xs
xsm
sm
md
lg

การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติครั้งที่ 20 : การประชุมสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติครั้งที่ 20 (The 20th National Congress of the Chinese Communist Party) คือการประชุมครั้งสำคัญ ว่าด้วยการกำหนดผู้นำพรรคฯ รวมทั้งนโยบายระดับบริหารและแนวทางการจัดการประเทศ การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) ทั้งนี้การประชุมครั้งที่ 20 จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 โดยจะมีสมาชิกพรรคฯ เข้าร่วมประมาณ 2,300 คน

คาดการณ์ว่า วาระประชุมครั้งที่ 20 อาจจะพลิกประวัติศาสตร์ด้วยคำประกาศให้นายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ อีกสมัย รวมทั้งทำหน้าที่ในตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งสายงานบริหารและความมั่นคง นี่เป็นปรากฏการณ์สืบเนื่องมาจากการผ่านมติประวัติศาสตร์ช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 ซึ่งส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเกินกว่า 2 วาระ การยอมรับมติประวัติศาสตร์ฉบับล่าสุดจึงเท่ากับการยกสถานะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเทียบเท่าอดีตผู้นำทั้งสองในอดีต ซึ่งแสดงบทบาทการบังคับบัญชาโดยไม่ติดกรอบวาระ

ความน่าสนใจอยู่ตรงผลการประชุมข้างต้น เพราะมันบ่งบอกทิศทางความก้าวหน้า ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งการวางตัวของประเทศจีนในกลไกโลกใหม่ แต่จะเข้าใจทิศทางได้ จะต้องย้อนกลับไปดูผลงานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ในปี พ.ศ. 2555 ด้วยเหตุว่า ผลงานทั้งหมดคือจุดเริ่มของสิ่งที่น่าจะเป็นในอีกระยะ 5 ปีถัดไป

บทบาทในอดีตของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงคือการต่อยอดความแกร่งของจีนในทุกมิติเพื่อยกสถานะจีนสู่ชาติชั้นนำเคียงคู่มหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติเศรษฐกิจ สังคม วิทยาการ การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เริ่มจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจีนยังอยู่ที่ 53.858 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 11.5% ของทั้งโลก แต่ปี พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนขยายไปเป็นกว่า 110 ล้านล้านหยวน หรือมีอัตราการเติบโตซึ่งเป็นคุณูปการแก่การเติบโตของโลกมากกว่า 30% มาหลายปีแล้ว จีนเป็นซัพพลายเออร์ในหลายอุตสาหกรรมเฉกเช่นที่จีนเป็นผู้รับซื้อสินค้าจากหลายชาติ จีนจึงไม่ต่างจากที่พึ่งทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ หากจีนสะดุด โลกก็จะหยุดตามอย่างที่ประจักษ์ชัดไปแล้วในช่วงสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และวิกฤตโควิด-19

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับความสำเร็จในการขจัดภัยความยากจน จีนมีตัวเลขบุคคลผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ของธนาคารโลก (ต่ำกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐต่อวัน) เกือบ 800 ล้านคน เมื่อสิ้นทศวรรษ 2010 หรือตรงกับปี พ.ศ. 2563 ผู้มีรายได้น้อยของจีนกลับหายไปแทบหมดสิ้น รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนพร้อมมอบความสนับสนุนพิเศษแก่พื้นที่ยากจนอย่างต่อเนื่อง จีนจึงเป็นแบบอย่างของการจัดการรายได้ภายใต้การทำงานที่เห็นคุณค่าของประชาชนเป็นหลัก รัฐบาลจีนยังมีแผนจัดการรายได้ส่วนเกินของบรรษัทขนาดใหญ่เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนอื่น

เมื่อทลายการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง สังคมก็มั่นคง ประชาชนจีนให้ความเชื่อมั่นในพรรคฯ ไม่เสื่อมคลายและพร้อมปฏิบัติตามแนวทางรัฐ ในการนี้จีนได้รักษาความมั่นคงด้านความเป็นอยู่ด้วยระบบ China’s Social Security System ประกอบขึ้นมาจากกองทุนบำนาญ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันการว่างงาน ประกันการลาคลอด และกองทุนเคหะ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายรักษาวินัยสังคมอย่างเข้มงวดควบคู่กับการรณรงค์ประเด็นสำคัญ เมื่อรวมกับการทำงานในมิติอื่น เช่น การบริหารการศึกษา การส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ สังคมจีนจึงเต็มไปด้วยการพัฒนาตามแนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2559-2563) และ 14 (พ.ศ. 2564-2568)

ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่า จะผลักดันให้จีนเสริมความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นไปอีก เนื่องจากจีนได้พบกับความสำเร็จในการลงทุนด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจอวกาศเพื่อการใช้ทรัพยากรอวกาศในอนาคต การสำรวจท้องทะเลลึก การพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตั้มซึ่งเร็วกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ราว 10,000 ล้านเท่า การเปลี่ยนทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ฯลฯ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังเป็นปัจจัยสำคัญในการขยับสังคมเศรษฐกิจจีนรวมไปถึงประกันสถานะจีนในด้านความเป็นเลิศตามแนวคิด “ความฝันของจีน” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเอ่ยอ้างแนวคิดนี้หลายหนเมื่อรับตำแหน่งไปแล้ว เพราะฉะนั้นการพัฒนาวิทยาการสมัยใหม่ไม่เคยถูกทอดทิ้งและเป็นพื้นที่สำหรับชาวจีนผู้แสวงหาความล้ำหน้าตามอุดมการณ์ของมนุษย์

การทหารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นเครื่องบ่งชี้ความก้าวหน้าไม่น้อยไปกว่าวิทยาการ สังคม และเศรษฐกิจ ปัจจุบันจีนมีกองกำลังป้องกันประเทศราว 2 ล้านนาย ถือว่ามากที่สุดในโลก ความแข็งแกร่งของกองทัพถูกพัฒนาจนจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก อย่างปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณพัฒนากองทัพด้วยตัวเลขเกือบ 2 ล้านล้านหยวน ถือว่า มากเป็นลำดับที่ 2 รองจากสหรัฐฯ สมรรถนะการรบทำให้จีนเป็นที่ยำเกรง ขณะที่การสานสัมพันธ์กับนานาชาติทำให้จีนเป็นที่รักใคร่ โครงการเชื่อมโยงทางบกทางทะเลในยุคประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงเบ่งบานกว่ายุคสมัยใด ครอบคลุมความร่วมมือทางการค้า การศึกษา ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ฯลฯ จีนในยุคเดียวกันยังแสดงบทบาทการทูตเชิงสันติภาพดังกรณีความขัดแย้งสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครน จีนแสดงจุดยืนเรื่องของการแก้ปัญหาบนโต๊ะเจรจา ภาพของจีนจึงผิดไปจากจินตนาการของบางฝ่ายที่พยายามชี้ให้จีนเป็นตัวแทนของความก้าวร้าว

ผลงานดังสรุปข้างต้นแสดงความสามารถทางการบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ดีที่สุด ทั้งหมดสื่อความจริงใจในการทำงาน มีแนวทางชัดเจนและจับต้องได้ ผลงานแทบทุกอย่างเป็นไปเพื่อป้องกันการคุกคามในอนาคตที่มาในรูปของสงครามพันทาง มีทั้งการใส่ร้ายผ่านปฏิบัติการข่าวสาร การบั่นทอนเสถียรภาพทางสังคมด้วยลัทธิความเชื่อบางอย่าง การสร้างความอ่อนแอทางเศรษฐกิจผ่านยุทธวิธีทางการค้าการเงิน ความพยายามตัดความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกภายนอก เป็นต้น จีนเป็นชาติที่ถูกมองว่า ท้าทายระบบโลกเดิมขณะที่จีนเองมีทรัพยากรธรรมชาติปริมาณมากรวมทั้งความสามารถในการผลิต จีนจึงไม่อาจไว้วางใจสถานการณ์รอบตัว การได้ผู้นำที่พร้อมนำพาทั้งประเทศยามที่ตกเป็นเป้าการคุกคามจึงมีความสำคัญเหนือหลักการใด

คำว่า “มังกรตื่น” เคยเป็นวาทกรรมทำนายอนาคตของจีน แต่ ณ วันนี้การทำงานของพรรคฯ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงทำให้สังคมโลกเห็นแล้วว่า มังกรตื่นที่แท้จริงมีหน้าตาอย่างไร ต้องไม่ลืมด้วยว่า การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของจีนแทบเป็นไปไม่ได้ด้วยจีนมีจำนวนประชากรระดับพันล้านคน ความแตกต่างทางรายได้ก็สูงพอ ๆ กับในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็มากมาย จีนกลายเป็นความอัศจรรย์ของโลกในด้านการเปลี่ยนผ่านจากชาติชั้นรองในมิติต่าง ๆ สู่ชาติชั้นนำ คำว่า “ความฝันของจีน” จึงไม่ใช่วาทกรรมเลื่อนลอย แต่มันคือความจริงที่กำลังเผยให้เห็นทีละก้าวเพื่อชดเชยความขมขื่นในประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคม จีนถูกขนานนามว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” ด้วยมหาอำนาจที่ด้อยกว่าในเชิงของกำลังคนและทรัพยากรรุมทึ้งจีนอย่างไม่ปรานีปราศรัย

ดังนั้นการสานต่อบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งเดิมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะทำให้จีนเดินหน้าบนเส้นทางการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติปลอดภัยด้วยลีลาการทูตผสมการทหาร ปฏิสัมพันธ์จีนกับนานาชาติก็จะยังคงอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า ทุกฝ่ายสามารถคบค้าสมาคมกันได้ ในแง่นี้จีนมีความแน่วแน่บนเส้นทางเดินของตัวเองมากกว่าจะแปรเปลี่ยนตามกระแสโลก (เช่น เปลี่ยนตามกระแสชาตินิยมสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ Brexit) จึงไม่ยากที่ประเทศไทยจะมองจีนอย่างเข้าใจและวางแผนการคบค้าในแบบที่ไทยจะได้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกับจีนในระยะยาว

บทความโดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กำลังโหลดความคิดเห็น