พุทธทาสภิกขุ เกิดที่พุมรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเดิมว่า เงื่อม พานิช พ่อแม่พาไปฝากตัวเป็นเด็กวัดพุมเรียงเมื่ออายุ ๘ ขวบ จนอายุ ๒๐ ก็บวชเป็นพระภิกษุตามประเพณีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ได้ฉายาว่า “อินทปัญโญ” แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ หลังจากบวชมีโอกาสได้เทศน์สอนธรรม พระเงื่อมประยุกต์เอาเนื้อหาต่างๆมาประกอบการเทศน์แทนการอ่านจากใบลาน ทำให้เข้าใจง่ายและเป็นที่ชื่นชอบจากผู้ฟัง ทั้งยังเขียนเรื่องขำขันให้อ่านกันในวัดจนเป็นที่นิยม
เมื่อวัย ๒๖ ปี พระเงื่อมเข้าเรียนธรรมที่กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญ ๓ ประโยค แต่กลับเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ในเวลานั้นไม่น่าจะนำพาไปถึงแก่นของพระพุทธศาสนาได้ ในปี ๒๔๗๔ จึงเดินทางกลับบ้านเกิด แล้วตั้งสำนักอยู่อย่างสันโดษที่พุมเรียง ซึ่งห่างบ้านเกิดไม่มากนัก แต่เป็นที่เปลี่ยวรกร้างที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่ จนบางคนหาว่าเป็น “พระบ้า” ค้นคว้าทางจิตวิญญาณตามลำพัง และปวารณาตนเป็น “พุทธทาส” หรือทาสของพระพุทธเจ้า
ในปีเดียวกันนั้น เพื่อนในคณะธรรมของท่านแจ้งว่าได้พบวัดร้างที่เขาพุทธทอง ริมทางหลวงเอเชียในเขตอำเภอไชยา เป็นป่ารก มีต้นโมกขึ้นอยู่มาก และมีสระน้ำใหญ่ เหมาะเป็นที่ปฏิบัติธรรม ท่านพุทธทาสพร้อมด้วยนายยี่เกย พานิช น้องชายกับคณะธรรม จึงได้จัดทำเพิงที่พักขึ้นที่หลังพระพุทธรูปเก่า ซึ่งเป็นพระประธานในวัดร้าง ให้ท่านพุทธทาสมาอยู่ที่นี่เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕ อันตรงกับวันวิสาขบูชา โดยมีอัฐบริขารเพียง ตะเกียง และหนังสือ ๒-๓ เล่มเท่านั้น
นั่นก็คือที่มาของ สวนโมกขพลาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดธารน้ำไหล ซึ่งเป็นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ในขณะนั้น นายยี่เกย พานิช เพิ่งเข้าเรียนเป็นนิสิตเตรียมแพทย์ปีที่ ๑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เพียงภาคเดียว เห็นว่าพี่ชายมุ่งทางธรรมไม่สึกแน่แล้ว จึงสละอนาคตทางแพทย์ ลาออกกลับมาบ้านเกิด เพื่อไม่ให้พี่ชายต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับแม่ผู้ชรา มุ่งมั่นในเส้นทางธรรมอย่างเต็ม และจัดตั้งคณะธรรมทานขึ้นสนับสนุนสวนโมกขพลาราม โดยนางเคลื่อน พานิช มารดา ได้บริจาคเงินให้ ๖,๐๐๐ บาทเป็นทุนดำเนินการ จากเงินที่สะสมทั้งหมดไว้ใช้ในวัยชรา เพื่อสนับสนุนการกระทำของลูกชายทั้งสอง
นายยี่เกยก็เป็นคนที่สนใจในพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพี่ชาย เคยบวชเป็นสามเณรมาแล้วตอนเป็นนักเรียน และค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งของไทยและของชาวต่างประเทศมามาก ในปี ๒๔๗๐ ได้รวบรวมหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาต่างๆจัดตั้งเป็นหีบหนังสือให้ผู้สนใจยืมอ่าน มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายคนโดยบริจาคหนังสือมาร่วม
ในปี ๒๔๗๖ จึงได้จัดตั้งโรงพิมพ์ธรรมทานขึ้นที่บ้าน ออกหนังสือรายสามเดือนในชื่อ “พุทธสาสนา” เผยแพร่ศาสนา โดยเขียนและแปลบทความลงพิมพ์ ใช้นามว่า “ธรรมทาส” และได้ใช้ชื่อนี้มาตลอด
ในปี ๒๔๗๙ นายธรรมทาสเห็นว่าในตลาดไชยายังไม่มีโรงเรียน จึงคิดจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อไม่ให้เด็กในตลาดไชยาต้องไปเรียนถึงโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยาที่อยู่ไกลออกไป โดยจะสอดแทรกการสอนแนวพุทธศาสนาให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมแบบชาวพุทธ แบบเดียวกับโรงเรียนมิชชันนารีของชาวคริสต์ เริ่มเปิดในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๗๙ ในชื่อ “โรงเรียนพุทธนิคม” สถานที่ก็คือชั้นบนของบ้าน ส่วนชั้นล่างเป็นที่อยู่และเปิดเป็นร้านขายของชำ
ในปีแรกได้เปิดสอนในชั้นอนุบาลก่อนเพื่อทดสอบ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี ในปี ๒๔๘๐ ได้เปิดสอนระดับมัธยมขึ้น ๒ ชั้นพร้อมกัน คือมัธยม ๑ มัธยม ๒ มีนักเรียนรวมกัน ๕๕ คน เก็บค่าเล่าเรียนปีละ ๑๐ บาท โดยมีครูธรรมทาสและครูวงศ์ ศรียาภัย เป็น ๒ ครูเป็นผู้บุกเบิก ตอนนั้นครูวงศ์อายุแค่ ๑๕ เพิ่งจบ ม.๖ ตามระเบียบยังเป็นครูไม่ได้ ต้องอายุ ๒๐ ได้อ้างว่าหาคนมีคุณวุฒิที่อายุถึงไม่ได้ จึงได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
โรงเรียนพุทธนิคมหยุดเรียนวันอาทิตย์กับวันพระ มีการอบรมสั่งสอนพุทธศาสนาเป็นพิเศษ นักเรียนที่สอบวิชาพุทธศาสนาได้ที่ ๑ จะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน และมีการกำหนด “กฎของชาวพุทธ” ไว้ โดยทั้งนักเรียนและครูต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด
โรงเรียนพุทธนิคมได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๒๔๘๖ ได้ย้ายไปสถานที่แห่งใหม่ที่ท่านธรรมทาสซื้อไว้ ๓ ไร่ และได้รับอนุญาตให้เปิด พุทธนิคม ๒ ขึ้นอีกแห่งในปี ๒๔๘๗
ในปี ๒๔๘๙ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้เงินอุดหนุนมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท จึงย้ายพุทธนิคม ๒ ไปที่ท่าโพธิ์ เป็นโรงเรียนสหวิทยา ส่วนที่พุทธนิคม ๒ เดิม ตั้งเป็นพุทธนิคม ๓ โรงเรียนสตรี ทุกแห่งได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ
ในปี ๒๕๐๓ โรงเรียนพุทธนิคม ๒ ได้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมปลาย แต่ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้เปิดโรงเรียนไชยาวิทยาขึ้นในไชยา สอนระดับมัธยม นักเรียนจึงพากันไปเข้าโรงเรียนรัฐบาลเพราะไม่เสียค่าเรียน ทั้งรัฐบาลได้เปิดโรงเรียนมัธยมขึ้นในอำเภอรอบด้านอีกหลายโรงเรียน ประกอบกับได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โรงเรียนพุทธนิคม ๒ ความร่วงโรยจึงเกิดขึ้นกับโรงเรียนพุทธนิคม จนยุบเหลือโรงเรียนเดียว
ในปี ๒๕๓๗ โรงเรียนพุทธนิคมเปิดสอน ม.๑ ถึง ม.๓ มีนักเรียน ๓๑๓ คน มีครู ๑๔ คนในระดับปริญญาตรีทั้งหมด เก็บค่าเล่าเรียนปีละ ๖๐๐ บาท แต่มีนักเรียนที่ได้ทุนเรียนฟรีถึง ๑๐๐ คน คงเก็บค่าเล่าเรียนได้ประมาณปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท มีเงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการอีกปีละ ๗๕๐,๐๐๐ บาท จ่ายเงินเดือนครูปีละ ๘๘๐,๐๐๐ บาท ทั้งยังมีรายจ่ายอื่นๆอีก โรงเรียนจึงไม่อาจขยายได้ มีแต่ร่วงโรยลงไปพร้อมกับวัยของท่านธรรมทาสผู้ก่อตั้ง
ศิษย์เก่าพุทธนิคมกลุ่มหนึ่ง มี พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผบ.ทบ. เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ได้ชวนรุ่นพี่รุ่นน้องมาร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิบารมีปกเกล้าพุทธนิคม” เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้โรงเรียนพุทธนิคมยืนยงมาจนถึงวันนี้ โดยพลเอกวิมลมอบเงินเป็นทุนเริ่มต้นให้ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมีศิษย์เก่าและผู้ศรัทธาบริจาคสมทบตามมาอีก จนมีทุนกว่า ๔ ล้านบาทในวันเปิดป้าย สำหรับท่านธรรมทาสนอกจากจะโอนที่ดินของโรงเรียนให้มูลนิธิแล้ว ยังโอนที่ดินส่วนตัวของท่าน ๑ ไร่เศษให้อีกด้วยความเห็นชอบของบุตรธิดา ๕ คนของท่าน
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมในพิธีที่พลเอกวิมล วงศ์วานิชไปเปิดป้าย “มูลนิธิบารมีปกเกล้าพุทธนิคม” เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๓๗ และได้พบท่านธรรมทาส พานิช ในวัย ๘๗ ซึ่งยังใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย มีความเป็นอยู่เช่นพระเหมือนเดิม ยังอยู่บ้านไม้หลังเก่าที่เคยเป็นโรงพิมพ์ เพิ่งวางมือจากงานทุกอย่างหลังจากสร้างอดีตอันผุดผ่องสวยงามของชีวิตไว้ ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมของภาคใต้ ประจำปี ๒๕๒๘ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางกาศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปี ๒๕๓๑ และได้รับรางวัลประสิทธิธาดาทองคำ ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม การศึกษาและการศาสนา ของมหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิต เมื่อปี ๒๕๓๖ แม้วันนั้นสังขารท่านจะร่วงโรย ทำให้ตาฝ้าฟาง ต้องใช้ไม้เท้าประคองตัวเวลาเดิน แต่น้ำเสียงยังสดใส เวลาพูดคุยมือไม้ยังออกท่าทางอย่างกระปรี้กระเปร่า และความจำถึงศิษย์เก่ายังแม่นยำเมื่อพลเอกวิมล วงศ์วานิชพาคณะศิษย์นำกระเช้าไปกราบและมอบพระพุทธรูปนาคปรก ปางมารวิชัย องค์ที่ที่แกะสลักเป็นพิเศษด้วยหินอ่อนไปให้
“นักเรียนหมายเลขประจำตัว ๑ มีชื่อว่านายยัง เผือกเนียม สอบได้ที่ ๑ ของจังหวัด” ท่านเล่าถึงศิษย์คนแรกที่โรงเรียนพุทธนิคมได้สร้าง “ตอนหลังเป็นครูใหญ่หลายโรงเรียน เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดด้วย สุดท้ายไปเป็นศึกษานิเทศก์ ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว”
“นายอารี นุ้ยหมิ่ม นี่แปลก เป็นอิสลามแต่มาเรียนพุทธนิคม สอบวิชาพุทธศาสตร์ได้ที่ ๑ เสียด้วย ต่อมาก็สอบชิงทุนอิสลามไปเรียนต่อที่อียิปต์ ไปสอนศาสนาอยู่เมกกะ กลับมาก็มาแวะคุยกันเสมอ ปรับทุกข์ว่าทุกวันนี้ก็ยังจนอยู่ เลยบอกเขาไปว่า อิสลามที่ดีก็เหมือนคริสต์ที่ดี เหมือนพุทธที่ดีนั่นแหละ คือจนเหมือนกันทั้งนั้น”
“เดโชนี่อีกคนที่เก่ง” ท่านพูดถึงเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีหลายกรม รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.กทม.ที่จบปริญญาโทมาจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา “พ่อเขาย้ายไปอยู่ที่อื่น ตัวเขาอยู่กับแม่ เลยให้เขามาเป็นภารโรงโรงพิมพ์ ทำงานแลกกับค่าเล่าเรียน ช่วยพิมพ์หนังสือพุทธสาสนา ทำงานดี คนนี้เขาเก่ง”
โรงเรียนพุทธนิคมได้สร้างทรัพยากรบุคคลออกไปรับใช้สังคมประเทศชาติมากมาย ทั้งฝ่ายพลเรือนและราชการ มีทั้งรัฐมนตรี ผู้แทนราษฎร จนถึงประธานศาลฎีกา ที่สำคัญก็คือ ศิษย์เก่าพุทธนิคมเป็นที่เชื่อถือได้ วางใจได้ ในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มัวเมาในอำนาจและผลประโยชน์ เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติตามแนวทางของชาวพุทธที่ดี
ในวันที่พลเอกวิมล วงศ์วานิชทำพิธีเปิดป้ายมูลนิธิพระบารมีปกเกล้าพุทธนิคมนั้น ครูวงศ์ ศรียาภัย ๑ ใน ๒ ครูผู้บุกเบิกกับท่านธรรมทาสก็มาด้วย และพูดถึง ผบ.ทบ.ที่เคยสอนตอนเป็นนักเรียนว่า
“พลเอกวิมลเขาเป็นคนเรียนหนังสือเก่งนะ” และเมื่อถามว่ายังพอจำภาพเก่าๆของลูกศิษย์คนนี้ตอนเป็นนักเรียนได้หรือเปล่า ครูวงศ์ก็บอกว่า “เท่าที่สังเกตุดูนะ นักเรียนที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ไม่ค่อยพูดค่อยจานั้น มักจะเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่พวกที่เฮฮา ดื้อ...ดื้อเฉพาะกับเพื่อนเขาเองนะ ไม่ใช่กับครู พวกนี้มักจะเรียนหนังสือเก่ง พลเอกวิมลเขาอยู่กลุ่มหลังนี้”
นี่เป็นเรื่องของศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนพุทธนิคมอีกคน
ท่านธรรมทาส พานิช ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ขณะอายุได้ ๙๒ ปี
ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุ หรือ พระธรรมโกษาจารย์ ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา