เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ ได้เกิดการยึดอำนาจขึ้นอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย การยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถือกันว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” หมายถึงการแปรเปลี่ยนจากหลักการเก่าไปสู่หลักการใหม่ เช่นการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือการปฏิวัติการปกครอง ส่วนการยึดอำนาจเพื่อแย่งชิงอำนาจ อันเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องกลายเป็นกบฏ แต่ถ้าทำสำเร็จชิงอำนาจรัฐได้ ทำอะไรก็ถูกกฎหมายไปทุกอย่าง เรียกว่า “รัฐประหาร”
การยึดอำนาจในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ จึงถือได้ว่าเป็นการทำรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มใช้มายังไม่ทันครบปีแต่กำลังถอยหลังเข้าคลอง กลับเดินหน้าต่อมาได้จนถึงวันนี้ เลยเป็นแบบอย่างให้ทำรัฐประหารกันอีกหลายครั้ง จนถือได้ว่าเป็น “โรคประจำถิ่น” ของประเทศไทย บางครั้งก็เป็นที่พอใจของคนจำนวนมาก เอาดอกกุหลาบไปให้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะถูกสาปแช่ง เพราะทำเพื่อตัวเองอยากจะเป็นใหญ่
การทำรัฐประหารครั้งแรกนั้น สาเหตุมาจากคณะราษฎรที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ แต่ใช่ว่ามีกำลังสนับสนุนมาก แค่หลอกทหารจำนวนหนึ่งให้มาซ้อมรบที่ลานพระรูป จากนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา มีตำแหน่งเป็นจเรทหารปืนใหญ่ มีหน้าที่ตรวจการและให้ความรู้แก่ทหารปืนใหญ่ ถูกเกลี้ยกล่อมให้เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ได้ก้าวออกไปยืนต่อหน้าแถวทหาร ติดตามด้วยทหารเสือร่วมทีมอีก ๓ นาย คือ พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) อ่านประกาศที่เตรียมมาว่า
“...บัดนี้คณะราษฎรอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ได้พร้อมใจกันเข้ายึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศทั้งหลาย...”
จากนั้นก็แยกย้ายกันออกควบคุมจุดยุทธศาสตร์และบุคคลสำคัญ เช่น จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เจ้าของฉายา “จอมพลบางขุนพรหม” ผู้มีอำนาจล้นฟ้าในเวลานั้น กับนายพลโทพระยาสีหราชเดโชชัย (สวาท บุนนาค) เสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นคนจริงที่รู้กิตติศัพท์กันดี
แต่คณะราษฎรก็ควบคุมไว้ได้เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ทหารหลายกองพลในหัวเมืองเมื่อทราบข่าวการยึดอำนาจในกรุงเทพฯ ได้เคลื่อนกำลังจะเข้ามาปราบกบฏ อย่างกองพล ๒ ที่ปราจีนบุรี ซึ่งมี พล.ต.หม่อมเจ้าทีฆายุ ทองใหญ่ เป็นผู้บัญชาการกองพล ได้สั่งเคลื่อนกำลังทันที ทั้งยังส่งข่าวไปถึงกองพลที่ ๓ นครราชสีมา ซึ่งเป็นกองพลที่ใหญ่กว่า นัดให้เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯด้วยกัน
แต่แล้วกองพลหัวเมืองทั้งหลายก็ต้องชะงักลงทั้งหมด เมื่อในบ่ายวันนั้น “จอมพลบางขุนพรหม” ได้ประทานลายพระหัตถ์ตามคำขอของคณะราษฎร เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง มีข้อความว่า
“ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหารข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยกันเองโดยไม่จำเป็นเลย
(ลงพระนาม) บริพัตร”
ด้วยเหตุนี้ แม้จะยึดอำนาจได้แต่คณะราษฎรก็กล้าๆกลัวๆ ไม่กล้าทำอะไรให้คนที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์โกรธแค้นยิ่งไปกว่านี้ เมื่อตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ก็พยายามจะประนีประนอม ไปเชิญเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เนติบัณฑิตจากอังกฤษ ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ชวนมาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในโรงเรียนกฎหมายร่วมกัน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเป็นองคมนตรี และภรรยาก็เป็นนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางรำไพพรรณี ต้องการให้พระยามโนฯประสานรอยร้าวในขณะนั้น ซึ่งที่ประชุมคณะราษฎรก็เห็นพ้องกับหลวงประดิษฐ์ฯ จึงลงมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นเอกฉันท์
เมื่อประกาศชื่อพระยามโนฯเป็น “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าที่กำลังท้อแท้ห่อเหี่ยวพากันตื่นตะลึงไปตามกัน ไม่คาดคิดว่าในสถานการณ์จะพลิกผันไปได้ถึงขนาดนี้ ทำให้มีกำลังใจกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที ต่างเข้ารุมล้อมพระยามโนฯ อาศัยความสัมพันธ์กันมาก่อนเข้าหว่านล้อม และมุ่งเป้าที่จะคิดบัญชีแค้นกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ที่เขียนแถลงการณ์คณะราษฎรประนามอำนาจเก่าอย่างรุนแรง
หลังจากนั้น ๓ ทหารเสือคณะราษฎรยังเกิดความขัดแย้งกับพระยาพหลฯ หันกลับไปร่วมกับกลุ่มพระยามโนฯ ทำให้กลุ่มของพระยามโนฯมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน ไม้เบื่อไม้เมาของหลวงประดิษฐ์ฯถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีกลาโหม พระยาศรีวิสารวาจาผู้ทูลคัดค้านพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ พระยามโนฯเชื่อมั่นว่ามีอำนาจใน ครม.และทางทหารเหนือกว่าคณะราษฎร แต่ในสภาเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ พระยามโนฯจึงเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ และออกประกาศพระราชกฤษฎีกาในค่ำของวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๕ ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ห้ามเรียกประชุมจนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ให้ยุบคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีซึ่งถูกยุบ เป็นนายกของคณะรัฐมนตรีใหม่ ระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
ที่สำคัญก็คือ “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”
หมายความว่า ถ้าบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกานี้ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ให้ระงับการใช้รัฐธรรมนูญข้อนั้นไว้ แสดงว่าพระราชกฤษฎีกาที่ ครม.พระยามโนฯออกนี้ เหนือกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก
จะถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจด้วยพระราชกฤษฎีกานี้ก็ย่อมได้
และเมื่อตั้ง ครม.ใหม่ ก็ปรากฏว่าไม่มีชื่อของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองร่วมด้วย พร้อมกับคนที่สนิทกับหลวงประดิษฐ์ฯอีก ๔ คน
แค่นี้ก็เหนือกว่าที่คิดว่าจะมีใครกล้าทำแล้ว พระยามโนฯยังรุกต่อด้วยการส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมพร้อมภรรยาออกไปต่างประเทศในฐานะ “คนธรรมดา และศึกษาภาวะแห่งเศรษฐกิจในประเทศต่าง” โดยรัฐบาลจ่ายเงินให้ปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งก็คือการเนรเทศ โดยไม่มีใครในคณะราษฎรช่วยหลวงประดิษฐ์ฯได้ นอกจากไปส่งที่ท่าเรือ ทั้งยังไล่หลังด้วยการออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฉบับแรก และปล่อยข่าวว่าหลวงประดิษฐ์ฯได้ร่างระบบเศรษฐกิจตามลัทธิคอมมิวนิสต์
เมื่อกำจัดหลวงประดิษฐฯได้แล้ว ถ้ากำจัดพระยาพหลฯได้อีกคน ก็ถือว่ากลุ่มพระยามโนฯยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎรได้โดยเด็ดขาด พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ผู้วางแผนยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนา จึงวางแผนอีกครั้ง ชวน ๒ ทหารเสือที่แปรพักตร์มาด้วยกัน ไปเกลี้ยกล่อมพระยาพหลฯ ทำทีว่าเอือมระอาการเมืองเต็มทน และว่าทหารเราไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อยึดอำนาจมาได้แล้ว ก็ควรให้นักการเมืองเขาจัดการกันเอง เราทั้ง ๔ คนขอลาออกทุกตำแหน่งกันดีกว่า พระยาพหลฯคนซื่อก็ยอมเซ็นชื่อลาออกกับเขาด้วย
พอ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นคนสนิทของพระยาพหลฯแทน ๓ ทหารเสือ รู้เรื่องนี้จึงรีบไปพบพระยาพหลฯ ร้องว่าหลงกลเขาแล้ว ถ้าปล่อยให้เขากุมได้หมดก็คงต้องหัวขาดกันเป็นแถว ขอให้เห็นแก่ประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตยที่เสี่ยงชีวิตเปลี่ยนแปลงกันมาจะล่มไปด้วย พระยาพหลฯจึงมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา พ.ท.หลวงพิบูลฯซึ่งยังคุมกำลังอยู่ในขณะนั้นจึงสั่งสตาร์ทเครื่องรถถังอีกครั้ง
การทำรัฐประหารทุกครั้ง อันดับแรกจะต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ในการทำรัฐประหารในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ กลับตรงกันข้าม ทันทีที่ยึดอำนาจได้ก็ประกาศเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดเก่าที่ถูกสั่งปิด รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดนอกจากจะไม่ถูกฉีดแล้ว ยังมีอำนาจใช้ครบทุกมาตรา เพียงแต่เปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
นี่ก็คือการใช้กำลังทำรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่ทำท่าว่าจะหมดอายุในปีเดียว ได้กลับเดินหน้าต่อมาจนถึงวันนี้
ไม่ว่าการปกครองแบบรูปไหน ระบอบใด ก็ย่อมมีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นกับความเหมาะสมกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม และสภาพการณ์ของประเทศนั้นๆ ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ว่าเลวร้าย ก็ทำให้ประเทศจีนก้าวขึ้นมารุ่งเรืองได้ในวันนี้
ที่สำคัญคือคน เมืองไทยเราก็มีประสบการณ์มาแล้วจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กับที่มาจากการรัฐประหาร มีทั้งดีและเลวพอกัน
ฉะนั้นคงต้องยึดหลักการตามที่พ่อสอนไว้ว่า
“ส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”