xs
xsm
sm
md
lg

สนทนากับ ‘ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ’ นักบำบัดด้วยการเล่นในถาดทราย วิเคราะห์ปมค้างใจของผู้คน ผ่าน ‘วัตถุสัญลักษณ์’ ที่เลือกสรร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เขาเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกชายที่มีภาวะอัลฟี่ซินโดรม (Alfi’s Syndrome) และเป็นเจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้’ อีกทั้งเปิดบ้านให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ วัย 3 ขวบขึ้นไป
และพร้อมเปิดรับวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กล่าวโดยรวมคือ พร้อมต้อนรับผู้คนทุกเพศวัยนับแต่ 3 ขวบขึ้นไป ด้วยการเล่นบำบัดในถาดทราย


ก่อนจะมีวิชาชีพเป็นนักบำบัดที่ช่วยคลี่คลาย ‘ปมค้างใจ’ ให้ผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเคยรู้สึกกลวงเปล่า ว่างเปล่าในจิตใจมาก่อน

‘ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ’ และลูกชาย
เขาคือ ‘ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ’ เรียนจบจากคณะโบราณคดี สาขาโบราณคดี ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

ทว่า ไม่ได้ทำงานตรงตามสาขาที่เรียนมา เพราะในห้วงเวลานั้น เขามองว่าเงินเดือนน้อย
และไม่ได้อยากมีวิถีชีวิตที่ย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ จึงมาเป็นมนุษย์เงินเดือน
ซึ่งเขาเห็นว่า นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่างเปล่า
กระทั่งเขาได้พบกับรุ่นพี่คนหนึ่งในวงการศิลปะบำบัด ได้มอบของเล่นในถาดทรายให้ แม้ตอนนั้นเขายังไม่ได้เรียนการบำบัดด้วยถาดทรายโดยเฉพาะ แต่ก็ได้ลองนำถาดทราย นำของเล่นตามมีตามเกิดที่เป็นของเล่นลูก แล้วชวนคนสนใจมาลองเล่นดู ซึ่งของเล่นก็ไม่ได้มีอะไรเยอะแยะ มีอาทิ หิน เปลือกหอย วัสดุธรรมชาติ

เมื่อชวนคนสนใจลองเล่นสัก 2-3 ครั้ง รวมทั้งชวนแฟนเก่าเล่นด้วย ศุภฤทธิ์ก็รู้สึกชื่นชอบและชื่นชอบมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ไปเรียนคอร์ส Basic Satir in the Sand Tray กับจิตแพทย์เด็กเป็นระยะเวลา 3 วัน
โดยตลอดการอบรมทั้ง 3 วันนั้น ทำให้ ศุภฤทธิ์ กล้าที่จะพูดกับตนเองว่า ‘เกิดมาเพื่อสิ่งนี้’

ศุภฤทธิ์เล่าว่าการได้ลองเล่นในถาดทรายภายใต้กระบวนการของจิตแพทย์ ทำให้เขาประทับใจและเห็นว่าเครื่องมือนี้ สนุกอย่างไร การบำบัดด้วยถาดทรายกลายเป็นสิ่งที่เขาหลงใหล เป็น Passion ที่สุด
และกล้าที่จะพูดว่าแม้วันหนึ่งหากเขารวยมีเงินเป็นร้อยล้านบาท เขาก็จะยังทำวิชาชีพนี้อยู่
เพราะเป็นความหลงใหลที่เมื่อตื่นขึ้นมาก็อยากทำ อยากให้คำปรึกษาผู้คนผ่านการบำบัดด้วยถาดทรายอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ศุภฤทธิ์ถ่ายทอดไว้ จึงสะท้อนให้เห็นภาพความหลงใหลที่มีต่อการบำบัดด้วยถาดทราย
กระบวนการทำงานด้านจิตบำบัด ในการวิเคราะห์และคลี่คลายปมค้างใจของผู้คน ผ่าน ‘วัตถุสัญลักษณ์’ ต่างๆ
ที่เขามีให้เลือกสรรนับไม่ถ้วน


สำคัญที่สุด คือกระบวนการทำงานของเขา ในการวิเคราะห์คลี่คลายปมในใจของผู้คน ที่นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง
รวมถึงเรื่องราวการแสวงหา กว่าจะค้นพบว่าการบำบัดด้วยถาดทรายคือสิ่งที่เขารักและสามารถส่งต่อแง่มุม
ข้อคิดอันเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้คนจำนวนมาก


ถ้อยความนับจากนี้ คือสิ่งที่ศุภฤทธิ์บอกเล่าไว้แก่ ‘ผู้จัดการออนไลน์ อย่างน่าสนใจ’


บนหนทางของการแสวงหา จากความว่างเปล่า สู่สิ่งที่เติมเต็ม

เริ่มต้นคำถามด้วยการให้ศุภฤทธิ์ หรือ ‘ครูฤทธิ์’ เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจในการบำบัดด้วยถาดทรายว่า เป็นมาอย่างไร
ศุภฤทธิ์ตอบว่า “ผมเอง รู้สึกว่าตัวผมดำเนินชีวิตด้วยความว่างเปล่า แล้วก็ตามหาความหมายของชีวิตมาโดยตลอด
เป็นระยะเวลานับสิบๆ ปี ก่อนหน้านี้ เป็นมนุษย์เงินเดือนนะครับ ไม่รู้สึกว่าตื่นขึ้นมา ฉันอยากจะทำงานอย่างนี้ต่อไป
หรือจะทำอย่างไรดี ตอนนั้นยังไม่มีลูก ต่อมาก็มีลูก แล้วก็มารับรู้ว่าลูกมีความต้องการพิเศษ มีความพิการ
แล้วก็เปลี่ยนชีวิตมากๆ ครับ ตอนแรกก็ช็อค เข้าสู่ Process ของชีวิตใหม่ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ
จะเรียกว่าหลังตีนก็ยังได้ครับ ( หัวเราะ )

แล้วเมื่อเข้าสู่วงการของเด็กพิการ ที่มีความต้องการพิเศษ ผมก็ตกผลึกกับตนเองว่า ผมรับรู้ความหมายในการใช้ชีวิต
มองเห็นคุณค่าในการใช้ชีวิตที่มันเติมเต็ม จากเดิมที่เคยไม่แน่ใจ รู้สึกว่าไม่ใช่ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้รับรู้ความต้องการพิเศษของลูก ทำให้ผมกลับมาทบทวนตัวเอง ทำให้พบว่า หรือที่ผ่านมา เราถูกเตรียมการมาเพื่อสิ่งนี้กันนะ?
ก็รับรู้ว่า ตนเองอยากจะทำงานเกี่ยวกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ คนพิการ คนที่มีความทุกข์
รวมถึงผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้ดูแล ความรู้สึกของผมก็เป็นแนวนี้ครับ ตอนที่รับรู้ความต้องการพิเศษของลูกใหม่ๆ

เพียงแต่ว่า ในช่วงปีแรกๆ ก็ศึกษาว่าเลี้ยงเด็กอย่างไร ผมเอง เดิมไม่ใช่ผู้ชายรักเด็ก แต่เมื่อมีลูก ก็รักลูก และรับรู้ความต้องการพิเศษของลูก เมื่อได้เรียนรู้ ก็รักเด็กเป็นในที่สุด ต่อมาก็ได้เข้าสู่การบำบัด ซึ่งการบำบัดของลูกก็มีหลากหลายรูปแบบการบำบัดเลยครับ เป็นกิจกรรมบำบัด ที่ฝึกกระตุ้นพัฒนาการ และอีกหลายๆ รูปแบบ” ศุภฤทธิ์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

มีการอบรมอยู่คอร์สหนึ่ง ที่ตนไปลงเรียน
โดยแรงขับในการลงเรียนคอร์สอบรมเหล่านี้ มาจากการที่ตนเองเริ่มต้นจากศูนย์ หรือติดลบเลยก็ว่าได้
เพราะไม่เคยทราบมาก่อนว่าการเลี้ยงเด็ก ต้องทำอย่างไร ก็เลยศึกษาหาความรู้ลงคอร์สอบรม
กระทั่ง ได้เรียนในคอร์สหนึ่ง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ดูแล เกี่ยวกับการรับฟังด้วยหัวใจ

“คอร์สนี้ทำให้ผมเริ่มตื่นขึ้นมาเพื่อการเดินทางภายใน เมื่อได้เริ่มตื่นขึ้นเพื่อเดินทางภายใน ก็ทำให้เริ่มศึกษาอะไรต่างๆ มากขึ้น เริ่มฟัง เริ่มที่จะได้ยินความคิด ความต้องการของคนอื่นมากกว่าที่เจ้าตัวเขาเล่า เริ่มที่จะหยุดตนเองให้ฟังได้อย่างแท้จริง
ฟังอย่างลึกซึ้ง” ศุภฤทธิ์บอกเล่าถึงสภาวะภายในที่เต็มเปี่ยมและพร้อมแบ่งปันเยียวยาผู้อื่น และเล่าเพิ่มเติมว่า
หลังจากนั้นก็ศึกษาเรื่องการบำบัดต่างๆ และรู้ชัดว่าตนต้องการที่จะทำงานแนวนี้ มีทั้งไปศึกษาศิลปะบำบัด
เบื้องต้นก็เป็นเพียงคอร์สสั้นๆ ไม่กี่วัน แล้วก็ชื่นชอบอยู่ประมาณหนึ่ง ต่อด้วยการไปเรียน Mandala (แมนดาลา) ศิลปะภาวนา จริงๆ จังๆ มีความชื่นชอบในการนำมาใช้กับตนเอง แต่ไม่รู้สึกอยากนำ Mandala ไปใช้กับคนอื่น

ทว่า อย่างน้อย ก็ทำให้รู้สึกว่า สนใจการบำบัดเยียวยา แต่ยังไม่รู้ว่า เหมาะกับรูปแบบไหน ยังไม่เจอสิ่งที่รู้สึกว่าใช่และอยากจะอยู่กับเครื่องมือนี้ไปตลอด

กระทั่งมาเจอ เมื่อเรียนคอร์ส Professional Certificate in Creative Arts Therapy
ในการเรียนคอร์สนี้ มีศิลปะหลายแขนง มีทั้งดนตรี วาดรูป ระบายสี ปั้นดิน มี Dance movement therapy มีแนวเคลื่อนไหว รวมถึงมีแนวละครด้วย เรียกว่าหลากหลาย
คอร์สนี้ ก็ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์กว่าๆ รวม 96 ชั่วโมง
เรียกว่าไม่น้อยแล้วก็ไม่เยอะจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้เทียบเท่าระดับ Clinical

“คอร์สที่เรียนนี้ เปิดโลกผมมากๆ เลยครับ จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยไฮฟาของอิสราเอล
ในครั้งนั้นเขาทำ MOU ร่วมกันก่อนจะเปิดหลักสูตรปริญญาโท ผมก็ได้ไปเรียนหลักสูตรนี้ แล้วก็ได้ใช้ต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะให้บริการการบำบัดในถาดทรายเป็นหลัก แต่บางเทคนิคก็ได้ใช้จากที่เรียนมา เช่น บางเคสก็ใช้เทคนิคเกี่ยวกับละครบ้าง อย่างไรก็ตาม ผมเองไม่ได้รู้สึก In กับการวาดรูประบายสี แต่ว่าจากประสบการณ์ที่ไปลองเรียนศิลปะบำบัดหลายๆ แขนง ทั้งกับคอร์สนี้และคอร์สอื่นๆ ก็ค้นพบตนเองว่าชอบแนวอะไรที่จับต้องได้ และชอบแนวที่ขึ้นรูป 3 มิติ
อย่างตอนที่เรียนวาดรูป ระบายสี Mandala ผมก็จะชอบทำให้เป็น Mandala แนว 3 มิติ หรือชอบปั้นดิน ชอบพับกระดาษ
จึงได้รู้ตนเองว่าชอบแนว 3 มิติ
เมื่อชอบแนว 3 มิติ ผมจึงมานั่งนึกย้อนกลับไปในอดีตของตนเอง

ผมเรียนจบคณะโบราณคดีครับ สาขาโบราณคดี ที่เป็นสาขาเกี่ยวกับการขุดค้น จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เกียรตินิยมอันดับ 1 แต่ว่าไม่ได้ไปทำงานด้านนั้น เพราะในตอนนั้น ผมมองว่าเงินเดือนน้อย
และไม่ได้อยากมีวิถีชีวิตที่ย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ ก็เลยมาเป็นมนุษย์เงินเดือน
อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่างเปล่าด้วยมั้งครับ ย้อนกลับมาตอนที่ผมทำ Thesis ผมก็ทำเกี่ยวกับสัณฐานวิทยาในงานโบราณคดีครับ ก็อยู่กับดินเป็นหลัก
ก่อนลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนมาอยู่ที่บ้าน ชีวิตผมก็มีทั้งส่วนที่ช่วยดูแลพ่อที่เป็นกระดูสันหลังกดทับเส้นประสาท ก็พาพ่อไปกายภาพบำบัด


นอกจากนั้น ยังพอมีเวลาเหลือ ผมก็ไปทำสวนผักคนเมือง ผมเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคนเมืองอยากปลูกผัก เรื่องราวของผมในการก่อตั้งกลุ่มนี้ ก็เคยตีพิมพ์ลงนิตยสารสารคดีครับ


ผมเล่ามาเพื่อจะโยงให้เห็นว่าตอนทำสวนผักคนเมืองผมก็ชอบอยู่กับดิน ทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก ผมก็เลยมองตัวเองว่าเหมือนผมเป็นคนธาตุดิน ชื่นชอบอะไรที่จับต้องได้ แล้วก็ได้อยู่กับดิน
สำหรับผม การบำบัดในถาดทราย เหมือนเป็นหลุมขุดค้นทางโบราณคดีแห่งอาณาจักรใจ”


ศุภฤทธิ์ระบุ





‘ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ’ และลูกชาย








ค้นพบตนเอง เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ‘การบำบัดในถาดทราย’

ศุภฤทธิ์บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกับถาดทรายบำบัดว่า
เดิมทีตนได้ยินชื่อการบำบัดในถาดทรายมาก่อนแล้ว กอปรกับเคยมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งในวงการศิลปะบำบัด มอบของเล่นในถาดทรายให้
จากนั้น ก็มีคนที่มาปรึกษา แม้ตอนนั้นตนยังไม่ได้เรียนถาดทรายโดยเฉพาะ
แต่ก็ได้ลองนำถาดทราย นำของเล่นตามมีตามเกิดที่เป็นของเล่นลูก
ซึ่งไม่ได้มีอะไรเยอะแยะ มีอาทิ หิน หอย วัสดุธรรมชาติ แล้วก็ชวนเขาเล่นดู
เมื่อชวนเล่นสัก 2-3 ครั้ง รวมทั้งชวนแฟนเก่า ณ ขณะนั้น เล่นด้วย ตนก็รู้สึกชื่นชอบและชื่นชอบมากยิ่งขึ้นก็เมื่อครั้งที่ได้ไปเรียนคอร์ส Basic Satir in the Sand Tray กับจิตแพทย์เด็กเป็นระยะเวลา 3 วัน
โดยตลอด 3 วันนั้น ทำให้ศุภฤทธิ์กล้าที่จะพูดกับตนเองว่า ‘เกิดมาเพื่อสิ่งนี้เลย’

“เมื่อได้เรียนแล้ว เราได้รู้ว่า ทำแบบนั้น ทำแบบนี้ได้ เอามาเล่นแบบนี้ได้ด้วย จึงรู้สึกประทับใจมากๆ ครับ
อ้อ กล่าวย้อนหน่อยว่า คอร์สที่ไปเรียนครั้งนั้นคือ Professional Certificate in Creative Arts Therapy
เรียนเมื่อราวๆ เดือนธันวาคมปี พ.ศ.2561 ครับ แล้วก็เรียน Basic Satir in the Sand Tray เดือนพฤษภาคม
พ.ศ. 2562 ครับ ซึ่งก่อนหน้านั้น ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ผมก็เริ่มชวนพรรคพวกที่เขาสนใจมาเล่นในถาดทราย
แต่ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะครับ ตอนนั้น มีเพื่อนๆ ที่เขามองว่าผมน่าจะมีคุณสมบัติของการที่เป็นผู้รับฟังที่ดี
เขาไปเจอนักวิชาชีพมาเยอะแล้ว เขาก็อยากมาลองการเยียวยาในแบบที่ไม่ตัดสินเขา
เขาก็เลยมาลองใช้ทั้งศิลปะบำบัดและการเล่นในถาดทรายด้วย
แต่หลังจากนั้น ราวเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2562 ผมก็เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊คครับ
ชื่อ ‘Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้’”


ถามว่า เมื่อครั้งที่ไปเรียนกับจิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลเด็ก ประทับใจอะไร จึงรู้สึกว่านี่แหละที่เราถนัด เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้


ศุภฤทธิ์ ตอบว่า “เนื่องจากในคอร์สนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลองเล่นในถาดทรายด้วย เมื่อได้ลองเล่นนี่แหละครับ
ผมก็ได้เล่นภายใต้กระบวนการของจิตแพทย์ ทำให้ผมประทับใจในเชิงที่ว่า เครื่องมือนี้ สนุกอย่างไร
ก่อนนี้ ผมอบรมมาไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงแล้วครับ ตั้งแต่ลูกเข้าวงการเด็กพิเศษมา ผมอบรมหลายคอร์สมากๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคอร์สสั้นๆ แม้ว่าจะอบรมมาเยอะก็จริง แต่ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น ผมก็ไม่กล้าที่จะพูดว่า In กับเครื่องมือไหน ที่จะเอาไปใช้กับคนอื่นได้เลย
มีแต่เครื่องมือนี้แหละครับ การบำบัดด้วยถาดทรายนี้ที่ผมหลงใหล เป็น Passion ที่สุดแล้ว
และกล้าที่จะพูดด้วยว่า ต่อให้ผมรวยร้อยล้าน ผมก็จะยังทำงานนี้อยู่ แต่ทำแค่ 3 วันต่อสัปดาห์นะครับ ( หัวเราะ )
แต่ยังไงก็ทำ เพราะเป็นความหลงใหลที่เมื่อตื่นขึ้นมา ก็อยากทำ
อยากให้บริการให้คำปรึกษาด้วยสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา


ประเด็นแรก ผมรู้สึกว่าเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ได้รับรู้จากประสบการณ์ จากการเข้าคอร์ส Basic Satir in the Sand Tray นั้น
ทำให้รู้ว่า ผมเหมาะกับสิ่งนี้ หลังจากหาเครื่องมือมานาน เป็นเครื่องมือที่ใช้แล้วก็ชอบมากๆ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในคอร์สนั้น อาจารย์ก็ได้แจ้งว่า มีระดับ Level เหมือนกัน ว่าระดับไหนต้องใช้จิตบำบัดความเข้มข้นสูง
ระดับไหนใช้จิตบำบัดความเข้มข้นต่ำ ระดับไหนใช้แก้ปัญหาได้
อย่างของผมเองต้องบอกว่า เนื่องจากยังไม่สามารถเป็นระดับ Clinical ได้ ดังนั้น ก็จะทำได้แค่บางระยะ บางอาการ
บางโรค บางประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่ โดยทั่วๆ ไป ถ้ามีหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิดมา ผมก็ไม่รับให้คำปรึกษาอยู่แล้ว
เพราะผมไม่ได้เทรนด์มาทางด้านนี้ แต่ถ้าเป็นซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด เหงา สับสน อย่างนี้ ที่ยังพอเรียนพอทำงานได้ ผมก็ให้บริการได้ครับ คือ มีระดับที่ผมทำได้ แล้วก็มีระดับที่ต้องให้นักบำบัดที่จบสูงกว่าผมเป็นผู้ดูแล

ในส่วนของผม ผมใช้คำว่า ‘จิตบำบัด ความเข้มข้นต่ำ’ ที่ผมให้บริการได้
แต่ถ้าเป็นความเข้มข้นสูงที่ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน ผมยังอยู่ในระดับที่ยังทำไม่ได้ครับ”
ศุภฤทธิ์ระบุ และกล่าวถึงคุณลักษณะพิเศษและเฉพาะตัวของการบำบัดด้วยถาดทรายว่า
การบำบัดด้วยถาดทรายเป็นศิลปะที่ทำงานกับ ‘ปมค้างใจ’โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นการทำงานกับภาพสัญลักษณ์









วิเคราะห์และคลี่คลาย ‘ปมค้างใจ’

ศุภฤทธิ์เล่าว่า การคลายปมของผู้คนผ่านถาดทรายไม่ได้เป็นการปะทะโดยตรง เหมือนเช่นนักจิตบำบัดพูดคุยกับผู้รับคำปรึกษาหรือผู้รับบริการ ที่บางครั้ง เมื่อพูดคุยแล้วแรงปะทะอาจจะตรงกันได้
แต่ว่าถาดทรายช่วยให้การพูดคุย การเล่าเรื่องทำได้สะดวกขึ้น
แม้ว่าเจ้าตัวหรือผู้รับบริการเป็นผู้เล่า แต่อาจจะเล่าในมุมมองของ ‘เจ้าชายเลโกลัส’ ในถาดทรายของเขาที่กำลังเล่าอยู่ ไม่ใช่ตัวเขาเล่า
หรือว่าเจ้าหญิงตัวนี้กำลังพูดอะไรบางอย่างอยู่ แต่ไม่ใช่ตัวเขาเป็นผู้เล่า ดังนั้น จึงช่วยลดแรงปะทะได้
อีกทั้งมีข้อดีสำหรับกลุ่มคนที่นึกไม่ออก บอกไม่ถูก ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เรียบเรียงเรื่องราวลำบาก
กรณีแบบนี้ การเล่าเรื่องราวในถาดทรายก็สามารถช่วยได้


ศุภฤทธิ์ กล่าวว่า “ผมอยากเล่าปูพื้นสักหน่อยครับ เกี่ยวกับ ‘ปมค้างใจ’ หรือว่าบาดแผลทางจิตใจ หรือ Trauma
เช่น ณ เวลานั้น อาจจะยากลำบาก หรือว่าความรู้สึกมันต่อเนื่องยาวนาน เข้มข้นมากๆ หรือมันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกะทันหัน ยากที่จะคาดเดา ในกลุ่มเหล่านี้ อะไรก็ตามที่ทำให้การรับมือของเรานั้นยากลำบาก มันก็จะทำให้เกิดมวลพลังงานบางอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจ แล้วมวลพลังงานตรงนั้น ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงออกมาเป็นภาพสัญลักษณ์ที่เรารับรู้ได้

‘ปมค้างใจ’ คือ ในหลายๆ ครั้ง เมื่อเราพูดถึงปมนั้น น้ำเสียงจะสั่นเครือ เล่ายาก เล่าลำบาก เพราะสมองส่วนอื่นๆ ทำงานอย่างเข้มข้น เช่น สมองส่วนความรู้สึก จึงส่งผลให้สมองส่วนภาษาพูด หรือ ตรรกะ เหตุผล ในการลำดับเรื่องราวทำได้ยาก จึงเล่าออกมาได้ยาก สมองส่วนเกี่ยวกับการพูด และการลำดับเรื่องราว ตรรกะเหตุผลทำงานน้อยลง ทำให้เล่าออกมาได้ยาก
ซึ่งกรณีนี้ ตัวที่เป็นการบำบัดในถาดทราย จะเข้าถึงภาพสัญลักษณ์ ที่เราได้จำไว้ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
แล้วภาพสัญลักษณ์ที่ว่านั้นก็จะเชื่อมโยงกับ ‘ปมค้างใจ’


ก่อนอื่นต้องพูดแบบนี้ก่อนว่า ‘ปมค้างใจ’ บางทีมันจะฝังแฝงอยู่ได้หลากหลายอย่างด้วยกัน
เช่น ตัวอย่างแรก เป็นมวลพลังงานที่เรารู้สึกได้
บางคนก็อย่างเช่น สถานการณ์ทุกวันนี้ เขาแฮบปี้ดีทุกอย่างนะ มีลูก มีแฟน ชีวิตดี แต่ว่าลึกๆ ก็ยังรู้สึกเศร้าๆ
แล้วก็หาสาเหตุไม่ได้ และจริงๆ แล้วทุกอย่างก็ดีหมดเลย ไม่น่าจะเศร้าได้เลย แต่เพราะว่าความเศร้านั้นแหละครับ คือปมที่มันติดตัวมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่มันเกิดเหตุการณ์ ซึ่งอาจจะติดมา 10-20 ปีก็ได้ กรณีนี้เป็นตัวอย่างแนวที่หนึ่ง


ตัวอย่างที่สอง บางทีปมนั้นก็ติดอยู่ตามร่างกายส่วนต่างๆ ซึ่งกรณีนี้ อาจจะต้องไปพบนักบำบัดที่ทำงานตั้งต้นจากฐานกาย
เช่น คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ ( หมายเหตุ : ดุจดาว วัฒนปกรณ์ Dance Movement Psychotherapist คนแรกของเมืองไทย จบปริญญาโทด้าน Dance Movement Therapy ที่ Goldsmiths University of London ที่อังกฤษ )

ผมยกตัวอย่าง เช่น ในอดีต เราอาจเคยโดนตบหน้าจากคนที่เรารักเค้ามาก เรารู้สึกไม่โอเคมากๆ ณ วันนี้ ผ่านมาสิบปีแล้ว
ผิวหน้า ผิวกายไม่ได้เจ็บแล้ว แต่เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเมื่อไหร่ ตรงบริเวณที่ถูกตบตีก็ยังคงรู้สึกเจ็บอยู่ เป็นต้น
คือ มันมีการฝังแฝงไว้ตามร่างกายส่วนต่างๆ อยู่ กรณีเช่นนี้ก็ควรไปพบนักบำบัดที่ทำงานตั้งต้นจากฐานกาย เช่น Dance Movement ได้

ทว่า มันก็ยังมีตกค้างอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นการตกค้างผ่านภาพสัญลักษณ์ที่สมองบันทึกไว้ ที่การทำบำบัดด้วยถาดทรายช่วยให้เข้าถึงภาพสัญลักษณ์นั้นๆ ได้ง่าย” ศุภฤทธิ์ ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

ผู้รับการบำบัดลักษณะนี้อาจดูได้จากขณะที่เขาหยิบ และเล่นในถาดทราย เขาอาจดูไม่ได้นึกอะไร
ตัวนี้เหมือนอยากหยิบมาเล่น แต่อธิบายไม่ถูก อธิบายไม่ได้ว่าเพราะเหตุใด


เนื่องจากในหลายครั้งอาจจะเกี่ยวกับปมหรือไม่เกี่ยวกับปมก็ได้
แต่ว่าในส่วนหนึ่ง ในการทำงานกับปมนั้น ในการทำงานกับถาดทราย จะใช้ภาพสัญลักษณ์เข้าไปช่วยทำงาน
อาจกล่าวได้ว่านับเป็น ‘ไฮไลต์เด็ดๆ’ ในการทำงานที่เกี่ยวกับปมค้างใจ


ดังนั้น หากถามว่า ทำแบบนี้แล้วจะช่วยอะไร
คำตอบคือ ช่วยคลี่คลาย ไม่ให้ชีวิตต้องอยู่ใต้อิทธิพลของปมค้างใจไปตลอดเวลา
หรือว่าบางสิ่งบางอย่างที่เติมไม่เต็ม หรือบางอย่างที่รู้ว่าทำไม่ได้ ก็ล้วนใช้การบำบัดด้วยถาดทรายช่วยได้





ช่วงวัยที่เหมาะสม ในการเล่นบำบัดด้วยถาดทราย

ถามว่า กรอบอายุของคนที่สามารถเล่นถาดทรายได้คือเท่าไหร่

ศุภฤทธิ์ตอบว่า ศาสตร์แขนงนี้ นับแต่ดั้งเดิม ถูกออกแบบมาให้ใช้กับเด็ก เนื่องจากเด็กมีคลังคำ มีภาษาพูดจำกัด
มีการเล่าเรื่องจำกัด หรือมีการใช้คำไม่ถูกต้อง เช่น คำนี้ อาจหมายถึงอีกอย่างก็ได้
ดังนั้น การบำบัดด้วยถาดทราย จึงใช้ได้ตั้งแต่เด็ก 3 ขวบขึ้นไป ที่รู้ความแล้ว ไม่ได้นำของเล่นเข้าปาก เข้าจมูก เข้าหู และเล่นได้ทุกวัยจวบจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งรูปแบบการเล่น ก็จะต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย
เพราะในวัยเด็ก เขาจะเล่นกลบทรายไปมา เอาอะไรฝังบ้าง ไม่ได้เป็นภาพนิ่งๆ
เช่น หากมีรถอยู่บนทราย เขาก็จะใช้มือจับรถให้เคลื่อนไหวบรื้นๆ แล้วก็แล่นตะลุยไป แบบนี้ก็ถือเป็นรูปแบบการเล่นในถาดทรายรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งต่อมา พบว่าศาสตร์นี้ใช้กับผู้ใหญ่ได้ด้วย จึงมีการนำมาใช้กับผู้ใหญ่


ถามว่า การคลายปมค้างใจ ผู้เล่นถาดทรายสามารถถอดสัญลักษณ์ได้เองไม่ หรือ ศุภฤทธิ์ ต้องเป็นผู้ช่วยคลายปมนั้น

ศุภฤทธิ์ตอบว่า ในกรณีที่นำไปเล่นเอง ใช้เอง ก็สามารถเล่นเองได้เลย เพราะในด้านหนึ่ง มันก็คือการเล่นรูปแบบหนึ่ง
โดยไม่จำเป็นต้องถอดความสัญลักษณ์อะไร และการเล่นก็เป็นการเยียวยาในตัวเองอยู่แล้ว
แต่จะคลายปมค้างใจอะไรได้แค่ไหน นั้นอีกเรื่องหนึ่ง

“ส่วนแนวทางที่ผมใช้ เป็นกระบวนการที่ค่อนไปทาง ‘เล่นบำบัด’ กับ ‘ศิลปะบำบัด’ ครับ อาจแตกต่างออกไป
เพราะตอนที่จิตแพทย์เด็กเขาสอน กระบวนการเขาใช้จิตบำบัดครอบครัวแนว Satir มีความแตกต่างในรายละเอียด
หากถามว่า ถ้าคุณผู้อ่านทางบ้าน อยากเล่นเองได้ไหม เล่นได้เลยครับ
หากถามว่าจำเป็นต้องรู้สัญลักษณ์อะไรไหม รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ สิ่งสำคัญคือกระบวนการในการพาเล่น
ขึ้นอยู่กับว่า การเล่นนั้น มันไปถึงกระบวนการบำบัดหรือเปล่า ‘เล่น’ กับ ‘เล่นบำบัด’ ก็ต่างกันนะครับ
ถ้าเล่นเฉยๆ โดยทั่วไป จะได้ผ่อนคลาย ได้สนุก ได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่าง
เพียงแต่ว่าอาจจะต้องแยกให้ออก ว่าหากถึงระดับบำบัด จะต้องมีเป้าหมายเหมือนกันว่าทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร
ทำอย่างไร ใช้แนวของจิตบำบัดสำนักไหน มันมีรายละเอียดในกระบวนการอยู่เหมือนกันครับ


องค์ประกอบสำคัญ อย่างแรกที่ผมให้น้ำหนักคือ เรื่องของบรรยากาศครับ
บรรยากาศมีสองอย่างด้วยกัน อย่างแรก คือ อิสระครับ คือเล่นได้เต็มที่เลย
อย่างที่สอง คือ ปลอดภัย เล่นได้อิสระเต็มที่ตราบเท่าที่ปลอดภัย
อย่างที่สาม ถ้าเป็นการบำบัด ก็จะมีผู้ใช้บริการ
อย่างที่สี่ ก็คือมีผู้ให้บริการ หรือว่านักบำบัด
อย่างที่ห้า คือตัว ‘เครื่องมือ’ ในที่นี้ คือ ‘ถาดทราย’ และ ‘วัตถุสัญลักษณ์’ ต่างๆ
ผมเรียกของเล่นและสิ่งต่างๆ ว่า ‘วัตถุสัญลักษณ์’ นะครับ เพราะที่ผมเตรียมไว้ให้มีพระเครื่องด้วยครับ
คือจะเรียกพระเครื่องเป็นของเล่นก็กระไรอยู่นะครับ ( หัวเราะ) ผมจึงเรียกว่าวัตถุสัญลักษณ์ครับ
เพราะผมอยากให้สื่อถึงการเป็นภาษาสัญลักษณ์ด้วยครับ เน้นทำงานด้านภาษาสัญลักษณ์โดยตรง


องค์ประกอบถัดไป คือเราจะใช้จิตบำบัดสำนักไหน หรือจะใช้กรอบแนวคิด ทฤษฎีทางจิตวิทยาแนวไหน อย่างไรครับ
สำหรับผมรวมกันทั้งหมดนี้ จึงจะเรียกว่าการบำบัดครับ” ศุภฤทธิ์ ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

แนวทางที่นับเป็นจุดเด่นของตนคือแนววิเคราะห์ ซึ่งวิเคราะห์แล้วก็นำมาใช้ได้หลายแนว

อาทิ แนวของ ‘การแบ่งบุคลิกภาพภายใน’
หรือเมื่ออยู่หน้างานกับบางถาดทรายก็พบว่าเป็นเรื่องของ ‘ตัวตนที่ปรารถนา’ กับ ‘ตัวตนที่เป็นจริง’
บางถาดทรายก็เป็นเรื่องของ Attachment Theory ที่เกี่ยวกับเรื่องสายสัมพันธ์
จึงขึ้นอยู่กับว่าถาดทรายนั้นๆ ปรากฏภาพออกมาในแนวไหน


ทั้งนี้ ในส่วนที่ศุภฤทธิ์ให้บริการ เขาจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นแต่ละกรณี ดังนี้

หนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู่ใช้บริการอนุญาตให้วิเคราะห์ไหม
ซึ่งโดยจรรยาบรรณแล้วก็เป็นสิทธิ์ของผู้รับบริการที่จะไม่รู้ได้ แล้วก็มีจิตบำบัดบางสำนักเขาก็ไม่วิเคราะห์
โดยศุภฤทธิ์ก็สามารถนำพาให้ผู้ใช้บริการ เล่นถาดทรายไปในแบบที่เจ้าตัวไม่ต้องรู้ความหมายก็ได้
รวมถึงเรื่องที่เขาเล่า ก็มีบางทีเขาไม่ได้เล่าเรื่องส่วนตัว
เขาเล่าเรื่องพระราชา มีอาณาจักร มีเมือง ศุภฤทธิ์ก็สามารถทำตามแนวนั้นได้ คือแนว Narrative Therapy
คือทำยังไงให้วกกลับมาเข้าสู่จิตใจตนเองได้

หรือแม้บางราย ผู้ใช้บริการบางทีเขาก็ไม่อยากพูดเรื่องของตัวเองตรงๆ
เล่าเรื่องแนวแฟนตาซีมา ศุภฤทธิ์ก็สามารถวิเคราะห์ได้
“ผมทำงานมา 900 ชั่วโมงแล้วนะครับ แต่ก็มีบางถาดทรายที่ผมก็ไม่รู้ครับ หรือวิเคราะห์ไม่ออก ตีความไม่ได้ก็มีครับ
ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าเขาถามว่าเป็นยังไง ผมก็ต้องบอกตามตรงว่าไม่รู้น่ะครับ”
ศุภฤทธิ์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา และกล่าวว่า

หากผู้รับบริการต้องการทราบความหมายในถาดทรายของตนเอง โดยทั่วไปศุภฤทธิ์จะบอกให้ทราบ
แต่ในกรณีที่เป็นเด็ก ศุภฤทธิ์จะไม่บอก เพื่อให้เด็กเล่นตามใจ แต่จะบอกความหมายกับพ่อแม่
เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่พ่อแม่พาเด็กมาก็เพื่อต้องการทราบความหมายในภาพสัญลักษณ์
เพื่อทำความเข้าใจเด็กจะได้ดูแลอะไรได้ จึงต้องบอกพ่อแม่

แต่ในกรณีที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ศุภฤทธิ์จะวิเคราะห์ให้ทราบแค่บางส่วน
โดยเฉพาะการบอกในข้อดีของเด็กที่ศุภฤทธิ์สังเกตได้ บอกให้เขาทราบว่าข้อดีเขาคืออะไร ซึ่งจะมีหลักฐานเสมอ
เนื่องจากในถาดทรายเขาปรากฏสิ่งนี้ รูปแบบการเล่นแบบนี้ พฤติกรรมขณะเล่นแบบนี้ จึงตีความแบบนี้ แล้วก็เห็นว่าข้อดีของเขาเป็นแบบนี้


กระบวนการวิเคราะห์ปมค้างใจ

ถามว่า การที่ศุภฤทธิ์เลือกที่จะบอก หรือไม่บอก วิเคราะห์ หรือไม่วิเคราะห์ผู้รับบริการ ขึ้นอยู่กับปัจจัยใด
ศุภฤทธิ์ตอบว่า มีองค์ประกอบหลายอย่าง
ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมาเพื่อขอรับคำปรึกษาบำบัด ก็ต้องพูดคุยกันก่อน โดยแบ่งการพูดคุยเป็นสามช่วง
ช่วงแรกคือพูดคุย ซักประวัติ
ช่วงที่สอง คือช่วงเล่นในถาดทราย
ช่วงที่สาม เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏในถาดทราย
ช่วงที่หนึ่ง ที่และช่วงสอง ค่อนข้างคล้ายกันแทบทุกคน ยกเว้นบางคน อาจจบได้ด้วยการพูดคุย โดยไม่ต้องเล่นในถาดทราย กรณีเช่นนี้ เป็นการให้คำปรึกษาทั่วไป

แต่หากมาเล่นในถาดทรายด้วย ก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติม
การพูดคุยในช่วงที่สาม จึงนับว่ามีความผันแปร แล้วแต่หน้างาน หรือถาดทรายของแต่ละคน
บางคนก็อาจจะต้องเล่นอีก บางคนก็ไม่วิเคราะห์เลย ชวนกันเล่นเลย บางกรณีศุภฤทธิ์ก็เป็นฝ่ายชวนเล่น

“บางกรณี ถาดทรายของเขา ผมเห็นแล้วล่ะ ว่าดูมีประเด็นอะไรบางอย่างที่ด้านหนึ่งของถาดทราย
 แต่เมื่อฟังเรื่องเล่าจากถาดทรายของเขาแล้ว ก็พบว่าประเด็นนั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับคุณแม่ของเขา ซึ่งก็มีหลักฐานปรากฏในถาดทรายที่ดูสอดคล้องกันดี แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนัก
ดังนั้น ผมก็จะชวนเขาเล่นในถาดทรายที่เป็นหัวข้อเกี่ยวกับคุณแม่ของเขา อาจจะเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ก็ได้นะครับ
เมื่อถาดทรายที่สองเสร็จ เราก็เห็นว่า อันนี้ มันใช่แน่ๆ เลย แต่ว่าก็รู้สึกว่ายังไม่ Touch ใจมากนัก
หมายถึงระดับของเขายังไม่ถึงขั้นซาบซึ้งใจ ก็เลยชวนทำละครอีก เป็นสเต็ปที่สาม
โดยใช้ซีนละครนั้นมาจากถาดทรายที่สอง
เมื่อใช้ซีนละครมาทำ จึงได้เข้าใจ และถึงบางอ้อว่า ที่เขาติดค้างคุณแม่ของเขานั้น มันเป็นเรื่องแบบนี้ แบบนี้
แล้วที่เขาเลือกแบบนี้ เพราะครั้งหนึ่ง คุณแม่เคยบอกเขาแบบนั้น เป็นต้นครับ

กล่าวคือ บางอย่าง เราไม่เห็นตอนซักประวัติ บางอย่างเห็นในถาดทราย
ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ การซักประวัติเหมือนเกิดขึ้นทิศหนึ่ง ตอนทำถาดทรายเป็นอีกทิศหนึ่ง
โดยมีปมตกค้างเป็นภาพสัญลักษณ์

ชีวิตคนเรามีหลายเหตุการณ์ ก็ย่อมมีหลายปม แต่ปมที่เป็นแผลใหญ่ๆ ของเรา มันมักจะมีคลื่นพลังงาน
เช่น คนที่เศร้า ไปเจอเหตุการณ์ A เหตุการณ์ B เหตุการณ์ซ C ทำให้เศร้า
แล้วเหตุการณ์ D ล่าสุด คือเลิกกับแฟน เลยทำให้เศร้า
ในถาดทรายของเขา มีโอกาสมากๆ ที่จะเห็นภาพสัญลักษณ์จากเหตุการณ์ A ส่วนหนึ่ง B ส่วนหนึ่ง
C ส่วนหนึ่ง D ส่วนหนึ่ง
ดังนั้น ในหนึ่งถาดทราย จึงไม่ได้มีเวลาแค่เวลาเดียว แต่มันมีมิติเวลายาวนาน
ซึ่งโดยกระบวนการ ถ้าเข้าใจ อ่านออก ตีความได้ แบบมีความน่าเชื่อถือ แม่นยำ
เราก็จะเห็นว่า บางคนมีแผลใจมาตั้งแต่ตอนเกิดเลยนะครับ บางคนมีแผลใจตอนอยู่ในท้องแม่ ตั้งครรภ์
แล้วบางคน ก็เป็นแนว Spiritual แนวจิตวิญญาณ ที่เจ้าตัวเขาไปรับรู้ถึงอดีตชาติของตัวเอง ก็มีหน่อยๆ
แต่อันนี้เกินวิทยาศาสตร์ไปแล้วครับ ( หัวเราะ ) เมื่อเห็นอย่างนี้ เราสามารถเลือกได้
ว่าเราจะเลือกบำบัดเหตุการณ์ไหน A B C หรือ D จะเข้าที่ช่องทางไหน ประเด็นไหน
ระดับไหน ที่เข้าไปบำบัดอะไรได้
ตรงไหนเสี่ยงสูงไม่ควรเข้า ตรงไหนเป็นต้นทุนบวกๆ ของเขา ตรงไหนเป็นเงื่อนไขเฉพาะภายในใจเขา
ทำยังไงถึงจะผ่านด่านได้ เหมือนเห็นแผนที่อาณาจักรใจแทบทั้งหมดเลย” ศุภฤทธิ์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

การวิเคราะห์ถาดทราย มีสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจเพิ่มขึ้น
คือเรื่องที่ผู้เล่นเล่าเป็นภาษาพูด กับภาษารูปภาพในถาดทรายนั้น อาจเป็นคนละเรื่องกัน





ศุภฤทธิ์ยกตัวอย่างเรื่องของชายคนหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยได้เขามีอาชีพขายลูกเต๋าและอุปกรณ์การพนัน เขามากับภรรยา ภรรยาเป็นฝ่ายอยากมาหาครูฤทธิ์ แล้วก็พาสามีมาด้วย
สามีก็มีทีท่าสงสัยว่าการพูดคุยและเล่นอะไรแบบนี้จะช่วยได้หรือ แต่เล่นก็ได้ ให้ความร่วมมือประมาณหนึ่ง
แต่ไม่ได้ให้ความร่วมมือมาก


“เขาทำธุรกิจร้านลูกเต๋า ในถาดทรายของเขามีบ้าน แบบเป็นบ้านเดี่ยว มีทางเข้า
มียามคอยดูแลความปลอดภัยว่าใครจะเข้าบ้าน แล้วถัดมาเขาใช้คำว่า ‘สวนรกๆ’
ซึ่งสวนรกๆ ของเขานั้น คล้ายๆ หญ้าเทียมตารางฟุต มีหญ้าเป็นใบๆ แล้วเขาก็วางต้นไม้ที่แยกชิ้นส่วนได้
คือลำต้นจะมีตอไม้แล้วก็มีก้านไม้แยกออกมา
ถ้าเรามองจากมุมมองของ Bird's eye view เราก็จะมองเห็นว่า
ต้นไม้นี้จะเป็นวงกลม เขาก็เอาต้นไม้ 3 ชิ้นมาวางเรียงแนวทแยงมุมบนหญ้าเทียม
แล้วเขาก็เรียกว่า อันนี้ คือ ‘สวนรกๆ’


เขาก็มีวัตถุสัญลักษณ์แทนลูก แทนภรรยาและมีสุนัข กระโดดโลดเต้นอยู่รอบบ้าน ออกแนวครึกครื้น
ผมก็งงอยู่สองอย่างครับ
อย่างแรกคือ โดยทั่วไปแล้ว ถ้าคนมาเล่นถาดทราย มักจะทำ ‘บ้าน’ อยู่สองรูปแบบคือ โล่งเลย กับทำทางเข้าบ้าน
แต่รายนี้ มีสวนรกๆ แล้วก็บ้านเลย เอ๊ะ!มันเข้ากันยังไงนะ ผมก็ถามเขา

เขาก็ตอบว่า ‘ครูครับ ครูก็เดินลัดเลาะมาตามสวนรกๆ นี้เลยครับ’ เขาก็ค่อยๆ ลากเส้นไปลงบนหญ้าเทียม แล้วก็เข้าบ้าน"

อย่างที่สอง ปกติ คนทั่วไปเวลาเขามาเล่นแบบที่ต้องการต้นไม้ เขาจะไม่เปิดเปลือยด้านบนของต้นไม้โปเกมอน (Pokemon) เป็นตอไม้ แต่เขาจะหาอะไรเขียวๆ มาปิดตอไม้ไว้ แต่คนนี้เขากลับเปิดเปลือยต้นไม้ไว้


แต่ขอให้พวกเราลองจินตนาการว่า ถ้าคุณมองลงไปจะเห็นสนามหญ้าสีเขียว “รูปทรง” สี่เหลี่ยมจัตุรัส
และมีวงกลมตอไม้เรียงกันในแนวทแยง เป็น “รูปทรง” วงกลม 3 วง เรียงกัน จะเห็นอะไร


อดถามไม่ได้ว่า เมื่อจินตนาการตามที่เล่า ภาพสนามของชายคนนี้เหมือนลูกเต๋า!

ศุภฤทธิ์ ตอบว่า “ครับ ถูกต้องครับ เหมือนลูกเต๋า แต่เรื่องเล่าของเขาไม่เอ่ยถึงลูกเต๋าสักคำ
สำหรับเขานี่คือสวนรกๆ แต่เรามองแล้วตีความได้ว่านี่คือลูกเต๋าชัดๆ เลย
พอเจอแบบนี้ก็ทำให้ได้ชวนคุยเรื่องร้านลูกเต๋าเพิ่มเติม
เลยพบว่า ด้านนี้ก็เป็นด้านที่เขารู้สึกไม่ค่อยดีครับ หมายความว่า จริงๆ แล้ว เขาก็รู้สึกผิดนิดๆ
เพราะการทำอาชีพนี้ก็เหมือนส่งเสริมคนติดการพนัน
สรุปคือ ด้านนี้เป็นด้านที่เขาไม่อยากทำ ไม่อยากยอมรับ ถ้าเลือกได้ ก็อยากทำอย่างอื่น เป็นด้านที่ปฏิเสธ
ไม่โอเคกับตัวเอง นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ติดค้างในใจเขา
ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าพูดคุยซักประวัติทั่วไป อาจจะไม่ทราบเรื่องนี้ก็ได้


ผมก็จะเจอแบบนี้บ่อยๆ ครับ 80% ของผู้ใช้บริการ ดังนั้น จะเห็นสัญลักษณ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ตลอด
คำถามว่าดูยังไง ดูได้จากหลายอย่างเลยครับ
ทั้งน้ำเสียง พฤติกรรมของเขาขณะเล่น ภาษาท่าทางของเขา
ปฏิสัมพันธ์ของเขากับวัตถุสัญลักษณ์ บางทีเขามีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุสัญลักษณ์ที่อยู่ตามชั้นด้วยนะครับ
ที่ไม่ได้อยู่ในถาดทราย แต่เขาหยิบจับมาดูแล้วนิ่งคิด ตามชั้นวาง แต่เขาไม่ได้เลือกมาวางเสมอไป


นอกจากนั้น ก็ยังมีลำดับการเล่าเรื่องด้วย อันไหนเล่าก่อน อันไหนเล่าหลัง ตรงไหนที่ดูแล้วเขาเน้นเรื่องนี้
ตรงไหนที่เขาไม่เน้นในถาดทราย ก็ดูตั้งแต่ความหมายสัญลักษณ์นั้นๆ โดยทั่วไป และความหมายที่เขาให้
แต่ละคนให้ความหมายเฉพาะตัว แต่ก็จะมีบางอย่างที่คล้ายๆ กัน เป็นสากลก็มีเหมือนกัน
แล้วก็มีขนาด ระยะห่างของวัตถุสัญลักษณ์ การหันหน้า มุมมอง ที่แบบว่า ตัวนี้มองทางนั้นอยู่
อาจเป็นได้ทั้งการจับจ้อง การเฝ้ามองด้วยความคิดถึง หรือการมองเพื่อจะขออนุญาต
หรือมองด้วยความชื่นชมก็ได้ ขึ้นอยู่กับการหันหน้า และทิศทางของแต่ละส่วน
แล้วก็ความสัมพันธ์ในแนวสมมาตรหรือทแยงมุม โอ้! มีได้เยอะมากๆ เลยครับ
ตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้ละครับ คือปัจจัยในการดู” ศุภฤทธิ์บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ







ถามว่า หากมีผู้สนใจอยากทำถาดทรายบำบัดกับศุภฤทธิ์ต้องทำอย่างไร


ศุภฤทธิ์ หรือ ‘ครูฤทธิ์’ ตอบว่า
“ติดต่อผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้’ ครับ การบริการมีสองระดับครับ
มีระดับของการเล่นแบบเปิดประสบการณ์ การเล่นแบบนี้ไม่ต้องเล่าเรื่องราวส่วนตัวเลยก็ได้ครับ
การเล่นแบบนี้อยู่บนพื้นฐานแนวคิดว่า ใครๆ ก็เล่นได้ ทุกคนก็เคยเป็นเด็ก
การเล่นก็เยียวยาตนเองไปในตัวอยู่แล้ว
เล่นแล้ว ถาดทรายบอกอะไรมา ถ้าอยากทราบ ครูฤทธิ์ช่วยบอกให้ได้ครับ
แต่ต้องแจ้งไว้ครับ ว่าไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์นะครับ เพราะบางคนเขาเล่นแล้วเขาได้คำตอบเองครับ
แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยแต่ก็มีครับ เขาเอาใจออกมาเล่า และเอาสิ่งที่เล่นกลับเข้าไปในใจ
และมีที่ว่าหากถาดทรายบอกอะไร ครูฤทธิ์ก็ช่วยบอกช่วยคลี่คลายให้ได้ บางคนก็ลงลึกไปถึงปมได้
บางคนก็ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนครับ


ระยะเวลาในการเล่น จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในหนึ่งวัน
เพราะที่นี่ เมื่อผู้เล่น เล่นแล้วเห็นว่าเผยให้เห็นประเด็นอะไรได้บ้าง ก็ไม่ค่อยมีใครอยากกลับครับ
บางรายก็ต่อเวลาเป็น 5 ชั่วโมงก็มีครับ แต่ก็จะพยายามไม่ให้เกิน 5 ชั่วโมง


การบริการอีกแบบหนึ่ง เป็นการปรึกษาและการบำบัด (จิตบำบัดความเข้มข้นต่ำ) ครับ
ก็ต้องมีการซักประวัติ มีการตั้งประเด็น แล้วก็มีการพูดคุยเรื่องของความคาดหวัง ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้หลังจบการบริการ มีการดูกันว่าประเด็นที่เขาตั้งมามันเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาจริงไหม หรือมันมีอะไรมากกว่านั้น ที่เขามองไม่เห็น
ระยะเวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ 3-5 ชั่วโมง ครับ


ทั้งสองแบบต่างกันอย่างนี้ ถ้าเป็นแบบแรก (เล่นเปิดประสบการณ์) ก็จะมีความเชื่อในการเล่นว่า ทุกคนเคยเป็นเด็ก เด็กก็เล่นได้ ขอแค่เรามีใจที่อยากเล่น เราก็เล่นได้
ดังนั้น ถ้าอยากจะเล่นก็เล่นได้ การเล่นเป็นการเยียวยาตนเองอยู่แล้ว
แต่หากจะให้ผลแบบการเยียวยาบาดแผลทางใจที่เฉพาะเจาะจง มันจะต้องมีความแม่นยำ ซึ่งรูปแบบการบริการแบบที่สอง (ปรึกษา/บำบัด) จะมีความแม่นยำมากกว่า
นี่เป็นสองรูปแบบการบริการหลักๆ ครับ


ให้บริการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีปัญหา ให้บริการทั้งรายเดี่ยว รายคู่ รายกลุ่มครับ

ถ้าเป็นคู่ก็เป็นแนวกระชับความสัมพันธ์ครับ ได้ทุกรูปแบบนะครับ ไม่ว่าคู่สามีภรรยา คู่พี่น้อง คู่แฟน คู่ที่เพิ่งเริ่มดูใจกัน
ยกเว้นคู่อริ ช่วยไม่ได้ครับ ( หัวเราะ )

ถ้าเป็นกลุ่มที่มาเล่นแล้วคึกครื้น ก็คือกลุ่มที่เป็นเพื่อนกัน มาเล่นแล้วรักกันมากขึ้น
เพราะจะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น แล้วก็ช่วย Support กันมากขึ้น
เจอหลายกลุ่มแล้วครับ ที่เป็นเพื่อนกัน มาแล้วเข้าใจกันมากขึ้น

สำหรับราคา ถ้าเป็นรูปแบบแรก รายเดี่ยว ชั่วโมงละ 800 บาท ถ้า 4 ชั่วโมง ก็ 3,200 บาทครับ
ถ้าเป็นแบบที่สอง ปรึกษาและจิตบำบัดความเข้มข้นต่ำ ก็ 3 ชั่วโมงแรก 3,800 บาทครับ ชั่วโมงที่ 4 แถมฟรีครับ
ก็คือจบ 4 ชั่วโมง 3,800 บาทครับ ชั่วโมงที่ 5 จะคิด ชั่วโมงละ 1,000 บาท เป็นต้นไปครับ
สถานที่ อยู่ที่ย่านรามอินทรา 34 ครับ

วันธรรมดาจะรับได้แค่เคสเดียวครับ เพราะลูกอาจจะอยู่ด้วย แนะนำว่าทักมาทางเพจดีกว่าครับและนัดหมายกันอีกทีครับ”
ศุภฤทธิ์ระบุ และกล่าวทิ้งท้ายว่า

นอกจากใช้ถาดทรายทำงานทางด้านจิตใจแล้ว ยังสามารถใช้ถาดทรายประกอบการประชุมสัมมนา
เพื่อให้การประชุมไม่น่าเบื่อ ทำให้มีส่วนร่วมอย่างสนุกเพลิดเพลินได้ด้วย

และเนื่องจากศุภฤทธิ์เป็นผู้ดูแลลูกพิการ ทำให้สามารถใช้สิทธิ์ผู้ดูแล ในการรับจ้างเหมาบริการ
ตามกฎหมายที่กำหนดให้องค์กรที่จ้างพนักงานเกิน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน
หากไม่จ้างคนพิการโดยตรง สามารถจ้างเหมาบริการ ให้ผู้ดูแลคนพิการ ไปบริการอะไรตามถนัดให้องค์กรนั้นๆ
หรือทำการกุศลให้หน่วยงานสาธารณะหน่วยงานรัฐได้ ซึ่งศุภฤทธิ์ก็ยินดีรับจ้างเหมาบริการการเล่นในถาดทราย
ให้ตามความต้องการขององค์กร สามารถติดต่อพูดคุยได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊คดังระบุไว้ข้างต้น

…..

ทั้งหมดทั้งปวง คือกระบวนการทำงานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวผู้นี้ ในการบำบัดเยียวยาจิตใจผู้คนที่มีปมค้างใจ และอาจยังไม่รู้วิธีเยียวยาบาดแผลเหล่านั้น หากลองเปิดใจให้การเล่นในถาดทรายได้บำบัดเยียวยาบ้าง ก็นับว่าน่าลองดูไม่น้อย

เพราะ ณ ที่แห่งนี้ มีวัตถุสัญลักษณ์มากมายรอคอยให้ผู้มาเยือน หยิบจับได้ตามแต่ใจ
ด้วยบรรยากาศและเวลาอันเปี่ยมมิตรไมตรี
ทั้งเอื้อต่อการเปิดเผยความรู้สึกได้ตราบเท่าที่หัวใจปรารถนา

Text By รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ, M.O.M, The Potential, Thisable.me