หมอยงเผยประเทศไทยมีโอกาสเสี่ยงพบโรค "ฝีดาษลิง" แต่จะระบาดอยู่จำเพาะกลุ่ม พร้อมแนะสิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือคนกับสัตว์เลี้ยง เพราะสัตว์เลี้ยงจะเป็นพาหะและนำไปสู่สัตว์ประจำถิ่น
วันนี้ (5 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่อง "ฝีดาษวานร จะพบในประเทศไทยไหม" โดยระบุว่า ฝีดาษวานรที่กำลังระบาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน มีผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วร่วม 600 คน ในประเทศต่างๆ เกือบ 30 ประเทศแล้ว การแพร่กระจายครั้งนี้เป็นการแพร่กระจายนอกทวีปแอฟริกาที่มากที่สุด ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย (98%) เป็นเพศหญิง (แท้) น้อยมาก ซึ่งต่างจากการระบาดในแอฟริกาจะเป็นเพศชายประมาณ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิงประมาณ 1 ใน 3
สำหรับอายุที่ระบาดในครั้งนี้จะอยู่ระหว่าง 20 ถึง 50 ปี ซึ่งต่างจากในแอฟริกา พบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การระบาดในครั้งนี้มีการแพร่กระจายมาก จากการเฉลิมฉลองที่มีการจัดขึ้นที่สเปน และเบลเยียม และสถานเซาน่าในสเปนและโปรตุเกส ประเทศที่พบโรคนี้มากที่สุดคือประเทศสเปน รองลงมาคืออังกฤษ และโปรตุเกส โดยรอยโรคที่พบจะพบอยู่ในร่มผ้า หรือบริเวณที่ลับประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยในแอฟริกา
ทั้งนี้ การเฉลิมฉลองเทศกาลมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการสัมผัสและติดต่อโรค จากข้อมูลทั้งหมด ประเทศไทยจึงเป็นประเทศหนึ่งที่มีโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่อำนาจการกระจายของโรคยังต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับโควิด โอกาสที่จะระบาดใหญ่แบบโควิดจึงไม่มี จะระบาดอยู่จำเพาะกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ คนกับสัตว์เลี้ยง ถ้าคนนำเชื้อฝีดาษวานรไปให้สัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงจะเป็นพาหะและนำไปสู่สัตว์ประจำถิ่นโดยเฉพาะ หนู, กระต่าย, กระรอก แล้วเมื่อนั้นจะเป็นโรคประจำถิ่น
คลิกโพสต์ต้นฉบับ