xs
xsm
sm
md
lg

‘ชัยพร อินทุวิศาลกุล’ 41 ปีที่ผันผ่าน-จรรยาบรรณและการยืนหยัดของ ‘ภาพพิมพ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัยพร อินทุวิศาลกุล’ ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้บริหารโรงพิมพ์ภาพพิมพ์
ในแวดวงสิ่งพิมพ์ ย่อมมีโรงพิมพ์หลายแห่งให้เลือกใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่งานพิมพ์ดิจิตอล หรือ Digital Printing มีความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งงานพิมพ์แบบ Print On Demand ที่รับพิมพ์งานในปริมาณจำนวนน้อยเล่ม ก้าวเข้ามามีบทบาท เพิ่มการแข่งขันที่สูงยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับโรงพิมพ์ในแบบดั้งเดิม

การปรับตัวเพื่อรับมือกับโรงพิมพ์ใหม่ๆ ที่นับวันมีปริมาณมากขึ้น จึงย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่โรงพิมพ์ซึ่งก่อตั้งมานานต้อง ‘ก้าวทัน’ และ ‘ก้าวนำ’ ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องเปี่ยมด้วยคุณภาพ ความใส่ใจลูกค้า ความละเอียดลออในงานที่พิมพ์ ความถ่องแท้ในเนื้องาน และเปี่ยมด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ หากแม้เมื่อผิดพลาดก็พร้อมรับผิดชอบอย่างจริงใจ

อาจด้วยคุณสมบัติที่ว่ามา จึงทำให้ ‘ภาพพิมพ์’ โรงพิมพ์ที่ก่อตั้งมานับแต่ปี พ.ศ. 2524 กระทั่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 41 ใน พ.ศ.2565 นี้ ได้รับการกล่าวขานในแวดวงบรรณาธิการ นักเขียน นักออกแบบ และสำนักพิมพ์ต่างๆ จำนวนไม่น้อย ว่าเป็นโรงพิมพ์คุณภาพอันดับต้นๆ แห่งหนึ่งที่มักนึกถึงเมื่อต้องใช้บริการงานพิมพ์เพื่อผลิตหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ


‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ชัยพร อินทุวิศาลกุล’ ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้ก้าวเข้ามาบริหารโรงพิมพ์แห่งนี้ต่อจาก ‘ป๊า’ หรือ คุณพ่อของเขา ที่ได้เน้นย้ำจรรยาบรรณสำคัญเรื่องความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบซึ่งชัยพรได้ยึดถือและดำเนินรอยตามเสมอมา ขณะเดียวกัน เขาก็สามารถบริหารโรงพิมพ์ให้ก้าวผ่านยุคสมัยมาได้อย่างน่าสนใจ

ไม่ว่าในยุคที่นิตยสารทยอยปิดเล่ม สื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยเริ่มหายไปจากแผงหนังสือ โรงพิมพ์ของเขาก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะแม้ไม่ได้พิมพ์นิตยสารในช่วงที่เรียกว่าเป็นยุคทอง แต่ในยุคสมัยหลัง โรงพิมพ์ของเขาก็มีโอกาสได้พิมพ์นิตยสารคุณภาพและเน้นรูปลักษณ์ดีไซน์ที่สวยงาม ได้ผลิต Art Catalogue ให้ศิลปินชื่อดังที่มีผลงานยอมรับในระดับนานาชาติ 

ได้ผลิตงานพิมพ์รูปแบบ Limited edition ที่เน้นความพิเศษสวยงาม ทั้งยังวิเคราะห์ถึงกระแสของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ในยุคที่สื่อดิจิทัลก้าวเข้ามา กระทั่งคนในแวดวงสิ่งพิมพ์ หวั่นเกรงว่าเทคโนโลยียุคใหม่จะทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลง 
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงวิกฤติโควิด-19 ที่ธุรกิจแทบทุกภาคส่วนล้วนประสบชะตากรรมขาดทุน เขาก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าประสบปัญหานี้เช่นกัน


ไม่เพียงเท่านั้น ชัยพรซึ่งเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยังบอกเล่าและถ่ายทอดกระบวนการทำงานของ ‘ภาพพิมพ์’ ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในทุกรายละเอียด
นับแต่จุดเริ่มต้นของการพูดคุยกับลูกค้า ที่ต้องมีการสื่อสารซึ่งเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจน หากลูกค้าต้องดูรูปเล่มจำลองหรือ ‘Mock Up’ ก็ใส่ใจในกระบวนการผลิตไม่แพ้เล่มจริง ทั้งยังมีเรื่องราวตัวอย่างในการทำ Mock Up มาบอกเล่าได้อย่างน่าสนใจ
ชัยพร ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘สมมติ’ ร่วมกับเพื่อนสนิทที่คบกันมานับแต่วัยเด็ก พิมพ์ผลงานของนักคิด-นักเขียนชั้นบรมครู และผลงานนักเขียนหน้าใหม่ที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม

ก่อนการมาถึงของวิกฤติโควิด-19 ชัยพร ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาล Bangkok Book Festival ( BFF ) หรือเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเทศกาลศิลปะ-ดนตรี ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง คืองาน ‘LIT Fest 2019’ ซึ่งเป็นงานหนังสือที่รวมกับเทศกาลดนตรี ได้เสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากคนรุ่นใหม่ นักอ่าน รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบในศิลปะและเสียงเพลง

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่หยิบยกมาบรรยายถึงชายคนนี้ ผู้เชื่อมั่น และศรัทธาในสิ่งที่ทำ และส่งต่อความหวัง ความเชื่อมั่น ความศรัทธานั้นไปยังเพื่อนร่วมวิชาชีพอีกมากมาย


ถ้อยความนับจากนี้ ที่ ‘ชัยพร อินทุวิศาลกุล’ ถ่ายทอดแก่เรา จึงไม่เพียงฉายให้เห็นภาพความผูกพันของเขานับแต่วัยเยาว์ที่มีต่อโรงพิมพ์ กระทั่งก้าวเข้ามารับช่วงบริหารโรงพิมพ์แห่งนี้ต่อจากผู้เป็นบิดา บทบาท วิสัยทัศน์ กระบวนการทำงาน ความรับผิดชอบ การวิเคราะห์ คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของงานพิมพ์ ประเมินสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2565 รวมทั้งทัศนะที่มีต่อแวดวงสิ่งพิมพ์และโรงพิมพ์
…เมื่อมองจากสายตาของชายผู้นี้ จึงควรค่าแก่การรับฟังไม่น้อย



ผูกพันกับโรงพิมพ์นับแต่เยาว์วัย

เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถามว่า นับแต่ชัยพรคลุกคลีอยู่ที่โรงพิมพ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กระทั่งเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นจึงได้ก้าวเข้ามาสานต่อ ทำงานที่โรงพิมพ์กับคุณพ่อ กระทั่งคุณพ่อวางมือ แล้วจึงเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ อยากให้ช่วยสะท้อนภาพได้หรือไม่ว่าแต่ละยุคที่ผ่านมา สไตล์การพิมพ์ของแต่ละยุคสมัยที่ชัยพรได้พบเห็นนั้น เป็นอย่างไร


เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์รุ่นปัจจุบันตอบว่า “ยุคคุณพ่อ น่าจะเป็นการทำงานแบบครอบครัว เพราะโรงพิมพ์มีขนาดไม่ใหญ่มาก สบายๆ หน่อย เข้าถึงพนักงานได้มากกว่า เพราะจำนวนคนไม่เยอะมาก มีลักษณะเป็นครอบครัว มีความยืดหยุ่นมากกว่า ตอนผมเข้ามาทำโรงพิมพ์ช่วงแรกๆ ก็เป็นอย่างนั้นครับ ต่อมา อาจด้วยวัยของผม ด้วยกลุ่มลูกค้าด้วย ทำให้อาจต้องเริ่มเอาจริงเอาจังกับงานมากขึ้น จุดที่เป็นคุณภาพงานพิมพ์ก็เริ่มจริงจังขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนที่คุณพ่อทำไม่มีคุณภาพนะครับ ในยุคนั้นก็มีคุณภาพ เพียงแต่จุดที่มุ่งเน้นอาจต่างกัน 
ช่วงที่ผมเข้ามานั้นเป็นช่วงที่ลูกค้าซีเรียสกับเรา เราก็เลยซีเรียสกับงานมากขึ้น แล้วหลังจากนั้นมา ก็เริ่มอาศัยประสบการณ์ และความรู้จากสตาฟท์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น เริ่มมีการกระจายความรับผิดชอบไปยังทีมงานแผนกต่างๆ มากขึ้น มีการหาความรู้มากขึ้นครับ” ชัยพรบอกเล่าภาพรวมความต่างในการบริหารงานของยุคสมัยที่ต่างกัน


ถามว่า โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ มีพนักงานกี่คน

ชัยพรตอบว่าประมาณ 100 คน และกล่าวถ่อมตัวว่า ในมุมของเขา ถือว่าเป็นเพียงโรงพิมพ์ขนาดกลางค่อนข้างไปทางเล็ก เพราะถ้าเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ต้องมีพนักงานไม่น้อยกว่า 1,000 คน

“โรงพิมพ์ผมเป็นโรงพิมพ์ขนาดกลาง ค่อนไปทางเล็กด้วยซ้ำ” ชัยพรระบุ

อยากรู้ว่าโรงพิมพ์ของเขาได้พิมพ์นิตยสารอะไรบ้างหรือไม่ ในยุคสมัยที่นิตยสารเติบโต ก่อนที่ปัจจุบันจะร่วงโรย

ชัยพรตอบว่า “ผมว่าโรงพิมพ์เราเล็กเกินไปตอนที่นิตยสารยังบูมอยู่ กระทั่งช่วงช่วง 4-5 ที่ผ่านมานี้ เราคิดว่าเราพร้อมที่จะทำนิตยสาร กระแสนิตยสารก็ Fadeไปแล้ว ไม่มีเท่าไหร่ แต่ถ้าจะพูดว่าพิมพ์นิตยสาร เราก็มีนิตยสารเล่มนึงที่เราพิมพ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้วางขาย แต่ก็เป็นนิตยสารที่เราภูมิใจมากที่ได้พิมพ์ เราทำมา 10 กว่าฉบับแล้วครับ ชื่อว่า everything นะครับ เป็นของ DUCTSTORE the design guru เป็นนิตยสารที่ออกราย 2-3 เดือน สมัครสมาชิกได้ และมีการส่งไปให้ Influencer ต่างๆ เป็นนิตยสารที่เน้นเรื่องดีไซน์ แต่ละเล่มก็จะทำยาก เน้นเรื่องดีไซน์ ดังนั้น แต่ละเล่มจะไม่เหมือนกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่ม สรุปก็คือ เราไม่ค่อยได้พิมพ์นิตยสารที่วางแผงเท่าไหร่ครับ แต่เราพิมพ์นิตยสารเล่มนี้” ชัยพรบอกเล่าถึง everything นิตยสารเน้นงานดีไซน์ที่คนในแวดวงนักออกแบบและ Influencer ไม่น้อยให้ความสนใจ


ความเปลี่ยนแปลงของงานพิมพ์

ถามว่าตลอดระยะเวลาที่ทำโรงพิมพ์แห่งนี้มา ช่วยเล่าถึงแนวโน้มหรือทิศทางงานพิมพ์ที่เปลี่ยนไปของโรงพิมพ์ได้หรือไม่ มีงานแบบไหนที่พิมพ์มากเป็นพิเศษ หรือมีสิ่งใดที่เขามองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง

ชัยพรตอบว่า “ช่วงแรกๆ ที่ผมเข้ามารับผิดชอบโรงพิมพ์แห่งนี้ ความพร้อมที่โรงพิมพ์มีและพิมพ์ได้คือพ็อกเก็ตบุ๊กขาว-ดำ งานสี่สีพิมพ์ได้ไม่เยอะมาก เพราะแท่นพิมพ์เรามีขนาดเล็ก ทำได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ช่วงนั้นพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊คเป็นหลัก งานไสกาว

ในช่วงหลังๆ เราพิมพ์งานสี่สีได้ดีขึ้น พิมพ์หนังสือเด็กได้ดีขึ้น แล้วจากนั้น เราก็เริ่มมีเครื่องจักรที่พิมพ์สี่สีได้มากขึ้น พิมพ์ได้เร็วขึ้น งานเข้าเล่มก็ซับซ้อนมากขึ้น จากที่เคยเย็บแบบมุงหลังคา ไสกาว ปกแข็ง ก็เริ่มมีแบบที่เป็นลูกผสม Hybrid มีการใช้เทคนิคหลายๆ แบบมากขึ้น” ชัยพรระบุ


ยังอยู่รอด แม้ในยุคที่นิตยสารทยอยปิดตัว

ถามว่า ในช่วงที่นิตยสารทยอยปิดตัวหลายเล่ม ณ ห้วงเวลานั้น ชัยพรมองแวดวงสิ่งพิมพ์อย่างไร เชื่อไหมว่าหนังสือจะยังอยู่รอด เชื่อไหมว่าคนจะเริ่มหันไปอ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้นกระทั่งอ่านหนังสือเล่มลดลง

ชัยพรตอบว่า ในช่วงที่นิตยสารทยอยปิดตัว โรงพิมพ์ของเขาไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยได้พิมพ์นิตยสาร จึงไม่ได้กังวลมาก แม้ว่าควรจะกังวลก็ตาม

“พ็อกเก็ตบุ๊กที่เราพิมพ์ ก็เป็นสิ่งพิมพ์เหมือนกันใช่ไหมครับ 
แม้นิตยสารจะทยอยปิดตัว แต่เราก็ยังมีลูกค้าที่พิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กกับเรา แล้วเราก็ยังโอเคอยู่ ดังนั้น การที่นิตยสารหลายเล่มปิดตัวลง ผมไม่ได้กังวลครับ เพราะเราไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็รับรู้ นอกจากนั้น เราก็ได้ยินมาเป็นสิบปีแล้วว่าคนจะไม่อ่านหนังสือแล้ว แต่ในความเป็นจริง คนก็ยังคงอ่านหนังสืออยู่เรื่อยๆ”
ชัยพรสะท้อนความเห็น


พิมพ์ Art Catalogue : การบรรจบระหว่างสิ่งพิมพ์และงานศิลปะ

ทั้งนี้ เท่าที่เคยได้ยินมา ทราบว่าชัยพร สนใจอยากพิมพ์ ‘อาร์ต แคตตาล็อก ( Art Catalogue )’ แล้วที่ผ่านมามีโอกาสได้พิมพ์ไหม มองว่าวงการสิ่งพิมพ์กับศิลปะเชื่อมโยงกันอย่างไร

ชัยพรตอบว่า “ถามว่าได้ทำไหม ก็ได้พิมพ์งานที่เกี่ยวกับศิลปะมาจำนวนหนึ่ง เท่าที่เราพอใจ ก็มีสิ่งที่เปลี่ยนไปเหมือนกันครับ เพราะเมื่อก่อน หนังสือที่พิมพ์เกี่ยวกับงานศิลปะ มักจะเข้าเล่มด้วยกระดาษอาร์ต แล้วไม่ได้แพงมาก เน้นแจกฟรี แต่ช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีแนวโน้ม ทำ Art Catalogue ให้เป็นผลงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ลงทุนสูงกว่า ดูมีคุณค่ามากกว่า และอาจจะไม่ได้แจกฟรีในงานแล้ว หรืออาจจะพิมพ์น้อยมากๆ หรือแจกเฉพาะคนที่ซื้องานหรือชอบงานจริงๆ แนวโน้มก็ไปในทางนั้นครับ” ชัยพรระบุ


ถามว่า ช่วยยกตัวอย่างศิลปินที่โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ภูมิใจที่ได้ทำ Art Catalogue ได้ไหม

ชัยพรตอบว่า ช่วงหลังๆ มีศิลปินที่โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ทำให้แทบจะทุกปี คือ ‘ตะวัน วัตุยา’ เขาบอกเล่าอย่างอารมณ์ดีพร้อมเสียงหัวเราะ ชัดเจนในความสนุกที่ได้พิมพ์งานนี้

“เขาเน้นงานสีน้ำเป็นหลัก เราทำให้พี่เขาสามเล่มแล้ว เป็นเล่มใหญ่ๆ ทุกเล่ม ก็โอเค แฮปปี้ ในความแปลก ในความพิศดาร ( หัวเราะ ) และในความสนุกในงานครับ” ชัยพรสะท้อนถึงความสนุกที่ได้พิมพ์ Art Catalogue ของศิลปินรายนี้


ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์กับเพื่อนสนิท

ใช่เพียงสนใจพิมพ์งาน Art Catalogue เท่านั้น แต่ชัยพรยังร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘สมมติ’ ซึ่งได้รับการกล่าวขานในแวดวงนักอ่านว่าพิมพ์งานของนักคิดนักเขียนชั้นนำระดับโลก รวมทั้ง ตีพิมพ์งานของนักเขียนหน้าใหม่ที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม
ถามว่า ชัยพรรู้สึกอย่างไร ที่มีโอกาสร่วมขับเคลื่อนแวดวงวรรณกรรมด้วยการเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ มากกว่าแค่ในฐานะเจ้าของโรงพิมพ์

ชัยพรตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมก็รู้สึกแฮปปี้ที่สำนักพิมพ์ยังอยู่ได้ แต่มันไม่ได้ง่ายนะครับ ก็ต้องทำงานหลายอย่างเพื่อหล่อเลี้ยงสำนักพิมพ์ เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในแวดวงวรรณกรรม แต่ก็ต้องทำงานหนัก ในการนำพาหนังสือเหล่านี้เข้าไปในความสนใจของผู้อ่าน ดังนั้น ก็ดีใจที่ยังอยู่ได้ครับ” ชัยพรระบุ และเล่าถึงที่มาของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งสำนักพิมพ์ว่า สำนักพิมพ์สมมติ ร่วมก่อตั้งกันทั้งสิ้น 3 คน
โดยมี ‘โย-กิตติพล สรัคคานนท์’ แต่หลักๆ คือชัยพร กับ ‘ต้อง-ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล’

ชัยพรกล่าวว่า “สำหรับ ‘ต้อง’ น่ะครับ เราเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว เป็นเพื่อนบ้านกันมาตั้งแต่ ป. 4 รู้จักกันตั้งแต่ก่อนผมเรียนสวนกุหลาบ เราก็คบกันมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงวัยทำงาน เราก็มานั่งคุยกันว่าอยากทำสำนักพิมพ์ แล้วก็ตกลงกันว่าจะทำ ก็ง่ายๆ แค่นั้นเลยครับ ไม่มีอะไรซับซ้อน เราเห็นตรงกัน แล้วในเบื้องต้น ไม่ใช่ว่าได้กำไรสูง เพราะการมีกำไรสูงสุดไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา แต่เป้าหมายหลักของเราคือการได้พิมพ์งานที่ดีมากกว่า หนังสือที่เราจะทำ เราก็มีเป้าหมายเบื้องต้นร่วมกัน แล้วก็ร่วมกันทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง แต่ตอนนี้ พูดตรงๆ ว่าผมกับต้อง ก็เริ่ม Fade ออกมาแล้ว ให้น้องๆ รุ่นใหม่ๆ ที่เขาเข้ามาได้ลองทำ” ชัยพรระบุ


เผชิญบททดสอบจากวิกฤติโควิด-19

ถามว่า ในวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 4-5 ระลอกที่ผ่านมา โรงพิมพ์ของคุณได้รับผลกระทบหรือไม่ ผ่านมาได้อย่างไร และมองแวดวงสิ่งพิมพ์และโรงพิมพ์ในวิกฤติโควิด-19 อย่างไร


ชัยพรตอบว่า “ประเด็นแรกเลย ได้รับผลกระทบแน่นอนอยู่แล้วครับ ยอดขายตก 10-20% เลยครับ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 และผมเข้าใจว่าคนอาจจะอ่านหนังสือออนไลน์มากขึ้นนิดนึง ในมุมผมนะ เพราะดูยอดขายหนังสือออนไลน์เพื่มขึ้นมานิดนึง ในส่วนของโรงพิมพ์ ยังมีลูกค้าสั่งพิมพ์อยู่บ้าง แต่ยอดขายออนไลน์เยอะขึ้น ส่วนหนึ่งโรงพิมพ์เราก็ช่วยลูกค้าแพ็คหีบห่อส่งไปรษณีย์ หรือส่งบริษัทจัดส่งด้วยครับ เราก็เห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง และเห็นว่าสำนักพิมพ์ต้องทำการตลาดหรือขายเองมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเห็นนะครับ


ส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้มองโควิด-19 เป็นระลอกครับ ( หัวเราะ ) ผมมองว่ามันยาวต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว ถามว่าจะรอดหรือเปล่า ก็หวังว่าจะรอดนะครับ ก็พยายามปรับตัวครับ” ชัยพรตอบอย่างอารมณ์ดีแม้เผชิญกับภาวะวิกฤติที่ยอดขายโรงพิมพ์ตกลง 10-20%

ถามว่า ในฐานะที่จบคณะเศรษฐศาสตร์ มา การที่ยอดขายโรงพิมพ์ตกลง 10-20% ถือว่าเยอะไหม

ชัยพรตอบว่า “ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นะครับ แต่ตัวเลขนี้ก็ถือว่าเยอะครับ ที่บอกว่าเยอะก็เพราะว่าธุรกิจโรงพิมพ์เป็นธุรกิจที่เก่าแล้ว Margin ต่างๆ มันไม่ได้สูงมาก ดังนั้น เมื่อยอดขายลดลงแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจพอสมควรครับ ต้องปรับตัวให้ทัน มองแค่ปีเดียวไม่ได้ ต้องมองให้ไกลกว่านั้นว่าจะรับมืออย่างไร” ชัยพรระบุ


ประเมินสถานการณ์ของโรงพิมพ์ ในปี 2565

ถามว่าในปี 2565 ประเมินสถานการณ์ของโรงพิมพ์ไว้เช่นไร และจะปรับตัวอย่างไรบ้าง

ชัยพรตอบว่า คนในวงการสิ่งพิมพ์และคนในโรงพิมพ์เองก็คงคาดหวังว่าปี 2565 น่าจะดีขึ้น ส่วนตัวแล้วคิดว่าในตลาดสิ่งพิมพ์นั้น เมื่อพูดถึงคำว่า ‘โรงพิมพ์’ คนมักจะคิดกันว่า พิมพ์เฉพาะพ็อกเก็ตบุ๊ก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการพิมพ์ ไม่ใช่ตลาดใหญ่สุดด้วยซ้ำ

“ผมมองว่าตลาดสิ่งพิมพ์ยังอยู่ได้ ยังมีสำนักพิมพ์ที่ปรับตัวได้ ยังอยู่ได้ ก็มีพอสมควร แม้จะเป็นเค้กชิ้นเดิมที่มีการลงมาแย่งกันมากขึ้น แม้นิตยสารจะหายไป นั่นก็ผ่านมานานแล้ว ผมมองว่า ในช่วงหลังๆ สิ่งพิมพ์ที่อาจจะหายไปพอสมควรคือพวกใบปลิวหรือแผ่นโบรชัวร์ (Brochure) โฆษณาสินค้า ก็จะหายไปพอสมควร สัดส่วนงานพิมพ์จะเปลี่ยน เช่น อาจมีงานเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น เพราะทุกวันนี้พวกปรินท์ดิจิทัล ก็โตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น โรงพิมพ์ที่เป็นออฟเซ็ท (Offset Printing) น่าจะเหนื่อยขึ้นครับ ถ้าไม่ปรับตัว” ชัยพรวิเคราะห์อย่างน่าสนใจ


วาง Position ให้ชัด ใส่ใจรายละเอียด

ถามว่า แนวทางการปรับตัวของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ จะเป็นไปในแนวทางไหน

ชัยพรครุ่นคิดครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า “อืม…ตอบแบบอายๆ นิดนึงนะครับ เพราะผมไม่ได้วางแผนขนาดนั้น แต่สิ่งที่ต้องทำแน่นอนก็คือต้องขยันขึ้น ผิดพลาดให้น้อยลง ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยนะครับ แล้วก็ต้องพยายามรักษาจุดแข็งของตัวเองเอาไว้ให้ได้

ในเรื่องความไว้ใจของลูกค้า ต้องพยายามรักษาไว้ให้ดีและสร้างความไว้ใจจากลูกค้าให้มากขึ้น วาง Position ตัวเองที่อาจจะมี ‘ความเฉพาะเจาะจง’ บางอย่างขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง ทำให้งานบางงาน เรามีโอกาสที่จะได้มากกว่า
เพราะการทำธุรกิจโรงพิมพ์ก็เหมือนตลาดนัด มีโรงพิมพ์หลายโรงพิมพ์ ของขายมีหลายร้าน บางทีก็คล้ายๆ กัน ดังนั้น เราก็ต้องทำให้คนสัมผัสได้จริงๆ ว่าเราทำในสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ เรามีคุณค่าพอที่เขาจะเลือก” 
ชัยพรสะท้อนถึงจุดยืนในการทำงานท่ามกลางสิ่งที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติม

“ผมยืนยันว่า ผมไม่ได้เป็นแค่โรงพิมพ์เดียวที่มีคุณภาพในประเทศนี้นะครับ ยังมีอีกหลายโรงพิมพ์ที่มีคุณภาพ พูดยากว่ามีกี่โรงพิมพ์แล้วเราอยู่อันดับที่เท่าไหร่ แต่ว่าไม่ต่ำกว่า average แน่นอนครับ

แต่ผมมองว่าจริงๆ แล้ว ในช่วงหลังๆ มานี้ นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว สิ่งสำคัญมากๆ ของการเป็นโรงพิมพ์ 
ไม่ว่าจะพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊ก พิมพ์ Art Catalogue หรือสิ่งพิมพ์อะไรก็แล้วแต่นะครับ หนังสืออะไรก็แล้วแต่ที่เน้นรูปแบบ เทคนิคการพิมพ์ เทคนิคการเข้าเล่ม หรือพูดง่ายๆ ก็คือการพิมพ์หนังสือนั้น การที่จะเป็นโรงพิมพ์ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีนั้น สิ่งที่ต้องมีไม่แพ้คุณภาพ คือเรื่องของการสื่อสาร Communication การสร้างความเข้าใจ อันนี้ น่าจะสำคัญพอๆ กันเลย เพราะการสื่อสารที่ดีมันทำให้เราประหยัดเวลาในการทำงานได้มากกว่า ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า ทั้งในเชิงรูปลักษณ์ หรือในเชิงต้นทุน เวลา และอีกหลายๆ ปัจจัย

ดังนั้นการสื่อสารและไหวพริบของคนทำงานจึงสำคัญมากที่จะรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนควรจะได้รับงานแบบไหน ซึ่งเราก็ตั้งใจทำงานให้ลูกค้าทุกคนนั่นแหละ แต่ลูกค้าแต่ละคนมีจุดต่างที่ไม่เหมือนกัน มีข้อจำกัด ไม่เหมือนกัน

ผมจึงคิดว่าเราควรเริ่มจากการสื่อสาร หรือความเข้าใจกัน เราต้องรู้ว่า เรา Deal กับใคร จำเป็นที่ต้องรู้ว่าเราคุยอยู่กับใคร เขาต้องการอะไร การปรับสีหน้า ท่าทาง หรือการฟังน้ำเสียง ทุกอย่างนี้ล้วนสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้น หรือ จุดสตาร์ทที่ดี กระบวนการในการทำงานพิมพ์มันหลายขั้นตอนมาก ถ้าสตาร์ทดีแล้ว อีกหลายขั้นตอนที่เหลือก็จะ Smooth กว่า แต่ถ้าเกิดความไม่เข้าใจกัน งานจะเกิดการสะดุดง่าย ดังนั้น บางครั้งผมก็จำเป็นต้องเถียงลูกค้าก่อนเลยว่าแบบนี้ได้ แบบนี้ไม่ได้ ผมอาจเป็นนักขายที่แย่นะครับ เพราะผมจะบอกความจริงลูกค้าเลยว่า ‘แบบนี้ทำไม่ได้แน่ๆ ยังจะทำอยู่ไหม’ เพื่อป้องกันไม่ให้เราเองไปอยู่ในจุดที่ต้องเข้ามุมอับ แบบนั้นจะลำบากกว่า จึงมีบางงานที่เราปฏิเสธไปด้วยความไม่พร้อม ทั้งเรื่องเวลาหรือปัจจัยต่างๆ” ชัยพรบอกเล่าอย่างเห็นภาพ

ถามว่า เท่าที่ฟัง สะท้อนว่าตัวเขาใส่ใจกับรายละเอียดอย่างมาก

ชัยพรยอมรับว่า “ใช่ครับ มันเป็นคาแร็คเตอร์ด้วยครับ อาจไม่ใช่ข้อดีก็ได้นะครับ อาจทำให้ผมขาดการมองภาพกว้างก็ได้ เพราะเป็นดีเทล เป็นรายละเอียดในการทำงาน แต่ผมจะให้รายละเอียดในการทำงาน แล้วก็เชื่อนะครับว่าการให้ความสำคัญกับรายละเอียดหลายๆ อย่าง ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีในตอนจบ” ชัยพรสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อการใส่ใจรายละเอียดของงาน

ถามต่อเนื่องว่า ใส่ใจรายละเอียดถึงเพียงนี้ เชื่อว่าใครมาพิมพ์กับภาพพิมพ์ย่อมไม่ผิดหวังแน่นอน

ชัยพรให้คำตอบที่ไม่คาดคิดอย่างตรงไปตรงมาว่า “โอ๊ย! ผิดหวังเยอะแยะครับ อันนี้พูดตรงๆ เลยครับ เพราะเราก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนได้อย่างที่ต้องการ คือ มันมีหลายครั้งที่ลูกค้าผิดหวังเพราะภาพพิมพ์ทำพลาด เราก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็เราพยายามจะลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด รับผิดชอบให้ได้มากที่สุด เพราะว่า งานๆ หนึ่ง มีกระบวนการเยอะ ค่าใช้จ่ายเยอะด้วย เราก็อยากให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเมื่อมาใช้บริการโรงพิมพ์เรา ไม่ใช่แค่พนักงานเรานะครับ แต่เรารวมถึงผู้ที่เราต้องทำงานด้วย ไม่ว่านักออกแบบ ดีไซเนอร์ กราฟิกดีไซน์ และ Owner ให้เขาได้ประสบการณ์ดีๆ ที่ทำสิ่งพิมพ์กับเรา นี่เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญนะครับ ตั้งแต่ก่อนพิมพ์งานกับเรา กระทั่งพิมพ์งานกับเราแล้วเสร็จ ก็อยากให้ลูกค้าประทับใจ” ชัยพรระบุเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในกระบวนการที่ใส่ใจทุกขั้นตอน นับแต่แรกเริ่ม


เมื่อแวดวงสิ่งพิมพ์ผลิต Limited edition ฝ่าข้ามการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย

บทสนทนาต่อเนื่องไปยังประเด็นที่ว่า เคยมีการวิเคราะห์ในแวดวงคนทำหนังสือและสิ่งพิมพ์ว่า การเข้ามาของสื่อดิจิทัล อาจจะทำให้วงการสิ่งพิมพ์เปลี่ยนแปลงไป
หนังสือจะกลายเป็นงาน Craft มากขึ้น เน้นการพิมพ์ในรูปแบบ Limited edition มากขึ้น 
เช่น อาจมีการทำปกปักดิ้นทอง ปั๊มนูนปักดิ้นทอง เป็นต้น เช่นนั้นแล้ว ในฐานะเจ้าของโรงพิมพ์ ชัยพรมองอย่างไรกับการวิเคราะห์ดังที่กล่าวมา และที่ผ่านมา โรงพิมพ์ภาพพิมพ์มีโอกาสได้รับงาน Limited edition มากขึ้นหรือไม่

ชัยพรตอบว่า “แน่นอนครับ เราได้พิมพ์บ้างอยู่แล้วครับ ในแง่หนึ่ง ในแง่วิชาชีพ หนังสือกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นหนังสือที่สวย น่าทำอยู่แล้วครับ ผมพูดอย่างนี้ก็แล้วกัน เวลาที่เราได้จับของสวยๆงามๆ ก็ย่อมรู้สึกดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนรับงานหรือคนที่ทำงาน แต่ถ้าถามว่ามีงานแบบนี้มากขึ้นไหม ผมไม่แน่ใจครับ เพราะในมุมหนึ่งก็มีทั้งคนที่ต้องการงานแบบนั้นจริงๆ แต่อีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ในความเห็นผมนะครับ

แต่ถ้าเราพูดถึงเฉพาะ ‘หนังสือ’ ถ้าเราย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่ม หนังสือเกิดขึ้นมาเพื่อ Mass Communication นะครับ ก่อนหน้าที่จะมีแท่นพิมพ์ของ Gutenberg ในยุคนั้น หนังสือถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะ เป็นของหรูหราราคาแพง แต่เมื่อมีแท่นพิมพ์ Gutenberg กระทั่งมีแท่นพิมพ์ออฟเซ็ท (Offset Printing) หนังสือก็กลายเป็นของที่มีราคาถูกลงมาเรื่อยๆ ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น เมื่อพูดถึงหนังสือที่เป็น Limited edition เท่าที่ผมเห็น ส่วนใหญ่ กรณีที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นหนังสือที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่พิมพ์ทั้งปกอ่อน และปกแข็ง โดยปกแข็ง พิมพ์จำนวนจำกัด แต่ปกอ่อนพิมพ์เป็นจำนวนที่มาก ซื้อหาได้ง่าย ผมมองว่ามันเป็นอย่างนี้นะครับ เพราะหมายความว่า ต้องมี Demand อยู่แล้ว

แต่ใครที่พิมพ์หนังสือ Limited edition มาเพื่อบอกว่าขายให้คน 500 คน แม้จะสามารถทำได้ แต่นั่นหมายความว่าต้องตั้งราคาหนังสือสูงมาก แพงกว่าหนังสือทั่วไปในท้องตลาดเยอะ ดังนั้น ก็ใช้วิธีพิมพ์หนังสือเป็น 2 เวอร์ชั่นแล้วกัน คนที่พร้อมจะจ่ายแพงหน่อยเพื่อคุณภาพที่ดีกว่าเช่น ปกแข็ง ก็มีอะไรที่พิเศษหน่อยบนปก ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ก็ทำไป แต่ต้องเป็นจำนวนที่น้อย และในขณะเดียวกัน ในส่วนของเนื้อหาก็ต้องน่าสนใจพอที่จะขายปกอ่อนได้ในจำนวนมากด้วย ผมมองแบบนั้นนะครับ เพราะถ้า มีเฉพาะ Limited edition โดยไม่มีการพิมพ์ปกอ่อนเลย มันทำกำไรได้ยากครับ กำไรจากจำนวนพิมพ์แค่ 500 เล่ม มันน้อยมากนะครับ” ชัยพรวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ


นิยามการทำงานของ ‘ภาพพิมพ์’

เมื่อเอ่ยว่าทราบหรือไม่ ในแวดวงสิ่งพิมพ์ บรรณาธิการหลายคน ให้การยอมรับว่า ‘ภาพพิมพ์’ เป็นโรงพิมพ์ที่มีคุณภาพอันดับต้นๆ รู้สึกอย่างไร กับคำชื่นชมนี้

ชัยพรตอบอย่างยินดีว่า “ก็ต้องขอบคุณและดีใจครับ”

ถามว่า หากให้นิยามมาตรฐานงานพิมพ์ของ ‘ภาพพิมพ์’ ชัยพรจะให้นิยามว่าอย่างไร

เขาหัวเราะอารมณ์ดีก่อนตอบว่า “นิยามว่าอะไรดีล่ะครับ หลักๆ แล้ว ก็จะมีอย่างที่บอกไปว่าให้รายละเอียดกับการทำงาน และมี Process เรื่องการทดลองพิมพ์ ทดลองเข้าเล่มด้วยกระดาษต่างชนิดกัน ทดลองปั๊มนูน ซึ่ง Process เหล่านี้คือไม่ใช่แค่พูด แต่เราลงมือทำให้ลูกค้าเห็นจริง

ดังนั้น ก่อนหน้าที่เราจะเริ่มผลิตจริง จึงมี Process ต่างๆ มากพอสมควร มากกว่าช่วงที่ผมเข้ามาทำงานในช่วงแรกๆ เพราะว่าปัจจุบันมีเครื่องปรินท์ดิจิทัล มาช่วยงานเราได้มากขึ้น เรามีกำลังคนเพียงพอ มีทุนทรัพย์พอที่จะมาลงทุนกับเรื่องเหล่านี้ เพราะเราคิดว่ามันสำคัญ ดังนั้น เวลาที่เราบอกว่าเราให้ความสำคัญ มันจึงไม่ใช่แค่คำพูด ไม่ใช่แค่การพูดคุย แต่เราต้องทดลองทำให้ลูกค้าเห็น ทดลองทำออกมาให้เป็นภาพที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด มีรายละเอียดเยอะ

เช่น บางครั้งเราคุยกันถึงขั้นว่า อยากให้เห็น ‘ขอบ’ หนังสือแบบไหน อย่างเช่น หนังสือของคุณตะวัน วัตุยา เล่มนึงที่ชื่อว่า Money ขอบหนังสือจะไม่เรียบ เราก็ต้องทดลองทำขอบแบบไม่เรียบออกมาหลายๆ แบบ กว่าจะเลือกได้ว่าต้องไม่เรียบแบบไหน แล้วทำออกมาเป็นรูปเล่มต่อไป

สิ่งเหล่านี้ สำหรับผมคือการทำขึ้นมาเพื่อให้เห็นตรงกันว่าใช่หรือไม่ใช่ 
มีสิ่งที่เราคุยกันอยู่บ่อยครั้งในทีมงาน คือคำว่า ‘ลองหรือยัง’ ‘ลองทำดูหรือยัง’

เวลาเราคุยกับลูกค้าเรามักจะตอบว่า ‘เราขอลองดูก่อน’ เป็นคำตอบพื้นฐานของเราเลยก็ว่าได้ แล้วเราก็ไปลองทำดู ว่ามันได้แบบนี้อย่างที่ลูกค้าต้องการ หรือมันไม่ได้เลย ก็ว่ากันไป ซึ่ง Process แบบนี้มีเยอะมากครับ เหมือนเป็นวิถีชีวิตของเราไปแล้ว ยิ่งได้ลองก็ยิ่งได้เห็นเยอะ บางทีก็เอามาปรับใช้ได้ เช่น การทดลองนี้อาจใช้ไม่ได้กับโปรเจ็กต์นั้น แต่มันก็อาจเอาไปใช้กับโปรเจ็กต์อื่นได้ ซึ่งเราก็เจอแบบนี้อยู่หลายครั้ง” ชัยพรบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพกระบวนการทำงานอย่างละเอียด โดยเฉพาะในขั้นตอนที่ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือการทำ ‘Mock Up’ หรือเล่มตัวอย่าง

ถามว่าต้องเป็นกรณีไหนบ้าง จึงให้ลูกค้าดู ‘Mock Up’

ชัยพรตอบว่า “ต้องแบบพิเศษหน่อยนะครับ แบบไม่ธรรมดา แต่ถ้าเป็นงานธรรมดา เช่นปกอ่อน เข้าเล่ม ไสกาวทั่วไป อาจจะไม่ต้องดู แต่ถ้าอยากดูก็ดูได้นะครับ แต่อาจจะมี Cost เพราะก็เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั่วไป
แต่ก็มีบางเคสที่ขอดู Mock Up เพื่อจะนำไปทำมาร์เก็ตติ้งก่อน นอกจากนั้น การทำ Mock Up แบบเสมือนจริงขึ้นมา ยังตอบหลายๆ โจทย์

อย่างพวกเราที่อยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์น่าจะเคยเจอนะครับ เช่นในกระบวนการพิสูจน์อักษร เวลาที่ยังไม่ Layout ก็ไม่เจอคำผิดหรอก แต่เวลา Layout แล้ว ก็เจอคำผิดมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น การทำ Mock Up แบบเสมือนจริง มันอาจจะช่วยให้เราเจอจุดผิดพลาดบางอย่างที่บางครั้งแม้อาจจะเล็กน้อย แต่ก็สำคัญ แล้วเราสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ไม่ต้องไปแก้เยอะ มีหลายคนที่มี Sense แบบนี้ คือ เห็นจุดผิดพลาดเวลาดู Mock Up

การ Mock Up ก่อนผลิตจริง จึงช่วยได้หลายอย่าง ช่วยเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ช่วยเรื่องการสื่อสารระหว่าง Buyer กับ Printer ช่วยสกัดความผิดพลาดก่อนที่มันจะเกิดขึ้น แต่ก็มีต้นทุนนะครับ ทว่า โดยรวมแล้วก็คุ้มค่า ขึ้นอยู่กับว่าจะหาวิธี Manage และ Balance มันยังไงเท่านั้นเองครับ” ชัยพรสะท้อนความเห็นและวิเคราะห์ประโยชน์ของการทำเล่มจำลองหรือ Mock Up ได้อย่างน่าสนใจ


จรรยาบรรณของ ‘ภาพพิมพ์’

พูดคุยกันมาพอสมควร อดถามไม่ได้ว่า การทำโรงพิมพ์ต้องมีจรรยาบรรณหรือไม่ และจรรยาบรรณของ ‘ภาพพิมพ์’ คืออะไร

ชัยพรอุทานก่อนตอบอย่างหนักแน่นว่า “โอ้! แน่นอนสิครับ! ต้องมีครับ มีอีกเยอะเลยครับที่เรายังไม่ได้พูดถึงและผมคิดว่าสำคัญ ประการแรกเลยคือความซื่อสัตย์ เรื่องนี้เรายึดถือกันมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้วครับ เราไม่พูดถึงไม่ได้ ต้องซื่อสัตย์ทุกอย่างกับลูกค้าเรา สเปกเป็นยังไง ก็ทำไปตามนั้น หากมีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องสารภาพกับลูกค้า และรับผิดชอบต่อลูกค้า
สิ่งสำคัญคือ ซื่อสัตย์และรับผิดชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วก็สำคัญมากสำหรับทุกๆ ธุรกิจนะครับ แต่สำหรับโรงพิมพ์แล้ว ก็อาจเปรียบเหมือนบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ผลิตบ้านหลายๆ หลัง เพราะฉะนั้น การเสียหายหนักๆ ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงมาก ซึ่งเราก็เคยเจอหลายครั้ง

สำหรับผมแล้ว การซื่อสัตย์ ก้มหน้ายอมรับความผิด และรับผิดชอบ คือสิ่งที่ผมยึดถืออยู่เสมอว่าต้องไม่ให้ย่อหย่อน ต้องไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เพราะเมื่อเราพูดถึง ‘จรรยาบรรณ’ เรากำลังพูดถึงอะไรที่ร้ายแรงนะครับ
มันคือสิ่งที่ห้ามละเมิดโดยเด็ดขาด สำหรับผม โรงพิมพ์ไหนที่ไม่มีจรรยาบรรณก็ไม่ควรยืนอยู่ในวงการ 
‘ซื่อสัตย์และไม่เอาเปรียบ ดูแลทั้งคนนอกคนใน Balance ทุกอย่างให้ดี’ เป็นสิ่งที่ป๊าหรือคุณพ่อของผมสอนมาและเราก็อยากทำให้เคร่งขึ้น”

คือคำตอบที่ชัดเจนหนักแน่นของชายคนนี้ ถึงความสำคัญของ “จรรยาบรรณ” ที่เขายึดถือเสมอมาในการผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ


‘ศรัทธา’เพื่อนร่วมวิชาชีพที่อยู่รอดในยุคดิจิทัล-ก้าวฝ่าโควิด-19

เดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย มีสิ่งใดที่อยากบอกถึงแวดวงสิ่งพิมพ์ รวมทั้งโรงพิมพ์ที่ยังอยู่รอดในยุคสมัยที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมทั้งยังเผชิญวิกฤติโควิด-19 อย่างหนักหนาสาหัส

ชัยพรหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ราวกับส่งพลังบวกแห่งความเชื่อมั่นและศรัทธาในวิชาชีพก่อนตอบว่า 

“ขอเป็นกำลังใจให้ครับและขอให้ทุกคนชื่นชมตัวเองว่าเก่งมากที่ยังอยู่รอดกันได้ จะมัวรีรอให้คนอื่นชมคงไม่เหมาะ ชมตัวเองไปเลยครับว่าเราเก่งมากที่เราอยู่รอด เราอยู่มาได้ ไม่ว่าจะอยู่แบบไหนก็ตาม เพราะมันไม่ได้ง่ายอยู่แล้วครับ 
ตั้งแต่ผมเริ่มทำโรงพิมพ์มาผมก็รู้ว่ามันไม่ง่าย มันอาจมีความสำเร็จบ้าง แต่เรารู้ว่ามันไม่ได้แลกมาด้วยความง่ายดาย

เราไม่ได้อยู่ในธุรกิจที่ได้เงินมาง่ายๆ เราอยู่ในธุรกิจที่ต้องเหนื่อย ต้องลงทุน หลายๆ อย่าง เพื่อให้ได้ความสำเร็จมา 
เพราะฉะนั้น ผมว่าทุกๆ คนที่อยู่รอดมาได้ ทุกๆ สำนักพิมพ์ ทุกๆ โรงพิมพ์ รวมถึงนักเขียนทุกๆ คน ผมว่าทุกคนก็ควรจะภูมิใจระดับนึง เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ที่จะหันเหคนไปจากหนังสือ มันยังมีเรื่องสถานการณ์โลกอย่างสถานการณ์โควิด-19 อีก

นอกจากนี้ ผมไม่ได้เรียกร้องนะครับ แต่ผมมองว่า รัฐในประเทศนี้ไม่เคยสนับสนุนวงการสิ่งพิมพ์ โรงพิมพ์ในแบบที่เป็นประโยชน์และเป็นรูปธรรมเลยครับ ไม่เคยมีการสนับสนุนเลย 
เพราะฉะนั้นแวดวงสิ่งพิมพ์และโรงพิมพ์ การที่คุณอยู่ได้ คุณอยู่ได้ด้วยตัวเองจริงๆ
ในโลกที่หลายๆ อย่างบีบคั้นเข้ามาแล้วคุณยังอยู่ได้ ผมชื่นชมนะครับ ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก ว่าใครอยู่รอดได้อย่างไร ด้วยวิธีไหนบ้าง ทั้งโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์”

ไม่เพียงส่งพลังบวก ส่งเสียงชื่นชมด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในเพื่อนร่วมวิชาชีพ
หากทว่า ยังตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ ก่อนทิ้งท้ายอย่างสร้างสรรค์และให้กำลังใจต่อผู้คนในแวดวงสิ่งพิมพ์และโรงพิมพ์ ด้วยความสนอกสนใจว่าแต่ละแห่ง สามารถผ่านวิกฤติโควิด-19 รวมถึงก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและอยู่รอดมาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ทั้งหลายทั้งปวง จึงล้วนสะท้อนถึงความผูกพันที่ชายคนนี้ มีต่อวงวิชาชีพงานพิมพ์อันทรงคุณค่า ซึ่งพร้อมจะก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ด้วยจรรยาบรรณที่ยึดถือเสมอมา

…..

Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by ชัยพร อินทุวิศาลกุล