เพจ “หมอแล็บแพนด้า” โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการแพ้อาหาร แนะหากเกิดอาหารแพ้ไม่ควรกินยาแก้แพ้ดักไว้
ให้รีบพบแพทย์ให้ไวที่สุด เพื่อความปลอดภัย
จากกรณี มีสาวรายหนึ่งโพสต์เล่าเหตุการณ์แพ้กุ้ง ระดับ lev4 จนป่วยหนักต้องนอนโรงพยาบาล โดยสาเหตุจากความผิดพลาดของร้านอาหารแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ผิดหวังทางร้านรับผิดชอบเพียงเสนอไม่คิดราคา
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เพจ “หมอแล็บแพนด้า” หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการแพ้อาหาร โดยระบุว่า "ตอนนี้คนรอบข้างมีแต่คนแพ้อาหารเต็มไปหมดเลย ล่าสุดก็มีข่าวคนแพ้กุ้งขั้นรุนแรง บ้างก็แพ้หงส์ 4-0 บ้าง 5-0 บ้าง ยับเยินไปหมด อะ! เรามาทบทวนเรื่องภาวะเพ้อาหารกันหน่อยดีกว่าครับ
ภาวะแพ้อาหาร หรือ Food allergy มันเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองหลังจากที่เราได้กินสารอาหารบางชนิดเข้าไป พอกินตัวเราที่แพ้เข้าไปปุ๊บ ร่างกายก็จะมีการกระตุ้นให้สร้าง IgE เพื่อต่อต้านอาหารชนิดนั้นที่เรากินเข้าไป ซึ่ง IgE มันคือภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่เป็นตัวเด่นในเรื่องนี้เลยครับ เพราะ IgE มันจะส่งสัญญาณไปยังระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปล่อยสารฮีสตามีน เจ้าสารฮีสตสมีนนี่แหละครับจะทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆเกิดขึ้น
บางคนสงสัยว่า เมื่อก่อนก็เคยกินกุ้งได้ตลอด กินตั้งแต่หัวยันหาง ไม่เคยเป็นอะไรเลย ทำไมเพิ่งมาแพ้กุ้งเอาตอนโค
อันนี้เป็นกันเยอะเลยล่ะครับ เพราะร่างกายของเราถูกกระตุ้นจากโปรตีนในอาหารชนิดนั้นๆในช่วงใดนึงของชีวิตโดยไม่รู้ตัว แล้วร่างกายก็จะค่อยๆ ผลิต IgE ต่ออาหารชนิดนั้นขึ้นมา เราไม่รู้ตัวหรอกเพราะมันค่อยๆผลิตขึ้นมา
พอเราไปกินกุ้งอีกครั้ง ก็เลยเกิดอาการแพ้เฉียบพลัน แล้วเจ้า IgE ที่เคยสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็มีแนวโน้มว่าจะมีตลอดไปด้วยนะครับ เราจะไม่สามารถกินอาหารชนิดนั้นได้เป็นปกติอีกต่อไป ได้แต่มองเพื่อนกินตาปริบๆ
การแพ้อาหารที่พบบ่อยสุดคือ ผื่นลมพิษเฉียบพลัน เป็นผื่นแดง บวมนูน เป็นวง ตามตัว แขนขา บางคนที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจมีตาบวมและหน้าบวม หรือถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ต้องรีบหาหมอทันที แล้วอย่าไปกินยาแก้แพ้ดักไว้นะครับ เพราะยาแก้แพ้มันจะช่วยไม่ให้เกิดผื่น แต่ไม่ช่วยเรื่องหลอมลมตีบและความดันต่ำจากการแพ้อาหาร ดังนั้นมันจะทำให้เราไม่ทันสังเกตอาการแพ้ แล้วเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้เด้อ ถ้าแพ้รุนแรง ใครแพ้อะไรก็ให้หลีกเลี่ยง อย่าไปฝืนกินนะครับ"
คลิก>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ