ก่อนมีความเห็นควรมีความรู้ "วีระ ธีรภัทรานนท์" นักจัดรายการวิทยุดัง ฟาดผู้ฟังไปจำ ส.ส.แบบผิดๆ ปมเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ ก่อนสั่งสอนความหมายเรื่องภาษี ถามแบบจุกอก ผู้ฟังอ้างเป็นผู้เสียภาษี แต่บอกเองไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียว
วันนี้ (17 มี.ค.) ในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์คลิปจากเพจ "ซึ่งต้องพิสูจน์" ซึ่งตัดบางช่วงบางตอนจากรายการวิทยุ "คุยได้คุยดี" ของนายวีระ ธีรภัทรานนท์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงที่ผู้ฟังทางบ้านรายหนึ่งใช้นามว่า นายทิด (ไม่เปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง) โทร.เข้ามาในรายการ ประเด็นที่ ส.ส.รายหนึ่งกล่าวหาว่าเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ ระบุได้ดังนี้
ทิด : ฮัลโหลครับอาจารย์
วีระ : เชิญๆๆ
ทิด : ขอสอบถามเรื่องเรือดำน้ำหน่อยครับ
วีระ : เรือดำน้ำ
ทิด : ที่ว่าสั่งแล้วไม่มีเครื่องเนี่ย มันยังไงครับ
วีระ : มันจะไม่มีเครื่องได้ยังไงล่ะพี่
ทิด : ก็เรื่องที่มันเอาไปขายให้ทางจีน
วีระ : ที่พูดไม่ใช่ คนละเรื่องกัน เดี๋ยว เอาทีละสเต็ป เรือดำน้ำมันจะแล่นได้ มันไม่มีเครื่องยนต์เนี่ยมันเป็นไปไม่ได้
ทิด : ไม่ เขามาต่อที่เมืองไทย เขามาต่อตัวโครงก่อนแล้วรอเครื่องมา
วีระ : ไม่ใช่ เขาไม่ได้มาต่อที่เมืองไทยนะครับ เรือดำน้ำต่อที่ฉงชิ่งครับ มันไม่มีเครื่องยนต์ได้ยังไงล่ะพี่ ไม่มีเครื่องยนต์มันจะแล่นได้ยังไงล่ะพี่
ทิด : เข้าใจ มันไม่มีเครื่องยนต์ก็แล่นไม่ได้
วีระ : ก็คุณบอกว่าไปซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ คุณเริ่มต้น มันก็เริ่มต้นผิดแล้ว
ทิด : อ่อ ผมถามผิด ตอบผิดครับ
วีระ : คุณต้องเริ่มต้นอย่างนี้ว่า สเปกเราที่ตกลงกับบริษัทของจีนที่สร้างเรือดำน้ำให้กองทัพเรือ สเปกเครื่องยนต์เป็นเครื่องยนต์สเปกนี้ แล้วผู้ผลิตคือเยอรมนี คราวนี้สเต็ปต่อไปมันมีข่าวว่าเยอรมนีเขาไม่ขายเครื่องนี้ให้กับจีน แต่ตอนนี้มันยังไม่ใช่ขั้นตอนของการติดเครื่องยนต์ ถ้าไม่ได้เราก็มาคุยกัน ถ้าเครื่องยนต์ของเยอรมนี จีนซื้อไม่ได้จะเอายังไงกัน มันต้องคุยกันก่อน คุณเข้าใจไหม
ทิด : คือผมสงสัย เราเสียเงินซื้อไปหรือยัง จ่ายเงินไปหรือยัง
วีระ : ก็จ่ายเป็นงวดสิพี่ ใครเขาไปจ่ายเงินให้ทีสองหมื่นล้านเล่าพี่ แหม...พี่ซื้อรถยนต์ มันยังประกอบไม่เสร็จ มันก็ต้องทยอยจ่าย ก็เหมือนสร้างบ้านล่ะคุณ
ทิด : ไม่ เกิดจ่ายไปตั้ง...
วีระ : ไม่ใช่ เอาข้อเท็จจริงสิครับ จ่ายไปเท่าไหร่คุณรู้ไหม?
ทิด : ไม่รู้ครับ
วีระ : ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมไม่เชื่อว่าจ่ายไปทั้งหมดแล้ว มันก็จ่ายตามความคืบหน้าของงานนะคุณ มันก็ต้องอยู่ในสัญญาว่าจ่ายงวดแรกเท่านี้นะ งวดสองเท่านี้ งวดสามเท่านี้นะ มันต้องมีดีลกันแบบนั้น
ทิด : คือเข้าใจครับแต่กลัวว่า...
วีระ : ไม่ ถ้าเข้าใจมันจะไม่มีคำถามเลย
ทิด : ไม่ กลัวมันยืดเวลา...
วีระ : ไม่ต้องไปกลัวๆๆ มันยังไม่เกิด ยังไม่ต้องแก้กางเกง เรือดำน้ำมันจะส่งมอบปีไหน?
ทิด : ไม่แน่ใจครับ
วีระ : ไปถาม ไปดูข้อมูลสิ ว่าเรือดำน้ำลำแรกเนี่ยจะส่งมอบปีไหน เออ
ทิด : ได้ยินข่าวมาอย่างนี้ เลยสอบถามอาจารย์ก่อน
วีระ : นี่แหละๆ ได้ยินข่าวมาแบบไม่คิด ไม่ไตร่ตรอง
ทิด : ก็ไม่รู้ข้อมูลมากก็เลยถามเนี่ย
วีระ : ไม่ใช่ไม่รู้ข้อมูล ถ้าไม่รู้ข้อมูลอย่าพรวดเข้ามาสิครับ ถ้าไม่รู้ข้อมูลอย่าไปตั้งสมมติฐานว่าซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ ปัดโธ่คุณ มันไม่ต้องเอาสมองคิด มันต้องมีสิวะ ไม่มีมันจะดำน้ำได้ยังไงเล่า ขนาดเรือหางยาวยังต้องมีเครื่องน่ะคุณ (ครับ) เออ มันจะเป็นไปได้ยังไง เอ้า ทีนี้สมมติว่ามันเกิดความล่าช้า ล่าช้ามันก็มีสัญญาปรับอะไรกันสิ ถ้าเกิดเขาไม่เขียนไว้ ถ้าเครื่องยนต์ตัวนี้ไม่ได้ มันมีเครื่องยนต์ตัวอื่นไหม อะไรยังไง อันนี้เป็นเรื่องต้องคุยกัน
ทิด : ผมกลัวซื้อไม่เป็นไปตามราคา
วีระ : ยังไม่ต้องไปกลัว คุณไปกลัวทำไม คุณเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเหรอ
ทิด : เปล่าครับ
วีระ : คุณเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือเหรอ
ทิด : ไม่ครับ ไม่ใช่ครับ
วีระ : เออ แล้วคุณกลัวอะไร
ทิด : กลัวแบบว่าเราไปซื้อแล้ว เราได้ของช้า หรือได้ของไม่ตรงสเปก หรือว่าเสียเงินดาวน์ฟรีๆ อย่างนี้
วีระ : คุณเป็นห่วงขนาดนี้เลยเหรอ คุณเป็นห่วงเรื่องนี้ขนาดนี้เลยเหรอ
ทิด : เป็นห่วงเงินครับ เงินที่จ่ายไปก่อน
วีระ : มันเงินใคร
ทิด : ก็เงินรัฐบาล ภาษีทั่วไป
วีระ : มันเงินใคร มันเงินใครล่ะครับ
ทิด : เงินทุกคนนั่นแหละครับอาจารย์
วีระ : ไม่ทุกคนสิครับ มันจะไปทุกคนได้ยังไง คุณไม่เข้าใจ เวลาเก็บเงินจากคุณ เขาเรียก "ภาษี" แต่พอมาตกถึงมือในรัฐบาลแล้ว เขามากองรวมกัน เขาเปลี่ยนชื่อเป็น "รายได้" เวลาเขาจะจ่าย เขาเรียก "งบประมาณ" ทีนี้แต่ละอันมันมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกันนะคุณ คุณยังไปเข้าใจว่าภาษีคืองบประมาณก็ไม่ใช่อีกนะ ผมยังบอกก่อนนะ
ทิด : (เงียบสักพัก) ความคิดผมคือเขาเก็บเงินเราไป แล้วเขาไปใช้งบประมาณแล้วมันใช้ไม่ถูกต้อง
วีระ : เขาไม่ได้เก็บเงินคุณไป เขาไม่ได้เก็บเงินอะไรคุณไปเลย คุณไม่กินเขาก็ไม่เก็บคุณ ภาษีมูลค่าเพิ่มคุณไม่กินเขาก็ไม่เก็บคุณ
ทิด : ผมพูดในส่วนรวมครับอาจารย์
วีระ : ไม่ๆ ผมก็พูดในส่วนรวมทุกคน ถ้าไม่กินนะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าไม่เติมน้ำมันก็ไม่มีภาษีสรรพสามิต ถ้าไม่ทำงานมีรายได้ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แล้วแต่ละคนเสียภาษีมากน้อยไม่เหมือนกัน (ใช่ครับ) เพราะฉะนั้นคนที่ควรจะเป็นห่วงที่สุด มันไม่ใช่คุณแล้ว
ทิด : เอ้า แล้วใครต้องห่วง
วีระ : เอ้า ใครที่เสียภาษีมากก็ห่วงมากสิ
ทิด : ก็ผมก็พูดในนามผู้เสียภาษี
วีระ : ไม่ๆ คุณพูดในนามคนอื่นไม่ได้เลย พูดในนามไม่ได้เลย
ทิด : เอ้า ทำไม
วีระ : เอ้า คุณไปพูดในนามอะไรเล่า คุณเป็นตัวแทนของคนเสียภาษีเหรอ
ทิด : ไม่ พูดเฉพาะตัวผมคนเดียวเนี่ยแหละที่เสียภาษีด้วย
วีระ : เอ้า เอาตัวคุณคนเดียว คุณเสียภาษีปีละเท่าไหร่ เอ้าพูดถึงตัวผม เป็นห่วงมากเลย
ทิด : ไม่มีเหมือนคนอื่นหรอก แต่ว่าภาษีที่ว่าไปซื้อของก็เสียอยู่ครับ
วีระ : เอาอย่างนี้ ตัวคุณคนเดียว ผมถึงบอกไงว่าใครที่ควรห่วง ถ้าถามว่าคนที่เสียภาษี มันเป็นเงินภาษีเรานะ ใครที่ควรห่วงที่สุด คนที่เสียภาษีมากที่สุด ควรเป็นคนที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเอาเงินกูไปใช้เยอะไง คราวนี้ผมเลยถามคุณไงว่า คุณเสียภาษีปีละเท่าไหร่
ทิด : มัน...ไม่ได้เสียเลยครับ
วีระ : เอ้า ไม่ได้เสียเลย ภาษีเงินได้เสียไหม
ทิด : ไม่เสียครับ
วีระ : ไม่เสียเลย เอ้า คุณเสียภาษีอะไรตอนนี้
ทิด : ก็ซื้อของในเซเว่นฯ ซื้อของ ซื้อยาสีฟันที่นี่ครับ
วีระ : ซื้อของในเซเว่นฯ คุณเคยนั่งคำนวณดูไหมว่าเสียภาษีปีละเท่าไหร่
ทิด : ไม่รู้เลย
วีระ : เออ ไปลองคำนวณดู แล้วมาคุยกันใหม่ไป
ทิด : โห ถ้าผมไม่เสียเนี่ยก็คุยเรื่องอย่างนี้ไม่ได้เหรอครับ
วีระ : ก็คุณพูดเรื่องภาษีไง ผมถึงบอกว่า ถ้าคุณคุยเรื่องภาษี ผมต้องถามว่าคุณเสียภาษีเท่าไหร่
ทิด : ไม่ มากน้อยมันเป็นห่วง คือตอนที่ขอน่ะขอจังเลย..
วีระ : คนละเรื่องกัน เสียน้อยก็ห่วงน้อย เสียมากก็ห่วงมาก ถ้าถามผม ผมคิดอย่างนี้ คุณคิดต่างผมไม่ว่านะ เสียน้อยก็จะห่วงน้อย เสียมากควรจะห่วงมาก ถูกไหม เสียน้อยมาห่วงมาก เฮ้ย! มันก็ยิ่งตลก มันก็ขัดกันสิ หรือไม่เสียเลยแล้วมาพูดในฐานะผู้เสียภาษี เอ้า! ฉิบหายยิ่งไปกันใหญ่เลย ไม่ได้เสียอีกต่างหาก ไม่ได้เสียภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียวเลย หรือมีรายได้เท่าไหร่ผมก็ไม่รู้นะ
ทิด : เอาครับ เรื่องนี้รอให้มันเกิดขึ้นอีกที เดี๋ยวโทร.มาถามอีกทีอาจารย์
วีระ : เออ เรื่องนี้รอให้มันเกิดขึ้นก่อน อภิปรายไม่ไว้วางใจก็นั่งฟังไปก็แล้วกัน
ทิด : ขอบคุณมากครับอาจารย์ครับ
นายวีระกล่าวเพิ่มเติมว่า ผมอาจจะพูดตรงเกิน (หัวเราะ) คือคำว่าประชาชนผู้เสียภาษี ในความหมายของคนทั่วไปของโลกนี้เข้าใจ เขาถือว่า "ภาษีทางตรง" คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อันนี้ส่วนใหญ่ในความหมายของคนทั่วไป ถึงจะเรียกว่าเป็นผู้เสียภาษี แต่การเสียภาษีทางอ้อม เช่น เติมน้ำมันเสียภาษีสรรพสามิต ซื้อของเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างนี้้เขาจะไม่ได้เรียกผู้เสียภาษี คือเกณฑ์มาตรฐานจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าจะบอกว่า เสียภาษีเหมือนกัน ผมก็ซื้อของในตลาด เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็เสียภาษี แต่มันเป็นภาษีทางอ้อม แต่ถ้าพูดถึงหลักใหญ่ๆ ก็คือ คนเสียภาษีเงินได้ ถึงจะได้รับการยกเว้น แต่มีการยื่นแบบภาษีก็ยังเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ ต้อง Definition (นิยาม) ให้ตรงกัน
"บางทีพูดรวมๆ เมื่อก่อนผมก็ไม่ว่าอะไรนะ คือถ้าเกิดจะเอาแบบขวางๆ คำว่าผู้เสียภาษีไม่รู้อะ กูซื้ออะไรไปบาทหนึ่ง เสียภาษี เก็บตังค์ กูก็ต้องถือว่ากูเป็นผู้เสียภาษี ก็คิดอย่างนั้นได้ ไม่ได้ว่านะ แล้วบางอาชีพไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นไปเลย ไม่ต้องเสีย ถูกไหม หรือมีออกกฤษฎีกายกเว้นไม่ต้องเสียภาษีไปเลยก็ได้ ถูกไหม (หัวเราะ) คือต้องแยกแยะ ไม่งั้นจะเข้าใจผิด แต่ผมเข้าใจว่าพี่เขาอ่านข่าว มันมี ส.ส.คนหนึ่งมาพูดเรื่องนี้ คราวนี้คนที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจคือกองทัพเรือ" นายวีระกล่าว
นายวีระกล่าวว่า เรื่องนี้มันอยู่ที่ว่าตอนนั้นมันพูดถึงเรื่องอะไร แต่มันก็จะโยงไปที่ความไม่พอใจต่อรัฐบาล เวลาอย่างนี้จะซื้อไปทำอะไร คนจะอดตายไปซื้อทำไม เขาก็มีเหตุที่จะบ่นได้ แต่ถ้าจะบ่นหรือวิจารณ์ให้สมเหตุสมผล ต้องระบุว่าเป็นความผิดพลาด เช่น สมมติว่าซื้อมาแล้วไม่ได้ของ ผิดพลาด มันก็มีประเด็นการเมืองเข้ามาเป็นตัวสอดแทรกด้วย มันก็ต้องมองอย่างนั้น อยู่ดีๆ จะมาบอกว่า ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี มันต้องเกิดความไม่พอใจอะไรสักอย่างหนึ่งก่อน แต่ต้องอ้างก่อนเพื่อความชอบธรรมในการนำเสนอเรื่องนี้ ในฐานะประชาชน ประชาชนก็บอกว่าทุกคนก็เป็นประชาชนทุกคน แม้แต่คนที่ไปด่าก็เป็นประชาชน
อนึ่ง รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับคนที่เปิดประเด็นเรื่องเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ คือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมา พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้่แจงว่า ในการทำข้อตกลงกับบริษัทไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CSOC) กำหนดให้เรือดำน้ำแบบ S26T มีเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมนี 3 เครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชัดเจน แต่ภายหลังเยอรมนีมีนโยบายการระงับการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมนีต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข เนื่องจากกองทัพเรือได้ยืนยันความต้องการตามข้อตกลงไปแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ทางจีนจะต้องทำตามข้อตกลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน