xs
xsm
sm
md
lg

หน้ากากอนามัยไม่ได้ป้องกันแค่โควิด ๑๙! รณรงค์ให้ใช้ป้องกันหลายโรคมาแต่ปี ๒๕๕๐ แล้ว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



อย่างหนึ่งของ New Normal หรือ ความปกติในรูปแบบใหม่ ที่เราใช้รับมือกับโควิด ๑๙ มา ๒ ปีแล้ว ก็คือ แมสก์ หรือ หน้ากากอนามัย ทั้งยังมีกฎหมายบังคับให้ใส่ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ใครฝ่าฝืนมีโทษปรับ ๖,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท แต่วันนี้กำลังถูกเสนอความคิดให้เลิกใช้เสียแล้ว ปลดออกจากนิวนอร์มอล ทั้งนี้ก็เพราะรู้สึกกันว่าโควิด ๑๙ ได้เบาบางลง ไม่ได้มีพิษสงอย่างที่เคยน่ากลัว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราเคยชินกับโรคจนเกิดความประมาทกันหรือเปล่า

ความจริงหน้ากากอนามัยไม่ได้ป้องกันแค่โควิด ๑๙ ซึ่งแพร่ติดต่อกันทางละอองของระบบทางเดินหายใจจากไอ จาม หรือพูดของผู้ติดชื้อโควิด ๑๙ เท่านั้น แต่ยังป้องกันโรคทางเดินหายใจอีกหลายโรคที่แพร่กระจายมากขึ้นทุกทีในเมืองใหญ่ บางโรคที่เคยหายไปก็กลับมาอีก อย่างวัณโรค

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ นพ.มงคล ณ สงขลา รมต.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมแถลงข่าว “โครงการรณรงค์การใช้หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล” ป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจประจำปี ๒๕๕๐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา

นพ.มงคล กล่าวว่า โรคทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยและพบได้ตลอดปี มี ๔ โรค ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และปอดบวม แต่ละปีจะมีคนไทยป่วยด้วยโรคเหล่านี้กว่า ๒๐ ล้านคน สาเหตุที่พบโรคนี้มากเนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูกน้ำลาย การไอจามแต่ละครั้งจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปได้ ๓ ฟุต และมีชีวิตลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือหลายวันแล้วแต่ชนิดเชื้อโรคและสภาพแวดล้อม ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี มีภูมิต้านทานอ่อนแอ ติดเชื้อและป่วยได้ แต่ถ้าผู้ที่กำลังป่วยคาดหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคลงได้ถึงร้อยละ ๘๐ การใช้หน้ากากอนามัยจึงเป็นวัฒนธรรมของผู้ที่มีอนามัย
 
นพ.มงคล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคติดต่อทางเดินหายใจในปี ๒๕๔๙ พบผู้ป่วยไข้หวัดทั่วไปประมาณ ๒๐ ล้านคน วัณโรคปอด ๒๘,๑๕๓ ราย เสียชีวิต ๑๘๓ ราย ไข้หวัดใหญ่ ๑๗,๔๒๔ ราย เสียชีวิต ๑ ราย ปอดบวมซึ่งระบาดมากในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ มากถึง ๑๔๕,๒๙๐ ราย เสียชีวิต ๘๗๔ ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก สำหรับในปี ๒๕๕๐ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน พบผู้ป่วยวัณโรคปอด ๙,๕๒๓ ราย เสียชีวิต ๕๕ ราย ไข้หวัดใหญ่ ๖,๑๕๓ ราย เสียชีวิต ๔ ราย และปอดบวม ๕๑,๔๙๗ ราย เสียชีวิต ๓๘๘ ราย

ส่วน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์วัณโรคทั่วโลกขณะนี้ มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวน ๑๔.๖ ล้านคน ๙๐ % อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละ ๘.๘ ล้านคน ในจำนวนนี้ ๓.๙ ล้านคนอยู่ในระยะแพร่เชื้อ โดยมีผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลกเสียชีวิตปีละ ๙๘ % คือ ๑.๗ ล้านคน
 
สำหรับประเทศไทยจากรายงานมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งสิ้น ๕๘,๐๐๐ ราย ในจำนวนนี้อยู่ในระยะแพร่เชื้อ ๓๐,๐๐๐ ราย และประมาณว่ามีผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ได้อยู่ในระบบรายงานทั้งประเทศประมาณ ๙๑,๐๐๐ ราย ในจำนวนนี้ ๔๐,๐๐๐ รายอยู่ในระยะแพร่เชื้อ ไทยเป็นประเทศลำดับที่ ๑๗ จาก ๒๒ ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงสุด โดยอันดับ ๑ได้แก่ อินเดีย รองลงมาคือ จีน และ อินโดนีเซีย ส่วนรายงานการติดเชื้อวัณโรคดื้อยา มีรายงานการดื้อยาขนานเดียว ๑๔.๖ % ดื้อยาหลายขนาน ๐.๙๓ % ซึ่งเชื้อวัณโรคชนิดนี้ โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตมีสูงถึง ๘๕ %

นพ.ธวัช กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับรายงานข่าวที่เกิดขึ้น เพราะประเทศไทยเรามีมาตรการในการควบคุมวัณโรคที่เข้มแข็ง มีการผสมผสานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หลังพบว่าผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคประมาณ ๓๐ % นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบควบคุมภาวะดื้อยาทั้งดื้อยาหลายขนานและดื้อยารุนแรง รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการวิจัยและพัฒนาวัณโรคแบบครบวงจร อย่างไรก็ตามในอนาคตหากมีการระบาดของโรคทางเดินหายใจ อาจต้องใช้มาตรการบังคับให้มีการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือคนไทยเป็นวัณโรคปีละ ๘๐,๐๐๐ ราย และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆที่เป็นโรคของคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในสถานที่ติดเครื่องปรับอากาศ เช่น รถโดยสาร เครื่องบิน ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม โรงพยาบาล หากมีการแพร่เชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก เด็กขาดสารอาหาร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็ง โรคตับ หรือไตวาย ผู้ป่วยเอดส์ อาจทำให้เสียชีวิตได้
 
ต่อมาในวันเสาร์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๕๐ การรณรงค์เรื่องนี้ได้จัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลอีก โดยคู่สมรสคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมให้ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจให้กว้างขวาง

อ่านเรื่องนี้แล้วจะรู้สึกว่าหน้ากากอนามัยถึงไม่ปรับก็น่าใส่หรือไม่ ถ้าไม่เป็น “นิวนอร์มอล” ก็เป็น “วัฒนธรรมของผู้ที่มีอนามัย”
กำลังโหลดความคิดเห็น