ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ครองอำนาจ ได้ย้อนยุคไปใช้การปกครองระบอบพ่อขุน แบบใช้ทั้งพระเดชพระคุณ ซึ่งเชื่อว่าเหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่า ไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตลอดช่วงที่ครองอำนาจ มีแต่ “ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.๒๕๐๒” ซึ่งมีเพียง ๒๐ มาตรา และมาตราที่ลือลั่นก็คือมาตราที่ ๑๗ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการใดๆ ให้ถือว่าเป็นคำสั่งหรือการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สามารถสั่งประหารชีวิตคนก็ได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้มาตรานี้สั่งประหารไป ๑๑ คน ๕ คนเจอข้อหาวางเพลิง ๑ คนข้อหาผลิตเฮโรอิน ๔ คนข้อหาคอมมิวนิสต์ และ ๑ คนข้อหาผีบุญอีสาน
ในจำนวนคนที่ถูกข้อหาการเมือง ครอง จันดาวงศ์ ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุด เพราะเป็นนักสู้ตัวจริง คือสู้ด้วยอุดมการณ์ ยิ่งสู้ยิ่งจน ไม่ได้สู้แล้วรวยเหมือนคนบางคน
ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเป็นครูโรงเรียนประชาบาล ได้ร่วมอยู่ในขบวนการเสรีไทย กับ “ขุนพลภูพาน” เตียง ศิริขันธ์ ในเขตจังหวัดสกลนคร แต่หลังสงครามยุติและมีการทำรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมามีอำนาจ มีการกวาดล้างเสรีไทย ครูครองจึงถูกจับครั้งแรก ต่อมาในปี ๒๔๙๓ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนครของอำเภอสว่างแดนดิน ในปี ๒๔๙๕ ก็ถูกจับอีกครั้งในคดี “กบฏสันติภาพ” ฐานเรียกร้องให้รัฐบาลวางตัวเป็นกลางและคัดค้านการส่งทหารไปรบในเกาหลี การกวาดล้างครั้งนี้ทำให้โรงเรียนศิริขันธ์ ซึ่งนายเตียง ศิริขันธ์เป็นผู้ก่อตั้ง มีครูครอง จันดาวงศ์เป็นผู้จัดการ ถูกสั่งยุบ
ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ขณะที่ครูครองยังต้องโทษอยู่ ได้รับอนุญาตให้มาสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้ออกมาหาเสียงก่อนเลือกตั้งเพียง ๕ วัน แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ ต่อมาในวันที่ ๑๖ กันยายนปีเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ประกาศยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ครูครอง จันดาวงศ์จึงลงสนามอีกครั้ง และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สกลนคร
ช่วงก่อนหน้านั้นที่ต้องเข้าออกเรือนจำหลายครั้ง ทำให้ฐานะทางบ้านย่ำแย่ ลูกๆต้องออกจากโรงเรียนเพราะทางบ้านไม่มีเงิน พอได้เป็นผู้แทนลูกก็ได้กลับเข้าโรงเรียนอีก แต่แล้วในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ก็ยึดอำนาจตัวเอง เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลถนอม กิตติขจร มีการกวาดจับนักการเมือง นักคิดนักเขียนและประชาชนเป็นจำนวนมาก ครูครองก็ไม่รอดอีก ถูกจับมาพร้อมกับ ๑๐๘ คนที่ถูกกวาดล้างในครั้งนี้ด้วย
ในยุคนั้น ถ้าจอมพลสฤษดิ์พูดว่า “มันต้องอย่างว่าเสียแล้ว” หรือถูกนำเข้าพบจอมพลสฤษดิ์ขณะถูกคุมขัง ก็แน่ใจได้ว่าจุดจบของชีวิตด้วย ม.๑๗ ได้มาถึงแล้ว และครูครอง จันดาวงศ์ กับครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ซึ่งถูกจับมาด้วยกันก็ถูกนำไปพบจอมพลสฤษดิ์กลางดึกในคืนวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๔ และในเวลา ๐๔.๐๐ น.ของคืนนั้น ครูครองพร้อมกับครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ซึ่งถูกพาไปพบจอมพลสฤษดิ์มาด้วยกัน ก็ถูกนำตัวจากที่คุมขังของตำรวจสันติบาล ขึ้นเครื่องบินไปจังหวัดอุดรธานี จากนั้นก็เดินทางโดยรถยนต์ไปอำเภอสว่างแดนดิน โดยมีการคุ้มกันอย่างเข้มแข็ง สนามบินหลังที่ว่าการอำเภอซึ่งเคยเป็นสนามบินลับของเสรีไทย ก็ถูกกำหนดให้เป็นแดนประหาร โดยมีรถของตำรวจติดเครื่องขยายเสียงประกาศให้ทุกคนและสัตว์เลี้ยง ออกจากบริเวณสนามบินโดยด่วน ห้ามเข้าโดยเด็ดขาดขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน มีทหารในชุดสนามพร้อมอาวุธนอนเรียงรายโดยรอบในท่าพร้อมยิง ทั้งยังมีตำรวจภูธรและ ตชด.ล้อมอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนเพชฌฆาตเป็นตำรวจ ๖ คน ผู้ถูกประหารคนหนึ่งจึงถูกยิงโดยเพชฌฆาต ๓ คน ยิงคนละ ๑ ชุดพร้อมกัน ชุดละ ๑๕ นัด ผู้ถูกประหารจึงถูกยิงคนละ ๔๕ นัด
ปฏิบัติงานลับและด่วนครั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพของหนังสือพิมพ์ ๒ ฉบับเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าว คือ นสพ.สารเสรี ที่ออกวางตลาดเช้า กับ นสพ.ไทรายวัน ที่เป็นฉบับออกบ่าย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่จอมพลสฤษดิ์เป็นเจ้าของทั้งสองฉบับมาตั้งแต่มียศเป็นพลตรี
แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวออกมาว่า เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านคำตัดสินตามมาตรา ๑๗ ของจอมพลสฤษดิ์ก่อนประหาร ครูครองได้เปล่งคำขวัญว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนเดินเข้าสู่หลักประหาร โดยไม่ได้ออกข่าวโดยสารเสรีและไทรายวัน
ภาพประกอบในเรื่องนี้ที่ครูครองเดินโบกมือก่อนเข้าหลักประหารนั้น เป็นภาพจาก นสพ.ไทรายวัน ซึ่งบรรยายภาพว่า “นายครองโบกมือบอกกับนักข่าวของเรา ขณะที่เจ้าหน้าที่นำเอาทั้งสองคนไปสู่ที่ประหาร ว่า อย่าถ่ายให้มากนัก”
ส่วน นสพ.สารเสรี ในวันรุ่งขึ้นพาดหัวใหญ่ว่า “ครอง ไม่สทกสะท้านขอเข้าส้วมก่อนเอาไปยิงเป้า” และรายงานนาทีก่อนการประหารว่า “นายแพทย์กองบังคับการตำรวจภูธรเขต ๔ ได้ไปจับชีพจรทั้งสองคนดู ปรากฏว่านายทองพันธ์อ่อนลงไปเล็กน้อย ส่วนนายครองนั้นยังปกติ “ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ เขากล่าวอย่าโอหัง”
แม้หนังสือพิมพ์ทั้ง ๒ ฉบับมีจอมพลสฤษดิ์ในชื่อ ธนะการพิมพ์ เป็นเจ้าของ แต่ครูครองก็มีความมักคุ้นกับทนง ศรัทธาทิพย์ บก.สารเสรี ในฐานะคนอีสานด้วยกัน ผู้เขียนเป็นผู้สื่อข่าวสารเสรีคนหนึ่งในตอนนั้น ยังเคยพบครูครองไปเยี่ยมสำนักงานสารเสรี ครั้งหนึ่งตอนจะกลับ รถตระเวนข่าวจะออกพอดี บก.เลยฝากให้ช่วยไปส่งครูครองด้วย ตอนนั้นรู้จักครอง จันดาวงศ์แค่เป็น ส.ส.คนหนึ่ง ส่วนนักข่าวในรถก็ล้วนเป็นนักข่าวอาชญากรรม เลยไม่ได้คุยอะไรกันมาก รู้สึกแต่ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือคนหนึ่ง สุภาพและเงียบขรึม
ส่วน นสพ.สยามนิกร ซึ่งไม่ได้ไปทำข่าวในวันประหารด้วย ได้รายงานตอนที่ครูครองกับครูทองพันธ์ถูกพาออกจากที่คุมขังสันติบาลไปขึ้นเครื่องบินว่า นายครองได้ฝืนยิ้มหันร่ำลากับผู้ที่ถูกคุมขังด้วยกันว่า “ขอลาทุกๆ คนไปก่อน”
ฉะนั้น คำที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จึงไม่มีในรายงานข่าวฉบับไหน เป็นเฟกนิวส์ของสำนักข่าวโคมลอยอีกเรื่องหนึ่ง