เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพระราม 3 เพื่อบูรณาการแนวทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ตั้งแต่บริเวณ สวนศิลาฤกษ์ (ใต้สะพานภูมิพล) ถึง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา (ใต้สะพานพระราม 9)
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ที่ผ่านมา MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความปลอดภัย และเกิดทัศนียภาพที่สวยงาม โดยได้ดำเนินงานในช่วงเวลา 22.00 - 05.00 น. ของทุกวันเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลากลางวันที่มีการเปิดให้รถสัญจรเป็นปกตินั้น MEA ได้กำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในแต่ละโครงการ เช่น การปิดฝาบ่อพักชั่วคราว การวางแผ่น Road Deck ตลอดจนการเทคอนกรีตเพื่อแก้ไขปัญหาผิวการจราจร แต่เนื่องจากปัญหาอุปสรรคการทรุดตัวของดิน และข้อจำกัดในด้านระยะเวลาดำเนินงาน จึงส่งผลต่อความราบเรียบและความสม่ำเสมอของผิวถนนในบางพื้นที่ ซึ่ง MEA และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการร่วมวางแนวทางแก้ไขในครั้งนี้ MEA มีแนวทางให้บริษัทผู้รับเหมาปรับปรุงรูปแบบการปิดฝาบ่อพัก แบ่งออกเป็น 4 วิธี คือ
1.กรณีเป็นบ่อพักที่ต้องหยุดงานมากกว่า 4 เดือน ให้เทคอนกรีตปิดฝาบ่อ ส่งผลให้ไม่มีรอยต่อของฝาบ่อ
2.กรณีฝาบ่อพักที่ต้องปิด-เปิดทุกวัน ให้เปลี่ยนฝาบ่อพักที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (จากเดิมปิดโดยใช้ 8 ชิ้น เปลี่ยนเป็นปิดโดยใช้ 4 ชิ้น) ส่งผลให้ลดรอยต่อของฝาบ่อ ผิวถนนราบเรียบมากขึ้น
3.กรณีฝาบ่อพักที่ต้องปิด-เปิดทุกวัน แต่มีกำหนดเสร็จสิ้นงานภายใน 1 ปี ยังคงใช้ฝาบ่อเดิม แต่เพิ่มการตรวจสอบสภาพฝาบ่อให้มีความเรียบร้อย
4.กรณีแผ่น Road Deck (แผ่นถนนชั่วคราว) ให้เสริมความแข็งแรงโครงสร้างรองรับแผ่น Road Deck ป้องกันการทรุดตัวที่ริมฝาบ่อ และเทคอนกรีตปรับระดับจุดเชื่อมต่อกับผิวถนนจริง
นอกจากการวางแนวทางด้านวิศวกรรมแล้ว MEA ได้วางมาตรการกำกับการปฏิบัติงานของบริษัทผู้รับเหมา โดยการจัดให้มีการตรวจสอบความเรียบร้อยของฝาบ่อ และผิวจราจรตลอดระยะพื้นที่ของโครงการก่อสร้าง 2 ช่วงเวลาต่อวัน รวมถึงการจัดทีมงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขเหตุเร่งด่วน และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 215.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยล่าสุดมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 55.7 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่บางส่วนของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และสว่างอารมณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 159.9 กิโลเมตร เช่น โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของ MEA รวมถึงพบสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด หรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบ iOS และ Android ของ MEA ดาวน์โหลดฟรี คลิก https://onelink.to/measmartlife หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
คลิกรับชมออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/chadchartofficial/videos/574734620754981/