อุบัติเหตุทางเครื่องบินแม้นานๆจะเกิดที แต่เมื่อเกิดแต่ละครั้งก็ดังไปทั่วโลก เพราะมีคนตายจำนวนมาก และยังมีการตกอย่างน่าพิศวงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย เมื่อเครื่องบินของบริษัทเลาดาแอร์ ปีกขวาเดินหน้า แต่ปีกซ้ายเบรก ทำให้แพนหางหลุด เครื่องจึงหมุนคว้างดิ่งหัวลง หรือกรณีแอร์อินเดียที่นักบินคิดว่าไฟถนนในโรงงานทอผ้าเป็นไฟรันเวย์ เลยนำเครื่องลงชนตึกใกล้ดอนเมืองก็มี หรืออย่างที่เครื่องบินไชน่า อิสเทิร์น แอร์ไลน์กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ปักหัวดิ่งพสุธาอย่างประหลาด อาจจะเหมือนเลาดาแอร์ก็เป็นได้
อุบัติเหตุร้ายแรงของเครื่องบินจนช็อกโลก มีคนตายมากที่สุด เกิดจากเครื่องบินโดยสารขนาดยักษ์ ๒ ลำเกิดพุ่งชนกันบนรันเวย์ แม้ยังไม่ทันขึ้นบินก็กลายเป็นเศษเหล็กด้วยกันทั้งคู่ คนบนเครื่องทั้ง ๒ ลำรวม ๖๔๔ คนรอดอย่างปาฏิหาริย์ได้ ๖๑ ชีวิต ตายไปถึง ๕๘๔ คน
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๐
เนื่องจากในเวลา ๑๓.๐๕ น.ของวันนั้น มีการขู่วางระเบิดที่สนามบินบนเกาะแกรนคานาเรีย ในหมู่เกาะคานารี สถานตากอากาศติดอันดับโลกของสเปน หลังจากนั้นอีก ๑๐ นาทีก็มีการระเบิดขึ้นจริง และยังมีการขู่วางระเบิดลูกที่ ๒ อีก ทำให้เครื่องบินทั้งหมดที่จะลงสนามบินคานาเรียต้องเปลี่ยนไปลงที่สนามบินบนเกาะเตเนริเฟที่อยู่ใกล้เคียง แต่สนามบินนี้เป็นสนามบินเล็กกว่า ความแออัดจึงเกิดขึ้น กัปตันของเครื่องบินบางลำก็ให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องเพื่อลดความเครียด แต่เมื่อสนามบินคานาเรียเปิดได้อีกครั้ง เครื่องบินทุกลำจึงพร้อมเดินทาง
เจ้าหน้าที่สนามบินได้จัดให้เครื่องของสายการบินเคแอลเอ็ม ที่เดินทางมาจากอัมสเตอร์ดัม กับเครื่องของสายการบินแพนแอมที่มาจากลอสแองเจลิสออกไปก่อน เพราะเป็นเครื่องบินจัมโบ้เจ็ท โบอิ้ง ๗๔๗ ขนาดใหญ่ที่สุดด้วยกันทั้งคู่ แต่กัปตันของเคแอลเอ็มขอเติมน้ำมันก่อน เครื่องของแพนแอมที่ถูกจอดขวางอยู่จึงต้องรอ เครื่องที่เล็กกว่าจึงแทรกออกไปได้และขึ้นไปก่อน
ขณะนั้นในสนามบินหมอกลงจัด หอบังคับการมองไม่เห็นเครื่องบินยักษ์ทั้ง ๒ ลำ อีกทั้งเครื่องบินทั้ง ๒ ก็ไม่มีเรด้าภาคพื้นดิน จึงต้องใช้การสื่อสารทางวิทยุเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่จราจรของสนามบินก็ออกเสียงไม่ค่อยชัด อย่าง First กับ Third การติดต่อจึงสับสน เครื่องบินแพนแอมได้รับคำสั่งให้ไปเลี้ยวที่ทางวิ่งที่ ๓ แต่เมื่อไปแล้วก็ปรากฏว่าเป็นมุมเลี้ยวหักข้อศอกไม่สามารถเลี้ยวได้ จึงจะไปเลี้ยวที่ทางวิ่งที่ ๔
ขณะนั้นเครื่องเคแอลเอ็มเติมน้ำมันเต็มแล้ว จึงแจ้งหอบังคับการว่าพร้อมจะบิน แต่การสื่อสารกับหอบังคับการไม่ชัดเจน กัปตันเข้าใจว่าหออนุญาตให้บินแล้ว หลักฐานจากกล่องดำปรากฏว่าช่างเครื่องได้ท้วงว่าน่าจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้บิน แต่กัปตันตอบอย่างมีอารมณ์ว่าเขาอนุญาตแล้ว และทำการบินขึ้น
เมื่อกัปตันเคแอลเอ็มตัดสินใจบินขึ้น เครื่องของแพนแอมก็ยังขวางอยู่ในทางวิ่ง นักบินเคแอลเอ็มมาเห็นสิ่งที่ขวางอยู่ข้างหน้าก็ไม่สามารถหลบได้แล้ว แม้เชิดหัวขึ้นพ้นแต่ห้องเครื่องและห้องเก็บสัมภาระใต้ท้องก็ปะทะกับลำตัวของแพนแอมอย่างจัง เกิดไฟลุกไหม้รุนแรงเพราะน้ำมันเต็มถัง ผู้โดยสารและลูกเรือของเคแอลเอ็ม ๒๔๘ คนไม่มีใครรอดชีวิต ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือแพนแอม ๓๙๖ คน รอดชีวิต ๖๑ คนจากที่อยู่ส่วนหัวซึ่งขาดกระเด็นไป
บริษัทเคแอลเอ็มยอมรับว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความเข้าใจผิดของนักบินตัวเอง และยอมจ่ายค่าชดเชยให้ญาติผู้เสียชีวิต
อุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดของประวัติศาสตร์การบิน