xs
xsm
sm
md
lg

ชมมนต์เสน่ห์ ‘ดานัง-ฮอยอัน’ ในวันที่เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อการท่องเที่ยวของเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เมืองดานัง’ และ ‘ฮอยอัน’ เริ่มกลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากปิดเมืองไปถึง 2 ปี เห็นได้ชัดจากสนามบินดานังที่เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก หลังวิกฤติโควิด-19

‘ผู้จัดการออนไลน์’ มีโอกาสไปเยือนและเก็บภาพบรรยากาศรวมถึงทัศนะที่น่าสนใจของคนเวียดนาม
ในหลายแง่มุม รวมถึงวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในวันที่ฟื้นคืนจากวิกฤติโควิด-19

สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองฮอยอัน
จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แม้เพิ่งกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง 
ทว่า มนต์เสน่ห์และความสวยงามของเมืองดานังและฮอยอันที่เรามีโอกาสเยี่ยมชม ก็ยังคงงดงาม
และเฝ้ารอผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วโลกกลับมาเยือนดังเช่นที่เคยเป็น

พระแม่กวนอิม ณ วัดหลินอึ๊ง สููง 67 เมตร สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา








                                                                          -1-
สัมผัสสายลมแห่งทะเลตะวันออก แรงศรัทธาเหนือคาบสมุทรเซินจ่า

ลมแรงจากทะเลตะวันออกปะทะใบหน้าและผิวกาย ปลุกความสดชื่นในยามเช้าให้แก่มวลหมู่นักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาที่เดินทางมายังอาณาสถานแห่งนี้ด้วยจิตศรัทธา


ณ วัดหลินอึ๊งที่ซึ่งประดิษฐานพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์องค์สีขาวบริสุทธิ์ที่มีความสูงถึง 67 เมตร

“เสน่ห์ของการสักการะพระแม่กวนอิมที่วัดหลินอึ๊งนี่ ความเป็นมาคือ เริ่มจากการที่เมืองดานังเคยเป็นเมืองท่าเรือและขนส่งสินค้า 100% ไม่ว่า คนเดินเรือและชาวประมง เขาจะนับถือพระแม่กวนอิมซึ่งเขาถือว่าท่านเป็นผู้คุ้มครอง พระแม่กวนอิมคือผู้ดูแลทะเลตะวันออกของเวียดนาม เมื่อเจอภัยพิบัติอะไรต่างๆ เขาก็มาขอพรจากพระแม่กวนอิม แล้วบังเอิญว่ามีหลายครั้งที่มีปรากฏการณ์แปลกๆ ที่อธิบายไม่ได้ ซึ่งทำให้เขายิ่งนับถือพระแม่กวนอิม เช่นที่เมืองดานังนี้ หากพูดในเชิงติดตลก คือเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ ‘นำเข้าพายุ’ สูงเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยครับ พายุเข้ามาปีละประมาณ 20 ลูก แต่หลังจากที่วัดหลินอึ๊งและพระแม่กวนอิมสร้างเสร็จ พายุก็ไม่เข้ามาอีกเลย

ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า นี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก หรืออาจเป็นปาฏิหาริย์ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้คนนับถือว่าพระแม่กวนอิมช่วยปกป้องดานังจากพายุ ทำให้คนเขายิ่งเชื่อถือ ศรัทธาอย่างมากครับ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของดานัง ทุกวันนี้ วัดก็ยังสร้างไปเรื่อยๆ นะครับ ยังสร้างไม่เสร็จ จะสร้างวัดขยายออกไปเรื่อยๆ สำหรับพระแม่กวนอิมเริ่มสร้างปี ค.ศ. 2015 ครับตั้งแต่สร้างเสร็จก็ไม่มีพายุเข้ามาที่เมืองดานังอีกเลยครับ”

คือคำบอกเล่าของ Mr.Beer-Head of Inbound Division Vinaco Travel หนึ่งในนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของเมืองดานัง ที่สะท้อนถึงศรัทธาของผู้คน ชาวเมืองดานัง และนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ศรัทธาต่อพระแม่กวนอิมพระองค์นี้ ผู้ทอดพระเนตรอย่างเอื้ออารีเหนือคาบสมุทรเซินจ่าและยาวไกลไปถึงทะเลตะวันออก

เห็นได้จากนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ทั้งหนุ่มสาวชาวเวียดนาม และชาวต่างชาติหลากหลายวัย ที่เดินทางมาสักการะพระแม่กวนอิม เหนือท้องทะเลแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง



Mr.Beer-Head of Inbound Division Vinaco Travel นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของดานัง
Mr.Beer ยังเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของเมืองดานังว่า

“เมืองดานัง เพิ่งเกิดมาได้ประมาณ100 กว่าปีนี่เองครับ ไม่ใช่เมืองเก่าของเมืองเวียดนาม
ในยุคสมัยของราชวงศ์เหงียน ที่นี่เป็นเมืองท่าเรือ เดิมทีเมืองท่าเรือขนส่งสินค้าและแลกเปลี่ยนค้าขายจะอยู่ที่เมืองฮอยอัน

การค้าขายคึกคักเป็นอย่างมาก
จุดแรกที่ชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายคือ‘ฮอยอัน’ แล้วหลังจากนั้น กษัตริย์องค์ที่สองของราชวงศ์เหงียนเห็นว่า
ถ้าฮอยอันอยู่ไกลเว้เกินไป การดูแลอาจไม่ดีพอและฮอยอันเล็กเกินไป
การขยายเติบโตเพื่อรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่โตก็เป็นไปได้ยากขึ้น
เขาจึงสั่งปิดเมืองฮอยอัน และเปลี่ยนมาเป็นแลกเปลี่ยนสินค้าที่ดานัง ซึ่งเดิมทีดานังเป็นเมือท่าเรือแลกเปลี่ยนสินค้าอยู่แล้วครับ”

Head of Inbound Division Vinaco Travel
ถ่ายทอดประวัติศาสตร์แบบสั้นกระชับของเมืองดานังได้อย่างน่าสนใจ

ประติมากรรมมือคู่ที่สะพานทองหรือ Golden Bridge ณ BA NA HILLS
                                                  -2-
สองมือที่โอบอุ้ม ณ BA NA HILLS-ล่องกระเช้าเหนือภูผา-ชมหมู่บ้านฝรั่งเศส 

สองมือที่มีขนาดราวกับจะโอบอุ้มแผ่นฟ้ากว้างใหญ่ ทำหน้าที่โอบประคองสะพานวงแหวนสีทองที่มีนักท่องเที่ยวเดินชมความงามของทัศนียภาพแห่งเทือกเขา BA NA HILLS มีไม่น้อยเป็นคู่รักที่ชวนกันมาชื่นชมความงามรอบกาย
ยังมีบางคู่แต่งงานที่มาถ่ายรูปPRE WEDDING ณ อุ้งมือที่โอบรับสะพานทองแห่งนี้ 


สะพานซึ่งมีความหมายดีงาม
อันสะท้อนให้เห็นถึงความขยันหมั่นเพียรที่ฝังแน่นในจิตสำนึกของชาวเวียดนาม

ดังคำบอกเล่าของ PHAM QUANG THINH หรือ‘หรรษา’
มัคคุเทศก์ชาวเวียดนามที่นอกจากคอยดูแลคณะเดินทางของเราแล้ว ยังพูดภาษาไทยได้ชัดแจ๋ว ด้วยเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลเวียดนามที่จบการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นับแต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 และเริ่มทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวให้กับเพื่อนๆ และครูอาจารย์ตั้งแต่เมื่อยังเรียนชั้น ปี1
กระทั่งเมื่อจบการศึกษา เขาก็ประกอบวิชาชีพไกด์หรือมัคคุเทศก์อย่างเต็มตัว


PHAM QUANG THINH หรือ‘หรรษา’ มัคคุเทศก์ชาวเวียดนาม

PHAM QUANG THINH หรือ‘หรรษา’  มัคคุเทศก์ชาวเวียดนาม




‘หรรษา’ บอกเล่าถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในอุ้งมือที่ประคองสะพานทอง
รวมทั้งความน่าสนใจต่างๆ ของสถานที่ท่องเที่ยว BA NA HILLS แห่งนี้

“สำหรับพื้นที่บริเวณมือคู่นี้ คนเวียดนามเรียกว่าสะพานทอง Golden Bridge ถ้าดูบริเวณนี้ จะเห็นว่าสะพานเป็นสีทองหมดเลยนะครับ โดยมีมือใหญ่สองมือรองรับ ที่สะพานนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่29 มีนาคม ค.ศ. 2018 หรือเมื่อ4 ปีที่แล้วครับ

ณ จุดๆ นี้ สูงกว่าระดับน้ำทะเล1,414 เมตร จึงเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม เป็นจุดเช็คอินที่คนเวียดนามและชาวต่างชาติชื่นชอบ ส่วนความหมายของมือสองข้างก็คือ‘มือเราสามารถทำได้ทุกอย่าง ถ้ามีความขยัน เราก็สามารถหาเงิน หาทองได้ ถ้าเรามีความขยัน เป็นความหมายที่ดี สะพานเปรียบเสมือนวงแหวนสีทองและเปรียบเสมือนเงินทองครับ” หรรษาระบุ

ถามว่า เทือกเขาสลับซับซ้อนที่แลเห็นอยู่ด้านหน้าอุ้งมือสะพานทองคือเทือกเขาอะไร
หรรษาตอบว่า “เรียกง่ายๆ ว่าเทือกเขาบานาก็ได้ครับ คือพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนเป็นเมืองในเมฆในหมอกที่ท่านสามารถเห็นได้ ซึ่งที่นี่ยังไม่ใช่บริเวณที่สูงสุดของบานาฮิลล์ แต่เรายังต้องขึ้นกระเช้าไปต่อยังจุดที่สูงสุด1,487 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ข้างบนนั้นจะมีหมู่บ้านฝรั่งเศส มีสวนสนุก สวนอาหาร โรงเบียร์ สวนดอกไม้ ทุกอย่างบนนั้นสวยงามมากครับ”

น้ำพุที่หมู่บ้านฝรั่งเศส มีรูปปั้นเทพเจ้าของชาวยุโรปอยู่รายรอบ
ถามถึงจุดท่องเที่ยวของBA NA HILLS ที่เรียกว่าหมู่บ้านฝรั่งเศส ทำไมถึงเรียกด้วยชื่อนี้


ไกด์ชาวเวียดนามหัวใจไทยตอบว่า “เมื่อก่อน ในยุคสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม อากาศเวียดนามร้อนมาก คนฝรั่งเศสต้องการหาจุดที่มีอากาศเย็นๆ เป็นจุดพักผ่อนให้นายพล ให้นายทหารระดับสูง มาพักผ่อน พวกเขาก็ค้นพบเทือกเขาบานาที่เมืองดานัง เขาจึงสร้างเป็นวิลล่าให้นายพลเหล่านั้น ซึ่งแต่ละวิลล่าห่างกันมาก แต่หมู่บ้านฝรั่งเศสที่เห็นในตอนนี้สร้างใหม่ทั้งหมดนะครับ ขณะที่ในยุคนั้น ที่ฝรั่งเศสสร้าง ก็คือเขาสร้างเป็นวิลล่าที่ห่างกันระหว่างภูเขากับภูเขาเลยนะครับ ห่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ในยุคนั้น ข้างบนนี้ก็จะมีบ้านของทหาร ของนายพลที่เขามาพักผ่อน มีโรงเก็บไวน์
เพราะบนนี้อากาศเย็น ภูเขามีถ้ำ เขาก็แช่เก็บไวน์ไว้ข้างใน มาพักผ่อน” หรรษาระบุ และเล่าเพิ่มเติมว่า

หลังจากฝรั่งเศสกลับไปหลังแพ้สงครามเวียดนาม หลังจากนั้นนานมาก คนเวียดนามก็รู้ แต่ไม่ค่อยมีใครมาเที่ยว 
ต่อมาทางจังหวัดดานัง อยากสร้างสิ่งที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยว 
ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศว่าใครสามารถหาเส้นทางไป BA NA HILLS ได้สะดวกที่สุด และต้องทำให้คนหันกลับมาเที่ยวที่ดานังให้ได้ ก็มีบริษัทแห่งหนึ่งที่เสนอแบบแผนผังการก่อสร้างบนบานาทั้งหมดนี้

“เขาเสนอทำกระเช้าด้วย ทางจังหวัดก็เห็นชอบและอนุมัติให้เขาทำการก่อสร้าง แต่ต้องยึดรูปแบบเดิม คือเป็นสถาปัตยกรรมแนวฝรั่งเศส และอย่าตัดต้นไม้เยอะ เขาก็ตกลง การก่อสร้างที่หมู่บ้านฝรั่งเศสจึงก่อสร้างเป็นสไตล์เดิม และทำเป็นแนวแกรนด์วิลเลจ และถ้าตัดต้นไม้1 ต้น เขาก็ปลูกใหม่ อีก10 ต้น 

ดังนั้น คุณจะสังเกตได้ว่า ที่นี่จะมีอากาศเย็นสบาย ภูเขาเขียวชอุ่ม คือไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่หมู่บ้านฝรั่งเศสนี้ก็คือส่วนหนึ่งของ BA NA HILLS ซึ่งจุดสูงสุดก็ต้องเดินขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง

หมู่บ้านฝรั่งเศสเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2007 แล้วครับ ซึ่ง BA NA HILLS ก็เปิดปี ค.ศ. 2007 แล้วก็ก่อสร้างไปเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีการก่อสร้างอยู่ เพราะแต่ละปี เขาจะเพิ่มจุดขาย จุดรีวิว จุดเช็คอินเพิ่มอีกหนึ่งจุด เช่นปีนี้ เขาก่อสร้างน้ำพุนี้ที่เป็นเทพเจ้ายุโรป โดยหวังให้เป็นจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยวครับ หมู่บ้านฝรั่งเศสกำลังก่อสร้างอีกเยอะแยะครับ” หรรษาระบุ











ถามว่าบรรยากาศก่อนเกิดโควิด-19 แต่ละร้านที่เราเห็นที่หมู่บ้านฝรั่งเศสแห่งนี้ เปิดให้บริการจริงหรือไม่ เนื่องจากเท่าที่ดูในวันที่ไปเยือนเมื่อช่วงปลายมีนาคม ค.ศ. 2022 แต่ละร้านล้วนปิด ทว่า ยังคงมีโรงแรมหรูเปิดให้บริการ

หรรษาตอบว่า “ก่อนโควิด-19 ร้านต่างๆ ที่เห็นเปิดให้บริการจริงครับ มีคนมาท่องเที่ยวเยอะมาก เป็นหมื่นๆ คน อย่างที่ผมบอกว่า มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 12,000 คนต่อวัน มีเบียร์สด มีขายของที่ระลึก มีคาเฟ่ มีร้ายขายเพชรขายทอง ร้ายเบียร์ ขายกาแฟ ร้านอาหาร มีครบหมดเลยครับบนนี้ ยุคโควิด-19 ที่นี่ก็ยังไม่เปิด แต่ในส่วนของ BA NA HILLS เปิดให้บริการแล้วครับในส่วนของการนั่งกระเช้าและการเดินชมหมู่บ้านฝรั่งเศส รวมทั้งมีโรงแรมเปิดให้บริการแล้ว นอกจากนั้น ก็ยังมีการก่อสร้างโรงแรมห้าดาวและกาสิโนเพิ่มเติมด้วยครับ

ในแผนของบริษัทที่รับก่อสร้าง แม้ไม่ได้กำหนดว่าต้องเสร็จภายในปีไหน แต่ในส่วนของหมู่บ้านฝรั่งเศสเขาก็ยืนยันจะทำให้สร็จโดยเร็ว สำหรับพื้นที่ทั้งหมดของ BA NA HILLS มีทั้งสิ้น120เฮกเตอร์ ครับ” 


หรรษาบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพของBA NA HILLS เมื่อครั้งก่อนยุควิกฤติโควิด-19 รวมถึงฉายให้เห็นภาพแผนการก่อสร้างสถานที่อันกว้างใหญ่นี้ในอนาคตข้างหน้า

นักท่องเที่ยวสาวสวยผลัดกันถ่ายรูปและโพสต์ท่า ท่ามกลางบรรยากาศโรแมนติกของฮอยอัน
                                            -3-
                             ‘ฮอยอัน’ ในวันที่ยังคิดถึง

วันต่อมา เราเดินทางจากดานังมุ่งสู่ฮอยอัน เมืองแห่งมรดกโลก และได้เดินทางไปชมเมืองฮอยอันในยามแสงแดดสุดท้ายใกล้เย็นย่ำ อาจเพราะเหตุนั้น ‘แสงทิ้งวัน’จึงทอประกายสวยเป็นพิเศษ

นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยคลาคล่ำอยู่บนถนนสายเล็กๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน ส่วนใหญ่สนุกกับการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ด้วยชุดและพร็อพประกอบที่สวยไม่แพ้ฉากหลักอันงดงาม


















สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมดั้งเดิมของเวียดนาม ญี่ปุ่น และจีน ผสานหลอมรวมกันอยู่ในเมืองมรดกโลกนี้ได้อย่างน่าสนใจ 
แม้ร้านรวงโดยรอบ ยังเปิดไม่ครบทุกร้าน ดังเช่นก่อนช่วงวิกฤติโควิด-19

ทว่า การฟื้นคืนลมหายใจอันคึกคักขึ้นมาอีกครั้งของฮอยอัน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันนี้ ย่อมถือได้ว่าสดใสพอสมควร 
ไม่ว่าร้านรวงสองข้างทาง ทั้งร้านขายของที่ระลึก แผงขายของริมทาง ร้านอาหาร คาเฟ่ที่มีผู้คนใช้ไม่น้อยในแต่ละร้าน ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากแค่ไหนที่ยังรักและคิดถึงเมืองเล็กๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสีสันที่สดสวยแห่งนี้

จิตรกรฝีมือดีที่นั่งวาดภาพสีน้ำอยู่ริมทาง รถสามล้อแบบฉบับเฉพาะตัวของฮอยอัน ที่มีผู้โดยสารนั่งอยู่ด้านหน้ารถ บ้านโบราณที่มีความเป็นมายาวนาน และแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์อีกไม่น้อยที่ล้วนน่าสนใจ

สะพานญี่ปุ่น อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของฮอยอัน
                                              -4-
                      'ฮอยอัน' เมืองโบราณ หลากหลายวัฒนธรรม

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ฮอยอันแห่งนี้ ยังมีสะพานญี่ปุ่น และสมาคมชาวจีนที่ล้วนแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของบรรพชนแต่ละเชื้อชาติ ที่เดินทางมาค้าขายและใช้ชีวิตยังเมืองฮอยอัน ที่ครั้งหนึ่ง ถูกเรียกขานว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางสายไหมทางทะเล และเป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาค อีกทั้งยังสามารถย้อนไปไกลได้ถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรจามปา ที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองดินแดนแถบนี้

ดังที่‘หรรษา’ ไกด์ชาวเวียดนามบอกเล่าเสน่ห์ของฮอยอันว่า

“ฮอยอันเป็นเมืองมรดกโลกมา23 ปีแล้วครับ เมื่อก่อนเป็นเมืองท่าเรือที่พัฒนาและรุ่งเรืองอย่างมากของอาณาจักรจามปา และเป็นศูนย์รวมธุรกิจทั้งตะวันตกและตะวันออก หลายประเทศครับที่มาค้าขายทางเรือ

ดังนั้น วัฒนธรรมของฮอยอัน มีอิทธิพลของอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น มาเที่ยวฮอยอันจะเห็นว่ามีวัฒนธรรมจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ผสมผสานกัน ที่ฮอยอัน เราจะได้ชมสะพานญี่ปุ่น ที่คนญี่ปุ่นก่อสร้างไว้เมื่อ 400 ปีที่แล้ว
ซึ่งตอนนี้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองฮอยอัน แล้วก็มีศาลเจ้า มีสมาคมของคนจีนกวางตุ้ง ไหหลำ แต้จิ๋ว ซึ่งพวกเขาได้มาอาศัยอยู่แล้วก็ก่อตั้งเป็นสมาคม เป็นวัดหรือศาลเจ้าซึ่งเป็นสมาคมของคนจีน โดยหลักๆ คนจีนเขาจะนับถือกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม เพราะว่าสมัยก่อน ที่เขามาค้าขายทางเรือ เขาถือว่า เจ้าแม่ทับทิมคือเจ้าแม่ที่ปกครองทางทะเล เจ้าแม่จะคอยช่วยเหลือ ก็เป็นความเชื่อของคนจีน ฮอยอันเมื่อก่อนเป็นถนนสายท่องเที่ยว มีร้านขายของเล็กๆ ของที่ระลึกและร้านเสื้อผ้าเต็มสองข้างทาง นักท่องเที่ยวที่มาที่นี้ก็จะได้เดินเที่ยวและและได้เห็นความเป็นเมืองเก่า

ฮอยอันมีอีกชื่อหนึ่งว่า‘เส้นทางสายไหมทางทะเล’ ซึ่งผู้ที่มาค้าขายก็จะนำเทคนิคในการทำผ้าไหมมาด้วย มาสอนคนเวียดนามทำ ทุกวันนี้ ฮอยอันก็ยังโด่งดังในเรื่องของการทำผ้าไหม

ฮอยอัน เมื่อก่อนเป็นท่าเรือสำคัญของอาณาจักรจามปา มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างตะวันออกตะวันตก แต่ที่มาเยอะคือ ญี่ปุ่น จีน ไทย และประเทศในแถบอาเซียนของเรา ส่วนใหญ่มาขายของทางเรือ

เรือลำที่เห็นอยู่ ณ ทางเข้า เป็นเรือที่เป็นลักษณะของเรือญี่ปุ่น จัดตั้งไว้ยังไม่นานมากครับ คือเมื่อครั้งที่ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นมาประชุมเอเปคในปี ค.ศ.2017 เขาก็มาชมเมืองนี้ และเมื่อได้เล่าถึงความเป็นมาของชาวญี่ปุ่นที่ได้มาค้าขายและอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ บริเวณนี้ เขาจึงได้ตัดสินใจมอบเรือลำนี้ให้เป็นของที่ระลึกและเพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเมืองฮอยอัน

ฮอยอัน จึงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ระหว่างทางจะมีบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และเมื่อก่อนจะมีการค้าขายกันเยอะกว่านี้ แต่เนื่องจากช่วงนี้ปิดกันเยอะ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 แต่ก็มีที่เริ่มเปิดบ้างแล้ว” หรรษาระบุ

สำหรับสถานที่ในเมืองมรดกโลกฮอยอัน ที่หรรษาแนะนำ มีอยู่3 จุดสำคัญ คือ
สะพานญี่ปุ่น เนื่องจากในอดีต มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากในบริเวณนี้ และเขาสร้างสะพานนี้ จากนั้นก็มีชาวจีนและชาวเวียดนามอาศัยอยู่ด้วย โดยหลักแล้วคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ฝั่งหนึ่ง เมื่อข้ามฝั่งไป ก็มีคนจีนอาศัยอยู่ สะพานนี้จึงเปรียบเสมือนการสานสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ความเชื่อของคนญี่ปุ่นถือว่า ฮอยอันคือมังกร เนื่องจากมีแม่น้ำที่คดเคี้ยวและมีความยาวเสมือนมังกร เมื่อใดมีมังกรตัวนี้ขยับ ญี่ปุ่นจะเกิดสึนามิ ชาวญี่ปุ่นจึงอยากก่อสร้างตัวสะพาน เพราะสะพานเป็นสิ่งที่อยู่นิ่ง เพื่อไม่ให้มังกรขยับ ไม่ให้แผ่นดินไหว เขาจึงก่อสร้างสะพานนี้ขึ้น เมื่อก่อสร้างได้ไม่นาน คนจีน ก็ร่วมก่อสร้างศาลเจ้าเล็กๆ ขึ้นตรงกลางของสะพาน นับแต่นั้น สะพานนี้ จึงมีทั้งสองชื่อว่าสะพานวัดและสะพานญี่ปุ่น

จุดต่อมาที่หรรษา แนะนำคือสมาคมของคนจีนที่มาอยู่ที่นี่ซึ่งมีทั้งกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ และอีกหลายกลุ่ม พวกเขานับถือ บูชากวนอู และเจ้าแม่ทับทิมรวมถึงเทพเจ้าแห่งโชคลาภ

อีกแห่งที่หรรษา แนะนำให้ชม คือ
คือบ้านเศรษฐี ( บ้านเลขที่129 ) บ้านหลังนี้ เจ้าของดั้งเดิมคนแรกคือคนไทยที่อพยพมาจาก จ.อุดรธานี แต่ผ่านไป200 ปี ปัจจุบันนี้ เจ้าของกลายเป็นคนเวียดนามไปแล้ว

“บ้านหลังนี้ หากท่านใดเคยดูละคร‘ฮอยอัน ฉันรักเธอ’ พระเอก นางเอก พบรักกันที่สะพานญี่ปุ่นนั้น ส่วนหนึ่งก็คือเขานำเรื่องราวมาจากเจ้าของบ้านเศรษฐีหลังนี้ครับ และอีกส่วนหนึ่งคือเป็นการสร้าง Story เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากไทยมาชมบ้านหลังนี้ ท่านจะเห็นสถาปัตยกรรมที่แม้ผ่านมา200 ปี ก่อสร้างด้วยไม้ แต่ก็ยังมั่นคงและสวยงามดังเดิมครับ 

ที่ฮอยอันนี้ จะมีถนนที่ทะลุและเชื่อมต่อหากันได้หมด มีถนนริมแม่น้ำ นั่งทานกาแฟได้ตามใจท่าน จากนั้นก็เดินชมบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมโบราณของฮอยอันครับ” หรรษาบอกเล่าถึงความน่าสนใจของฮอยอันในหลายบริบททั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ แลนด์มาร์คสำคัญ รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยผ่านเรื่องราวละครไทยที่เกี่ยวข้องกับเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ซึ่งแม้ละครเรื่องดังกล่าวจะออกอากาศผ่านไปนานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ก็ยังเป็นที่ถูกพูดถึงในเวียดนาม

บริเวณด้านหน้า ก่อนเข้าสู่สะพานญี่ปุ่น

สมาคมของชาวจีนในฮอยอัน



บ้านของเศรษฐีชาวไทยที่อพยพมาจาก จ.อุดรธานีเมื่อ 200 ปีก่อน

บ้านของเศรษฐีชาวไทยที่อพยพมาจาก จ.อุดรธานีเมื่อ 200 ปีก่อน









อาคารหลังนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของเครื่องปั้นและเซรามิคได้อย่างน่าสนใจ







เรือที่ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้แก่ฮอยอัน เพื่อสานสัมพันธ์สองแผ่นดินและรำลึกถึงอดีตที่ผูกพันมายาวนาน



วัดจีนอีกแห่งในฮอยอัน ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม แต่ยังไม่เปิดให้เข้าชม

สวนประติมากรรมรูปปั้นแกะสลักหินอ่อน ริมแม่น้ำ Han ที่ดานัง
                                               -5-
                        มอง ‘ดานัง’ ช่วงก่อน-หลังวิกฤติโควิด-19

สอบถามความเห็นของ Mr.Beer-Head of Inbound Division Vinaco Travel
นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของเมืองดานัง

ว่าประเมินสถานการณ์ในภาพรวมของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเมืองดานัง
ก่อนเกิดโควิด-19 และหลังวิกฤติโควิด-19 ว่าต่างกันอย่างไรบ้าง

Mr.Beer ตอบว่า “การท่องเที่ยวของเมืองดานังก่อนโควิด-19 คือ มีการเจริญเติบโตมากมาย 
ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ จากหลากหลายกลุ่ม แต่ละปีมีเพิ่มเรื่อยๆ เป็นแหล่งบูมของเวียดนามและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ดานังเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุดของเวียดนาม
แต่หลังจากเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวก็ทยอยๆ หายไป ตัวเลขกลายเป็นเลขศูนย์
ไม่มีใครมาท่องเที่ยว แม้แต่ นักท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักมาก
ถือเป็น85% ของรายได้หลักของเมือง ดานัง ซึ่งมาจากการท่องเที่ยว
เมื่อการท่องเที่ยวหายไป ทำให้เศรษฐกิจเมืองดานังเสียหายหนักมาก
เจ้าของกิจการหลายแห่งต้องแจ้งล้มละลาย ยุบธุรกิจของตัวเองเมื่อเกิดโควิด-19

ในยุคโควิด-19 การปิดโรงแรม ร้านอาหารหรือไม่ให้ขาย ทำให้ได้รับผลกระทบเยอะมาก
สำหรับเมืองดานัง
แต่ในตอนนี้ หลังจากเมืองดานังฟื้นคืนมาและกลับมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิมและอย่างรวดเร็ว
แต่ที่ดานังก็ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือแรงงาน เนื่องจากในด้านธุรกิจท่องเที่ยว
ที่ส่วนใหญ่แรงงานมาจากต่างจังหวัด
ในช่วง2ปี ที่เขาหยุดการทำงานด้านท่องเที่ยวไป เขาก็ต้องไปหางานใหม่ทำ ซึ่งตอนนี้เขาก็กลัวว่าถ้าหากมีโควิด-19
กลับมาอีกเขาก็กลัวว่างานใหม่ที่เขาหาได้ ถ้าเขาจะทิ้งไปเพื่อกลับมาทำงานด้านธุรกิจท่องเที่ยว
มันจะเป็นการเสี่ยงกับงานที่เขาหาได้หรือไม่ เพราะกระทบต่อรายได้ของตัวเองและครอบครัว ทำให้แรงงานที่จะกลับมาทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ในตอนนี้จึงยังถือว่ามีน้อยอยู่ครับ
เพราะเขาต้องคำนึงถึงผลกระทบด้วยครับ ผมทำธุรกิจท่องเที่ยวและขนส่ง ยอมรับว่าเรื่องการขนส่งก็ได้รับผลกระทบหนักเหมือนกัน”
Mr.Beer ระบุ


ด้าน PHAM QUANG THINH หรือ ‘หรรษา’ มัคคุเทศก์ชาวเวียดนามกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเวียดนามก่อนจะเอ่ยถึงผลกระทบจากโควิด-19 ว่า

“สำหรับ เวียดนาม มีประวัติศาสตร์อันยาวนานไม่น้อยกว่า 4,000 ปี นะครับ จนถึงวันนี้ ในช่วงเวลา4,000 ปี เป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่พันปี เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสประมาณ100 ปี และมีช่วงเวลาที่สู้รบกับอเมริกาอีก 21 ปี
ที่บอกว่าเมืองขึ้น แต่ในช่วงเวลาที่เป็นเมืองขึ้นจีนพันปี เวียดนามก็จะมีการสู้รบตลอดเวลา ในช่วง100 ปี ที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส เวียดนามก็สู้รบตลอด รวมทั้งในช่วง 21 ปี ที่สู้รบกับอเมริกา คือ ทุกช่วงเวลาคนเวียดนามจะสู้ เพื่อนำความอิสระเสรีภาพกลับคืนมาสู่เวียดนามครับ

ส่วนดานัง เมื่อก่อน ก็เป็นเมืองเล็กๆ ชื่อว่า‘ตัวรัง’ (TOURANCE ) เป็นภาษาฝรั่งเศส ดานังเพี้ยนมาจากคำนี้ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1800 แต่ดานังเริ่มเป็นมหานครตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 จนถึงปัจจุบันนี้ เมืองดานังค่อนข้างพัฒนารวดเร็ว
เมืองดานังมีพื้นที่ไม่ใหญ่ แต่จำนวนคนมาก ดานังมีประชากรประมาณ1ล้าน 3 แสนคน


ธุรกิจอันดับ1 คือ อุตสาหกรรม อันดับ 2 คือการบริการด้านการท่องเที่ยว 3 เป็นด้านการประมง
โดยดานังมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมการต่อเรือ
เป็นเมืองท่าเรือ ตอนนี้ดานังมีท่าเรือน้ำลึกไม่น้อยกว่า2 แห่ง สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้หลายร้อยตัน รองรับเรือสำราญได้ นอกจากนี้ ยังมีถนนสายหนึ่งที่เรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East- West Economic Corridor : EWEC)หรือที่เรียกว่าเส้นทางR2 เชื่อมต่อ มุกดาหาร สะหวันนะเขต ถึงดานัง หรือเรียกว่า‘อาเซียนไฮเวย์’
ตอนนี้ เชื่อมต่อถึงเมียนมา ประตูสู่อินโดจีนเมื่อก่อนอยู่มุกดาหาร แต่ปัจจุบันอยู่ที่ จ.พิษณุโลก
จากเมียนมา ลงพิษณุโลก ลงมุกดาหาร สะหวันนะเขต เข้าเว้ และดานัง ได้เลยครับ” หรรษาระบุ

(หมายเหตุ :East-West Economic CorridorหรือEWECเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก
หรือที่เรียกว่าเส้นทางR2 หรือR9 (จะเรียกR9 เมื่ออยู่ใน สปป.ลาว)เป็นการตัดขวางเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก หรือทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตก เส้นทางเริ่มจากเมืองท่าดานัง ชายฝั่งของเวียดนาม ผ่านเมืองเว้ เมืองดงฮา และเมืองลาวบาว ของเวียดนาม ผ่านสะหวันเซโน ผ่านแขวงสะหวันนะเขต ของสปป.ลาว แล้วข้ามแม่น้้าโขงที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) สู่ประเทศไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านทางหลวงหมายเลข 12 ข้ามไปยังประเทศพม่าที่เมืองเมียวดี ผ่านอ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะลำไย มีระยะทางรวม 1,450 กิโลเมตร : ที่มา “แนวทางการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 12 (East-WestEconomic Corridor : EWEC)เป็นเส้นทางคมนาคมและการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงและรองรับยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก – ตะวันตก”โดยนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย
ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 3กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60)

หรรษากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เส้นทางดังกล่าว สะดวกในการขนส่งทางรถ ไทย ลาว เวียดนาม ทะลุหากันได้เหมือนกลุ่มประเทศในแถบยุโรป
“คนไทย เมื่อออกจากไทย เมื่อตรวจที่ด่านไทยแล้ว สามารถเข้าไปลาวและเวียดนามได้สบายเลย จนถึงวันที่เดินทางกลับ ค่อยตรวจอีกครั้ง เป็นแบบ One Stop Service ครับ” หรรษาระบุ

สวนประติมากรรมแกะสลักหินอ่อน ริมแม่น้ำ HAN ที่ดานัง


                                -6-
แนะรอยทางสู่สนามบินดานัง หลังวิกฤติโควิด-19


จากดานัง เมืองท่าแห่งสำคัญของเวียดนาม
สักการะพระแม่กวนอิมสูงตระหง่านเหนือทะเลตะวันออก
สู่ฮอยอัน
เมืองมรดกโลกที่เปี่ยมชีวิตชีวาด้วยหลากหลายวัฒนธรรมที่หลอมรวมอย่างลงตัว 
กระทั่งเดินทางกลับสู่เมืองไทยโดยสวัสดิภาพ

ทั้งนี้ การเดินทางดังกล่าว
เป็นทริปที่สายการบินไทยเวียตเจ็ทจัดขึ้น
โดยเชิญสื่อมวลชนร่วมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองดานัง เวียดนาม ผ่านกิจกรรม FAM Trip
ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม- 30มีนาคม พ.ศ.2565 เนื่องด้วยสายการบินไทยเวียตเจ็ทได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศอีกครั้ง ในเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ )-ดานัง
ตั้งแต่วันที่27 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

ก่อนทิ้งท้ายบทความ จึงขอแนะสิ่งจำเป็นในการเดินทางไปยังเวียดนาม

นับแต่เกิดวิกฤติโควิด-19
กระทั่ง ณ วันนี้ เมื่อเวียดนามเปิดประเทศ
และสายการบินไทยเวียตเจ็ทมีเที่ยวบินตรงสู่สนามบินดานัง 
ผู้ที่สนใจเดินทางท่องเที่ยวไปยังเวียดนาม
ณ สนามบินดานังต้องเตรียมตัว ดังต่อไปนี้

นอกจากมีตั๋วเครื่องบินและเตรียมพาสปอร์ตเรียบร้อยแล้ว

หลักฐาน เอกสารอื่นๆ ที่ต้องนำติดตัวไปด้วยได้แก่

1.ผลตรวจ ATK ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 1 ประตู 3
ใช้เวลารอผลตรวจประมาณ 30 นาที ดังนั้น ควรเผื่อระยะเวลาก่อนเช็คอิน ประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจ
นำผลที่ได้รับ แสดงต่อเคาท์เตอร์สายการบินและตม.

2.กรอกข้อมูลในThailand Passล่วงหน้าอย่างน้อย
7วันก่อนเดินทาง โดยสามารถเข้าไปในเว็บไซต์
http://tp.consular.go.th

ต้องกรอกข้อมูลอย่างละเอียด อาทิ ไฟลท์ขาไป-กลับ Booking และที่อยู่โดยละเอียดของโรงแรมที่พักในต่างประเทศ

รวมทั้งระบุโรงแรมTest & Goในไทยเมื่อกลับมาถึงไทย 
ดังนั้น ผู้เดินทางจึงต้องจองโรงแรมล่วงหน้าและนำเลข Booking กรอกข้อมูลใน Thailand Pass

นอกจากนี้ Thailand Pass
ยังให้แนบไฟล์หรือภาพผลรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ด้วย
และข้อมูลอีกหลายส่วน
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะมีเมล์ตอบกลับเป็นเลขรหัส สำหรับเช็คสถานะ ว่าได้รับการอนุมัติหรือไม่

เมื่อได้รับการอนุมัติ ระบบจะส่งQR Code มาให้
หมายความว่าได้รับการอนุมัติแล้ว

3. ทั้งนี้ นอกจากแคปหน้าจอข้อมูลสำคัญต่างๆ ไว้แล้ว ควรปรินท์เอกสาร QR Code
ที่ได้จากThailand Pass
และเอกสารที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งใบรับรองการฉีดวัคซีน,เอกสารรับรองการเข้าพักโรงแรมในไทย
ปรินท์ไว้อย่างน้อย 2 ชุด
เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ตม.และเคาท์เตอร์เช็คอินสนามบิน โดยในส่วนของThailand Pass และเอกสารรับรองการเข้าพักโรงแรมในไทยจะจำเป็นมาก ในการแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่เคาท์เตอร์เช็คอินของสนามบินดานังด้วย และเจ้าหน้าที่ ตม.ในไทย

ซึ่งในกรณีของผู้เขียน
เจ้าหน้าที่เคาท์เตอร์เช็คอินของสนามบินดานัง ได้ทำการสแกน QR Code ที่ได้จากThailand Pass
และตรวจสอบเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด

3. ไม่เพียงเท่านั้น
ผู้เดินทางยังต้องลงทะเบียนในเว็บ https://tokhaiyte.vn
แล้วแคปหน้าจอที่แสดง QR Codeไว้
โดยเจ้าหน้าที่สายการบินจะขอดู QR Code ดังกล่าวก่อนขึ้นเครื่องขาไป
และแสดงอีกครั้งต่อเจ้าหน้าที่ที่สนามบินดานัง

4.นอกจากนี้ วันเดินทางกลับ อีกสิ่งสำคัญที่ต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทั้งในสนามบินดานังและที่สนามบินสุวรรณภูมิคือ

ผลการตรวจ RT-PCR ซึ่งทางคณะผู้จัดได้ดำเนินการให้คณะสื่อมวลชนได้รับการตรวจที่ดานัง
ก่อนการเดินทางกลับ 3 วัน

ทำให้ได้รับใบระบุผลการตรวจ ที่ต้องนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่สนามบินได้ตรงตามกำหนดวันเดินทางกลับ

นอกจากนี้Thailand Pass
ยังระบุเอกสารที่ต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ว่ามี
ประกันสุขภาพCOVID-19ที่มีความคุ้มครองขั้นต่ำ
50,000 USD(สำหรับต่างชาติ )

กระนั้นก็ตาม ในการเดินทางครั้งนี้ สายการบินไทยเวียตเจ็ท
ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยการเดินทางให้ผู้ร่วมเดินทางทุกคน โดยมีระยะเวลาประกันภัย 4 วัน
คือ 27 มีนาคม 2022 ถึง 30 มีนาคม 2022

5.อีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ
การแลกเงินไทยเป็นสกุลเงินเวียดนาม หรือเงินด่อง

สามารถแลกได้ที่Currency exchange หรือ Exchange Booth ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 
หรือ อาจแลกที่ Superrich Thailand ซึ่งมีอยู่หลายสาขาในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ

6.นอกจากนี้ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย
ต้องไม่ลืมกรอกใบสำหรับตรวจคนเข้าเมือง ที่แอร์โฮสเตทจะแจกให้เขียนบนเครื่องบิน

ซึ่งในยุคหลังวิกฤติโควิด-19 นี้
ในใบดังกล่าว ผู้เดินทางต้องระบุด้วยว่า เข้ารับการTest & Go หรือการกักตัวในรูปแบบอื่นๆ
ที่โรงแรมใด ซึ่งในกรณีของผู้เขียน เป็นTest & Go ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ

เมื่อเดินทางถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ
และผ่านการตรวจเอกสารจากเจ้าหน้าที่ทางเข้าออกระหว่างประเทศแล้ว
และรับกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว
คณะเดินทางถูกพาไปยังประตูทางออกที่มีรถของโรงแรมที่ทางสายการบินจองไว้มารอรับเพื่อพาไปโรงแรมโดยตรง

7. เมื่อไปถึงโรงแรม ก็เข้ารับการตรวจ RT-PCR ทันทีจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มอบชุดตรวจ
ATK ให้ทุกคนในคณะ
เพื่อทำการตรวจด้วยตัวเอง ในอีก 5 วันถัดไปหลังวันเดินทางกลับ

8.จากนั้น พักรอผลการตรวจRT-PCRในห้องที่โรงแรม
ซึ่งสามารถเช็คเอาท์ได้ในเวลาเที่ยงครึ่งของวันถัดไป
แต่หากใครทราบผลแล้วจะกลับบ้านเลยก็ได้เช่นกัน

ในกรณีของผู้เขียน เข้ารับการตรวจ RT-PCR
เวลาประมาณ16:00น.ของวันที่ 30 มีนาคม 2022

และทราบผลเป็นลบในเวลา 01:00 น.ของวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.2022


….ทั้งหมดทั้งปวง
นับเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ ในห้วงแห่งยุคสมัยที่โลกและธุรกิจการบิน
ธุรกิจการท่องเที่ยวและทุกภาคส่วนล้วนเผชิญ และได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19ไม่ต่างกัน
ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวและฟื้นคืนกลับมา

เมื่อสายการบินเริ่มเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง
 

เมื่อ‘ดานัง’‘ฮอยอัน’
เริ่มเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครา หวังว่าชีวิตชีวา รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ

และความคิดถึงที่ผู้คนโหยหาต่อการเดินทาง 

จะนำพาพวกเขาให้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเยือนเมืองแห่ง‘ดอกบัว’อันแสนงดงามนี้

……

Text & Photo : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล