เมื่อพูดถึง เอเอฟเอส แล้ว หลายคนมักจะรู้จักในฐานะขององค์กรแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาจากการส่งนักเรียนไปเรียนยังประเทศต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เอเอฟเอส เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ไปแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เกิดเรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลาย และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติสุขอันเป็นพันธกิจหลักของเอเอฟเอส
จุดเริ่มต้นของ เอเอฟเอส เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอาสาสมัครในการก่อตั้งศูนย์พยาบาลชื่อ “American Field Service” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457) และขยายตัวเป็นองค์กรแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 มาจนถึงปัจจุบัน โดยในประเทศไทย เอเอฟเอส ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2505 ด้วยวัตถุประสงค์เฉกเช่นเดียวเอเอฟเอสสากล คือ มุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและความเท่าเทียมขึ้นบนโลก ด้วยการส่งนักเรียนไปแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเอเอฟเอส ประเทศไทยได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยน ซึ่งมีผู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 21,911 คน เดินทางไป 43 ประเทศทั่วโลก และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณค่าตามปณิธานของเอเอฟเอส ประเทศไทย
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิ เอเอฟเอส ประเทศไทย กล่าวว่า 60 ปี เอเอฟเอส ประเทศไทย เราจะยังคงสานต่อภารกิจหลักด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อสร้างสรรค์ประชาคมโลกที่มีคุณภาพ ด้วยความเข้าใจในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์
- ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Intercultural Differences) อันเป็นเรื่องพื้นฐานที่กำหนดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่ง เอเอฟเอส เชื่อเสมอว่า ถ้าสังคมมีความเข้าใจในเรื่องความต่างทางวัฒนธรรม ก็จะสามารถเข้าใจถึงความแตกต่างที่มีอยู่ของมนุษยชาติได้
- ความหลากหลาย (Diversity) ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงความหลากหลายของเชื้อชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมไปถึงความหลากหลายในสังคม เช่น การนับถือศาสนา ความเชื่อ รสนิยม เพศ อายุ การศึกษา ฯลฯ รวมไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมโลกมีความแตกต่างกันออกไป
จากประเด็นดังกล่าว เอเอฟเอส ประเทศไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอยู่เสมอ โดยหวังให้พลเมืองโลกมีความรู้ ความเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อสร้างสรรค์พลเมืองโลกที่มีคุณค่า (Active Global Citizens) อันจะนำมาซึ่งความสันติสุขและความเท่าเทียมกัน ตามปณิธานของเอเอฟเอส ประเทศไทย
สนั่น อังอุบลกุล กล่าวเสริมว่า กว่า 60 ปีในการดำเนินงานของเอเอฟเอส ประเทศไทย หัวใจสำคัญอยู่ที่อาสาสมัครกว่า 3,000 คน ทั่วประเทศ อาสาสมัครเหล่านี้ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินกิจกรรมของเอเอฟเอส ประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องการรับสมัครเด็กนักเรียนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Admission) การเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนแลกเปลี่ยนของเอเอฟเอส รวมไปถึงการดูแลเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Hosting) ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้เป็นส่วนเชื่อมต่อที่สำคัญ ที่จะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลจากประเทศต่างๆ กับสังคมไทยเข้าด้วยกัน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเอเอฟเอสปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนทำงานบริการสังคมด้วยความเสียสละ ส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมของเอเอฟเอส ประเทศไทย อย่างเต็มกำลัง ด้วยวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน คือ การสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณค่าตามปณิธานของเอเอฟเอส
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ เอเอฟเอส ประเทศไทย กล่าวว่า ความแตกต่างเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษยชาติ เพราะเราต่างถูกหล่อหลอมด้วยรูปแบบของความคิด และความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคม หลายครั้งความแตกต่างเหล่านี้นำมาซึ่งความขัดแย้ง เช่น สงครามโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เอเอฟเอสมองเห็นความสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับในความแตกต่างกันระหว่างบุคคล ดังนั้น การศึกษาและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยหล่อหล่อมให้นักเรียน และอาสาสมัครของเอเอฟเอส เกิดความรู้ ความเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างระหว่างได้ ปัจจุบันเอเอฟเอส ประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจไปแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรมในหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนระยะยาว 1 ปี (Year Program) โครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้น 2 สัปดาห์ – 6 เดือน (Shot Program) โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศึกษาดูงานระยะสั้นสำหรับอาสาสมัคร (Volunteer Development Program) โครงการพัฒนาอาสาสมัครด้านการสอนภาษาอังกฤษ และนอกจากนี้ เอเอฟเอส ประเทศไทย ยังได้มีการพัฒนาโปรแกรมใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น โครงการ Global STEM Accelerators ที่นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการคิดวิเคราะห์ถึงเหตุผลอย่างมีระบบ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม และความคิดของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบของการเรียนรู้ออนไลน์ (Virtual Learning) เพื่อให้สอดรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด 19
ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อน เอเอฟเอส ประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 60 ปี คือ การ Transform องค์กรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในปัจจุบัน เพื่อรักษาคุณภาพและการยอมรับในฐานะที่เอเอฟเอสเป็นโครงการแลกเปลี่ยนชั้นนำในระดับนานาชาติ การ Transform มุ่งเน้น 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่
1. มิติด้านองค์กร หรือ Organizational Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานขององค์กรในมิติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการองค์กรและบุคลากร อาทิ การปรับโครงสร้างองค์กร การสร้างค่านิยม และส่งเสริมการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
2. มิติด้านกระบวนการทำงาน หรือ Process Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน มุ่งเน้นการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ (Customer-centric) เน้นการใช้ทรัพยากรขององค์กรที่มีอยู่อย่างจำกัดกับกิจกรรมหลักขององค์กร (Core activities) การสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและการควบคุมภายใน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีและเกิดความพึงพอใจสูงสุด
3. มิติด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ระบบ หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน นำไปสู่การวางแผน การดำเนินงาน และการติดตามผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการทำงานด้วยข้อมูลเพื่อทำให้การตัดสินใจเกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร
ถึงแม้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์ และสังคมโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ปณิธานในการสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณค่าของเอเอฟเอส ประเทศไทย จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพ และความเท่าเทียมกันขึ้นในสังคม ด้วยแนวคิด “Develop Active Global Citizens” ด้วยการสร้างกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัคร และนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถยอมรับในความแตกต่างในสังคมได้ โดยผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเอเอฟเอส ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลกเปลี่ยนหรือการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์นักเรียนต่างชาติ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.afsthailand.org