xs
xsm
sm
md
lg

ทูตจีนเผยจุดยืนกรณีรัสเซีย-ยูเครน แนะเจรจาไม่เห็นด้วยคว่ำบาตร วงเสวนาจับตาท่าทีจีน-สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทูตจีนประจำประเทศไทยย้ำจุดยืนจีนสนับสนุนการเจรจารัสเซีย-ยูเครน แนะสหรัฐฯ-นาโต้ต้องคุยกับรัสเซียด้วย สหรัฐฯ กำลังสร้าง “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” เป็นนาโต้เวอร์ชันเอเชียหวังสกัดจีน หวั่นกระทบสันติภาพ-ความมั่นคง ด้านเวทีเสวนาสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จับตาการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ แนะไทยชวนอาเซียนเป็นตัวกลาง

วันนี้ (21 มี.ค.) ที่โรงแรมวี กรุงเทพฯ เอ็มแกลเลอรี โฮเทล คอลเลคชั่น สี่แยกราชเทวี กทม. ในการจัดอบรมหลักสูตร "มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้" ครั้งที่ 4 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในตอนหนึ่ง นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่า เบื้องหลังมาจากความมั่นคงของยุโรปที่สะสมมาเป็นเวลานาน หลังสิ้นสุดสงครามเย็น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ได้ขยายขอบเขตไปทางตะวันออกอย่างต่อเนื่อง กดดันรัสเซียอย่างหนักจนต้องตอบโต้กลับ โดยที่ยูเครนตกเป็นเหยื่อ

จีนมีจุดยืนอย่างแน่วแน่ว่าควรเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ รวมทั้งปณิธานและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญต่อข้อกังวลที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศอย่างจริงจัง และควรสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขวิกฤตการณ์อย่างสันติ โดยจีนได้เสนอแนวคิดริเริ่ม 6 ประการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครน และเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ รวมทั้งนาโต้ก็ควรเจรจากับรัสเซียด้วยเพื่อแก้ไขปมเงื่อนที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตยูเครน

"จีนไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การคว่ำบาตรแบบรอบด้านและไม่เลือกปฏิบัติจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก จนก่อให้เกิดวิกฤตระดับโลกที่รุนแรงขึ้นมา จึงเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบและมีเหตุผล ซึ่งจีนจะยังคงแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์โดยใช้วิธีของตนเองต่อไป" เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าว


เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยยังกล่าวอีกว่า หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ยุโรปมีโอกาสสร้างกลไกความมั่นคงที่สมดุล มีประสิทธิภาพและยั่งยืน แต่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลมาจากตรรกะและความคิดแบบอำนาจบาตรใหญ่ เช่น “ผู้ชนะกินรวบ” และ “อำนาจคือความยุติธรรม” ทั้งที่โลกตะวันออกสนับสนุนการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี เน้นการเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับความแตกต่าง มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการสื่อสาร และหารือกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง ถ้าแก้ไขปัญหาด้วยความคิดและภูมิปัญญาตะวันออก สถานการณ์อาจจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้รักษาการพัฒนาโดยรวมอย่างมีเสถียรภาพมาเป็นเวลานาน กำหนดกรอบความมั่นคงและความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีอาเซียน (ASEAN) เป็นศูนย์กลาง กลายเป็นโอเอซิสแห่งสันติภาพและการพัฒนาของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของประชากร 2 พันล้านคนในภูมิภาคนี้ แต่ปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังดำเนินการ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” เพื่อสร้างนาโต้เวอร์ชันเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นจีน แบบเดียวกับการขยายตัวไปยังทางตะวันออกของนาโต้ในยุโรป เพื่อกดดันรัสเซียจนนำไปสู่วิกฤต ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคอย่างร้ายแรง

"ประเทศในเอเชียตะวันออกต้องพยายามร่วมกัน เพื่อรักษาโครงสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และไม่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติใดๆ มาสร้างการเผชิญหน้ากัน ก่อความวุ่นวายและความตึงเครียด ไม่อนุญาตให้มหาอำนาจบางกลุ่มบีบบังคับประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กในภูมิภาค เป็นตัวหมากและเหยื่อของเกมในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ และไม่อนุญาตให้ภูมิภาคนี้ตกเป็นพื้นที่แห่งความวุ่นวาย" เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าว


ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้นโยบายต่างประเทศที่สมดุลและไม่เลือกข้าง จีนเข้าใจและเห็นใจแนวความคิดและความลำบากใจเป็นอย่างดี เชื่อว่าอาเซียนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาคที่เติบโตมานานถึง 55 ปี มีวิสัยทัศน์ สติปัญญา และความสามารถเพียงพอที่จะตัดสินใจและวินิจฉัยอย่างชาญฉลาด จีนจะยึดมั่นสนับสนุนความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน สนับสนุนความเป็นศูนย์กลางในโครงสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค และทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อปฏิบัติตามฉันทามติในการประชุมสุดยอดเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์จีน-อาเซียนเมื่อปีที่แล้ว

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนว่า นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งสองประเทศได้สนับสนุนซึ่งกันและกัน สถานการณ์โควิด-19 จีนและไทยได้ร่วมมือกันเพื่อเอาชนะความยากลำบาก เช่น การจัดส่งวัคซีนแก่ไทย 50.85 ล้านโดส ส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับไทยเพิ่มขึ้นในปี 2564 มูลค่าการค้าทั้งสองฝ่ายทะลุถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยส่งออกไปจีนสูงถึง 11,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย 9 ปีติดต่อกัน

ส่วนผู้ประกอบการจีน ด้านยานยนต์ อีคอมเมิร์ซ แผงโซลาร์เซลล์ และอื่นๆ ได้ลงทุนตั้งโรงงานในไทย รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองฝ่าย กลายเป็นสาขาใหม่ของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ จีนยินดีร่วมมือกับไทย เร่งก่อสร้างโครงการนำร่องของการร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) เช่น โครงการรถไฟจีน-ไทย, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม (RCEP) และจีนจะสนับสนุนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปีนี้ ร่วมกันผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ส่งเสริมการฟื้นตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจโลก


ด้านการเสวนา “สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ : ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน” ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศในปี 2523 สิ่งที่จีนต้องการคือภายในมีเสถียรภาพ ภายนอกมีสันติภาพ นโยบายต่างประเทศของจีนจึงเป็นไปตามสำนวน “ซ่อนคมในฝัก” ในนิยายแนวกำลังภายใน หมายถึง อดทนอดกลั้น ไม่ลงมือทำอะไรเมื่อยังไม่ถึงเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไป จีนเติบโตมากขึ้น ความคาดหวังของจีนและนานาชาติต่อจีน ในฐานะที่เป็นประเทศใหญ่ที่ต้องการให้จีนมีความรับผิดชอบมากขึ้น จึงเห็นว่าระยะหลังๆ จีนพยายามแสดงออกว่าเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อโลก

“ตั้งแต่ปี 2561 มีคำหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของจีน ใช้คำนี้คิดว่าจะเหมาะสมที่สุดที่จะสรุปใจความนโยบายเนื้อหาของจีนได้ทั้งหมด นั่นก็คือที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอขึ้นมา สร้างประชาคมร่วมอนาคตของมวลมนุษยชาติ ซึ่งอาจจะแปลว่าประชาคมร่วมอนาคต แต่ในภาษาจีนบางคนแปลความหมายไปตรงๆ ก็คือเป็นประชาคมร่วมชะตาของมวลมนุษยชาติ ก็คือทุกวันนี้อย่างที่เราเข้าใจ โลกมันแคบลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ อะไรก็แล้วแต่ แม้แต่สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มันย่อมกระทบไปทั่วโลก ฉะนั้นจีนก็เข้าใจบทบาทในส่วนนี้และประเทศอื่นก็คาดหวังจีนมีบทบาทส่วนนี้” ผศ.ดร.หลี่กล่าว


รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2565 จีนมีความท้าทายภายใน คือการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ซึ่งคาดกันว่านายสี จิ้นผิง น่าจะยังเป็นเลขาธิการพรรคต่อไปอีกสมัย หากเป็นเช่นนั้นถือว่าเป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเป็นพิเศษ เดิมตามธรรมเนียมอย่างไม่เป็นทางการจะต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี และต่อมายังปรับลงเหลือ 68 ปี แต่การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานย่อมส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว โดยเฉพาะประเด็นศตวรรษแห่งความอัปยศ และสี จิ้นผิง จะได้รับความชอบธรรมและความนิยมในฐานะผู้กอบกู้ชาติ

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในมุมมองของจีน หลังปี 2553 เป็นต้นมา จีนเห็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการปิดล้อมจีน ซึ่งจีนกังวลว่าตนเองยังมีประสบการณ์น้อยกว่าสหรัฐฯ ในการแข่งขันบนเวทีโลก ทั้งนี้ การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังถึงขั้นมั่นคงและเติบโตเต็มที่ ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ในทศวรรษ 1970 ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียงในทวีปเอเชีย เช่น ประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้ จีนมองว่าเป็นเรื่องภายในและอยู่ในสายตาของจีน แต่ประเทศที่อยู่ใกล้จีนมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งจีนยึดมั่นแนวทางนี้มากเพียงใด หลายประเทศในเอเชียก็จะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากขึ้น ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยิ่งสูงขึ้นด้วย

กรณีความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจจะมีช่วงที่ตึงเครียดมากๆ จนกระทั่งทำให้ประเทศในอาเซียนอาจถูกบีบให้ต้องแสดงจุดยืนบางอย่าง เช่น เรื่องทะเลจีนใต้หรือเรื่องไต้หวัน แต่คำถามที่ว่าควรเลือกข้างหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่าจะแสดงจุดยืนบนหลักการที่แน่นอนหรือไม่ เช่น กรณีรัสเซียยกทัพบุกยูเครน หากยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยถือว่ารัสเซียทำไม่ถูกต้อง ดังนั้นในอนาคตหากเกิดข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ประเทศไทยควรจะวางตัวอยู่บนหลักการสำคัญ ซึ่งไทยเป็นประเทศขนาดกลางที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจหรือมีศักยภาพในการกล้าท้าทายเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ จีนหรือรัสเซีย จึงยิ่งจำเป็นต้องเน้นย้ำหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่ว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจ ประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ หลักการสำคัญคือเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและการเจรจาแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ เรื่องนี้ควรเป็นจุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของไทย รวมถึงของอาเซียนด้วย ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนและมีศักยภาพ ควรที่จะเป็นตัวกลางในการสร้างฉันทามติ (Consensus) ในหมู่ประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย อาจจะไม่ต้องเห็นพ้องต้องกันทั้ง 10 ประเทศ แต่ประเทศที่เป็นแกนของอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ถ้าผนึกเป็นเสียงเดียวกันจะมีน้ำหนักพอที่จะทำให้ประเทศมหาอำนาจรับฟัง และควรใช้เวทีอาเซียนที่ครอบคลุมประเทศผู้แสดงอื่นๆ เช่น ARF East Asia Forum สามารถนำปัญหาข้อพิพาทเจรจาบนเวทีที่อาเซียนเป็นเจ้าภาพได้


ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกายังคงมองจีนเป็นคู่แข่งสำคัญมากกว่าแสวงหาความร่วมมือ แต่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามรื้อฟื้นบทบาทของสหรัฐฯ ต่อประชาคมโลกมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ต่างจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนก่อน ที่ลดบทบาทสหรัฐฯ ในประชาคมโลกลง ให้น้ำหนักประเด็นเศรษฐกิจ แต่สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป

โดยนโยบายสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นเนื่องจากเห็นจีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไบเดนมาจากพรรคเดโมแครต ที่มีนโยบายเน้นการเจรจาต่อรอง ก็เป็นไปได้ที่อาจเปิดช่องไว้ในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ตลอดเวลา ซึ่งจีนกับสหรัฐฯ ไม่น่าจะปะทะกันโดยตรง แต่สหรัฐฯ จะใช้วิธีระดมความร่วมมือจากชาติพันธมิตรหากเกิดข้อพิพาทกับจีน เช่น ไฟว์อายส์ (Five Eyes) สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์, เดอะควอด (The Quad) สหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น, ออกัส (AUKUS) สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย และความพยายามสร้างองค์กรที่คล้ายกับนาโต้ในทวีปเอเชีย และยังคงให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต่อไป

ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ อาจใช้กดดันจีน เห็นได้จากมาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ของจีนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ชาวฮ่องกง รวมทั้งสหรัฐฯ ไม่ส่งบุคคลระดับสูงไปร่วมงานกีฬาโอลิมปิกในจีน ประเด็นการค้าที่สหรัฐฯ หยิบยกเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปสนับสนุนบริษัททำธุรกิจแบบทุ่มตลาดเพื่อโจมตีจีน และจะดึงพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งยุโรปและเอเชียแปซิฟิกมาร่วมจัดการกับจีนด้านการค้าด้วย

สำหรับประเด็นเทคโนโลยี สหรัฐฯ กังวลกับการเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดของจีน รัฐบาลไบเดนได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับนวัตกรรมและการแข่งขันที่มุ่งเน้นไปที่จีน ซึ่งมองว่าสหรัฐฯ ต้องกลับเข้ามาเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีอีกครั้ง โดยการทุ่มเงินให้การสนับสนุนบริษัทอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อาจจะมีการทุ่มทั้งการศึกษา ค้นคว้าวิจัยต่างๆ เพื่อให้สหรัฐฯ ต้องกลับมาเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี


กำลังโหลดความคิดเห็น