ในประวัติศาสตร์ ผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์มีอยู่ไม่กี่คน ในจำนวนนี้ พระนางจามเทวี เป็นกษัตรีย์ที่มีความยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง เป็นปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญชัย ซึ่งก็คือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ตามประวัติพระนางไม่ใช่สาวชาวเหนือ แต่เป็นราชธิดาเจ้ากรุงละโว้ อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อยู่ในภาคกลางสมัยนั้น เมื่อเข้าวัยสาว พระนางมีความงามที่ไม่มีสาวใดเทียบ ในตำนานบรรยายความงามของพระนางไว้ว่า
“ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเนตรดำซึ้งเป็นแวววาวและต้องผู้ใดแล้วยังผู้นั้นให้งงงวยไปด้วยพิษเสน่หา พระขนงโก่งเรียวยาวประดุจคันธนูขณะน้าวสาย พระนาสิกโด่งคมสันรับกับพระพักตร์ ริมพระโอษฐ์แดงระเรื่อดุจชาดป้าย พระทนต์เรียบขาวสะอาดเป็นเงางามดุจไข่มุก ขณะยุรยาตรพระวรกายอันอ่อนไหวให้ชวนพิศ เวลาก้าวพระบาทนั้นประดุจพระนางหงส์เมื่อเยื้องย่างกราย พระวรกายหอมดังกลิ่นดอกบัวหลวง หาสตรีใดเทียบมิได้”
เมื่อพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา พระราชบิดาได้ทำพิธีหมั้นกับเจ้าชายรามราช แห่งเมืองรามบุรี แต่เพราะความงามของพระนางยังเป็นที่หมายปองของเจ้าชายอีกหลายแว่นแคว้น ในจำนวนนี้เจ้าชายแห่งเมืองโกสัมพี แห่งราชอาณาจักรมอญ ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาสู่ขอ พระเจ้ากรุงละโว้จึงตอบปฏิเสธว่านางมีคู่หมั้นแล้ว ทำให้เจ้าชายมอญแค้นเคืองจึงยกทัพใหญ่มา
พระเจ้ากรุงละโว้เห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่าเกินที่จะรับมือได้ จะขอยอมรับไมตรี แต่พระนางกลับไม่ยอม ขอนำทัพออกรับข้าศึกเอง โดยล่อให้กองทัพโกสัมพีเข้ามาในวงล้อมแล้วตีขนาบ แต่ก็ยังไม่อาจสู้กองทัพโกสัมพีที่มีกำลังมากกว่าได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างเสียไพร่พลจำนวนมาก พระนางจึงร้องท้าให้นายทัพทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันตัวต่อตัว โดยพระนางจะต่อสู้กับเจ้าชายแห่งโกสัมพีด้วยพระองค์เอง ผลการต่อสู้ พระนางผู้เลอโฉมเป็นฝ่ายมีชัยชนะ ทำให้เจ้าชายต้องเชือดพระศอพระองค์เองด้วยขัติยะมานะ จากนั้นอีก ๒ ปี คือราวปี พ.ศ.๑๑๙๘ พระนางก็เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายรามราช
ประมาณปี พ.ศ.๑๒๐๒ สุกกทันตฤาษี กับนายควิยะผู้เป็นทูตของสุเทวฤาษี ได้เดินทางมายังกรุงละโว้ สู่ขอพระนางจามเทวีไปเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชยที่สุกกทันตฤาษีกับสุเทวฤาษีร่วมกันสร้างขึ้นใหม่ ตามตำนานกล่าวว่า ตอนนั้นเจ้าชายรามราชได้ออกผนวชแล้ว พระนางอยู่ในฐานะไร้พระสวามี จึงตอบตกลงยอมรับที่จะไปเป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย
การเดินทางมาเมืองหริภุญชัยในครั้งนั้น พระนางไม่ได้มาแต่ลำพัง นำทีมใหญ่ มีพระเถระ และชีปขาวผู้ถือศีล ๕ พร้อมบัณทิต ช่างแกะสลัก ช่างแก้วแหวน พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หมอโหรา หมอยา ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างเขียน และหมู่สารพัดช่าง กับคนงานโยธา กลุ่มละ ๕๐๐ คน เตรียมพร้อมสำหรับการไปสร้างบ้านแปงเมือง
การเดินทางจากกรุงละโว้ไปนครหริภุญชัย อาจใช้การคมนาคมทางน้ำได้สะดวก จากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าแม่น้ำปิง แต่การจะขนคนร่วมหมื่นไปคงหาพาหนะได้ยาก พระนางจึงเลือกเดินทางบก โดยใช้เวลาถึง ๗ เดือน พร้อมทั้งอัญเชิญ “พระแก้วขาว” พระพุทธรูปสำคัญมาด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน รวมทั้ง “พระรอดหลวง” ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูนขณะนี้
เมื่อถึงเมืองหริภุญชัย สุกกทันตฤาษีและสุเทวฤาษีได้ทำพิธีราชาภิเษกพระนางขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย”
หลังจากราชาภิเษก ๗ วัน พระนางได้ประสูติพระราชโอรสแฝดซึ่งติดในพระครรภ์มาจากเมืองละโว้ ๒ พระองค์ องค์โตมีพระนามว่าพระมหันตยศ ส่วนองค์รองมีพระนามว่าพระอนันตยศ
ในรัชกาลองพระนางจามเทวี นครหริภุญชัยได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว พระนางได้นำอารยธรรมแบบทวารวดีจากละโว้มาสู่ดินแดนภาคเหนือเป็นครั้งแรก ราษฎรต่างร่มเย็นเป็นสุข พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง มีการสร้างวัดถึง ๒,๐๐๐ วัด พระนางเองก็สร้างวัดประจำเมืองขึ้น ๔ มุมเมือง คือ
วัดดอนแก้ว อยู่ทิศตะวันออก ต่อมาชำรุดทรุดโทรมจึงย้ายมาสร้างใหม่เป็นวัดต้นแก้วในปัจจุบัน
วัดอาพัทยาราม อยู่ทิศเหนือ ปัจจุบันก็คือวัดพระคงฤาษี เพราะมีการขุดพบพระเครื่องของเมืองลำพูน พบพระคง ที่สุกกทันตฤาษีและสุเทวฤาษีได้สร้างไว้
วัดมหาวนารามอยู่ทิศตะวันตก ปัจจุบันก็คือวัดมหาวัน ที่ขุดพบพระรอดลำพูน
แต่พระสิริโฉมของพระนางก็ยังก่อปัญหาขึ้นอีก เมื่อ ขุนหลวงวิรังคะ กษัตริย์ของชนเผ่าลัวะ ซึ่งครองเมืองระมิงค์นคร อยู่เชิงดอยสุเทพและที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงก่อนที่จะมาเป็นนครเชียงใหม่ เกิดหลงเสน่ห์พระนางอยากจะได้เป็นชายา แต่พระนางจะปฏิเสธก็เกรงว่าจะเกิดการรบเสียเลือดเนื้อ ขุนหลวงวิรังคะเป็นผู้มีอาคมแก่กล้า ทั้งยังมีชื่อเสียงเลื่องลือในการพุ่งเสน้า คือหอกด้ามยาวมีสองคม พระนางจึงตอบว่า ถ้าขุนหลวงพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพมาถึงหริภุญชัยได้ก็จะยอมเป็นชายา
ขุนหลวงวิรังคะจึงขึ้นไปที่ยอดดอยปุยซึ่งเป็นยอดสูงสุดของดอยสุเทพ แล้วพุ่งเสน่าไปสุดแรง ตกที่บริเวณหลังวัดมหาวัน ปัจจุบันจุดนี้เรียกกันว่าหนองเสน่า พระนางก็อ้างว่ายังไม่ถึงนครหริภุญชัย เพราะยังแค่นอกกำแพงเมือง แต่พระนางก็หวั่นพระทัยว่าขุนหลวงวิรังคะพุ่งครั้งใหม่จะแรงกว่าเก่า ตามตำนานกล่าวว่า พระนางได้ออกอุบายโดยเอาผ้าซิ่นชั้นในตัดเป็นหมวก แล้วเอาขนเพชรซ่อนไว้ในเมี่ยง ทั้งยังเอาใบพลูสอดเข้าไปในโยนีที่มีประจำเดือน ส่งไปเป็นของกำนัลให้ขุนหลวงวิรังคะเพื่อข่มวิทยาคุณของขุนหลวง
ครั้นถึงวันพุ่งเสน่าครั้งใหม่ ขุนหลวงวิรังคะอมเมี่ยงและสวมหมวกของกำนัลจากพระนางจามเทวี แล้วพุ่งเสน่าไปสุดแรงอีกครั้ง แต่เสน่าตกแค่เชิงดอยสุเทพ ขุนหลวงนึกแปลกใจพุ่งใหม่อีกครั้งก็เป็นเช่นเดิมอีก จึงฉุกคิดได้ว่าที่กำลังถดถอยลงอย่างมากเช่นนี้คงมาจากของกำนัลของพระนางแน่ และเกิดความละอายใจที่ทำให้ชาวลัวะต้องพลอยลำบากที่ต้องพ่ายแพ้แก่พระนางจามเทวี เพราะตัวเองที่คิดจะไขว่คว้าเอาพระนางมาเป็นชายาเพื่อความสุขของตัวเอง จึงเกิดอารมณ์พลุ่งพล่านพุ่งหอกเสน่าขึ้นไปบนฟ้า เมื่อเสน่าดิ่งกลับลงมา ขุนหลวงวิรังคะก็แบะอกเข้ารับจนเสียบทะลุอก ก่อนตายขุนหลวงวิรังคะยังได้สั่งให้เสนาอำมาตย์นำศพไปฝังไว้ในที่จะมองเห็นเมืองหริภุญชัยได้
พระนางจามเทวีครองราชย์อยู่จนถึง พ.ศ.๑๒๓๑ มีพระชนมายุ ๖๕ พรรษา จึงได้สละราชสมบัติพระราชทานเจ้ามหันตยศขึ้นครองราชย์ต่อ ส่วนเจ้าอนันตยศ ราชบุตรอีกพระองค์ได้รับการสถาปนาให้ครองเมืองเขลางค์นคร หรือจังหวัดลำปางในปัจจุบัน ส่วนพระนางหันไปถือศีลภาวนา ราชโอรสแฝดทั้งสองพระองค์ได้ร่วมกันสร้างวัดจามเทวี ถวายพระราชมารดาให้เป็นที่ประทับ ปัจจุบันก็คือวัดจามเทวี ที่ถนนจามเทวี จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน จนสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ ๙๘ พรรษา
เรื่องราวของพระนางจามเทวีเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในชื่อเรื่อง “พระนางจามเทวี” โดยทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ราชกัญญา รับบทเป็นพระนางจามเทวี