ตรวจจับรถกู้ชีพใช้ “ไฟไซเรน-วิทยุสื่อสาร” ไม่มีใบอนุญาต หรือ “หน่วยงานรัฐ” จะทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยแทนอาสาสมัคร?
รายงานพิเศษ
กลายเป็นเรื่องบานปลายเมื่อตำรวจเริ่มดำเนินการตรวจสอบ “รถกู้ภัย” ที่ติดตั้งไฟไซเรนและวิทยุสื่อสารที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่อาสาสมัครกู้ชีพมูลนิธิสยามร่วมใจและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งทะเลาะวิวาทกันจนทำให้ฝ่ายหลังมีอาสาสมัครถูกยิงเสียชีวิต
เหตุการณ์นี้ทำให้พบว่า รถกู้ชีพของมูลนิธิสยามร่วมใจซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ออกวิ่งช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทับเส้นทางวิ่งของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่ได้รับอนุญาตจากศูนย์เอราวัณในพื้นที่ทองหล่อ จนนำไปสู่สมมติฐานว่า มีความขัดแย้งเรื่อง “ค่าเคส” หรือ ค่าตอบแทนที่อาสาสมัครจะได้รับจากโรงพยาบาลเอกชน เมื่อนำผู้บาดเจ็บไปส่งที่โรงพยาบาล จึงนำไปสู่การตรวจสอบความถูกต้องของรถกู้ชีพในเวลาต่อมา
แต่การตรวจสอบนี้ กลับกลายเป็นการตรวจสอบการติดตั้ง “ไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร” ซึ่งมีรถกู้ชีพจำนวนมากที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
ปัญหาคือ การตรวจสอบอุปกรณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ อาจทำให้อาสามัครกู้ชีพกู้ภัยซึ่งเป็นกำลังหลักในการออกมาช่วยเหลือรับส่งผู้บาดเจ็บอยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถออกมาปฏิบัติงานได้อีกต่อไป
อาสามัครรายหนึ่ง บอกว่า เหตุที่อาสาสมัคร 2 มูลนิธีตีกันจนมีผู้เสียชีวิต เป็นความขัดแย้งส่วนตัวที่มีมานานแล้ว แต่ตำรวจกลับมาตรวจจับไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้เลย ทำให้อาสาสมัครที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุตีกันจำนวนมากได้รับผลกระทบไปด้วย และอาจทำให้ไม่มีใครอยากออกมาช่วยเหลือผู้ป่วยอีก”
หากตรวจสอบลงไปในเชิงลึก จะพบว่า นี่เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอย่างมาก เริ่มจากประเด็นแรก “รถกู้ชีพ” เป็นใคร?
ทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษที่ขับเคลื่อนกลไกการช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ด้วยการใช้ “อาสาสมัคร” เป็นกำลังหลัก ต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะอยู่ในลักษณะของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ในทีมมีทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งงานแพทย์ฉุกเฉิน และผู้เชี่ยวชาญงานกู้ภัย
ดังนั้น คนที่ออกมาทำงาน “กู้ชีพกู้ภัย” ในประเทศไทยจีงเป็น “เอกชน” ไม่ใช่ “เจ้าพนักงานของรัฐ” ออกมาทำงานในรูปแบบ “อาสาสมัคร” ผ่าน “มูลนิธิ” ต่างๆ ไม่มีรายได้จากการออกมาทำงานนี้
เมื่อเป็นเอกชน หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จึงพยายามจะทำให้แน่ใจว่า “อาสาสมัคร” เหล่านี้ มีความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ฉุกเฉิน จึงกำหนดให้ต้องมีการฝึกอบรม ผู้ที่จะนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้ต้องมีใบรับรอง บนรถกู้ชีพต้องมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ด้วย
เมื่อ “คน” ผ่านมาตรฐาน คือ ผ่านการฝึกอบรมแล้ว มีองค์ความรู้ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกต้องแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ก็ต้องได้มาตรฐานเช่นกัน จึงกำหนดด้วยว่า “รถกู้ชีพ” ที่จะสามารถนำมาวิ่งรับส่งผู้ป่วยจากเหตุฉุกเฉินได้ จะต้องผ่านการตรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์การกู้ชีพต่างๆจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ป่วย ที่ถูกส่งตัวด้วยรถคันนี้ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องผ่านอุปกรณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะ “ผู้ป่วย เลือกไม่ได้ว่าจะให้ใครมาช่วย”
แต่ ... ศูนย์เอราวัณ ที่อำนาจหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางการแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งเกี่ยวกับ “ไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร” เนื่องจาก 2 อุปกรณ์นี้ ไม่ใช่อุปกรณ์ด้านการแพทย์
ดังนั้นเมื่อรถกู้ชีพผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์กู้ชีพจาก สพฉ.แล้ว หากจะใช้ “ไฟไซเรน” ต้องไปขออนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหากจะต้องใช้ “วิทยุสื่อสาร” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องไปขออนุญาตจาก กสทช. ซึ่งขั้นตอนเยอะตั้งแต่การตั้งศูนย์วิทยุ มีราคาค่าใบอนุญาต มีราคาค่าอุปกรณ์ที่ค่อนข้างสูง ทำให้อาสาสมัครที่วิ่งรถกู้ชีพจำนวนมาก ไม่ได้ไปขออนุญาตใช้อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ เพราะเห็นว่า มีองค์ความรู้และมีอุปกรณ์สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ผ่านมาตรฐานแล้ว
และที่สำคัญ คือ สพฉ. มีอำนาจตรวจสอบมาตรฐานของรถกู้ชีพ ที่เข้ามาอยู่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องเท่านั้น ไม่มีอำนาจไปกำกับหรือควบคุมรถที่ไม่อยู่ในระบบ แต่ออกมาปฏิบัติงานกู้ชีพด้วย ซึ่งในวงการเรียกกันว่า “พลเมืองดี มีบอร์ด” (บอร์ด หมายถึง เปลที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย)
“กฎหมายไทย มีข้อหนึ่งที่เขียนว่า เมื่อพบผู้ได้รับบาดเจ็บต้องเข้าไปช่วยเหลือ ก็ทำให้มีรถกู้ชีพส่วนหนึ่งเข้าไปปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ในฐานะ “พลเมืองดี มีบอร์ด” ซึ่งทำให้เกิดปัญหาวิ่งทับเส้นทางตามมา และศูนย์เอราวัณก็ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปจัดการได้ เพราะไม่ใช่รถที่อยู่ในระบบ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอาสาสมัครขึ้น ตำรวจจะเข้ามาจัดการ ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายมาดำเนินการได้ว่าเป็นรถกู้ชีพที่วิ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีกฎหมายอะไร ให้อำนาจตำรวจไปจับการกระทำในลักษณะ “พลเมืองดี” ได้
ดังนั้นตำรวจจึงไปดำเนินการในประเด็นอื่นที่มีข้อกฎหมายให้บังคับใช้ได้แทน นั่นก็คือ การตรวจใบอนุญาตใช้ไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร แต่กลายเป็นว่า ไปสร้างผลกระทบให้กับอาสาสมัครจำนวนมากแทน” แหล่งข่าวในวงการกู้ชีพคนหนึ่ง กล่าว
การตรวจจับไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร จึงอาจกลายเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาบานปลาย เพราะอาจทำให้รถกู้ชีพของอาสาสมัครจำนวนมาก ไม่สามารถออกมาปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยได้เหมือนเดิม ทั้งที่เป็นกำลังหลักในกลไกนี้มาตลอด
“ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วกลไกของรัฐที่จะต้องมาทำหน้าที่แทน มีความพร้อมมั้ย เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ผู้ป่วย” แหล่งข่าวคนเดิมตั้งคำถาม