ผ่านฉลุยไปแล้วสำหรับการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดที่มีคนรอคอยกันมานาน หลังวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ทุกคนทุกวัยก็จะเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี แม้จะมีข้อจำกัดในทางสันทนาการอยู่บ้าง เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพ แต่ขนาดยังไม่ปลดล็อกก็ยังการขนข้ามโขงมาเป็นตันๆ แสดงว่ามีคนแอบเสพอยู่ไม่น้อย และกัญชาก็เหมือนของทั่วๆไป คือมีทั้งคุณและมีโทษ
ในสมัยก่อนที่มีกฎหมายห้าม กัญชาก็เป็นที่นิยมของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเพลงที่เรียกกันว่าเพลงลูกทุ่ง เนื้อเพลงมักสะท้อนวิถีชีวิตของสังคม ก็ได้กล่าวถึงกัญชาไว้หลายเพลง เพลงกัญชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือจากเสียงร้องของคำรณ สัมบุญณานนท์ พระเอกหนังและนักร้องที่โด่งดังในยุคเมื่อ ๖๐ กว่าปีก่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นตำนานเพลงลูกทุ่ง ได้บรรยายถึงความดื่มด่ำในควันกัญชา และผลที่ตามมาจากกัญชาจนเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
เพลงหนึ่งคือ “กระท่อมกัญชา” มีเนื้อร้องว่า
“แดนนี้มีต้นกัญชา ปกคลุมแน่นหนา ใบกัญชาป่านี้สะพรั่ง
เวียงวังทองก็รองกระท่อมพังๆ ดีกว่าเวียงราชวัง ไม่หวังจะแรมไกล
มองเห็นไฟไหม้บ้องกัญชา ชั่งชวนสุขา เป็นเพลงพา กล่อมขวัญเราให้
ฟังเพลินดี ดั่งปี่พระอภัย มือป้องจับบ้องคู่ใจ จะเป็นหรือตายไม่ห่วงกังวล
เวียงวังทองหรือจะมาสู้ กระท่อมฉันอยู่ ขาดคู่ไม่หวังสักคน
มีกัญชาสุขกว่ามีคู่กมล ถึงหากฉันจน ก็ยังสุขล้นไม่หวังใครปอง
มองเห็นไฟไหม้บ้องเป็นควัน ดั่งหนึ่งเมฆสวรรค์ มีตะเกียงนั่นเหมือนจันทร์ส่อง
ยามจะนอนก่ายกอดประคอง มีคู่สุดรักคือบ้อง ชวนให้ฉันปองคือบ้องกัญชา”
กับอีกเพลงคือ “คนบ้ากัญชา” บรรยายให้เห็นผลของการเสพกัญชาว่า
“ฉันบ้ากัญชาจนหูตาลาย เห็นหมูโตเท่าควาย โอ้เดือนหงายเห็นเป็นเดือนคว่ำ
อกเอ๋ยพลาดลงไปเสียข้างต่ำ ดูดกัญชาหน้ายิ่งดำ ระกำชอกช้ำวิญญา
ผีสางเจ้าขาเทวดาครับ โปรดช่วยสดับรับคำข้า
ลูกยกนิ้วจะวันทา ช่วยเทพเทวาจงเห็นใจ
สิ้นชาติ สิ้นเชื้อ สิ้นเสือแล้วกู เมียรักที่เคยครองอยู่ กลับมีชู้เป็นอื่นเสียได้
๓ เดือนได้กัน กำลังข้าวมันแกงไก่ นี่เมียมาร้างไปไกล คงเหลือข้าวใหม่ปลาเค็ม...”
ส่วนไวพจน์ เพชรสุพรรณ ราชาเพลงแหล่ ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับกัญชาไว้เหมือนกัน เป็นเพลงสนุกสนานตามวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เอากัญชามาชูรสความสนุก แม้จะต้องเสี่ยงกับถูกตำรวจจับก็ตาม
เนื้อเพลง “บ้องกัญชา” ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ บรรยายว่า
“ลาเอ๋ยลา
ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่
พอเหลาลงไป
กลายเป็นบ้องกัญชา
หน้างานสุขสันต์รื่นเริง
เถิดเทิงสนุกเฮฮา
ทั้งเหล้าทั้งยา
ขนมามากมาย
เหล้าโรงของบ้านตาโถ
สาโทของพ่อผู้ใหญ่
กับแกล้มตาแหย
แหมปรุงถึงใจ
ลาบวัวคั่วไก่ถึงไหนถึงกัน
ลาเอ๋ยลา
ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่
พอเหลาลงไป
กลายเป็นบ้องกัญชา
ต่างคนก็ชักเริ่มมัน
เหลือบพลันไปเจอะลุงสา
ถือบ้องกัญชาเข้ามาร่วมวง
ล้วงชามาหั่นเป็นฝอย
แล้วค่อยแจกจ่ายทั่ววง
บ้องหนึ่งบ้องสอง
บ้องสามชักงง
ลุกขึ้นรำวงเท่งโมงสำราญ
ลาเอ๋ยลา
ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่
พอเหลาลงไป
กลายเป็นบ้องกัญชา
หมู่หอยคอยดูตั้งนาน
ได้การจึงเข้าจัดแจง
แล้วแกยังแจ้งข้อหามากมาย
ของกลางคือบ้องกัญชา
สาโทก็ผิดกฎหมาย
เฒ่าสาตาเขียว
เฉียวฉุนทันใด
ฮ่วยบ้องไม้ไผ่
ไหงเป็นบ้องกัญชา”
เรื่องราวในเพลงเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยที่กัญชายังเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย ตอนนี้ปลดล็อกไปแล้ว แต่ทันทีที่ปลด อาหารผสมกัญชาตลอดจนต้นพันธุ์กัญชาที่ต้องใช้เวลาเพาะกันมาเป็นเดือนก็ออกวางขายเกลื่อนตลาดทันที แสดงว่าคนไทยเราฉับไวต่อการรับสถานการณ์ พอกรรมการเป่านกหวีดก็ออกวิ่งได้ทันที เพราะแอบเตรียมตัวมาพร้อมแล้ว และบรรยากาศอย่างในเพลงก็คงเกิดขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน ใครที่มีหน้าที่ควบคุมการล้ำเส้นกฎหมาย ก็ทำหน้าที่ให้เข้มแข็งอย่าง “หมู่หอย” แกหน่อยก็แล้วกัน
คำรณ สัมบุญณานนท์ ร้องเพลงกัญชาได้ออกรสจนดัง ก็เพราะคงดื่มด่ำรสกัญชาเหมือนกัน ตามประวัติกล่าวว่า เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๒ ขณะอายุได้ ๔๙ ปี ด้วยโรคปอดที่โรงพยาบาลโรคปอด นนทบุรี เพราะสูบทั้งกัญชา ยาฝิ่น และบุหรี่ใบจาก