xs
xsm
sm
md
lg

สายแคมป์ฟังไว้ ห้ามนำโฟม-พลาสติกหูหิ้วเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกประกาศห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะถุงพลาสติกบางๆ กล่องอาหารทั้งกล่องโฟมและพลาสติก หลอดพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก หวังลดขยะและไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ

วันนี้ (8 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศและเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 25633 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศไว้ ดังนี้

1. ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

2. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ผลักดันมาตรการงดใช้โฟมและถุงพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมานานแล้ว เนื่องจากเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก สำหรับนักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการใช้บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ถุงพลาสติกความหนามากกว่า 36 ไมครอนขึ้นไป สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ส่วนบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร ให้ใช้กระดาษเฟสต์ที่ผลิตจากกระดาษสำหรับสัมผัสอาหาร ย่อยสลายได้ภายใน 5 ปี และเยื่อกระดาษเฟสต์ย่อยสลายได้ใน 90 วัน นอกจากนี้ยังมีช้อนส้อมแบบพกพา และหลอดแบบล้างแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น