นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจฟาร์มปลาสวยงาม อธิบายข้อเท็จจริงหลังพบกุ้งเครย์ฟิชก้ามแดงหลุดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ชี้เพราะนักลงทุน เกษตรกรหน้ามืดนำมาเลี้ยงขาย สุดท้ายตายกันหมดจึงไปปล่อยตามแหล่งน้ำ จะมาโทษเป็นเพราะโครงการหลวงก็คงจะไม่ถูกต้อง
จากกรณีพบกุ้งก้ามแดง "เครย์ฟิช" สัตว์น้ำเอเลียนที่น้ำตกศรีดิษฐ์ เขาค้อ ห่วงระบบนิเวศพัง เนื่องจากสัตว์น้ำชนิดนี้จะจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำที่ตัวเองอยู่อาศัยด้วยที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารทั้งหมด และหากแหล่งน้ำไหนมีสัตว์น้ำเอเลียนชนิดนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอาจทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นมีโอกาสสูญพันธุ์ได้ และการพบสัตว์น้ำเอเลียนชนิดนี้อยู่ในแหล่งน้ำท้องถิ่นถือว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงความอันตราย และหากมีการพบกุ้งก้ามแดงหรือเครย์ฟิชหรือสัตว์เอเลียนต่างถิ่นเหล่านี้ ควรทำลายทิ้งหรือสามารถจับมาประกอบเป็นอาหารได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจฟาร์มปลาสวยงาม ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ "กุ้งก้ามแดง" หลังมีบางกลุ่มกล่าวหาว่ากุ้งชนิดนี้ หลุดมาจาก "โครงการหลวง" โดยนายนิธิพัฒน์จึงได้อธิบายให้เข้าใจว่า
"วันก่อนในเพจอนุรักษ์เพจหนึ่ง มีคนนำภาพการพบกุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งต่างถิ่นกลุ่มเครย์ฟิช ที่มีชื่อวิทย์ว่า Cherax quadricarinatus ในพื้นที่แหล่งธรรมชาติ แล้วก็มีบางคนพาดพิงในทำนองว่าเป็นกุ้งที่หลุดมาจากโครงการหลวง
ก็เลยต้องขอเท้าความว่า กุ้งชนิดนี้เคยมีการนำมาทดลองในโครงการหลวงจริง โดยเป็นการเพาะเลี้ยงทดลองขึ้นที่โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยจุดมุ่งหมายในการทดลองหาความเป็นไปได้เพื่อให้ชาวนามีรายได้พิเศษจากการเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตน โดยการทดลองนั้นทำการในช่วงประมาณปี 2545-2549 ก็ทำกันในระบบปิด โดยมีผลผลิตรุ่นแรกนำมาใช้ประกอบอาหารในการถวายเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
แต่เท่าที่ทราบมาการวิจัยก็ไม่ได้ขยายไปสู่เกษตรกรรมเป็นวงกว้าง หรือมีหลุดรอดไปสู่แหล่งธรรมชาติแต่อย่างใด กุ้งเครย์ฟิชก้ามแดงมาเริ่มขยายวงกันจริงๆ ก็ช่วงแถวๆ ปี 2558 หรือหลังจากโครงการหลวงนับเป็นสิบปี ที่มีนักลงทุนนำสายพันธุ์เข้ามาเพาะเลี้ยง แล้วขยายวงกว้างด้วยการใช้แผนการตลาดแบบเล็งผลเลิศเข้าสู่เกษตรกรโดยตรงว่าสามารถขายผลผลิตกุ้งชนิดนี้ได้ในราคาที่สูง มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ รายได้หลักของนักการตลาดก็คือขายลูกกุ้งในราคาที่สูงให้ชาวบ้านและเกษตรกรทั่วไปแห่กันซื้อไปเลี้ยง ทั้งในบ่อปูน หรือกระชังต่างๆ โดยเล็งผลเลิศกันทุกคน ว่าเมื่อลูกกุ้งโต ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นกำไรมหาศาล ตอนนั้นในตลาดปลาสวยงามเดินไปตรงไหนก็มีแต่ กุ้ง กุ้ง กุ้ง เครย์ฟิชเหล่านี้โผล่ผุดกันขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งสายพันธุ์ก้ามแดง และสายพันธุ์สวยงามวงศ์ Procambaras ใครต่อใครต่างก็หน้ามืดตาลาย หวังกำไรจากกุ้งเครย์ฟิชกันทั้งนั้น ตลาดซื้อขายราคาปั่นกันสูงลิบ ตอนนั้นจำได้ว่าไม่ว่าจะเตือนใครให้ปากคอแหกแค่ไหน ก็ไม่มีใครยอมฟัง
ลงท้าย ผลผลิตก็ออกมาล้นตลาด ใครต่อใครที่ซื้อลูกกุ้งหรือพ่อแม่พันธุ์ไป ต่างก็มีผลผลิตอยู่ในมือกันมากมายทั้งนั้น แล้วก็ถึงคราวฉิบหายกันโดยพร้อมหน้า เพราะไม่ใช่แค่ขายไม่ได้ราคา แต่จะหาใครซื้อก็ยังไม่ได้ คนที่เคยสัญญิงสัญญาว่าจะกลับมาซื้อก็หายหัว จะให้ต้มทอดกินกันทั้งตำบลอย่างไรก็ไม่หมด ลงท้ายตลาดก็วาย (วอด) และเกษตรกรแต่ละคนที่มีผลผลิตล้นมือก็ทิ้งทำลายเลิกสนใจกันไปหมด
แน่นนอนว่า เกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็คงจะปล่อยทิ้งๆขว้างๆ อย่างไม่สนใจ ไปตามแหล่งธรรมชาติอย่างแน่นอน
หากจะถามว่า นี่เป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานหรือไม่ ก็ต้องถือว่าหากขยายพันธุ์ไปอย่างกว้างขวางก็อาจรุกรานในระดับหนึ่ง แต่ไม่น่าจะถึงกับทำให้สัตว์สายพันธุ์ประจำถิ่นถูกแย่งแหล่งอาหารจนถึงขั้นสูญพันธุ์แต่อย่างใด
คิดว่าน่าจะสร้างปัญหาใหญ่ได้หรือไม่ ก็คิดว่าโดยทั่วไปแล้วแม้จะสามารถปรับตัวได้ในสภาวะอากาศของประเทศไทย แต่ก็มีความอ่อนไหวต่อสารเคมีในน้ำค่อนข้างสูง และยังมีศัตรูที่พร้อมจะลดจำนวนสัตว์ชนิดนี้ได้ในธรรมชาติ
กุ้งเครย์ฟิชก้ามแดงถูกขยายวงกว้างจากการฉ้อฉลของนักการตลาด และความไม่เท่าทันของประชาชนทั่วไปที่เห็นแต่ตัวเงินก็ดีใจโดดเข้าไปให้เขาหลอก
การพบเจอสัตว์ต่างถิ่นในแหล่งธรรมชาตินั้น เข้าใจได้ว่าอาจเป็นความกังวลของนักอนุรักษ์บางคน แต่ทุกคนก็น่าจะรู้ดีว่าการแพร่ระบาดนั้นเกิดจากความหน้ามืด เล็งผลเลิศของคนไทยในสังคมเดียวกันทั้งนั้น
จู่ๆ ก็สร้างปัญหากันเอง แล้วลงท้ายจะหาเรื่องโทษโครงการหลวง ที่ต่างทั้งบริบท วาระ เวลา และสถานที่ กันอย่างนี้ ผมก็ต้องถือว่า "เลว" นะครับ"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ