สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ มาทรงเยี่ยมชมการดำเนินงานของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ มาทรงเยี่ยมชมการดำเนินงานของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และพนักงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ
โอกาสนี้ ทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงบรรจุหลอด ซึ่งเป็นสายการผลิตน้ำผึ้งแบบหลอด และแยมแบบหลอด 3 รสชาติ ทรงทดลองปาดแยมหลอดดอยคำลงบนขนมปังแผ่นอย่างสนพระทัย ก่อนทอดพระเนตรสายการผลิต ต่อมา เสด็จฯ ยังโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม หลังที่ 8 ซึ่งอยู่ภายในโรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยพืช ทรงวัดค่าสีผิวของผลสตรอว์เบอร์รีลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ของดอยคำ ทอดพระเนตรฟ้าทะลายโจร ที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและต้นเสาวรสที่ทรงเพาะเมล็ดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์โดยบริษัทฯ จากนั้น ทรงเก็บผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ตามพระอัธยาศัย ก่อนเสด็จฯ กลับ
สำหรับ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของราษฎรจากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่และมีรายได้ที่ดีขึ้น ปัจจุบันเป็นโรงงานหลวงฯ แห่งนี้ ได้รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไทยในราคาที่เป็นธรรมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพของดอยคำ
ล่าสุด โรงงานหลวงฯ ที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ ได้พัฒนาและต่อยอดในสายการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งแบบหลอดและแยมทาขนมปังแบบหลอดที่มาพร้อมดีไซน์ฝาบีบแบบใหม่ ที่ปาดง่าย กระจายได้ดี เพื่อให้ผู้บริโภคยุคปัจจุบันสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งสายการผลิตล่าสุดนี้ เป็นการพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
พร้อมกันนี้ เพื่อการเรียนรู้และการวิจัย ดอยคำได้ขยายพื้นที่ในส่วนของ “โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช” โดยมีการนำเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรสมัยใหม่มาค้นคว้า ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช รวมถึงมีโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ที่ออกแบบเป็นอาคารหลังคาโค้งคลุมพลาสติกแบบน็อกดาวน์ มีจำนวนทั้งหมด 14 หลัง โดยแบ่งพื้นที่ให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตรจากดอยคำ เข้าร่วมโครงการทดลองการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม และส่วนหนึ่งดอยคำใช้ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ด้วย