xs
xsm
sm
md
lg

เลิกบรรดาศักดิ์ เลิกราชทินนามขุนนาง! คณะราษฎรถูกหา “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในอดีต ขุนนาง ถือกันว่าเป็นชนชั้นสูงรองลงมาจากชนชั้นเจ้า พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ พร้อมกับราชทินนามให้ขุนนางพร้อมตำแหน่งหน้าที่ เริ่มแต่ นาย พัน หรือ หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา ส่วนบรรดาศักดิ์ สมเด็จเจ้าพระยา เป็นบรรดาศักดิ์พระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบพิเศษ และมีบางรัชกาลเท่านั้น

สันนิษฐานกันว่า ชื่อของขุนนางเดิมอาจไม่ไพเราะ เลยเป็นธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์จะได้พระราชทานต่อท้ายบรรดาศักดิ์ และมักจะให้ราชทินนามนั้นมีความหมายเกี่ยวกับความสามารถของขุนนางผู้นั้นหรือเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น เจ้าพระยามหาเสนา ว่าการกลาโหม เจ้าพระยายมราช ว่าการมหาดไทย เจ้าพระยาพลเทพว่าการกรมนา เจ้าพระยาธรรมาว่าการกรมวัง เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ว่าการกรมคลังและกรมท่า เป็นต้น ส่วนราชทินนามที่เกี่ยวกับความสามารถ เช่น ขุนวิจิตรอักษร หมายถึงผู้มีความสามารถในทางอักษร หลวงประดิษฐไพเราะ หมายถึงผู้ชำนาญทางดนตรี

บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยไม่เหมือนกับขุนนางทางตะวันตกที่สืบทอดต่อกันในตระกูล ส่วนขุนนางไทยแม้จะใช้เส้นสายของคนในวงตระกูลเข้ารับราชการ ก็ต้องไต่เต้าขึ้นด้วยความสามารถของตนเอง แม้แต่เด็กติดกัณฑ์เทศน์จากสุพรรณบุรียังได้เป็นเจ้าพระยาผู้มีบทบาทสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๔ รัชกาล คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๕ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีประกาศ “เรื่อง การยกเลิกบรรดาศักดิ์” มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“...รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ ว่า ฐานันดรศักดิ์ไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใด บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย อันฐานันดรศักดิ์นี้ แต่เดิมได้มีระเบียบแบ่งเป็นยศ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่ง ฉะเพาะยศและตำแหน่งได้มีการแก้ไขดัดแปลงให้เข้ากับรูปของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว แต่บรรดาศักดิ์อันเป็นฐานันดรศักดิ์อย่างหนึ่งนั้นยังมิได้มีการแก้ไข การมีบรรดาศักดิ์หรือไม่นั้นมิได้เป็นข้อที่ทำให้บุคคลได้รับผลปฏิบัติในทางกฎหมายต่างกัน ผู้มีบรรดาศักดิ์หรือไม่มีย่อมเสมอกันในกฎหมาย และในเวลานี้ ได้มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ทั้งที่อยู่ในราชการและนอกราชการ ตั้งแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูงลงมาจนถึงผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นผู้น้อย ได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีผู้มีบรรดาศักดิ์บางคนยังดำรงอยู่ในบรรดาศักดิ์ ยังมิได้ขอคืน จึงดูเป็นการลักลั่นไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังจะทำให้เข้าใจผิดไปว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นจะมีสิทธิพิเศษดีกว่าผู้อื่นด้วย เหตุนี้ จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานไปแล้วนั้นเสีย เพื่อแก้ความเข้าใจผิดอันอาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าวแล้ว และทั้งจะเป็นการดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปโดยครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องฐานันดรศักดิ์อีกด้วย

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ อันมีราชทินนามเป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน เป็นต้น ซึ่งได้พระราชทานให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศนี้ เสียสิ้นทุกคน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
แต่ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์ผู้ใดประสงค์จะคงอยู่ในบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานด้วยเหตุผลฉะเพาะตัวผู้นั้น ก็ให้ชี้แจงขอรับพระราชทานพระมหากรุณาขึ้นมา เมื่อได้พิจารณาเห็นสมควร จะได้อนุญาตให้ผู้นั้นคงอยู่ในบรรดาศักดิ์ต่อไป

อนึ่ง ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามเป็นชื่อตัวหรือชื่อสกุล เพื่อเป็นอนุสสรณ์แห่งความดีงามในราชการจนได้รับพระราชทานราชทินนามนั้น และเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนหรือครอบครัวของตน ก็ให้ใช้ราชทินนามนั้นได้ ให้ผู้นั้นติดต่อกับกับกระทรวงมหาดไทยจัดการเสียให้ถูกต้อง”

มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

หลังจากนั้นมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามสกุลจากราชทินนามตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติชื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย”

จากนั้น ได้มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลในครั้งแรกจำนวน ๑๐ คน ดังนี้
๑.จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) ขอใช้นามสกุล พิบูลสงคราม
๒.พลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) ขอใช้นามสกุล อดุลเดชจรัส
๓.นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ขอใช้นามสกุล ธำรงนาวาสวัสดิ์
๔.พันเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) ขอใช้นามสกุล เชวงศักดิ์สงคราม
๕.พลโท หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ขอใช้นามสกุล พรหมโยธี
๖.พลอากาศตรี พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ขอใช้นามสกุล เวชยันตรังสฤษฏ์
๗.นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ขอใช้นามสกุล บริภัณฑ์ยุทธกิจ
๘.นายพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) ขอใช้นามสกุล เสรีเริงฤทธิ์
๙.หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วัฒนปฤดา) ขอใช้นามสกุล วิจิตรวาทการ
๑๐.ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์) ขอใช้นามสกุล สมาหาร

ทุกท่านล้วนแต่มีบทบาทอยู่ในคณะราษฎรที่ล้มล้างการปกครองทั้งนั้น จึงมีเสียงเสียดสีกันว่า “เกลียดตัวกินไข่” อันเป็นสำนวนสุภาษิตไทยที่หมายถึง เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา ซึ่งสำนวนนี้มักใช้คู่กับ เกลียดปลาไหล กินน้ำแกง
นั่นเป็นรุ่นเก่า แต่รุ่นใหม่ที่อ้างตัวเป็นหัวก้าวหน้า เคลื่อนไหวต่อต้านระบบกษัตริย์มาตลอด อย่างสมาชิกพรรคก้าวไกลและอดีตพรรคอนาคตใหม่ เรียงคิวกันมา ๔๑ คน หลายคนก็ถูกแจก ม.๑๑๒ กันไปแล้ว ต่างยื่นขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ ชั้นสายสะพาย ซึ่งต้องเข้าไปรับในวังด้วยตัวเอง ทำเอาแฟน ๓ นิ้วอารมณ์เสียไปตามกันที่ดันไปกินไข่ ซดน้ำแกงแบบรุ่นเก่าเก๋ากับเขาเหมือนกัน ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน ดีแต่นำไปเข้ารกเข้าพง

ส่วนพวกประชาธิปไตยท่องจำ ก็ขึ้นสมองแต่ว่าจะต้องขัดขวางโค่นล้มคนที่มาจากการยึดอำนาจให้ได้ แม้เขาจะมาจากการเลือกตั้งและโดยรัฐสภาแล้วก็ตาม ยังว่าเป็นเผด็จการอยู่ดี ลืมไปว่าประชาธิปไตยไทยได้มาก็จากการทำรัฐประหารยึดอำนาจเก่ามาถึง ๒ ครั้งติดๆกัน

ทุกระบอบ ทุกวิธี ย่อมมีสิ่งดีอยู่ ถ้าใช้ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่งั้นคงไม่มีใครเขาแห่เอาดอกกุหลาบไปติดรถถังหลอก ถ้าซื้อเสียงเข้ามาแล้วขายเสียงให้พวกเข้ามาชิงอำนาจเพื่อจะกอบโกย เอารถถังออกมาอีกทีก็ดีเหมือนกัน จะเตรียมดอกกุหลาบไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น