เกิดคำถาม เมื่อสายด่วน 1669 ทำงานไม่ได้ จากเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินใน “สนามบิน” แถมไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิ UCEP ต้องจ่ายค่าบริการ หลังคนขับแท็กซี่เกิดภาวะช็อกกะทันก่อนเสียชีวิต ชี้เป็นพื้นที่พิเศษ ถูกเรียกค่าบริการย้อนหลัง 13,000 บาท
รายงานพิเศษ
จากกรณีที่คนขับแท็กซี่ เกิดภาวะช็อกกะทันหันระหว่างเข้าไปส่งผู้โดยสารในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากสมองขาดออกซิเจนนานเกินไปก่อนจะได้รับความช่วยเหลือ โดยลูกของผู้เสียชีวิต โพสต์ข้อความลงในโซเชี่ยลมีเดียว่า มีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้โทรแจ้ง 1669 ทันทีที่เกิดเหตุแล้ว
แต่ได้คำตอบว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่พิเศษที่ 1669 ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ จึงต้องประสานให้ทีมแพทย์ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มีสัญญาสัมปทานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการเองเท่านั้น
และเมื่อนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลอื่นแล้ว ยังพบว่า ถูกเรียกค่าบริการย้อนหลังจากหน่วยแพทย์เอกชนในสนามบินอีก 13,000 บาท ทั้งที่โดยปกติแล้ว การใช้บริการ 1669 จะให้บริการฟรี
เมื่อตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวในวงการแพทย์ฉุกเฉิน ก็พบว่า หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ในพื้นที่ของ ทอท. การให้บริการ 1669 จะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้จริง หรือหากจะเข้าไปก็ต้องได้รับอนุญาตจากบริษัท และต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่ล่าช้าเกินไปต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย
เพราะมีกฎหมายระบุว่า เป็น “พื้นที่หวงห้าม” ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งทำให้ “มีปัญหา” ในการช่วยเหลือผู้ป่วย และยังมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาจริง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้อุปกรณ์ของคลินิกในสนามบิน
โดยรูปแบบการให้บริการ จะมีทีมแพทย์ฉุกเฉินของ ทอท. ประจำการในเวลา 8.00-16.00น. ส่วนเวลาอื่นจะเป็นทีมจากโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับสัมปทานเข้ามาดูแล โดยเปิดเป็นคลินิกอยู่ในพื้นที่ด้วย
แหล่งข่าวระบุถึงคำถามใหญ่ จากกรณีนี้ 3 คำถาม คือ
คำถามแรก ... พื้นที่ “สนามบิน” หรือ พื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของ ทอท. เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ทำให้ 1669 ไม่สามารถส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นบริการสาธารณะเข้าไปให้บริการได้
แต่สนามบินสุวรรณภูมิหรืออาณาเขตที่อยู่ในการดูแลของบริษัทฯ มีพื้นที่กว้างขวางมาก ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ที่ประชาชนทั่วไปใช้สัญจรเป็นทางผ่าน มีสนามจักรยาน มีจุดจอดรถสาธารณะที่ไกลออกไป ไม่ใช่ว่าจะเกิดเหตุแค่ที่อาคารผู้โดยสารหรือที่รันเวย์เท่านั้น ต่างจากสนามบินดอนเมืองที่ไม่กว้างมาก หากนำผู้ป่วยออกมาด้านหน้าได้ ก็มีโรงพยาบาลรองรับอยู่แล้ว
ดังนั้น การใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่อการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ต้องทบทวนมาตรการหรือไม่
“ที่เป็นตลกร้าย คือ รมว.สาธารณสุขเคยประกาศว่า สามารถใช้ทีมช่วยเหลือทางอากาศเข้าไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทุกที่ ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน หรือแม้แต่ในหุบเขา แต่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคที่ดูแลกระทรวงคมนาคมได้ กลับไม่สามารถทำให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปให้บริการประชาชนในพื้นที่สนามบินได้” แหล่งข่าว กล่าว
คำถามต่อมา คือ แม้จะพอยอมรับได้ว่า การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสนามบิน ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของสนามบิน แต่ทำไมจึงปล่อยให้คู่สัมปทานที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บค่าบริการต่างๆ จากผู้ป่วย ซึ่งต่างจากหลักเกณฑ์การบริการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยค่าบริการที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่ค่าบริการออกไปช่วยเหลือ ค่าใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ค่าทำ CPR ซึ่งหากเกิดเหตุในพื้นที่ด้านนอกสนามบิน ถือเป็นบริการที่รัฐดูแลประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ญาติของผู้เสียชีวิตรายนี้ ต้องถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการจากคลินิกในสนามบินย้อนหลัง 13,000 บาท
ส่วนคำถามสุดท้าย เป็นคำถามใหญ่ เพราะแหล่งข่าวยังระบุว่า การที่ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ต้องจ่ายเงิน 13,000 บาท หมายความว่า ผู้ป่วยที่ได้รับบริการจากคลินิกสนามบิน แม้จะเป็นเคสฉุกเฉิน แต่กลับไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิรักษาฟรี ที่ไหนก็ได้ หรือที่เรียกกันว่า “UCEP” (Universal Coverage for Emergency Patients)
ทั้งที่สิทธิ UCEP ควรเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินควรได้รับเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดเหตุที่ไหนในประเทศไทย
“สนามบิน เป็นรัฐอิสระ ไม่ใช่ประเทศไทยหรือ” แหล่งข่าว กล่าว