xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช.สอบคดีเก่าผู้ว่าฯ รฟม. หลังแอบเหินฟ้าไปตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ภาพจากแฟ้ม)
อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ดอดร้องป.ป.ช.สอบเอาผิดผู้ว่าการรฟม.กรณีแอบเหินฟ้าไปต่างประเทศพร้อมครอบครัวโดยไม่แจ้งขออนุมัติบอร์ด ก่อนเรื่องแดงเพราะสื่อเอาไปตีแผ่ จับตา ครม.เตรียมไฟเขียวต่ออายุให้อีกวาระ

วันนี้ (14 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 234(2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28(2) เพื่อไต่สวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีผู้ว่าการ รฟม.เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัวกับครอบครัว โดยไม่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ

ในรายละเอียดหนังสือร้องเรียนระบุว่าการแต่งตั้งนายภคพงษ์ เป็นผู้ว่าการ รฟม.ในอดีตนั้น ยังคงมีปัญหาข้อกฎหมาย เพราะบอร์ด รฟม.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไป ทั้งที่นายภคพงษ์ ยังถูกร้องให้มีการตรวจสอบ 2 กรณี คือ 1) กรณีให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทฯ ผู้รับเหมาสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายเพื่อเปลี่ยนแปลงงานจนเป็นเหตุทำให้รฟม.ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 290 ล้าน ทั้งที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ทำหนังสือถึง รฟม.ถึง 2 ครั้ง ให้มีการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับ 2)กรณีการแก้ไขสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ในลักษณะเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมาให้เรียกร้องเงินเพิ่มกรณี รฟม.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนดสัญญา ซึ่งขัดกับเอกสารประกวดราคาที่กำหนดให้ผู้รับเหมาขยายเวลาก่อสร้างได้เท่านั้นแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นายภคพงษ์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรฟม.จงใจ หรือเจตนาฝ่าฝืนข้อบังคับขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร ฉบับที่ 8 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ลงวันที่ 18 มี.ค.2536 โดยชัดแจ้ง กรณีเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัวพร้อมครอบครัว อันมิใช่ภารกิจของ รฟม.โดยมิได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการตามข้อ 4 ของข้อบังคับองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ฉบับที่ 8 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ลงวันที่ 18 มี.ค.2536 โดยมีบันทึกตอบโต้ระหว่างผู้ว่าการ รฟม.ที่มีไปยังสื่อมวลชนชี้แจงกรณีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศชัดแจ้ง และชี้ให้เห็นว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัวพร้อมครอบครัว อันมิใช่ภารกิจของ รฟม.โดยมิได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ จึงขอให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ว่าการ รฟม. เป็นการกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่

ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณยังได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ขอให้ไต่สวนผู้ว่าการการ รฟม.และวินิจฉัยกรณีการจัดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และสายสีม่วงใต้ ที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ทั้งๆ ที่ทั้งสองสายนี้มีเส้นทางลอดใต้เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน จึงอาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยมิชอบ มีลักษณะกีดกันผู้ประมูลจากต่างชาติ แม้จะกำหนดว่าเป็นการเปิดประมูลนานาชาติ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์หรือรถไฟฟ้าบนดิน หรือลอยฟ้ากับรัฐบาลไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ผลงานในต่างประเทศห้ามนำมาใช้ ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้เอื้อต่อผู้รับเหมาไทยเพียง 4-5 เท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์ส่อเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อฮั้วประมูล เนื่องจาก รฟม.แบ่งงานประมูลงานโยธาออกเป็น 6 สัญญาไว้ให้แล้ว

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 มี.ค.นี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้ต่อสัญญาจ้างนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ออกไปอีกวาระ หลังจากครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน เม.ย.65 นี้ด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวแหล่งข่าวระบุว่าหากในอนาคตผลสอบออกมาว่าผิดจริง ครม.ที่มีส่วนในการไฟเขียวแต่งตั้งและต่อสัญญา จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยทั้งคณะ

ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญ ที่ต้องย้ำคือ ใครจ่ายเงินให้ผู้ว่าฯรฟม.เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ชัด เพราะหากมีผู้รับเหมาจ่ายให้วงเงินค่าใช้จ่ายจะเกิน 3,000 บาทแน่นอน เป็นการรับสินบนแล้วยังพาใครไปด้วยเพราะการไปเที่ยวตปท. นอกภารกิจของรฟม.โดยไม่ขออนุมัติจากบอร์ดรฟม.
กำลังโหลดความคิดเห็น