หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และประเทศโลกตะวันตกต่างเดินหน้าออกมาประกาศต่อต้านการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์จากซินเจียงในจีน และได้ลงนาม "ร่างกฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์" จนทำให้หลายแบรนด์ต้องออกมาประกาศไม่ใช้ฝ้ายหรือวัตถุดิบที่มีการบังคับใช้แรงงานจากจีน ขณะที่จีนเองก็ออกมาคว่ำบาตรการใช้สินค้าแบรนด์ดังจากสหรัฐ
พร้อมทั้งออกมาตอบโต้และยืนยันว่าไม่ได้บังคับใช้แรงงานจากซินเจียง และกล่าวหาสหรัฐว่า การลงนามกฎหมายดังกล่าว เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นการขัดขวางการค้าระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง รวมทั้งกระทบต่อร่างของระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
โดยทางการจีนได้แถลงการณ์ชี้แจงว่า “ความเป็นจริงซินเจียงของจีนเคารพในการตัดสินใจของแรงงานอย่างเต็มที่ในการหางาน และมีเงื่อนไขให้คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์หางานทำในท้องถิ่นและในบริเวณใกล้เคียงและการเข้าเมืองอย่างเป็นระเบียบและถูกต้อง รวมถึงปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของคนงานอย่างเคร่งครัด เช่น การจ้างงานที่เท่าเทียมกัน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ประกันสังคม การพักผ่อนและวันหยุด และความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งได้จัดตั้งระบบการกำกับดูแลเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของคนงาน”
จากปี 2014 ถึงปี 2020 จำนวนผู้ว่าจ้างทั้งหมดในซินเจียงเพิ่มขึ้นจาก 11.3 ล้านคนเป็น 13.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 19.4% นอกจากนี้ ในปี 2020 ที่ผ่านมา ซินเจียงซึ่งมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 3,666 แห่ง ได้ถูกปลดออกจากมณฑลที่ยากจนแล้ว
“ขณะที่สหรัฐฯเองกลับไม่เคยยอมรับ การใช้แรงงานวิสาหกิจของตนเอง ที่บังคับแรงงานนักโทษชาวอเมริกันมาเป็นเวลานาน และการออกกฎหมายดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้งทางเศรษฐกิจทั่วโลก”
มณฑลซินเจียงมีขนาดเป็นสองเท่าของเท็กซัส อุดมไปด้วยวัตถุดิบ เช่น ถ่านหินและน้ำมัน ตลอดจนพืชผล เช่น มะเขือเทศ ลาเวนเดอร์ และฮ็อพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้าผ้าใบ และเครื่องแต่งกายอีกด้วย ที่สำคัญเป็นแหล่งผลิตฝ้ายและและโพลิซิลิกอน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ที่สหรัฐมีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพราะพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2573