เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ และถือว่าวันนี้เป็นวันสถาปนาราชวงศ์จักรี ทรงใช้สัญลักษณ์ของราชวงศ์เป็นรูปตรีศูลในวงจักรสุทัศน์ ซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์ เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “จักรี” อันเป็นชื่อของราชวงศ์ และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรี ๑ สำรับไว้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ “จักรี” นั้น มาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงเคยได้รับมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์ คือรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงนำและทะนุบำรุงประเทศมา มีพระราชพิธีและเปิดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชนเข้าถวายบังคมปีละครั้ง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ พระมหากษัตริย์ ซึ่งย้ายจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปประดิษฐานที่พระที่นั่งศิวาลัยปราสาท มาไว้ ณ พุทธปรางค์ปราสาท ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ปราสาทองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แต่สิ้นรัชกาลก่อนเสร็จ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าพุทธปรางค์ปราสาทคับแคบเกินไป ไม่เหมาะแก่การทำพระราชพิธี จึงไม่มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตย้ายมา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงบูรณะพระปรางค์ปราสาทแล้ว และทรงหล่อพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง จึงได้มีการอัญเชิญพระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์ทั้ง ๕ พระองค์มาประดิษฐาน และเปลี่ยนนามพระปรางค์ปราสาทใหม่เป็น ปราสาทพระเทพบิดร
จากนั้นในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบันทึกจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ ความตอนหนึ่งว่า
“บ่ายวันนี้ได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปที่ในปราสาทพระเทพบิดร ในเวลาที่เราไป ก็ยังมีข้าราชการและประชาชนอยู่มาก และได้ข่าวว่าตั้งแต่เช้ามีคนเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปเป็นอันมาก...งานนี้นับว่าเป็นพระเกียรติยศงดงามดีมาก เพราะผู้คนไปอย่างแน่นหนา...เราได้ให้เรียกวันนี้ว่า วันจักรี”
วันที่ ๖ เมษายนจึงเป็นวันที่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันและพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมถวายบังคมและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบูรพมหากษัตริย์ และเข้าชมความงามของปราสาทพระเทพบิดรอย่างใกล้ชิด มีพระราชดำริที่จะเตือนใจพสกนิกรได้รำลึกถึงราชอาณาจักรไทยที่กลับฟื้นมีราชธานีแห่งใหม่ที่มีความรุ่งเรืองไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ก็ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และดำรงความเป็นเอกราชสืบต่อมาด้วยพระปรีชาญาณในสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังโปรดเกล้าฯให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ในโอกาสวันสำคัญต่างๆเพิ่มขึ้นจากวันจักรี คือ วันฉัตรมงคล ๕ พฤษภาคม วันสงกรานต์ ๑๓-๑๕ เมษายน และวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ในรัชกาลปัจจุบันยังเพิ่มวันสวรรคต ๑๓ ตุลาคม และวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรด้วย
ปัจจุบัน พระบรมรูปบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในปราสาทพระเทพบิดร มีถึงรัชกาลที่ ๙ แล้ว