พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จไปต่างประเทศ และเป็นกษัตริย์ที่ทรงเดินทางไกลมากที่สุดในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบิน จนได้รับพระราชสมัญญานามหนึ่งว่า “พระมหากษัตริย์ผู้เปิดโลกแห่งการเดินทาง”
พระองค์เริ่มด้วยการเสด็จประพาสสิงคโปร์ พม่า และอินเดีย เมืองในการปกครองของอังกฤษเมื่อพระชนมายุ ๑๗ พรรษา ต่อมาได้เสด็จไปชวาในการปกครองของชวาถึง ๓ ครั้ง เพื่อทอดพระเนตรความเปลี่ยนแปลงของประเทศเอเซียในการปกครองของชาวตะวันตก จากนั้นได้เสด็จไปยุโรป ๒ อีกครั้ง ทั้งยังประพาสต้นปลอมพระองค์เป็นสามัญชน ทอดพระเนตรความเป็นอยู่อันแท้จริงของประชาชนโดยไม่มีการรับเสด็จเอาผักชีโรยหน้า
การเสด็จประพาสทั้งต่างประเทศในประเทศเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งประวัติศาสตร์และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน แต่การเสด็จยุโรป เอเชีย และประพาสต้น ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเมื่อขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นยุวกษัตริย์พระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็คือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มหัวก้าวหน้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และติดตามความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกตลอดมา จึงมีความเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวควรจะใช้โอกาสที่ยังไม่ขึ้นว่าราชการนี้ไปทอดพระเนตรความเปลี่ยนแปลงของประเทศเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์เมื่อได้ทรงว่าราชการเอง เมื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลก็ทรงยินดี
ในปี ๒๔๑๓ เสด็จไปสิงคโปร์และชวา เป็นเวลา ๓๘ วัน
ปี ๒๔๑๔ เสด็จไปอินเดีย โดยแวะสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง มะละแหม่ง ร่างกุ้ง ก่อนจะถึงกัลกัตตา
การเริ่มด้วยเสด็จเยือนสิงคโปร์เป็นแห่งแรก นอกจากเป็นทางผ่านไปประเทศอื่นต่อไปแล้ว ยังมีสิ่งน่าสนใจอยู่ที่เกาะเล็กๆแห่งนี้ สิงคโปร์แต่ก่อนเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด แต่เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองได้สร้างขึ้นเป็นเมืองท่า กลายเป็นศูนย์กลางการค้าของย่านนี้ มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
เมื่อทอดพระเนตรอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ก็ต่อไปเมืองปัตตาเวียในเกาะชวา เพื่อดูการปกครองของฮอลันดา
ปีต่อมาในวันที่ ๑๘ มีนาคม ได้เสด็จไปเยือนอินเดีย ซึ่งได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ แทนที่อินเดียและจีนซึ่งเคยครองความยิ่งใหญ่ในย่านนี้ โดยอาศัยเส้นทางผ่านเยือนเมืองในปกครองในอังกฤษอีกหลายเมืองรวมทั้งพม่า
การเยือนอาณานิคมของชาติตะวันตกในเอเชียนี้ ส่งผลให้เมื่อว่าราชการเองในปี ๒๔๑๖ มีการปฏิรูประบบราชการไทยหลายอย่าง เช่นการเก็บภาษีแบบใหม่ มีการตั้ง “หอรัษฎากรพิพัฒน์” ซึ่งต่อกลายเป็นกระทรวงการคลัง ด้านการเมืองการปกครองมี “เคาน์ซิลออฟสเตด” และ “ปรีวิวเคาน์ซิล” เลิกธรรมเนียมประเพณีที่ดูล้าสมัย อย่างเช่นการหมอบคลานเข้าเฝ้า และยังทรงวางแผนระยะยาวในการเลิกทาส
สิ่งสำคัญอีกหลายหนึ่งที่ทรงได้รับมาจากอินเดียก็คือรถไฟ ซึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญในการคมนาคมในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ประทับรถไฟจากเมืองกัลกัตตาไปเดลีใช้เวลาเดินทางเพียง ๓๖ ชั่วโมง ซึ่งในสมัยก่อนต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หลังจากนั้นก็มีแผนการที่จะมีรถไฟในกรุงสยาม จนตั้งกรมรถไฟหลวงขึ้นในปี ๒๔๓๓ และเปิดสายแรกไปถึงอยุธยาได้ในปี ๒๔๓๙
เมื่อทรงว่าราชการเองจึงว่างเว้นการเสด็จไปต่างประเทศถึง ๒๔ ปี ในปี ๒๔๓๙ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปชวาอีกครั้ง กล่าวกันว่าเป็นการอุ่นเครื่องที่จะเสด็จไปยุโรปในปี ๒๔๔๐ ที่ต้องใช้เวลาถึง ๙ เดือน
การเสด็จเยือนประเทศอาณานิคม เป็นการทอดพระเนตรความศิวิไลซ์ของชาวตะวัน แต่การเสด็จยุโรปถือได้ว่า เป็นการโชว์ความศิวิไลซ์ของสยาม ให้อารยะประเทศได้ประจักษ์ว่า สยามไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนที่นักล่าอาณานิคมจะใช้อ้างเข้ามาช่วยปกครอง
ประเทศแรกที่ทรงมุ่งหวังมากที่สุดก็คือรัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ ๒ มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ยังทรงเป็นมกุฏราชกุมารและเสด็จมาเยือนกรุงสยาม ครั้งนั้นมกุฎราชกุมารรัสเซียได้ทูลเสนอว่า หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะส่งราชโอรสไปศึกษาที่รัสเซียบ้าง พระองค์จะทรงรับอุปถัมภ์เอง ในการเสด็จไปครั้งนี้จึงทรงนำเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถและนายพุ่ม นักเรียนสวนกุหลาบคนหนึ่งไปด้วย
ในการเสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกันในคืนวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๔๐ สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงถือโอกาสปรับทุกข์ถึงการรุกรานของมหาอำนาจตะวันตกกับพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ ๒
ในเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าซาร์ได้จัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซียส่งภาพนี้ไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของยุโรปทุกประเทศ ทั้งยังมีพระราชหัตถเลขาอธิบายภาพว่า
“สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดครองมิได้”
ภาพนี้สั่นสะเทือนยุโรป ทำให้ชาวยุโรปใคร่จะได้เห็นพระองค์จริงของ “คิงส์จุฬาลงกรณ์” การเสด็จเยือนยุโรปครั้งนี้จึงมีคนเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก แม้จะทำให้นักล่าอาณานิคมขยาดด้วยเกรงใจรัสเซียบ้าง แต่ก็ยังไม่ลดความกระหาย แต่เสียงประณามนักล่าอาณานิคมก็ดังขึ้นเรื่อยๆ จนต้องหยุดพฤติกรรมเยี่ยงหมาป่า
การเสด็จเยือนยุโรปครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากการเสด็จเยือนอาณานิคมของชาติตะวันตกในเอเซีย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกด้วย
ส่วนการเสด็จประพาสต้น เป็นการออกเยี่ยมราษฎรโดยไม่มีหมายกำหนดการให้ใครทราบ ทรงเข้าถึงตัวตนและความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร หลายครั้งราษฎรก็ไม่รู้ว่าพระองค์คือใคร คิดกันว่าเป็นผู้ดีชาวบางกอกที่ออกมาเที่ยวชนบท กว่าจะรู้ก็เมื่อได้นั่งชนเข่าหรือเสด็จกลับไปแล้ว ทำให้ทรงทราบปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริงของพสกนิกร
ทรงเสด็จประพาสต้นในรูปแบบนี้ถึง ๔๔ จังหวัด ใน ๑๐ เส้นทาง เกือบทั่วประเทศก็ว่าได้ มีวัดที่เสด็จพระราชดำเนินไปมากถึง ๑๗๑ แห่ง
ทรงเป็นกษัตริย์ที่เดินทางไกลมากที่สุด สมกับพระราชสมัญญานาม “พระมหากษัตริย์ผู้เปิดโลกแห่งการเดินทาง”