กองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ให้นักข่าวที่ไปทำข่าวหลวงปู่แสงพ้นสภาพการเป็นพนักงาน ไม่ใช่แค่มีกิริยาไม่เหมาะสม แต่ยังสร้างหลักฐานไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ด้านสององค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ ย้ำสื่อต้องระวังเสนอข่าวตามหลักจริยธรรม ใช้วิธีการหาข่าวที่สุภาพ ซื่อสัตย์ ขณะที่กรรมการจริยธรรมเตือนระวังสนิทสนมกับแหล่งข่าว และการตกเป็นเครื่องมือ
วันนี้ (13 พ.ค.) จากกรณีที่ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา มือปราบสัมภเวสี พาทีมสื่อมวลชนบุกไปที่สำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังปรากฏคลิปกล่าวหาว่า หลวงปู่แสง ญาณวโร คุกคามทางเพศผู้หญิง กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก หนึ่งในนั้นมีประเด็นที่นักข่าวหญิงรายหนึ่ง สังกัดสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ทีวี แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อหน้าหลวงปู่แสง กลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลฯ ต่อมาหมอปลาออกมายอมรับว่าส่งผู้สื่อข่าวไปร่วมกับทนายความ 2 คนจริง อ้างว่าเข้าไปเก็บหลักฐาน แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้จัดฉาก
ล่าสุด กองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ได้ออกประกาศ เรื่อง ความผิดพนักงาน ระบุว่า ตามที่ น.ส.วาสนา ศรีผ่อง ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ ได้ทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพสื่อมวลชน ในการทำข่าวของหลวงปู่แสง โดยมีความผิดดังนี้ 1. มีกิริยาไม่เหมาะสมไม่เคารพต่อแหล่งข่าว 2. แสดงความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 3. ตัดสินใจร่วมกับสื่อสำนักอื่นและแหล่งข่าวในการสร้างหลักฐาน โดยไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาหรือรายงานต้นสังกัด
กองบรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์จึงมีมติให้นางสาววาสนา ศรีผ่อง พ้นสภาพการเป็นผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ ประกาศ ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2565
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ด้านสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า "ตามที่ได้เกิดกรณีการนำเสนอข่าว 'หลวงปู่แสง ญาณวโร' พระเกจิชื่อดัง ซึ่งในภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการกระทำที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และล่อแหลมต่อการละเมิดจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อนั้น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ติดตามในประเด็นการแสวงหาข้อเท็จจริงของการนำเสนอข่าวนี้ด้วยความห่วงใย ว่าอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพ เกินขอบเขตหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งในภายหลัง สำนักข่าวที่เป็นตันสังกัดของนักข่าวที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ออกหนังสือแสดงความขอโทษและตระหนักถึงความผิดพลาดและขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ทุกท่านทุกฝ่าย พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมแล้วนั้น
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอให้สำนักข่าวและสถานีต้นสังกัด ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และใช้ความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อมูลอย่างสมดุล รอบด้าน เพื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพชาววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 หมวด 4 แนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ข้อ 11 การได้มา หรือการนำเสนอหรือการเผยแพร่ ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พึงใช้วิธีการที่สุภาพ ซื่อสัตย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หรือมีความหมายที่ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น
ทั้งนี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่ากรณีการนำเสนอข่าวที่อ้างอิงแหล่งข่าว ข้อมูล หรือแม้แต่ตัวบุคคลที่เป็นที่สนใจของสาธารณชน ได้ส่งผลต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารโดยรวมร่วมกันของทั้งสังคม และขอให้ผู้รับผิดชอบกองบรรณาธิการได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการตรวจสอบเนื้อหา และแนวทางการปฏิบัติของนักข่าวในสังกัดอย่างเคร่งครัด ไม่ส่งเสริมให้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อผลประโยชน์และความนิยมจากการนำเสนอข่าวสาร
จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ควรจะได้มีการศึกษา หาวิธีการแก้ไขป้องกันร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำประเด็นการนำเสนอข่าวในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกันในเร็วๆ นี้ จึงขอเชิญเพื่อนร่วมวิชาชีพเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ขณะที่เฟซบุ๊ก Banyong Suwanpong ของบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า กรณีผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวหลวงปู่แสง ญาณวโร วัดป่าดงสว่างธรรม ตำบลโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ระหว่าง ๑๑-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ ‘สุปฏิปนฺโน’ ซึ่งองค์กรสื่อต้นสังกัดได้ขอโทษสังคมและลงโทษผู้สื่อข่าวไปแล้วนั้น
เวลาต่อมา แหล่งข่าวซึ่งเป็นต้นเรื่องของกรณีนี้ จำเป็นต้องชี้แจงหลังถูกเปิดเผย โดยยอมรับว่าสตรีที่เข้าไปหาหลวงปู่แสง ญาณวโร คือผู้สื่อข่าวซึ่งตนชักชวนไปร่วมพิสูจน์เพื่อให้มีหลักฐานเอาผิด เนื่องจากที่ผ่านมา เป็นเพียงการร้องเรียนมาที่ตนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปกราบขอขมาหลวงปู่แสง ญาณวโร แล้ว แต่การกระทำดังกล่าวขัดแย้งต่อจริยธรรมวิชาชีพที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ สมควรนำมาพิจาณาถึงเหตุแห่งปัญหาเพื่อให้เพื่อนร่วมวิชาชีพได้ระมัดระวังในอนาคต ๒ เรื่อง ดังนี้
๑. การสนิทสนมกับแหล่งข่าว - กรณีนี้ สะท้อนจากท่าทีและถ้อยคำของแหล่งข่าวที่กล่าวถึงผู้สื่อข่าว ซึ่งผู้สื่อข่าวอาจคิดแต่เพียงว่าความสนิทสนมทำให้ได้ข่าว ขณะที่แหล่งข่าวเองก็เห็นว่าความสนิทสนมทำให้ตนเป็นข่าวสั่งสมชื่อเสียง ผลก็คือ ความสมดุลในการรายงานข่าว และความเป็นธรรมต่อแหล่งข่าวอีกฝ่ายหนึ่ง อาจหายไปหรือลดน้อยลงได้ ขณะที่ความสนิทสนมไม่ได้หมายความว่าผู้สื่อข่าวจะรู้จักแหล่งข่าวโดยถ่องแท้ทั้งบุคลิกและเบื้องหลัง ตรงกันข้าม อาจทำให้ผู้สื่อข่าวมองไม่เห็นจุดอ่อนหรือ ‘ยกข้อเสีย’ ของแหล่งข่าวไปได้อีกเช่นกัน การรักษาระยะห่างระหว่างผู้สื่อข่าวกับแหล่งข่าวในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ยังให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะช่วยให้ผู้สื่อข่าวสามารถดำรงตนอยู่ในวิชาชีพอย่างมีศักดิ์ศรีได้
๒. การตกเป็นเครื่องมือ - จากการยอมรับของแหล่งข่าว แม้อ้างว่าพระเรียกให้เข้าไปหา แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ผู้สื่อข่าวตกเป็นเครื่องมือของแหล่งข่าว ไม่ว่าจะ ‘โดยยินดี’ หรือ ‘ตกกระไดพลอยโจน’ ก็ตาม กรณีนี้ หากผู้สื่อข่าวระลึกตนไว้เสมอว่า หน้าที่ที่แท้คืออะไร ก็สามารถตอบไปว่า มาทำอะไร และจะไม่คลานเข้าไปหาพระอย่างที่เกิดขึ้นในคลิปที่ถูกถ่ายไว้ อันจะช่วยให้พ้นจากเหตุเฉพาะหน้า ประการสำคัญ จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครและฝ่ายใด
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่