รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยงานวิจัยอเมริกา ชี้โควิด-19 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง และเชื่อว่างานวิจัยสะท้อนให้เห็นสัจธรรม และความสำคัญของการควบคุมป้องกันโรคโควิด
วันนี้ (17 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "ทะลุ 504 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 559,952 คน ตายเพิ่ม 1,567 ราย รวมแล้วติดไปรวม 504,190,244 คน เสียชีวิตรวม 6,221,498 ราย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมนี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.23 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.81 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 39.49 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 38.35
สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้ จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 20.79% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
โควิด-19 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกสั้นลง งานวิจัยจากอเมริกาโดย Woolf SH และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากล JAMA Network Open เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เปรียบเทียบให้เห็นผลของการระบาดระลอกแรกของโรคโควิด-19 ใน 22 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศต่างๆ ที่มีการระบาดหนัก ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ย่อมทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศนั้นสั้นลง ทั้งนี้ ในปี 2020 ซึ่งระบาดระลอกแรกนั้น ประเทศที่มีการคุมการระบาดได้ดี (เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์) จะมีอายุขัยเฉลี่ยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีการระบาดหนัก จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลง โดยสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดถึงเกือบ 2 ปี งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นสัจธรรม และความสำคัญของการควบคุมป้องกันโรค แน่นอนว่า หากมีการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากระลอกเดลตาและ Omicron ผลกระทบน่าจะมากกว่าที่เห็นจากระลอกแรก
อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น ไม่ได้เกิดผลกระทบเพียงการเสียชีวิตและอายุขัยเฉลี่ยที่สั้นลงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีความสูญเสียด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วย ผลิตภาพโดยรวมที่ลดลงจากการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID รวมถึงผลกระทบทำให้ปีสุขภาวะของคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง (Health adjusted life expectancy: HALE) แปลว่าจำนวนปีโดยเฉลี่ยที่คนจะมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
เน้นย้ำว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้นไม่ได้จบแค่หายหรือตาย แต่มีโอกาสเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งจะบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องส่วนตัว ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนใกล้ชิด และการทำงาน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายทั้งของตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด จะเป็นเช่นนั้นได้ต้องใส่ใจสุขภาพ ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่าง พบปะคนอื่นใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น และหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิด และแยกตัวไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน"