xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการห่วงใย กระแสคอสเพลย์คังคุไบ หวั่นเกิดภาพจำผิดๆ กับหญิงไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กห่วงใยกระแสแต่งกาย เลียนแบบภาพยนตร์ดัง คังคุบาอี หวั่นคนนึกสนุก รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปทำแบบนั้นที่อินเดีย จะถูกเกิดภาพจำผิดๆ กับหญิงไทย

วันนี้ (21 พ.ค.) ในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Piti Srisangnam หรือ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความหัวข้อ "จากกระแสคังคุไบ ด้วยความห่วงกังวล" ระบุว่า "คังคุไบ กฐิยาวาฑี (Gangubai Kathiawadi) คือภาพยนตร์ที่จุดประกายให้หลายๆ คน เริ่มต้นดูภาพยนตร์อินเดีย หรือหนังบอลลีวูด (Bollywood) ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่พวกเราชาวไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจชาวอินเดียให้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับพวกเราชาวไทยอีกมากมาย เพราะเราจะเข้าใจมิติสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ รูปแบบชีวิต ของคนอินเดียที่เป็นจริงมากขึ้น และลบภาพจำเดิมๆ ประเภทยากจน สกปรก ตัวเหม็น ขี้โกง ออกไปได้ และมองเห็นโอกาสค้าขาย ลงทุน เรียน ทำงาน ทำมาหากิน

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ปรัชญาสำคัญของการสร้างหนังบอลลีวูด คือ ภาพยนตร์คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชาวอินเดียได้หลีกลี้ออกไปจากโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย เข้าสู่โลกแห่งภาพยนตร์ และนี่คือ หน้าที่ความรับผิดชอบทางสังคม (Social Responsibility) ของผู้กำกับ ในการที่จะต้องสร้างหนังให้สามารถเติมเต็มความสุขให้กับผู้ชมอย่างเต็มอิ่ม ทุกคนคาดหวังที่จะเดินออกจากโรงหนังด้วยความสุข และนั่นทำให้หนังบอลลีวูดเกือบทั้งหมดจบลงแบบแฮปปี้เอนดิง

หนังอินเดียจะไม่มีวันจบแบบ Avengers Infinity War ที่จบแบบหดหู่ ค้างเติ่ง คนหายไปครึ่งจักรวาล และคนดูห่อเหี่ยว ค้างคาใจ กลับไปบ้าน

คังคุบาอีก็เช่นกัน ภาพยนตร์ต้องทำให้เรื่องมีสีสัน มีดรามา หลายๆ ประเด็นถูกโระแมนทิไซซ์ (Romanticized) จบแบบปลดปล่อยอารมณ์ ข้อความที่ทำให้คิด และการผลิตโปรดักชันที่สวยงามยิ่งใหญ่ รวมทั้งอีสเตอร์เอก (Easter eggs) ด้านสังคมวัฒนธรรมจำนวนมากที่ผู้กำกับ ซันเจย์ ลีลา ภันสลี (Sanjay Leela Bhansali) สอดแทรกเอาไว้

เหล่านี้ อาจจะทำให้พวกเราลืมไปว่า คังคุไบ คือ แม่เล้า ทำมาหากินโดยการค้ามนุษย์ และควบคุมองค์กรอาชญากรรมใต้ดินของย่านหนึ่งในมหานครมุมไบ เธอไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และไม่ได้เป็นวีรสตรีในชีวิตจริง แบบในหนัง

ในอินเดียภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในปี 2021 แน่นอนว่าเป็นภาพยนตร์ที่กระแสตอบรับดี แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดเกิดกระแสฟีเวอร์ในอินเดีย เหมือนในประเทศไทย คนอินเดียดูหนังแล้วก็รู้จักเธอมากยิ่งขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ลบภาพออกไปได้ว่าเธอคือ โสเภณี

และสิ่งที่ผมห่วงกังวลมากที่สุดก็คือ ชั่วโมงนี้ในประเทศไทย ทั้งบุคคลธรรมดา บุคคลมีชื่อเสียง ต่างก็ออกมาใส่ส่าหรีสีขาว แตะบินดิ (Bindi) สีแดงขนาดใหญ่กลางหน้าผาก และที่สำคัญคือออกมาโพสต์ท่าทางแบบเธอในการเชิญชวนลูกค้า ลงในสื่อออนไลน์มากมายเต็มไปหมด

ในอินเดียคนที่ใส่ส่าหรีขาว ที่มีนัยถึงความบริสุทธิ์มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ นักการเมือง หญิงหม้ายที่รักษาพรหมจรรย์ และคนที่มีประวัติไม่ค่อยดี โดยนักการเมืองจะใช้ส่าหรีสีขาว ที่มีคลิบแถบสีประจำพรรคการเมือง ในขณะที่คนที่มีประวัติไม่ค่อยดี จะนิยมสีขาวบริสุทธิ์

ในขณะที่ท่าทางยกแขนชูหนึ่งข้าง อีกข้างกวักมือเชิญชวนลูกค้า และยืนแอ่น ยกขาเอียง พอยท์เท้า คือถ้าเชิญชวนเรียกลูกค้าของหญิงโสเภณีที่มีบรรยายในคัมภีร์ กามสูตร อายุกว่าพันปี

ดังนั้น หากกระแสยังเกิดต่อไป และกลับกลายเป็นว่าคนไทยที่ไปเที่ยวอินเดีย ซึ่งขณะนี้เขาเปิดประเทศให้ไปท่องเที่ยวได้แล้ว แล้วพวกเราก็ด้วยความสนุกและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จัดหาชุดส่าหรีสีขาวบริสุทธิ์ ไปยืนถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ อย่างสนุกสนาน ด้วยท่าทางดังกล่าว ลองนึกดูนะครับ ว่าคนอินเดียที่พบเห็นแล้วเขาไม่รู้หรอกว่า นี่คือกระแสฟีเวอร์จากภาพยนตร์ แต่พวกเขาเข้าใจสัญญะเหล่านี้ในแบบที่มันเป็นจริงคือการเชิญชวนให้ซื้อบริการ อะไรจะเกิดขึ้น

ต้องอย่าลืมนะครับว่า ในอดีตภาพจำของสตรีเอเชียหลายๆ ประเทศก็มีภาพจำจากคนต่างชาติเรื่องการค้าบริการอยู่แล้ว ผมไม่อยากให้ภาพเหล่านี้บนสื่อออนไลน์ หรือในสถานการณ์จริงๆ ในสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งทำให้เกิดการตอกย้ำซ้ำทวนภาพจำที่เลวร้ายแบบนั้นลงไปอีก

ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันในสื่อที่เราเสพให้มากกว่านี้ครับ อย่าผิวเผิน สนุกคะนอง จนเกิดภาพจำผิดๆ กับหญิงไทย"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น