ในยุคสมัยแห่ง ‘นคราภิวัฒน์’ หรือ Urbanization การขยายตัวของความเป็นเมือง
ล้วนรุกล้ำกัดกินพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่การขยายตัวของสังคมเมืองในอนาคต
ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผู้คน และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายแง่มุม
ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ยังมีโครงการที่น่าสนใจโครงการหนึ่ง ที่ก่อตั้งมาไม่น้อยกว่าสิบปี มีวัตถุประสงค์และประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้คนในสังคมเมืองได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
เพราะสิ่งที่โครงการนี้วางเป้าหมายไว้
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน สังคม
ต้นธารแห่งระบบเส้นทางอาหาร อันนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง
มิใช่ยึดติดในการเป็นเพียงผู้บริโภค
แต่สามารถแปรเปลี่ยนตนเองเป็นผู้ผลิต
ผ่านการปลูกผักที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร
ทั้งผลักดันผู้คนในสังคมเมืองที่เคยชินกับความเป็นสังคมแบบปัจเจกบุคคล
ให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันปลูกผักในพื้นที่หลากหลายแห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 300 กลุ่ม
โครงการที่ว่านี้ คือโครงการสวนผักคนเมือง ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
ความน่าสนใจที่กล่าวมาข้างต้น
คือสาเหตุที่ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘วรางคนางค์ นิ้มหัตถา’
หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อตั้งขึ้นนับแต่เดือนเมษายนปี พ.ศ.2553 กระทั่งปัจจุบัน
การยืนหยัดและย่างก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของโครงการสวนผักคนเมืองฯ
จึงมากด้วยประเด็นการสนทนาที่สะท้อนภาพของเมือง สังคมเมือง ผู้คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพื้นที่รูปธรรมและการแบ่งปันพื้นที่ให้แก่กลุ่มเปราะบางในสังคม
ไม่ว่า คนจนเมืองหรือผู้มีรายได้น้อย ได้มีพื้นที่ปลูกผักเพื่อความมั่นคงทางอาหารของตนเอง
ความมั่นคงนี้เองที่ทำให้ชุมชนต่างๆ ก้าวผ่านภาวะวิกฤติโควิด-19 มาได้ทุกระลอก
ทั้งยังพูดคุยถึงความเป็นมานับแต่ก่อตั้งโครงการ, บอกเล่ารายละเอียดของกระบวนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย,
การสร้าง ‘Land Sharing’ พื้นที่แห่งการแบ่งปันที่ดิน,
วิเคราะห์ความเป็นเมืองในอนาคตว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารอย่างไร
วิพากษ์นโยบายและมาตรการของภาครัฐได้อย่างน่ารับฟัง
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ คือบทสนทนาที่หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมืองฯ ได้เมืองถ่ายทอดไว้
จากจุดเริ่มต้น สู่ทศวรรษที่ 2 ของ ‘สวนผักคนเมือง’
เมื่อขอให้เล่าถึงจุดแรกเริ่มและความเป็นมาของโครงการสวนผักคนเมือง
ซึ่งย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 ในปีนี้แล้ว รวมถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง
วรางคนางค์ตอบว่า โครงการสวนผักคนเมืองอยู่ภายใต้ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
ซึ่งภารกิจและบทบาทของมูลนิธิ คือการสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนและงานวิชาการที่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย
รวมทั้ง สนับสนุนรูปแบบวิถีของเกษตรกรรมยั่งยืนในแนวทางเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งก็คือ ความยั่งยืนของระบบการผลิต
“ยั่งยืนในที่นี้ คือยั่งยืนทั้งต่อตัวของเกษตรกรเอง รวมถึงระบบการผลิต ฐานทรัพยากร และผู้บริโภค
นับแต่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2541 ก็ทำภารกิจเหล่านี้เรื่อยมา”
จากนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2552
ได้มีการตั้งคำถามกันในเครือข่ายที่ทำงานเรื่องของความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนว่า
แล้วคุณภาพชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนเมือง จะอยู่อย่างไร
หากไม่ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการพึ่งตนเองด้านอาหารและความมั่นคงทางอาหาร
เป็นการตั้งคำถามที่ทำให้เกิดโครงการสวนผักคนเมืองขึ้น
จากภาคีเครือข่ายที่มีการพูดคุยกัน
แต่องค์กรหลักที่สนับสนุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ในปี พ.ศ. 2553 จุดเริ่มต้นมีเพียงว่าจะทำอย่างไรให้คนเมือง สามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้บ้าง
ได้เรียนรู้ทักษะ ในการเป็นผู้ผลิต เพราะเราวิเคราะห์กันแล้วว่าความเป็นเมืองจะมีความซับซ้อนมากขึ้น
และวิกฤติเยอะมาก ถ้าคนเมืองไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองด้านอาหารได้บ้าง ไม่ใช่เหมือนกับเป็นผู้บริโภคอยู่ตลอด และเข้าถึงอาหารที่ไม่ปลอดภัย
หากเป็นเช่นนั้น วิกฤติข้างหน้าของเมืองจะหนักมาก เพราะเมืองขยายตัวเรื่อยๆ ถ้าเมืองไม่เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่” หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมืองระบุ
สร้างองค์ความรู้ ขับเคลื่อนประเด็นอย่างเป็นรูปธรรม
วรางคนางค์เล่าว่าในช่วงปีแรกๆ ของการทำงาน โครงการสวนผักคนเมืองมีบทบาทในการสร้างความรู้
พัฒนาชุดความรู้ในการเกษตร การเพาะปลูก และมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการไม่ใช้สารเคมี
เพื่อให้เกิดการตระหนักในการรับผิดชอบต่อฐานทรัพยากรของแต่ละพื้นที่
ไม่ว่าดิน น้ำ ที่อยู่รอบๆ การเพาะปลูก เพื่อให้ทรัพยากรมีคุณภาพที่ดีไปด้วยกัน
รวมทั้งเน้นเรื่องการ ‘รวมกลุ่มกัน’ ของคนเมือง
“เพราะเราวิเคราะห์แล้วว่าสังคมเมือง มีความเป็นปัจเจกสูง ต่างคนต่างอยู่มานาน
ถ้าเกิดวิกฤติเกิดอะไรขึ้นมา ถ้ายังเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ ต่างหันหลังให้กันก็ไม่มีทางที่จะรอดในวิกฤติอื่นๆ ได้เลย
ดังนั้น การทำงานของเรา เราจะเน้นไปที่การทำให้คนมารวมกลุ่มกัน ในพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สาธารณะ
พื้นที่อะไรก็ได้ในพื้นที่เมืองแล้วก็ร่วมกันปลูกผัก ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ปลูกผัก
แล้วก็เน้นเรื่องการบริโภคและแบ่งปันกันเป็นหลัก การทำงานเบื้องต้นของสวนผักคนเมืองก็เป็นแบบนี้”
วรางคนางค์ระบุและอธิบาย ขยายความเพิ่มเติมว่า
ในปีแรกๆ ที่เริ่มทำโครงการ มีการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
คือ ประเด็นที่ 1.พัฒนาพื้นที่รูปธรรมให้เกิดขึ้นในเมือง
วรางคนางค์เล่าว่า ในปี พ.ศ.2553 การทำโครงการสวนผักคนเมือง
นับเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทยใน ณ เวลานั้น
ทั้งมีการตั้งคำถามว่าจะปลูกผักได้จริงหรือ ในพื้นที่เมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึก พื้นปูน ไม่มีแสงแดด
แล้วคนเมืองก็ห่างหายจากการเพาะปลูกมานาน แม้ในอดีต กรุงเทพมหานครจะเคยเป็นสวน
แต่ด้วยวิถีชีวิต 50-60 ปีที่ผ่านมา คนเมืองส่วนใหญ่ก็เน้นเรื่องการหารายได้ ประกอบอาชีพ
ทำให้ห่างหายจากการเพาะปลูกไป
เพียงไม่กี่สิบปี คนเมืองรุ่นหลังๆ ก็ทำเกษตรไม่เป็น ไม่รู้จักพืชผัก
ไม่รู้จักกระบวนการเพาะปลูกว่าเป็นแบบไหน มีการตั้งคำถามแบบนี้เยอะ
“เราก็รู้สึกว่า เราไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปในทิศทางไหน คนเมืองจะปลูกผักได้จริงหรือ
การปลูกผักแบบไหนที่เหมาะกับคนเมือง เราจึงเน้นส่งเสริมให้คนรวมกลุ่มกันแล้วก็ปลูกเลย
ทดลองปลูกเลย ว่าทำได้ไหม ทำได้แบบไหน เราเรียกว่าเป็นงบประมาณลงทุนสนับสนุนขนาดเล็ก
ให้ชุมชนที่รวมกลุ่มกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มาปลูกผักด้วยกันสัก 1 ปี แบบนี้เป็นต้น
ซึ่งอาจมีคำถามว่าทำไมต้องรวมกลุ่มกันนานขนาดนั้น
เพราะว่าฤดูกาลของการเพาะปลูกต้องรอถึง 1 ปี เราจึงจะรู้ว่า ฤดูร้อน ฝน หนาว เหมาะกับการเพาะปลูกแบบไหน
อะไร ยังไง เราจึงคิดว่า เรื่องของการทำให้คนเมืองมีทักษะของการเป็นผู้ผลิตอาหารหรือพึ่งตนเองในการผลิตอาหารได้
เรื่องของการเพาะปลูกหรือเกษตรกรรมในเมืองน่าจะทำให้คนได้ความรู้เชื่อมโยงกับความหลากหลายของฤดูกาล
และความหลากหลายของอาหาร และนำพาให้เขากลับไปเรียนรู้เส้นทางอาหารของตนเองด้วย นี่คือประเด็นแรกค่ะ”
วรางคนางค์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นต่อไปว่าโครงการสวนผักคนเมืองได้เปิดอบรม พัฒนาความรู้ ขยายแนวคิด ซึ่งการฝึกอบรมมีหลายๆ ศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดก่อนสวนผักคนเมือง และช่วยกันพัฒนาแนวคิด เทคนิค ที่ช่วยให้คนหันมาเพาะปลูกอาหารและพึ่งตนเองด้านอาหารในเมืองได้
ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มมากกว่า 300 แห่ง
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่และการแลกเปลี่ยนความคิดในวงเสวนาที่โครงการสวนผักคนเมืองทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่าเรื่องของเกษตรและเรื่องอาหารในเมือง ย่อมสัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองในมิติอื่นๆ ด้วย
ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีวงเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับทั้งนักวิชาการ
และคนที่ทำงานขับเคลื่อนเมืองในเรื่องอื่นๆ เพื่อให้พัฒนาไปในทิศทางที่สอดรับกัน สอดคล้องกัน
วรางคนางค์ระบุว่า “ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน เราก็สนับสนุนให้เกิดกลุ่มพื้นที่รูปธรรม
ซึ่งมีคนเมืองรวมกลุ่มกันในลักษณะนี้ ประมาณ 320 แห่ง คือกระจายพื้นที่นะคะ
จริงๆ แล้ว เราเน้นทำที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
แต่ก็มีบางครั้งที่เรารู้สึกว่า ไม่ว่ายังไง เมืองย่อมมีการขยายตัวอย่างแน่นอน
และหลายหัวเมืองก็มีความเป็นเมืองมากขึ้น เราจึงขยายไปทำที่ขอนแก่น เชียงใหม่
หาดใหญ่ พัทลุง ชลบุรี โคราช ในประเด็นของการทำพื้นที่รูปธรรม ก็จะมีพัฒนาการเรื่อยๆ”
วรางคนางค์เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะผลักดันและขับเคลื่อน ขยายไปยังจังหวัดใหญ่ๆ ในแต่ละภาค
สวนผักคนเมืองเน้นการรวมกลุ่มกัน โดยใช้พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ในชุมชน
และมีการทำสวนผักบนดาดฟ้า สวนผักบนพื้นปูน สวนผักในโรงเรียน สวนผักในโรงพยาบาล
กล่าวได้ว่า มีทุกรูปแบบที่เป็นความหลากหลายของเมือง เนื่องจากคนเมืองมีความหลากหลายอย่างยิ่ง
ให้ความสำคัญกับ ‘กลุ่มเปราะบาง’
ไม่เพียงประเด็นหลากหลายที่กล่าวมาเท่านั้น ในเวลาต่อมา โครงการสวนผักคนเมืองยังให้ความสำคัญกับคนจนเมือง
และกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ดังที่ วรางคนางค์กล่าวว่า
“ในเวลาต่อมา เราก็พบว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมากในเมือง โดยเฉพาะคนจนเมือง คนรายได้น้อย หรือว่าชุมชนแออัดที่เขาไม่มีที่ดิน
ที่สำคัญคือ เราเจอข้อมูลที่ศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของคนเมือง พบว่า โดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายด้านอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 35% ของรายได้ แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มคนจนเมืองหรือคนรายได้น้อย ค่าอาหารของพวกเขาสูงถึง
45-60% ของรายได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญประการแรก ถ้าคนกลุ่มนี้ สามารถที่จะผลิตหรือเพาะปลูกอะไร
เพื่อที่จะเข้าถึงอาหารหรือผลผลิตได้ง่าย เราก็พบว่าอะไรที่เป็นโอกาสดีหรือเป็นสิทธิทางอาหารของคนกลุ่มนี้
ต่อให้เขาเป็นคนรายได้น้อยหรือคนจน เขาก็ควรได้รับอาหารที่ดี ที่มันปลอดภัยด้วยการผลิตของตัวเอง
ประการที่สอง อาหารเหล่านี้ ช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับเขา เช่น ถ้าเขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำ
หากวันนี้ ออกไปแล้วอาจจะไม่มีงาน แต่เมื่อกลับมาบ้าน เขายังมีผักในแปลง
มีผักในสวนที่สามารถนำมาทำอาหารได้ ก็ยังมีอาหารรองรับอยู่
ประการที่สาม ถ้าการปลูกผักและผลิตอาหารเหล่านี้ สามารถนำไปสู่การหารายได้ หรือการสร้างอาชีพใหม่
หรือรายได้เสริมให้กับพวกเขาก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี”
วรางคนางค์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่าเนื่องด้วยข้อจำกัดของคนกลุ่มนี้ เขาไม่ได้มีพื้นที่ ไม่ได้มีอำนาจ
ไม่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จะใช้เพื่อการเพาะปลูก ในช่วง 2-3 ปีนี้ สวนผักคนเมืองจึงมองเห็นโอกาสที่จะใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่สาธารณประโยชน์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือพื้นที่ของเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้อะไร
‘Land Sharing’ พื้นที่แห่งการแบ่งปันที่ดิน
วรางคนางค์ กล่าวว่า
“เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2559-2560 เราก็เริ่มพูดถึง ‘Land Sharing’ พื้นที่แห่งการแบ่งปันที่ดินที่อาจจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยให้รกร้างมานาน
แต่ว่าถ้าคุณมีใจที่อยากจะให้คนด้อยโอกาสได้เพาะปลูกอาหารดีๆ ให้กับเมืองและตัวเขาเองได้
ให้คนเหล่านี้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้สัก 3 ปี 5 ปี โดยที่ไม่ต้องเสียค่าเช่าอะไร
แต่ว่าผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ก็จะดูแลผลผลิตให้กับเจ้าของที่ดิน
ในที่สุด เราจึงเปิดรับสมัคร เจ้าของที่ดิน กับ คนปลูกผัก เรารับสมัครเจ้าของที่ดินที่สนใจอยากจะแบ่งปันที่ดินนี้
และเชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องการเพาะปลูกแต่ไม่มีที่ดิน ให้พวกเขาได้มาเชื่อมกัน
แล้วก็เริ่มกำหนดรูปแบบของการสนับสนุนพื้นที่รูปธรรม ให้เป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างว่างเปล่าและพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เรื่องสิทธิในการเข้าถึงที่ดินของคนจนเมือง ไม่ได้เป็นการเข้าไปบุกรุก แต่ว่าเป็นการแชร์ การใช้ประโยชน์ หรือการดูแลพื้นที่ไปด้วยกัน” วรางคนางค์ระบุและอธิบายว่า
ในประเด็นของคนจนเมือง โครงการสวนผักคนเมืองยังสนใจศักยภาพในการผลิตอาหารของเมือง
เน้นไปที่เรื่องของการปลูกผักเชื่อมโยงกับเรื่องของการพึ่งตนเองได้ในด้านปัจจัยการผลิต
เช่น ทำดินหมัก ทำปุ๋ยหมักเอง
ทั้งนี้ เพื่อให้เขาพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดในเรื่องปัจจัยการผลิต
จากนั้น สวนผักคนเมืองก็เริ่มทำเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
ในการนำเอาอาหารขยะ อาหารอินทรีย์ของเมือง มาเปลี่ยนมาเป็นดินหมัก-ปุ๋ยหมักในการเพาะปลูก
วรางคนางค์เล่าว่า พบงานวิจัยที่น่าสนใจอย่างยิ่งซึ่งระบุข้อมูลว่า
โดยพื้นฐานแล้ว ค่าเฉลี่ยของการเพาะปลูกผักอายุสั้น ของคนเมืองมีความหลากหลายมากขึ้น
ผักอายุสั้นซึ่งได้แก่ ผักกินใบทั่วไป อาทิ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งนั้น
พบข้อมูลว่าในพื้นที่ 1 ตารางเมตรที่มีแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน
คนเมืองมือใหม่ที่เริ่มปลูกผักจากการปรับปรุงดิน
เขาจะสามารถผลิตผัก ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ได้ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร
นอกจากนี้ ยังมีการปลูกพืชร่วมกันที่ไล่อายุในการเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย
เหล่านี้ สะท้อนว่าคนเมืองช่วยกันพัฒนาขึ้นมา ทั้งยังเผยให้เห็นว่าแต่ละคนสามารถเพาะปลูกอะไรได้แค่ไหน
“ข้อมูลนี้มีความสำคัญตรงที่เราสามารถนำไปออกแบบว่า
หากเมืองเกิดวิกฤติอาหาร แล้วพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน แต่ละกลุ่ม รวมถึงศักยภาพในการผลิต
สามารถที่จะ support และรองรับการดูแลได้ไหม ในกรณีที่เมืองเกิดวิกฤติ ถูกตัดขาดในเรื่องอาหาร
เช่น หากเกิดน้ำท่วม หรือเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ เมืองจะสามารถดูแลตัวเองได้แค่ไหน
ข้อมูลในส่วนนี้ เราเชื่อว่า ถ้าเมืองเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการผลิตอาหาร ก็อาจจะทำได้ 30-40%
เพราะว่าไม่อาจทำได้ทุกอย่าง เราอาจจะเหมาะกับการผลิตผักอายุสั้น
แต่ถ้าเป็นผลไม้ ก็อาจจะต้องมีลักษณะของพื้นที่ หรือการปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์
เหล่านี้ ยังต้องพึ่งพาพื้นที่ชานเมืองและชนบท" วรางคนางค์ระบุ
วิเคราะห์ Urbanization และผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
เมื่อขอให้ประเมินหรือวิเคราะห์การขยายตัวของเมืองและทิศทางของความเป็นเมือง
ในสายตาของหัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง ว่าเป็นเช่นไร
และส่งผลกระทบต่อสวนผักคนเมือง เกษตรกรรมยั่งยืน หรือความมั่นคงทางอาหารหรือไม่
วรางคนางค์ฉายภาพให้เห็นภาพรวมของทั่วโลกและในประเทศไทยว่า
“ล่าสุด เท่าที่มีการเก็บข้อมูล Urbanization พบว่า ในปี ค.ศ.2050 ภาพรวมของทั่วโลก พบว่าเมืองอาจจะขยายพื้นที่ไป โดยประมาณ 68% จะกลายเป็นเมือง
ซึ่งคำว่า ‘เมือง’ ในที่นี้ หมายถึงทั้งในแง่ของกายภาพและระบบสังคมคือรวมทั้งวิถีชีวิตด้วย
แต่ในส่วนของเมืองไทย ข้อมูลที่ UN ( หมายเหตุ : United Nations องค์การสหประชาชาติ ) เก็บข้อมูล
เขาพบว่า ในปี ค.ศ.2050 สูงถึง 70% ของค่าเฉลี่ยทั่วโลก และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยจะเป็นเมืองประมาณ 70%
ซึ่งข้อมูลความเป็นเมืองของชนบท กับกรุงเทพมหานคร
เพิ่งจะมีข้อมูลตัวเลขที่เท่ากันในปี ค.ศ.2019 ซึ่งในความกลายเป็นเมือง ส่งผลกระทบในหลายด้าน”
หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมืองระบุ
และกล่าวถึงผลกระทบอันเกิดจากการขยายตัวของเมืองในหลายแง่มุม
ประเด็นที่ 1 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและในส่วนของเมือง
เนื่องจากการขยายตัวของเมือง รุกล้ำพื้นที่เกษตร รุกล้ำพื้นที่ผลิตอาหารดั้งเดิม
ดังนั้นผลกระทบแรกสุด คือไทยจะมีพื้นที่ผลิตอาหารน้อยลงอย่างแน่นอน
เพราะการผลิตส่วนใหญ่ ต้องยอมรับว่าเป็นการผลิตในพื้นที่ต่างจังหวัด
เมื่อความเป็นเมืองรุกล้ำ จึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การรุกล้ำพื้นที่เกษตร แต่ยังรวมถึงการรุกล้ำที่อยู่อาศัยด้วย
ดังเช่น โรงงานอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยที่ทำให้พื้นที่เกษตรลดน้อยลงและเพิ่มมลพิษ
มลภาวะบางอย่างที่ส่งผลกับอาหาร และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตอาหาร
ประเด็นที่ 2 การกลายเป็นเมืองทำให้รูปแบบวิถีชีวิตของประชากรเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตก็พอแล้ว
แต่ความกลายเป็นเมืองทำให้ทุกคนมุ่งสู่การเป็นผู้บริโภค
อีกทั้งอาจไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบต่อการผลิตเกษตรหรือผลิตอาหาร ทุกคนจึงกลายเป็นผู้บริโภคทั้งหมด
ดังนั้น ในอนาคต เรื่องของการผลิตจึงน่ากังวลมาก
ประเด็นที่ 3 เมื่อมีความเป็นเมืองมากขึ้น ย่อมนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอีก 2-3 อย่าง
อย่างแรก พื้นที่ที่เรียกว่า ‘พื้นที่ของการพึ่งพาอาศัยกัน’ ลดน้อยลง
ต่างจากในปัจจุบัน สังคมชนบทยังอยู่กันอย่างเครือญาติ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
เห็นได้จากวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมา รวมถึงโควิด-19 สังคมไทยจะรอดจากวิกฤติได้ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
แต่ในความเป็นสังคมเมือง ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเร่งรีบในการทำงาน สังคมแบบนี้ทำให้ภาวะของการพึ่งพิง
ภาวะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมีน้อยลง
ซึ่งในอนาคต หากเกิดวิกฤติอะไรขึ้นอีก สังคมเมืองคงจะได้รับผลกระทบที่สุด
อีกทั้งสังคมเมือง เป็นสังคมที่คนจะอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยวหรืออยู่เป็นโสด
และยังเข้าสู่ความเป็นสังคมของผู้สูงวัยแบบตัวคนเดียว
ซึ่งสังคมผู้สูงวัยแบบตัวคนเดียว ภาวะของการพึ่งพิงจะสูงกว่าปกติ
อย่างที่สอง การกลายเป็นเมือง ยังเชื่อมโยงกับเรื่องภัยพิบัติ เพราะเมืองสร้างมลภาวะ เมืองจึงมีความเป็นเมืองร้อน
พื้นเป็นปูนซีเมนต์ เมื่อฝนตกน้ำก็ท่วมทันที เพราะไม่มีพื้นที่สีเขียวในการรองรับหรือหน่วงน้ำไว้
เพราะฉะนั้น เมื่อในเมืองเกิดภัยพิบัติอะไรก็ตาม เมืองไม่ได้มีความยืดหยุ่นมากพอ
การกลายเป็นเมืองจึงอาจหมายความว่าเราจะเผชิญกับวิกฤติความรุนแรง
ทั้งเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร และภัยพิบัติต่างๆ
รวมถึงเรื่องความเปราะบางในการให้ความช่วยเหลือและรับมือกับวิกฤติ
มองโควิด-19 กับผลกระทบต่อสังคมเมือง
ถามว่าในช่วงวิกฤติ โควิด-19 ที่ผ่านมาทั้ง 4-5 ระลอก รวมทั้งในปัจจุบัน
อะไรคือสิ่งที่สวนผักคนเมืองและภาคีเครือข่ายต้องเผชิญและก้าวผ่านมาได้อย่างไร
วรางคนางค์ตอบว่า “ถ้าถามว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผล ต่อการทำงานของเราไหม มันส่งผล แต่ไม่ได้มีผลกระทบมากมาย
เพราะด้วยการทำงานและรูปแบบของสวนผักคนเมือง เรากลับคิดว่ายิ่งมีวิกฤติเกิดขึ้น เรายิ่งต้องรุกเข้าไป เพื่อให้คนรอดพ้นจากวิกฤติอาหาร นี่เป็นนโยบายหรือรูปแบบการทำงานของเรานะคะ
แต่ถ้าถามว่า มองวิกฤติโควิด-19 ว่าก่อให้เกิดผลกระทบอะไรกับสังคมเมืองบ้าง
โดยภาพรวม มันส่งผลกระทบโดยชัดเจน
ประเด็นแรก คือ เมืองไม่ได้พึ่งตัวเองได้ด้วยอาหาร แต่เมืองนำเอาอาหารจากข้างนอกมา
อีกทั้ง มาตรการต่างๆ ของการแก้ไขปัญหาโควิด-19
ไม่ว่า มาตรการล็อคดาวน์ การปิดเมือง ทำให้คนถูกจำกัดการออกไปทำงาน จำกัดการออกไปหารายได้
ซึ่งข้อจำกัดการปิดสถานประกอบการ ปิดสถานบริการและอะไรต่างๆ ปิดตลาด ปิดนู่น ปิดนี่
มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหารของคน ทั้งเรื่องไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ไปซื้อหาอาหาร รวมทั้งเรื่องรูปแบบอาหารแบบเดิมๆ ของเรา จากที่เคยผ่านตลาดสด ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่างๆ ก็ปิดหมด จึงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของคนทุกกลุ่มในสังคมเมือง
โดยเฉพาะคนจนและคนรายได้น้อย คนที่มีรายได้รายวัน การที่เขาไม่ได้ออกไปทำงาน
หมายความว่าเขาไม่มีเงินกลับมาซื้ออาหาร แล้วคนกลุ่มนี้ ได้รับผลกระทบเยอะมาก
ขณะที่ในปัจจุบัน โควิด-19 ก็ยังมีต่อเนื่อง
ซึ่งในความต่อเนื่องของมัน ทำให้คนกลุ่มนี้ยังไม่ทันจะฟื้นตัวเลย ก็เจอวิกฤติซ้ำซ้อน”
วรางคนางค์สะท้อนได้อย่างเห็นภาพ ก่อนบอกเล่าเพิ่มเติมว่า
ไม่เพียง วิกฤติโควิด-19 แต่ปัจจุบันนี้ ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติสงคราม วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติเงินเฟ้อ
ซึ่งสงคราม ทำให้ราคาทุกอย่างสูงขึ้น
จึงอาจกล่าวได้ว่า จากความเชื่อมโยงของโควิด-19 หรือ Long Covid
แล้วนำมาผูกโยงกับการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานจากภาวะสงคราม ทำให้คนกลุ่มนี้ กลุ่มคนจนเมือง คนรายได้น้อย
กลุ่มคนเปราะบางได้รับผลกระทบมาก
วรางคนางค์กล่าวด้วยว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ปัจจุบันนี้มี 20 ล้านใบ
หมายความว่า มีผู้ใช้บัตรคนจนมากถึง 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรไทย
ดังนั้น ผลกระทบในประเด็นแรกสุด จึงสะท้อนว่าความเปราะบางของเมือง
ส่งผลให้คนจนเมือง คนรายได้น้อย ได้รับผลกระทบอย่างมาก
ผลกระทบที่สอง สะท้อนภาพบางอย่างของเมืองไทย
ว่าในขณะที่คนบางกลุ่มขาดแคลนอาหาร เข้าไม่ถึงอาหาร
ฝ่ายเกษตรกรที่ผลิตอาหารอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ถูกตัดขาดจากการขนส่งจากมาตรการปิดตลาด
ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตไม่ได้ ต้องเทผลผลิตทิ้ง
โดยมุมมองส่วนตัวแล้ว วรางคนางค์ มองว่าเรื่องของการบริหารจัดการ นับว่าสำคัญมาก
เพราะการทำให้ระบบอาหารเป็นเส้นตรง คือผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันได้โดยตรง
หรือการเข้าถึงอาหารกันแบบเป็นเพื่อนกัน ตรงกัน ส่งถึงกันได้เร็ว
อาจนับเป็นบทเรียนของคนไทยว่าควรทำอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤติที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร
ชุมชนสวนผักคนเมือง สามารถข้ามผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ชุมชนที่สวนผักคนเมืองลงพื้นที่ไปทำงานด้วยก็เน้นให้คนเพาะปลูกต่อเนื่อง
และยังพบด้วยว่าชุมชนที่มีพื้นที่ผลิตอาหารของตัวเองและปลูกผักเอาไว้
ปรากฏว่า เขาสามารถรับมือกับวิกฤติความรุนแรงเบื้องต้นของการขาดแคลนอาหารได้
ที่สำคัญก็คือได้เห็นว่า หลายๆ ชุมชน สามารถนำผลผลิตของตัวเองไปทำครัวกลางให้กับผู้ติดเชื้อ
และคนที่ต้องกักตัวในชุมชนได้ ส่วนบางกลุ่มที่แม้ไม่ได้ทำครัวกลาง
แต่ก็สามารถส่งมอบผลผลิตให้กับคนเปราะบางในชุมชนของตัวเองในช่วงเวลาฉุกเฉินได้
“ตอนวิกฤติโควิด-19 ก็แทบไม่ได้เห็นมาตรการรองรับอะไรจากรัฐบาลเลยนะ หมายถึง ไม่มีมาตรการอะไรในการช่วยเหลือเรื่องอาหารเลย มีแต่เอกชนและภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาช่วยกันเอง
แล้วก็ได้เห็นว่า ในชุมชน มีพื้นที่ผลิตอาหาร มีการรวมกลุ่ม
การที่ทำให้คนกลับมารวมกลุ่มทำงานด้วยกัน มันมาเห็นผลในช่วงวิกฤติโควิด-19
เพราะได้เห็นว่า กลุ่มคนที่กลับมาปลูกผักด้วยกันในช่วงโควิด-19 เขามีความสัมพันธ์ มีการทำงานร่วมกันมาก่อน
แล้วสุดท้าย เขาสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้
เช่น ผลผลิตในสวนไม่พอ แต่เขาสามารถลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ รวบรวมทรัพยากร ผลผลิต จากที่อื่นๆ
เพื่อมาช่วยเหลือเรื่องอาหารได้
พูดง่ายๆ ว่า พื้นที่การทำงานตรงนี้ มันทำให้เกิดคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถพูดคุยกัน
และสามารถทำงานร่วมกันอย่างเร่งด่วนในชุมชนได้ ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะไม่มี เพราะต่างคนต่างอยู่
แต่การรวมกลุ่มกันแบบนี้ ทำให้เกิดลักษณะดังที่ว่ามา
และยังมีบางกลุ่ม ส่งผลผลิตมาให้โครงการสวนผักคนเมือง
เขาถามเลยว่าสัปดาห์นี้สวนผักคนเมืองจะไปทำครัวกลางที่ไหนหรือเปล่า ขอส่งอันนั้น อันนี้ มาให้
เราจึงพบว่างานที่เราทำอยู่ มันไปสร้างให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นในชุมชน
และชุมชนสามารถที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตัวเองได้ระดับหนึ่ง
ซึ่งมันต่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2554
ในครั้งนั้น สังคมเมืองระส่ำระสายมาก ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากรอรับของบริจาค
แล้วก็คล้ายๆ กับว่าจัดการตัวเองไม่ได้
ส่วนวิกฤติโควิด-19 จริงอยู่ มันอาจจะต่างกัน เพราะน้ำไม่ได้ท่วม
แต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นการตอบสนองต่อปัญหาของกลุ่มคนบางกลุ่ม
ที่เขายังสามารถทำงานและแก้ไขปัญหาของตัวเองได้
ดังนั้น ในอนาคต จึงมองว่าการทำเกษตรในเมือง หรือการทำเรื่องเกษตรท้องถิ่น
มันสะท้อนว่าเมืองไม่สามารถทำเองทั้งหมดได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าเกิดมีการผลิตของเมืองขึ้นมา เพื่อเลี้ยงดูคนเมืองให้ได้มากที่สุด แล้วก็พยายามที่จะเชื่อมโยงพื้นที่ผลิตอาหารไว้
ต่อไป จังหวัดเชียงใหม่ ก็ควรจะพึ่งพื้นที่การผลิตอาหารในเชียงใหม่นะ หรือในพื้นที่ภาคเหนือด้วยกันนะ
กรุงเทพมหานคร ก็ช่วยเหลือดูแลกันในพื้นที่ภาคกลางนะ ภาคใต้ก็เช่นกัน
คือควรต้องมีระบบพึ่งพาดูแลอาหาร ว่าแบบไหนที่ใกล้กันที่สุด ดูแลกันแบบใกล้ชิด เข้าถึงกันง่ายๆ เป็นสิ่งที่ควรทำ”
วรางคนางค์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
แท้ที่สุดแล้ว การปลูกผักในเมือง การเพาะปลูกด้วยตัวเอง ทำให้คนเมืองได้กลับไปเรียนรู้เรื่องเส้นทางอาหาร
เรียนรู้ที่มาของอาหารตัวเองว่า ถ้าเราอยากกินอาหารที่ดี ถ้าเราอยากกินผักที่ดีกับสุขภาพของเรา
ปลอดภัยดีกับสุขภาพของครอบครัวเรา เราต้องดูแลรักษาผืนดินให้อุดมสมบูรณ์
เราต้องดูแลน้ำให้สะอาด เราต้องดูแลสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
แต่การปลูกผักก็ไม่ได้บอกว่า ต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งหมดเพื่อมาปลูกผัก 100%
หรือการทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ยังต้องอาศัยผึ้ง อาศัยแมลง
ดังนั้น คุณต้องมีดอกไม้ไว้ล่อแมลง มีต้นไม้ใหญ่ เพราะควรเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเมืองได้เรียนรู้ว่า
จริงๆ แล้ว ระบบนิเวศของเมือง หรือนิเวศของเกษตร หรือ นิเวศของอาหาร ยังต้องอาศัยเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน การรักษาไว้ซึ่งฐานของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น คนเราไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง
เราต้องมีญาติพี่น้อง มีเพื่อนพี่น้องเกษตรกร
ทั้งในพื้นที่ชานเมืองและชนบท เราต้องรู้จักพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว
เราต้องรู้จักพี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกผลไม้ และพืชอื่นๆในสังคมใหม่
ถ้าพวกเราจะอยู่รอดได้อย่างแท้จริง เมือง สังคมเมือง และชนบทต้องโอบอุ้มกัน
คือมุมมองความคิดของวรางคนางค์ ในฐานะคนทำงานสวนผักคนเมืองที่มีต่อประเด็นความมั่นคงทางอาหาร
หวังรัฐมีนโยบายความมั่นคงทางอาหาร-ใส่ใจกลุ่มเปราะบาง
เมื่อถามว่ายังมียุทธศาสตร์หรือประเด็นขับเคลื่อนอะไรอีกบ้างที่โครงการสวนผักคนเมืองคิดจะทำในอนาคตข้างหน้า
วรางคนางค์ตอบว่า มีสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน อยู่สองส่วน
ส่วนแรก คือการทำงานกับคนทั่วไปในชุมชนเมือง ให้เขาได้เรียนรู้ ลงมือทำ
เพื่อเปลี่ยนเป็นความตระหนักและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง
เป็นการทำงานกับคนทั่วไปในระดับที่เขาสามารถแปลี่ยนแปลงตัวเองจากข้างใน
ทำอย่างไรให้เรื่องของการปลูกผัก เรื่องของการผลิตอาหาร แปรรูป ถนอมอาหารของคนเมืองเป็นเรื่องปกติ
เป็นวิถีชีวิตของคนเมือง เป็นสิ่งที่เขาพึ่งตัวเองได้ระดับหนึ่ง
ทำให้เรื่องของการปลูกผัก การลุกขึ้นมาทำสวนผักในบ้าน ในชุมชน ไม่ใช่เรื่องแปลกปลอมของคนเมือง
หวังให้ทุกคนเริ่มปลูกผักกันอย่างเป็นเรื่องปกติ เพื่อจะได้มีอาหารใกล้บ้าน อาหารสดสะอาดที่สามารถเข้าถึงได้
ดังนั้น เรื่องนี้ โครงการสวนผักคนเมือง ยังต้องทำงานอีกหนักอีกมาก
เนื่องด้วยการเติบโตของเมืองทำให้ต้องอาศัยพลังจากทุกๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน
อีกส่วนที่วรางคนางค์คิดว่าควรทำงานไปพร้อมๆ กัน คือการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายรัฐ
“ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เรายังไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงในระดับนี้สักเท่าไหร่
นั่นก็คือ เรื่องของนโยบาย ทั้งนโยบายของเมืองและนโยบายของภาครัฐ ต่างๆ ที่ อาจจะต้องหันกลับมาทบทวน
และให้ความสำคัญ กับพื้นที่อาหารของเมืองมากขึ้น
ถ้าถามว่า ทำไมเมืองควรมีนโยบายในเรื่องนี้
เพราะเราคิดว่าถ้าเกิดพี่น้องประชาชนในระดับชุมชนทำเรื่องพวกนี้ได้
ตระหนักแล้วก็เปลี่ยนแปลง นับเป็นแรงผลักสำคัญ
แต่ว่า เราก็ต้องเข้าใจว่ายังมีระบบอะไรหลายๆ อย่างที่มันเป็นข้อจำกัด
ไม่ว่าเรื่องการเข้าถึงที่ดิน หรือผังเมืองที่มีการย้ายคนออกจากเมือง โดยเฉพาะคนจน
หรือแม้แต่เรื่องของการพัฒนาอะไรที่มันไปกระทบกับพื้นที่อาหารของเมือง เหล่านี้ เกี่ยวข้องกับนโยบาย
ดังนั้น คิดว่านโยบายเองก็อาจจะต้องปรับทิศทางของการพัฒนาเมือง
หรือการพัฒนาพื้นที่ที่อาจจะต้องเอาคำว่า ‘พื้นที่อาหาร’ หรือ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ เข้าไปวิเคราะห์
แล้วก็วางเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนา
เช่นปัจจุบัน เราต้องการอะไรบ้าง
เราคิดว่าอะไรบ้างที่เชื่อมโยงเรื่องความมั่นคงทางอาหารของเมืองและพื้นที่อื่นๆ
อย่างแรก เรื่องของผังเมือง กระทบแน่นอน
ผังเมืองจึงควรจะมีพื้นที่อาหาร พื้นที่สีเขียว ที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
อย่างที่สอง เรื่องของการสนับสนุน ควรมีนโยบายให้ชุมชนเมืองทุกแห่ง และชุมชนสร้างใหม่ต่อไป
ควรมีการกำหนดว่าต้องมีพื้นที่อาหาร หรือพื้นที่อาหารปลอดภัย ของเมือง
อย่างที่สาม การมีฐานข้อมูลสำคัญ ว่า จริงๆ แล้ว เมืองมีการผลิตอาหารอย่างไร อยู่ที่ไหนบ้าง
ถ้าเกิดวิกฤติอะไรขึ้นจะสามารถดูแลตัวเองได้แค่ไหน
ทั้งเรื่องการขนส่ง การเชื่อมโยงจะเป็นแบบไหน
กระทั่งข้อมูลของคนเปราะบางด้านอาหาร เมืองมีข้อมูลเหล่านี้หรือยัง ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคเอกชนจัดการดูแลกันเอง
หรือแม้แต่การมีงบประมาณ การมีเครดิตอะไรบางอย่างให้กับคนเล็กคนน้อย
ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่จะมีเป้าหมายในการร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ดี นโยบายรัฐก็ควรสนับสนุนสิ่งเหล่านี้
และนโยบายของเมืองก็ควรมีสวัสดิการอาหารที่จะดูแลคนด้อยโอกาสหรือคนเปราะบางด้านอาหารในภาวะวิกฤติ
สิ่งสำคัญคือ นโยบายควรดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดีกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม และควรนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง"
วรางคนางค์ระบุทิ้งท้าย
นับเป็นการมองผ่านแว่นของคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งผลักดันให้เกิดการเพาะปลูกในเมือง
ให้คนเมืองสร้างผลผลิตทางอาหารด้วยตนเองในหลากหลายแห่ง หลายชุมชน
เปลี่ยนแปลงวิถีแห่งระบบอาหารได้อย่างถึงรากลึก
นับจากนี้ จึงเป็นย่างก้าวแห่งการเติบโตและแผ่ขยายกิ่งก้านใบใหม่ๆ ต่อไป ของโครงการสวนผักคนเมือง
โครงการที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมเมืองเข้ากับระบบนิเวศในหลากหลายบริบทได้อย่างน่าชื่นชม
.……
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by วรางคนางค์ นิ้มหัตถา