xs
xsm
sm
md
lg

เพจ "กฎหมายแรงงาน" อธิบายชัด ปมโรงเรียนไล่ครูสาวสอบติดราชการออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "กฎหมายแรงงาน" อธิบายชัด ปมโรงเรียนไล่ครูสอบราชการติดออก ระบุระเบียบโรงเรียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ การฝ่าฝืนระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมจึงสามารถทำได้ ชี้อาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้อีก

จากกรณีพบโพสต์ประกาศจากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์แจ้งบุคคลพ้นสภาพการเป็นบุคลากรเพียงเพราะสอบบรรจุข้าราชการได้ ด้านชาวเน็ตไม่พอใจโต้กลับ บางรายถึงกับแสดงความยินดีผ่านโพสต์ดังกล่าว ทั้งนี้ ชาวเน็ตส่วนใหญ่มองว่าโรงเรียนดังกล่าวทำไม่ถูกต้อง และต่างเข้าไปให้กำลังใจครูสาวจำนวนมาก ต่อมาครูสาวที่โดนโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ไล่ออกจ่อฟ้องร้องโรงเรียนกลับ หลังทำให้ตนเองได้รับความเสื่อมเสีย อีกทั้งให้ลบโพสต์และชี้แจงขอโทษ ล่าสุดได้ตั้งทนายความเพื่อเตรียมจะฟ้องร้องทางโรงเรียนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 มี.ค. เพจ "กฎหมายแรงงาน" ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับประเด็นดรามาดังกล่าวว่า

"ประกาศของโรงเรียนกำหนดว่าถ้าจะไปสอบงานต้องลาออกก่อน ไม่งั้นผิดวินัยร้ายแรง ตามที่เป็นข่าวดังและได้เขียนไปตอนแรกเมื่อช่วงเช้า พอมาเห็นประกาศของโรงเรียนเอกชนจึงขอนำประกาศนี้มาวิเคราะห์ให้ฟัง

โดย ผอ.โรงเรียนได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า

"...ประกาศฉบับนี้โรงเรียนทำถูกต้องทุกอย่าง และเรื่องนี้มีอยู่ประเด็นเดียวคือการให้ออกเป็นหลักปฏิบัติของโรงเรียน เพราะเป็นการเสียโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนที่ครูหายไปกลางคัน จึงเป็นที่มาของการออกประกาศ กรณีการไปสอบเป็นข้าราชการทางโรงเรียนไม่เคยห้ามและเปิดโอกาสให้ครูทุกคนไปสอบ แต่ต้องลาออกก่อน" (ที่มา : มติชนออนไลน์)

เดี๋ยวมาดูกันว่าตามกฎหมายแล้วเป็นจริงดั่ง ผอ.ว่าหรือไม่

กฎหมายโรงเรียนเอกชนมีความคล้ายกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกาศของโรงเรียน ซึ่งในทางกฎหมายแรงงานถือว่าประกาศดังกล่าวมีลักษณะเป็นสภาพการจ้าง เมื่อประกาศออกมาแล้วและไม่มีการคัดค้านจากฝ่ายครูก็มีผลบังคับใช้ได้
ฟังจากข่าว ฝ่ายครูบอกว่าประกาศเพิ่งออกมาภายหลังจึงไม่บังคับกับครูนั้น ความเห็นของฝ่ายครูไม่น่าจะถูก ประกาศซึ่งมีสถานะเป็นสภาพการจ้างแม้ออกมาบังคับภายหลังจากเข้ามาทำงานแล้วก็ใช้ได้ ถ้าประกาศนั้น "ชอบด้วยกฎหมาย" และ "เป็นธรรม" ประกาศของโรงเรียนเอกชนรายนี้ ที่มีข้อความว่า

"1.ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะไปสอบราชการ พนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนลาออกจากการเป็นบุคลากรของโรงเรียน..."

นอกจากนั้นยังกล่าวต่อไปว่า "กรณีสมัครสอบโดยไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ถือเป็นความผิดวินัยมีโทษขั้น "ให้ออก" โดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของโรงเรียน..."

ระเบียบนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุดังนี้

๑) ขัดกับรัฐธรรมนูญ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๔๐ ที่ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ"
ซึ่งสิทธิในการประกอบอาชีพนี้หมายถึงสิทธิที่จะได้รับความมั่นคงในการทำงานด้วย

๒) ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับต้อง "ชอบด้วยกฎหมาย" และ "เป็นธรรม" (ระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๔(๖))

ดังนั้น เมื่อประกาศโรงเรียนซึ่งมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ออกมาโดย "ขัดรัฐธรรมนูญ" จึงอ้างไม่ได้ว่าประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าระเบียบเช่นนี้ไม่ "เป็นธรรม" ที่หมายถึง ว. ถูกต้อง. (อ้างอิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต) เช่นนี้ หากโรงเรียนเอกชน หรือบริษัท ห้างร้าน นายจ้างต่างๆ ออกประกาศเช่นนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม การฝ่าฝืนประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมจึงสามารถทำได้ และที่สำคัญหากเลิกจ้างโดยอิงระเบียบที่ไม่ชอบก็ต้องจ่ายค่าชดเชย

จะเห็นว่าเรื่องนี้ โรงเรียนเอกชนรายนี้หาเรื่องให้ตัวเอง เพราะการลาออกไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้ว
แต่ทีนี้พอมาเลิกจ้าง ผลที่ตามมาก็อาจมองได้ 2 ทาง คือ

1) อาจเป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ครูคนนี้ แถมอาจต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย และอาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีก

2) ศาลอาจไม่มองเป็นเลิกจ้างได้เพราะเจตนาจะลาออกอยู่แล้ว แต่ศาลจะกำหนดความเสียหายจากการให้ออกก่อนกำหนด"




กำลังโหลดความคิดเห็น