งานวิจัยระดับนานาชาติของทีมวิจัยมหิดลชี้ คนอาเซียนอยากเป็นผู้ประกอบการเพราะได้รับการยอมรับทางสังคม แต่นโยบายรัฐที่ตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคในการสร้างธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูง แนะภาครัฐต้องปรับหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนมากกว่าผู้คุมกฎ
งานวิจัยด้านผู้ประกอบการล่าสุดจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลโดย ผศ.ดร.ธนพล วีราสา ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ และ ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้ประกอบการใน 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูล 13,358 กลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยของ Global Entrepreneurship Monitor (GEM) พบว่า คนอาเซียนมักให้คุณค่ากับการยอมรับทางสังคม จึงเลือกประกอบอาชีพที่คนในสังคมมองเห็นได้ง่าย บรรทัดฐานทางสังคม (Social norms) ลักษณะนี้เป็นทั้งแรงจูงใจและแรงกดดันให้คนอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่าเป็นพนักงานบริษัท ต่างจากคนในโลกตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองมากกว่า และเลือกทำงานในสายงานที่เรียนมาหรือมีความเฉพาะทางสูง อีกทั้งงานประจำสามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอ และมีระบบสวัสดิการที่พร้อมดูแลคนในสังคมมากกว่าประเทศในอาเซียน
ผศ.ดร.ธนพล วีราสา ประธานหลักสูตรไทย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า คนในอาเซียนจำนวนมากไม่อยากเป็นลูกน้องใคร การมีธุรกิจส่วนตัวคือความฝันของคนส่วนใหญ่ ยุคนี้ยิ่งมีเทคโนโลยีสนับสนุนให้ทำเองได้ง่ายขึ้น เช่น การทำ content ให้คนติดตาม การไลฟ์สดขายของ เมื่อสร้างรายได้ได้อย่างรวดเร็วและมีคนชื่นชมเป็นวงกว้าง ก็มีคนแห่ทำตามจำนวนมาก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด แต่นโยบายของประเทศต้องไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนาสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้น การขายของที่เหมือนกันหมดจะนำไปสู่การแข่งขันที่สูงขึ้น และตัดราคากันเองในที่สุด ไม่มีนวัตกรรมใหม่ ไม่ได้ทำให้การผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ศึกษาไปถึงปัจจัยและเงื่อนไขของประเทศที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไปได้ไกลยิ่งขึ้น โดยแบ่งช่วงพัฒนาการทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระยะที่ส่งผลต่อความอยากเป็นผู้ประกอบการแตกต่างกัน ได้แก่ Factor-driven economies คือช่วงขับเคลื่อนประเทศจากปัจจัยการผลิต อาทิ ประเทศเกษตรกรรมเน้นการจัดสรรที่ดินและแรงงานไปสู่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก คนในประเทศจะมีความอยากเป็นผู้ประกอบการสูง แต่สร้างมูลค่าได้น้อย เพราะผลิตสินค้า commodity เป็นหลัก ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองได้น้อย โดยเวียดนามและฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในระยะนี้
ระยะถัดมาคือ Efficiency-driven economies เป็นการนำเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้มาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ถึงแม้คนจะมีความอยากเป็นผู้ประกอบการในระดับปานกลาง แต่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงขึ้นจากการแปรรูปปัจจัยการผลิตด้วยเทคโนโลยี มีการส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกที่ต้องอาศัยคุณภาพและมาตรฐานสากล ส่วนระยะที่ก้าวหน้าที่สุดคือ Innovation-driven economies คือการใช้นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้สิงคโปร์ที่แม้จะมีทรัพยากรจำกัดแต่ขยับขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเป็นเมืองท่ามาสู่การพัฒนาคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นศูนย์กลางการทำงานของบรรษัทข้ามชาติ และการเงินของอาเซียน ถึงแม้คนสิงคโปร์จะมีระดับความอยากเป็นผู้ประกอบการต่ำ เนื่องจากมีการศึกษาดีและมีทางเลือกในอาชีพที่สร้างรายได้เพียงพอ แต่รัฐบาลได้ทำโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อธุรกิจที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูง เช่น ธุรกิจ Ecommerce platform อย่าง Garena หรือ Shopee เป็นต้น
ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ดัชนี entrepreneurial intentions (EI) ชี้คนไทยมีความกล้าเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการมากกว่าอีก 5 ประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานในการประกอบธุรกิจยังไม่เอื้อ สังเกตได้จากการมีโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่เมื่อผ่านการปลุกปั้นธุรกิจไปแล้ว มีเพียงจำนวนน้อยที่สามารถเอาตัวรอดในสนามใหญ่หรือก้าวสู่ตลาดโลกได้ ทั้งนี้ ภาครัฐของไทยยังมีลักษณะเป็นผู้คุมกฎ (Regulator) มากกว่าผู้สนับสนุน (Promoter) สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือ การเตรียมตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงรองรับ การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกตัวอย่างถึงธุรกิจอาหารเสริมที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ว่า ค่านิยมของผู้ประกอบการในปัจจุบันมองธุรกิจอย่างเช่น ธุรกิจอาหารเสริมเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ง่ายและเร็ว ขอแค่ทำการตลาดให้ปัง ธุรกิจส่วนใหญ่จึงใช้เม็ดเงินไปกับพรีเซนเตอร์เกินครึ่งของการลงทุน เมื่อหมดความนิยมก็สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งที่จริงแล้ว พื้นฐานสำคัญที่สุดของธุรกิจอาหารเสริมคือคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยในการบริโภค “เราต้องเปลี่ยนมุมมองผู้ประกอบการใหม่ ให้เริ่มจากการพัฒนาสินค้าที่ได้มาตรฐานรองรับ ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น กระทรวงวิทย์ฯ หรือ อย. สนับสนุนการทดสอบคุณภาพสินค้าให้เข้าถึงง่าย รวดเร็ว ไม่แพง ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเรื่องขยายกำลังการผลิตที่ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่ง BOI ช่วยผลักดันผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีความร่วมมือกับต่างชาติด้วยการส่งเสริม high value added business model” ดังนั้น การสร้างธุรกิจใหม่ของคนที่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการในแต่ละระยะของการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรออกแบบนโยบายส่งเสริมให้เหมาะสมกับการสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมทั้งการขจัดสิ่งที่ขัดขวางต่อการทำธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูง
ทั้งนี้ งานวิจัย Predicting entrepreneurial intention and economic development: A cross-national study of its policy implications for six ASEAN economies ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ระดับชั้น quartile ที่ 1 อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2022.e09435