กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ขนสุขสาธารณะ" ติดสติกเกอร์ตามป้ายรถเมล์ ตามหารถเมล์ที่หายไป รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เรียกร้องขนส่งมวลชนกลับคืนมา ด้านชาวเชียงใหม่เสียงแตก ทั้งหนุนทั้งค้าน ชี้ตอนรถยังมีวิ่ง ทำไมไม่เรียกร้องให้ใช้บริการ พอขาดทุนเลิกให้บริการกลับเรียกร้อง ชี้คนส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัวเพราะสะดวก เมืองไม่ได้แออัดเหมือนกรุงเทพฯ
วันนี้ (28 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ขนสุขสาธารณะ" ได้ติดสติกเกอร์ตามป้ายหยุดรถประจำทางในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อาทิ "เชียงใหม่ต้องการขนส่ง!" "รถหาย! รถเมล์ของเราหายไป ชื่อเชียงใหม่ซิตี้บัส รถเมล์ขนาดใหญ่สีฟ้า เชียงใหม่ต้องการขนส่งมวลชน!" "A CRY FOR HELP MISSING BUS, HELP US FIND RTC BLUE BUS, WE NEED OUR MASS TRANSIT!" "รถหาย! รถไฟฟ้าของเราหายไป! โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ผ่านมา 7 ปีแล้ว เมื่อไรคนเชียงใหม่จะได้ใช้รถไฟฟ้า เชียงใหม่ต้องการขนส่งมวลชน!" "คนกรุงเทพฯ มีสองแถว มีรถไฟฟ้า มีรถไฟฟ้าใต้ดิน มีเรือ มีรถเมล์ จาวเจียงใหม่มีอะหยังพ่อง?" (พ่อง ภาษาเหนือแปลว่า บ้าง) "คนเชียงใหม่อยากได้ขนส่งมวลชน! รถหาย! รถเมล์ของเราหายไป หากพบเจอรถเมล์ของคนเชียงใหม่ ติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก ขนสุขสาธารณะ" เป็นต้น
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ด้านชาวเน็ตต่างแสดงความคิดเห็นดังนี้
- อย่าโทษประชาชนไม่ใช้บริการ รู้จักคิดบ้าง สภาพบ้านเมืองเป็นอย่างไร บ้านอยู่ในซอยลึก จะให้ออกมาโบกรถเมล์ รอรถเมล์ยังไง ทางรถจักรยานไม่มี ที่จอดรถจักรยานไม่มี ระบบบริการสาธารณะไม่ทั่วถึง แหกตาดูญี่ปุ่น เชื่อมต่อกันหมด ปั่นจักรยานโดนรถชนอีก กว่าจะรอรถ รถมีกี่คัน บ้านอยู่สันป่าตอง หางดง จะทำไง เลิกงาน กว่าจะกลับบ้าน แวะนั่นนี่อีก สมองมีคิดหน่อย
- รถเมล์ขาวเป็นนโยบายของเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับผู้ว่าจังหวัด จังหวัดใหญ่ควรต้องมีระบบขนส่งที่ดี ระบบขนส่งสาธารณะ พอมายุคนี้รถเมล์หายหมดครับ
- ไม่มีดีที่สุด ปกติรถยนต์ส่วนตัวก็มีกันทุกบ้าน มีเยอะเสียด้วย
- ตอนรถยังมีวิ่ง ทำไมไม่ติดป้ายรณรงค์ให้คนใช้บริการเยอะๆ พอเค้าขาดทุนเลิกให้บริการ เ...กติดป้ายเรียกร้อง ใช้สมองคิดดีแล้วใช่มั้ยครับ แบบนี้เค้าเรียกเห็นแก่ตัว ขาดทุนช่างแ...ง ขอให้มีไว้ก่อน
- ถ้าอยากให้ขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่มีคนใช้เยอะ ต้องครอบคลุมไปถึงอำเภอรอบนอกด้วย เพราะคนเชียงใหม่คือมีบ้านอยู่ต่างอำเภอและเข้ามาทำงานในเมืองบ้าง ทำงานอีกอำเภอบ้าง ถ้ามีแล้ววิ่งแต่ในเมือง แถมต๊ะต่อนยอน ก็ไม่ตอบโจทย์อะ คนเชียงใหม่ก็ต้องทำมาหากิน ต้องรีบไปแสกนนิ้วเข้างานเหมือนกันเด้อ
- ตอนเขามาลงวิ่ง ผมก็ไม่เคยขึ้นนะ (เคยไปทำข่าวตอนเปิดโครงการอยู่ รถใหม่ สวยเลย) แต่เหมือนมีคนเล่าให้ฟังว่า มันไม่มีคนขึ้นมากเพียงพอให้คุ้ม เลยยกเลิกไป? อันนี้ใครมีข้อมูลบ้างครับว่าเขายกเลิกไปเพราะอะไร
- เอารถแดงมาวิ่งเป็นสายแทนรถเมล์ครับ ได้จำนวนสายเยอะ รถแดงมีจำนวนมาก จัดให้วิ่งทุก 10-15 นาที พอใช้เวลารอรถไม่นาน เส้นทางวิ่งรถผ่านบ้าน ผ่านโรงเรียน ผ่านที่ทำงาน ให้เวลาคนปรับตัว เดี๋ยวคนก็ใช้บริการเองครับ สมัยก่อนเมล์เหลือง สายไหนผ่านกาดหลวง แน่นทุกคัน
- ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่มีแล้วคนไม่ใช้ แต่มันต้องมีให้ครอบคลุมทั่วถึง แต่เทศบาลชุดนี้ไม่สนใจเลย ผลักให้คนไปใช้รถส่วนตัวกันหมด
- รถเอกชน ไม่มีลูกค้าเขาก็หยุดวิ่งชั่วคราว ก็เรื่องปกตินะครับ
- ขนาดมีนักท่องเที่ยวเต็มเมืองยังไม่ค่อยจะมีคนขึ้นเลย เอกชนถ้าวิ่งไม่คุ้มทุน ก็ต้องเห็นใจ
- ก็คนส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัว มอเตอร์ไซค์ สะดวกดี รถยนต์ก็ดี คนมันไม่เยอะไม่แออัดเหมือนเมืองหลวงครับ ระบบขนส่งมวลชนมันเลยไม่ตอบโจทย์ ที่มีอยู่ก็พอประทังชีวิตกันไป รถแดง ตุ๊กๆ ดีไม่ดีหลังๆ คนจะใช้แกร็บมากกว่าเพราะราคาชัดเจน
- จะบอกว่าไม่มีคนขึ้นเขาก็เลยเลิกวิ่ง มันก็ใช่ แต่ก็ต้องดูเหตุผลด้วยว่าเพราะอะไร เพราะความที่มันไม่มีมาเป็นเวลานาน ชาวบ้านเขาก็ปรับตัวด้วยการซื้อรถส่วนตัว ซื้อมอเตอร์ไซค์ใช้กันหมด เกิดอยู่ดี ๆ เอารถบัสมาวิ่งมันก็ต้องไม่มีคนขึ้นเป็นธรรมดา ของแบบนี้มันต้องใช้เวลา มันไม่เหมาะจะให้เอกชนทำ เพราะเอกชนรอไม่ได้ ต้องให้ทางจังหวัดเป็นผู้บริหารโครงการเอง หรือให้สัมปทานเอกชนโดยต้องกำหนดระยะเลย 10 ปี 20 ปี คุณต้องพร้อมที่จะดำเนินการแม้จะไม่มีคนขึ้นในช่วงแรกๆ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต่างหยุดให้บริการ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนักท่องเที่ยวหายไป อาทิ รถเมล์เชียงใหม่ RTC Chiang Mai City Bus ของบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด งดให้บริการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ภายหลังพบว่ามีการประกาศขายรถโดยสารในราคาคันละ 2.5 ล้านบาท ส่วนรถเมล์ขาว ของเทศบาลนครเชียงใหม่ หยุดให้บริการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะในตัวเมืองเชียงใหม่ จะใช้วิธีโบกรถแดง หรือรถสองแถวสีแดง ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ สนนราคาเริ่มต้นที่ 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง นอกนั้นจะใช้วิธีการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เช่น แกร็บ อินไดร์ฟเวอร์ เป็นต้น ส่วนต่างอำเภอจะมีรถสองแถวประจำทางให้บริการที่สถานีขนส่งช้างเผือก และย่านตลาดวโรรส หรือกาดหลวง ส่วนการเดินทางจากท่าอากาศยานเชียงใหม่มายังโรงแรมต่างๆ จะมีรถแท็กซี่สนามบิน ราคา 160 บาทต่อเที่ยว