของร้านส่อเจตนาฉ้อโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.ลงพื้นที่ตรวจสอบร้าน ดารุมะซูชิ บุฟเฟต์แซลมอน ทาง สคบ.ติดต่อเจ้าของกลับทราบว่าได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว

จากกรณีร้าน "ดารุมะ ซูชิ" (Daruma Sushi) ร้านบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในห้างดังต่างๆ เปิดจำหน่ายเวาเชอร์ (Voucher) หรือคูปองล่วงหน้า ในราคาใบละ 199 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จากนั้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาร้านปิด โดยแจ้งว่าปรับปรุงระบบ ก่อนเพจเฟซบุ๊กของร้านได้ปิดลงเช่นกัน จึงมีลูกค้าได้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดวันนี้ (20 มิ.ย.) เพจ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" ได้รายงานความคืบหน้าระบุว่า "พันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดารุมะซูชิ บุฟเฟต์แซลมอน ที่ปิดร้านกะทันหันแต่ขายคูปองให้ลูกค้ากว่าแสนใบ ไม่สามารถใช้บริการได้

จากการตรวจสอบ สาขาเดอะแจ๊ซ รามอินทรา พบว่าร้านปิดเหมือนสาขาอื่นๆ โดยหน้าร้านเขียนป้ายว่า ขออภัยค่ะ ปิดบริการ โดยทางผู้ให้เช่าสถานที่ให้ข้อมูลว่าทางร้านค้างค่าเช่า 2 เดือนแล้วก็หายไป

ซึ่งปกติร้านนี้ขายดีมาก ลูกค้ามารอเต็มหน้าร้าน แต่เมื่อวันศุกร์ช่วงเช้า ร้านเปิดก็มีลูกค้ามารอ จนกระทั่งรู้ข่าวว่าร้านปิดบริการ ทางสถานที่ให้เช่าก็เพิ่งทราบข่าววันเดียวกัน พันตำรวจเอก ประทีประบุว่า พฤติกรรมของเจ้าของร้านส่อเจตนาฉ้อโกง เนื่องจากเจ้าของร้านรู้ตัวอยู่แล้วว่าธุรกิจไม่ดี จึงจัดโปรโมชันเร่งระดม โปรโมชันยิ่งซื้อเยอะจะได้ราคาถูก และเพิ่งทำได้ไม่นาน พอได้เงินก็ไป

โดยทาง สคบ.ออกหนังสือเรียกนายเมธา ชลิงสุข เจ้าของกิจการ มาให้ข้อมูลแล้ว แต่ติดต่อไม่ได้ จากการตรวจสอบข้อมูลกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พบว่านายเมธาเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว

ซึ่งข้อมูลของ สคบ.ตรวจพบว่าช่วงแรก เจ้าของร้านประกอบธุรกิจอาหารจริง แต่ประสบปัญหาหนี้สิน จึงจัดโปรโมชัน แต่ราคาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ต้นทุนสูงแต่ขายถูก และยังมีหนี้สินจากซัปพลายเออร์ และค้างค่าเช่าที่ จึงระดมจัดโปรฯ 199 กินไม่อั้น และเพิ่งขายได้ไม่นาน การกระทำนี้คือเจตนาฉ้อโกง
ในส่วนของการดำเนินการตรวจสอบ ต้องแยกเป็น 5 กลุ่ม
1. กลุ่มผู้เสียหายที่ซื้อคูปอง
2. กลุ่มพนักงานในร้าน
3. แฟรนไชส์
4. ซัปพลายเออร์
5. กลุ่มเจ้าของสถานที่

กรณีนี้การซื้อขายคูปองทางแอปพลิเคชัน หากปิดแอปฯ ไปก็จะไม่มีหลักฐาน จึงขอให้ผู้เสียหาย ให้พรินต์เอกสารไว้เพื่อเป็นหลักฐานดำเนินคดีได้

หลังจากนี้ ทาง สคบ.จะหามาตราการในการควบคุมดูแลกลุ่มผู้ประกอบการที่จัดโปรโมชันแบบนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย และให้ประชาชนสังเกตความผิดปกติ ราคาถูกเกินไปหรือไม่ ราคาเป็นแรงจูงใจ จ่ายก่อน บริการทีหลัง ให้ดูรายละเอียดให้ดี

ส่วนกรณีของกลุ่มผู้ค้าที่กดคูปองมาขายต่ออีกครั้ง ตามนิติกรรมสัญญา คนที่รับผิดชอบโดยตรงคือคนที่กดคูปองมาขาย แต่เรื่องนี้ต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง รวมทั้งผู้ซื้อแฟรนไชส์ด้วย ว่ารู้เห็นหรือไม่ และเส้นทางการเงิน การซื้อคูปอง เงินเข้าบริษัทโดยตรง หรือผ่านสาขา"

คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น