วันนี้ (17 มี.ค.) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ซึ่งมีปัจจัยด้านราคาเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรบางรายกระทำความผิด เร่งตัดทุเรียนจำหน่ายก่อน ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนไม่ถึงเกณฑ์ตามมาตรฐานของ มกษ.3-2556 ที่กำหนดให้ทุเรียนพันธุ์กระดุม ต้องไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการซื้อขายทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ที่โรงคัดบรรจุตลาดค้าส่ง ร้านค้าปลีก ร้านขายของฝาก ตลอดจนสวนของเกษตรกร เพื่อให้การจำหน่ายภายในประเทศ ตลอดจนการส่งออกทุเรียนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยตลอดฤดูกาล
ทั้งนี้ จังหวัดผู้ผลิตทุเรียนหลักในภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.ตราด ได้ออกประกาศ ประกาศจังหวัดเรื่องการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน และกำหนดการเก็บเกี่ยวทุเรียน ตามมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2565 ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร มือตัดทุเรียน และสถานประกอบการ (ล้ง) ที่จะส่งออก หากตรวจพบการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพให้แก่ผู้บริโภคจะมีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจตัวอย่างร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบมีผู้กระทำผิด ตัดทุเรียนอ่อนส่งออกต่างประเทศ จึงได้ทำตำหนิและทำบันทึกตรวจยึดทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ รวบรวมหลักฐานเพื่อนำแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับสถานประกอบการ (ล้ง) ที่รับซื้อและผู้ที่ตัดทุเรียนดังกล่าวในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนเกษตรกรเจ้าของสวนจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต GAP เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้คุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จึงขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรและสถานประกอบการ (ล้ง) ที่รับซื้อให้ปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากพบกว่ามีเกษตรกรเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนกำหนดวันเก็บเกี่ยว และตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ทั้งในสวนเกษตรกรและสถานประกอบการ (ล้ง) จะดำเนินการใช้มาตรการทั้งทางด้านปกครองและกฎหมายเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด ทั้งนี้ ผู้บริโภค ผู้ค้า หรือประชาชนรายใดได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง