xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนตำนานกาดสวนแก้ว จากอุทยานการค้าเมืองเชียงใหม่ 30 ปี ก่อนจะปิดตัวลงชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนตำนานอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว จากศูนย์การค้ายิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ 30 ปีก่อน ด้วยแมกเนตหลักคือห้างเซ็นทรัล สาขาแรกในต่างจังหวัด สู่การประกาศปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

อ่านประกอบ : เตรียมปิด "กาดสวนแก้ว" ห้างแห่งแรกของเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป 

ส่อรูดม่านตำนาน30ปี!"กาดสวนแก้ว"ศูนย์การค้าดังเชียงใหม่ประกาศปิดตั้งแต่1ก.ค.65-สุดทนพิษโควิด-19 


รายงาน

สั่นสะเทือนวงการค้าปลีก เมื่ออุทยานการค้ากาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ประกาศปิดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทราบล่วงหน้าเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำเอาชาวเชียงใหม่และคนที่มีความผูกพันกับศูนย์การค้าแห่งนี้มานานต่างใจหายกันเป็นแถว

เหตุผลที่กาดสวนแก้วปิดให้บริการชั่วคราว คือ นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ศูนย์การค้าได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว แม้จะช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการลดค่าเช่า ค่าบริการ และผ่อนผันผู้ประกอบการร้านค้าทุกวิถีทาง พร้อมกับทางศูนย์การค้าฯ ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ลดเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าเพื่อลดค่าไฟ ตัดลดเงินเดือนพนักงาน

แต่เนื่องจากการระบาดยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งภาครัฐไม่มีนโยบายผ่อนปรนหรือช่วยเหลืออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปิดศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น


อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว บนถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2535 ประกอบด้วยศูนย์การค้าสูง 10 ชั้น โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว สูง 13 ชั้น ขนาด 420 ห้อง ก่อตั้งโดย ร.ต.ท.สุชัย เก่งการค้า อดีตสถาปนิกกรมตำรวจ ที่ผันตัวมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บนเนื้อที่ 28 ไร่ และซื้อที่ดินเพิ่มอีก 20 ไร่ จากลูกของเจ้าพงศ์อิน

ความโดดเด่นของกาดสวนแก้ว คือ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ตัวอาคารก่อด้วยอิฐสีน้ำตาลเข้ม ขณะนั้นถึงกับลงทุนตั้งโรงงานทำกระเบื้องดินเผาเชียงใหม่ เพื่อบุผนังด้านนอกอาคารทั้งหลัง แมกเนตหลักคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาแรกในต่างจังหวัด โรงภาพยนตร์วิสต้า ขนาด 7 โรง และโรงละครกาดเธียเตอร์ ชั้น 5 ความจุ 1,500 ที่นั่ง ชั้น 6-10 เป็นสำนักงานให้เช่า

การเปิดตัวอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว สั่นสะเทือนไปถึงคู่แข่ง คือ ห้างตันตราภัณฑ์ ภายหลังต้องปิดกิจการสาขาช้างเผือก สาขาท่าแพ ส่วนสาขาแอร์พอร์ตได้ร่วมกับทางกลุ่มซีอาร์ เป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน แอร์พอร์ต ก่อนจะขายให้กับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา เหลือเพียงธุรกิจริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต และบริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มรุนแรงขึ้น ด้วยกลุ่มทุนจากส่วนกลาง อาทิ เซ็นทรัลพัฒนา เปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 70 ไร่ ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) บริเวณสี่แยกศาลเด็ก ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2556 ซึ่งมีแมกเนตหลักคือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

รวมไปถึงศูนย์การค้าเม-ญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ บริเวณสี่แยกรินคำ ถนนห้วยแก้วกับถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ต.ช้างเผือก อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เปิดเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2557 ของกลุ่มเอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ แมกเนตหลักคือโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ขนาด 10 โรง ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต และโค-เวิร์คกิ้งสเปซ C.A.M.P. (ซีเอเอ็มพี)


เมื่อกลุ่มทุนจากส่วนกลางรุกคืบเรื่อยๆ ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยกว่า แมกเนตที่ดึงดูดลูกค้ามากกว่า ส่งผลสะเทือนไปยังกาดสวนแก้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องออกมารีโนเวตภายในเมื่อปี 2561 เริ่มจากชั้น B1 และทยอยปรับปรุงไปเรื่อยๆ ขณะที่ร้านค้าที่ปิดไปบางส่วน ชี้แจงว่าอยู่ในช่วงหมดสัญญา บางร้านต่อสัญญาแล้ว อยู่ในช่วงการเลือกพื้นที่ใหม่

นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เมื่อโรงภาพยนตร์วิสต้า หมดสัญญาเช่ากับทางกาดสวนแก้ว ให้บริการวันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ก็ถูกแทนที่โดยโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดสาขากาดสวนแก้ว แห่งที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 6 โรง รวม 1,300 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2562

ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตัดสินใจยุบบริการต่างๆ ของสาขากาดสวนแก้ว ไปรวมกับสาขาเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ และเปลี่ยนสาขากาดสวนแก้ว มาเป็นห้างเซ็นทรัล เอาต์เล็ท (Central Outlet) จำหน่ายสินค้าลดราคาสูงสุด 90% เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 เป็นต้นมา โดยที่ชั้นล่างยังเป็นท็อปส์ มาร์เก็ต เช่นเดิม


การปิดอุทยานการค้ากาดสวนแก้วชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ศูนย์การค้าพรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ ใกล้สี่แยกดอนจั่น ต.ท่าศาลา อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ ก็ปิดให้บริการกะทันหันเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไม่มีกำหนดเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แบกรับภาระทางการเงินและค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อไปไม่ไหว โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระ

ขณะที่ต่างจังหวัด ก็มีห้างสรรพสินค้าที่ปิดตัวลงจากผลกระทบของโควิด-19 เช่นกัน ยกตัวอย่างจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์การค้าคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ ปิดให้บริการเมื่อปี 2564 เปลี่ยนเป็นอุทยานการศึกษาที่ชื่อ อาภาญา ส่วนห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า อัษฎางค์ หรือคลังเก่า ที่มีอายุกว่า 36 ปี ก็จะปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป

แม้กระทั่งห้างใหญ่เองก็ยังได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ป่าตอง จ.ภูเก็ต ที่ปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา โดยให้ลูกค้าใช้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต (ฝั่งฟลอเรสต้า) แทน ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกำหนดกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งแต่อย่างใด

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลไปถึงธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ขณะที่การสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าช่วงล็อกดาวน์ สบช่องให้ธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยนิยมเลือกซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างๆ และรอรับสินค้าจากที่บ้าน มากกว่าการออกไปเดินห้างสรรพสินค้า 

อาจเรียกได้ว่าธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะศูนย์การค้าและห้างภูธรในต่างจังหวัด หลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา กำลังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 


กำลังโหลดความคิดเห็น