xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาคนกรุงฯ วาระป้ายโฆษณา LED ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ “เมื่อกฎหมายตามไม่ทันแสงจ้าจากเทคโนโลยี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เดือดร้อนจากปัญหาป้ายโฆษณา LED และนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม เห็นพ้องเสนอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ออกกติกาควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณา LED ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการกำหนดค่าความเข้มข้นของแสงตามจุดต่างๆ ให้ชัดเจน


รายงานพิเศษ

ข้อร้องเรียนจากการถูกรบกวนด้วยแสงจากป้ายโฆษณา LED ขนาด 256 ตารางเมตร จากเจ้าของอาคารพาณิชย์ขนาด 10 คูหาที่ย่านทองหล่อ เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหม่ที่อาจจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆกับ “มหานคร” อย่าง กรุงเทพฯ

และแม้ว่าการต่อสู้ของผู้ได้รับผลกระทบจะจบลงด้วยการที่ กทม.สั่งให้รื้อถอนป้ายออกไปแล้ว แต่นั่นเป็นเพียง “จุดเดียว” เท่านั้น ที่ได้รับการแก้ไข ที่สำคัญคือ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการไม่ถูกรบกวนจากแสงของป้าย LED ครั้งนั้น ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จึงจะสัมฤทธิ์ผล ด้วยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ของ กทม. ระบุว่า “ไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ชัดเจน”

“ไม่มีกฎหมาย คือ คำอธิบายที่สำนักงานเขตวัฒนา อ้างในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสภาฯ ตอนที่ถูกเชิญไปให้คำตอบว่า ทำไมทางเขตจึงไม่สั่งให้ผู้ประกอบการรื้อถอนป้ายออกไป ทั้งที่ป้าย LED ยักษ์ ส่องแสงวิบวับเข้ามาที่บ้านเราทุกวัน วันละ 18 ชั่วโมง เป็นเวลากว่า 6 เดือนตั้งแต่เราร้องเรียนไป เขาบอกว่า จัดการไม่ได้ เนื่องจากในข้อกฎหมายไม่มีสิ่งบ่งชี้ใด กำหนดให้แสงจ้าขนาดไหนจึงจะเข้าข่ายเป็นมลภาวะ เจ้าหน้าที่จึงไม่มีเครื่องมือมาตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด”




ญาตินี อัสสานุวงศ์ ผู้เดือดร้อนจากป้าย LED ที่ย่านทองหล่อ เล่าทบทวนถึงปัญหาที่เธอพบในระหว่างการต่อสู้เรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่ รื้อถอนป้าย LED ที่ส่องแสงรบกวนการใช้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัวของเธอ เธอจึงมีข้อเสนอต่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดยอยากให้ชวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นำปัญหานี้มาพิจารณา เพื่อออกเป็น “กติกา” บางอย่าง มาใช้ควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณา LED โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังไม่มีบัญญัติทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป นั่นคือ การกำหนดค่าความเข้มข้นของแสงที่สามารถใช้ได้ตามจุดต่างๆ

“จริงๆ ควรมีมาตรการของท้องถิ่นที่กำหนดขึ้นใหม่ เพราะเมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปแล้ว ป้ายโฆษณาเปลี่ยนจากการใช้ภาพนิ่งๆ ไปเป็นภาพเคลื่อนไหวหมดแล้ว ส่องแสงวิบวับตลอดทั้งวัน ไม่ใช่แค่ป้ายที่ส่องเข้าที่อยู่อาศัย แต่เราเห็นว่าแม้แต่ป้ายที่ส่องแสงอยู่บนเส้นทางจราจรก็มีปัญหาด้วย กฎหมายจึงควรปรับปรุงให้ทันสมัย ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ควรมีหลักเกณฑ์ที่ระบุไปเลยว่า แสงเท่าไหร่มากเกินไป เพราะสิ่งที่เราเจอในช่วงที่ต้องไปต่อสู้เพียงลำพัง คือ ทุกฝ่ายจะยึดเฉพาะเหตุผลของตัวเองมาพูด ซึ่งยากที่จะหาข้อสรุปได้” ญาตินี กล่าว




ความเห็นของผู้เดือดร้อน สอดคล้องกับความเห็นของ นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ชำนัญ ศิริรักษ์ ซึ่งมองว่า ปัญหาในการพิจารณาเมื่อมีข้อร้องเรียนว่าป้ายโฆษณา LED สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ คือ ยังไม่มีการกำหนดค่าความเข้มข้นของแสงที่ใช้ได้อย่างชัดเจน เราจึงจะเห็นได้ว่า สาเหตุหลักที่ป้าย LED ที่ย่านทองหล่อถูกรื้อถอนออกไป เป็นเพราะผู้ประกอบการติดตั้งป้ายไม่ถูกต้อง มีการต่อเติมที่ไม่ปลอดภัย และไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคารเท่านั้น ทั้งที่ปัญหาใหญ่จริงๆของเรื่องนี้ คือ แสงจากป้ายไปสร้างความเดือดร้อน กระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพียงเขียนไว้กว้างๆ ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของ กทม.ในการตัดสิน นั่นทำให้ไปสร้างความลำบากใจให้เจ้าหน้าที่ด้วย

“จริงๆในกฎหมายที่ควบคุม “แสง” จากการจะติดตั้งอะไรก็ตามก็มีอยู่ แต่ใช้คำกว้างๆ เช่น ต้องไม่ไป “รบกวน” หรือ “สร้างความเดือดร้อนรำคาญ” หรือ “ก่อให้เกิดผลกระทบ” ต่อผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งการใช้คำกว้างเช่นนี้ ไม่ส่งผลดีในทางปฏิบัติ เพราะเท่ากับเป็นการโยนภาระให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจตัดสินว่า “รบกวน” หรือ “สร้างความเดือดร้อนรำคาญ” หรือไม่ โดยไม่มีเครื่องมือใดมาช่วยตัดสิน ถ้าหากมาเทียบกับปัญหามลภาวะทางเสียง ก็จะเห็นความแตกต่าง เพราะเรื่องเสียง มีการกำหนดค่าความดังของเสียงที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ว่าต้องดังไม่เกินกี่เดซิเบล จึงเห็นด้วยว่า หากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ สนใจปัญหานี้ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างกติกาขึ้นมา เช่น ออกเป็นกฎหมายย่อย หรือออกเป็นเทศบัญญัติของ กทม. กำหนดค่าเข้มข้นของแสงที่สามารถติดตั้งในแต่ละจุดได้ให้ชัดเจน” ทนายชำนัญ กล่าว




ทนายชำนัญ ย้ำด้วยว่า การมีกติกากลางในเรื่องความเข้มข้นของแสง นอกจากจะเกิดประโยชน์กับผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องเจอแสงจากป้าย LED ตามสามแยกหรือสี่แยกต่างๆ ยังจะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของ กทม.เองด้วย เพราะช่วยให้มีเครื่องมือในการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้องกลับจากการใช้คำสั่งให้แก้ไขหรือรื้อถอน รวมทั้งยังเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการป้าย LED ด้วย เพราะกติกาที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ถูกเรียกรับผลประโยชน์จากช่องว่างการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ในฐานะที่เป็น “เมืองหลวง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบเจอปัญหา “มลภาวะทางแสง” มากกว่าที่อื่น ทนายชำนัญ จึงเห็นว่า กทม.อยู่ในสถานะที่ทำให้เป็นต้นแบบได้ พร้อมเสนอให้ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” จัดการให้เจ้าหน้าที่ กทม. เริ่มเข้าไปตรวจสอบวัดค่าของแสงจากป้าย LED ตามจุดต่างๆ ทดลองว่าแสงที่ส่องออกมาส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัย หรืออาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนหรือไม่ โดยสามารถดูได้ทั้งระดับความสว่าง การใช้สีพื้นของโฆษณา สีไหนที่ส่องแสงจ้าเกินไปจนไปรบกวนสายตา และนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างกติกาให้อยู่ร่วมกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น