วัดพุทธที่สร้างแบบฝรั่ง ไม่ได้มีแต่วัดนิเวศธรรมประวัติบนเกาะบางปะอินแต่แห่งเดียว ใจกลางกรุงเทพฯนี่ก็มี คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ภายนอกก็ดูสวยงามสง่าแบบวัดไทย แต่ภายในพระอุโบสถกลับเป็นคนละเรื่อง ตกแต่งด้วยศิลปะตะวันตก งามอลังการปานพระราชวังแวร์ซายของฝรั่งเศส
วัดราชบพิตรเป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นจากพระราชศรัทธาตามโบราณราชประเพณี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชโอรสาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงปฏิรูปปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธฯเป็นงานใหญ่ วัดนี้จึงเสมือนเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๗ ด้วย
เขตพุทธาวาสทั้งหมด ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระเจดีย์ วิหารมุข วิหารคด และศาลาราย ตั้งอยู่บนไพทียกสูงปูด้วยหินอ่อน อยู่ในวงล้อมของกำแพงสูง ๑ เมตร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ ซึ่ง พระอาจารย์แดง ช่างเขียนมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ออกแบบลาย แล้วส่งไปทำเป็นกระเบื้องเคลือบที่เมืองจีน นำเข้ามาประดับ
สิ่งพิเศษของวัดราชบพิธฯอีกอย่าง ต้องยกให้เป็นพระอุโบสถ ลายประดับมุขที่ประตูซึ่งมี ๑๐ บาน และลายหน้าต่าง ๒๘ บาน เป็นศิลปะชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศประวัติ เดิมเป็นพระทวารและพระแกลพุทธปรางค์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ถอดออกขณะเกิดเพลิงไหม้ แต่บางส่วนเสียหายไป จึงโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด บานเก่าเหล่านั้นได้นำมาติดที่พระอุโบสถวัดราชบพิธ
ความวิจิตรตระการของด้านนอกล้ำเลิศแบบไทยแล้ว แต่เมื่อก้าวเข้าไปภายในพระอุโบสถจะต้องตะลึงไปตามกัน นึกว่าทะลุเข้าไปในพระราชวังแวร์ซาย ลวดลายประดับกลับเป็นศิลปะตะวันตก มีศิลปะไทยปนอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย กล่าวกันว่าเหมือนพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซาย
พระประธานของพระอุโบสถก็คือ พระพุทธอังคีรส พระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒ ศอกคืบ พระฉวีวรรณเป็นทองหนัก ๑๐๘ บาท ซึ่งเป็นทองคำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงใช้แต่งพระองค์เมื่อยังทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี
พระพุทธรูปองค์นี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงนิพนธ์ไว้ว่า รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้หล่อเพื่อจะนำไปไว้ที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้หล่อเมื่อสถาปนาวัดราชบพิธ
ใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธอังคีรสนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ เริ่มจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ทรงบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
ต่อมาในปี ๒๔๙๒ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาบรรจุ และในปี ๒๕๒๘ ก็ได้นำพระสรีรังคารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ มาบรรจุด้วย
ในปี ๒๕๖๐ ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอัญเชิญพระราชสรีรังคารของรัชกาลที่ ๙ มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธอังคีรสนี้ด้วย
ต่อมาในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปรินายก ทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงในฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ซึ่งพระบรมอัฐิส่วนนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเก็บรักษาไว้ ถวายสักการะบูชา ต่อมาได้ตกทอดมาสู่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระโอรส จนถึงหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งนำมาถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ จึงได้อัญเชิญพระบรมอัฐิส่วนนี้มาบรรจุใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส เพื่อเป็นที่สักการะบูชาต่อไป
หลังพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงไทยสูง ๔๓ เมตร รอบฐาน ๕๖.๒๐ เมตร ประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์นี้ถือเป็นหลักสำหรับเคารพบูชาหรือเป็นประธานของวัด สร้างขึ้นก่อนอื่นตรงกลาง แล้วจึงสร้างสิ่งอื่นๆขึ้นรอบๆ เช่น พระอุโบสถ วิหาร ระเบียงคด เป็นแบบฉบับการสร้างปูชนียวัตถุแบบโบราณ ซึ่งแตกต่างจากการสร้างวัดแบบปัจจุบันที่สร้างพระอุโบสถเป็นประธาน
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามมีพื้นที่ไม่มากนัก เพียง ๑๐ ไร่ ๘๘ ตาราวางวา ด้านหน้าติดถนนเฟื่องนคร ด้านหลังติดถนนอัษฎางค์ ถูกขนาบข้างด้วยกระทรวงมหาดไทยและคลองหลอดวัดราชบพิธ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ๒ พระองค์มาแล้ว คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกองค์ปัจจุบัน ทั้งยังเป็นวัดที่พระสันตะปาปา ๒ พระองค์เสด็จเยือน คือ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ ๒ ในปี ๒๕๒๗ และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในปี ๒๕๖๒ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่น่าไปสักครั้ง เพื่อชมความงดงามอันเป็นศิลปะสุดยอดของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังได้กราบถวายบังคมพระมหากษัตริย์ของราชวงศ์จักรีในอดีตทุกพระองค์ด้วย