xs
xsm
sm
md
lg

“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” อมตะวาจาที่ต้องคิดกันแล้ว! หากเกิดสงครามโลกแล้วจะซึ้ง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

เป็นประโยคอมตะที่ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็น “พระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่” ทิ้งคำพูดไว้ให้คิดกัน
ม.จ.สิทธิพรสำเร็จวิชาวิศวกรรมเครื่องกลมาจากอังกฤษ หลังจากนำความรู้มาสร้างความก้าวหน้าให้กับกรมกษาปณ์สิทธิการ ซึ่งต่อมาก็คือกรมธนารักษ์ และกรมฝิ่น ปัจจุบันคือกรมสรรพสามิต ที่ทรงอยู่ในตำแหน่งอธิบดี ทรงเห็นว่าอนาคตของชาติบ้านเมืองอยู่ที่การกสิกรรม ถ้าคนมีความรู้หันมาสนใจการกสิกรรม โดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ก็อาจทำให้คนหันมายึดอาชีพกสิกรรมกันมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองในวงกว้าง

เมื่อปรึกษากับหม่อมศรีพรหมา ผู้เป็นชายา เห็นชอบด้วยกันแล้ว ม.จ.สิทธิพรจึงละทิ้งลาภยศและตำแหน่งการงานอันรุ่งโรจน์ ลาออกจากราชการในเดือนมีนาคม ๒๔๖๓ พาครอบครัวไปอยู่ไร่ที่ตำบลบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตติดต่อจังหวัดชุมพร ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เจ้าพี่ของ ม.จ.สิทธิพรเปรียบเปรยว่า “อยู่นอกฟ้าป่าหิมพาน” เพราะรถไฟไม่มีสถานีจอด ต้องต่อเกวียนอีกไกล หรือไม่ก็ต้องไปทางเรือเดินทะเล ในขณะที่ ม.ร.ว.อนุพร บุตรชายคนโตอายุเพิ่ง ๓ ขวบ ม.ร.ว.เพ็ญศรี บุตรสาวคนเล็กอายุเพียง ๗ เดือน

ท่านเริ่มงานบุกเบิกเกษตรแผนใหม่ ทรงตระหนักว่าการเกษตรในสมัยนั้นที่ใช้วิธีโบราณ มีผลผลิตต่ำ หากไม่ปรับปรุงวิธีการปลูกใหม่แล้ว ต่อไปเมืองไทยอาจต้องพึ่งพืชผลจากต่างประเทศก็ได้ ทรงนำรถแทรกเตอร์มาใช้ในการเกษตรเป็นครั้งแรก นำเมล็ดแตงโมพันธุ์ ทอม วัตสัน จากสหรัฐอเมริกามาปลูกจนโด่งดังในชื่อ “แตงโมบางเบิด” ทรงทดลองปลูกพืชไร่ เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยาสูบ ถั่วลิสง พืชผัก เช่น แคนตาลูป กะหล่ำปลี และพืชผักสวนครัวต่างๆ ทรงเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น ซึ่งเป็นพันธุ์ไข่ดก จนเป็นต้นแบบของการเลี้ยงไก่ทั่วประเทศ และยังเลี้ยงหมู แพะ วัว จดบันทึกการทดลองต่างๆนี้ไว้ รวมทั้งนำพืชผักที่เหลือจากการบริโภคมาแปรรูปในแบบถนอมอาหาร

สิ่งสำคัญของฟาร์มบางเบิดคือ ไม่ได้คิดทำเพื่อกำไร ขาดทุนก็ทำ แต่หวังผลในการทดลองแล้วนำความรู้ออกเผยแพร่ โดยชักชวนอาจารย์จากโรงเรียนกสิกรรมบางสะพานออกหนังสือในชื่อ “กสิกร” ฉบับแรกออกในเดือนเมษายน ๒๔๗๐ 

ม.จ.สิทธิพรได้เขียนความเห็นลงในกสิกรว่า รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนการกสิกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะพืชบนที่ดอน ไม่ใช่คิดจะพึ่งแต่ข้าวอย่างเดียว ทั้งยังทำความเห็นนี้ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯด้วย ซึ่งได้พระราชทานต่อไปยังสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพอพระทัยในความเห็นดังกล่าว จึงโปรดให้ ม.จ.สิทธิพรกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตร แต่ท่านชายว่าไม่มีเวลาบริหารราชการได้ ขอรับเพียงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม ซึ่งจะทรงทำหน้าที่ทดลองการเกษตรแผนใหม่ขึ้นตามที่ต่างๆ ให้มีการทำไร่นาสวนผสมประกอบการเลี้ยงสัตว์ขึ้น โดยเปิดสถานีทดลองขึ้นที่แม่โจ้ ที่สูงเนิน และที่ควนเนียง ทั้งเหนือ อีสาน และใต้ เช่นเดียวกับบางเบิด มีผู้ช่วยบรรณาธิการกสิกร ๓ คน คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปาการ ซึ่งแยกกันไปเป็นหัวหน้าสถานีทั้ง ๓ ด้วย น.ส.พ.กสิกรเลยต้องโอนเป็นของราชการตั้งแต่บัดนั้น 

ปัจจุบัน หนังสือ “กสิกร” ก็ยังออกวางตลาดอยู่ ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร

ในระหว่างที่ ม.จ.สิทธิพรรับตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรมในช่วงสั้นๆนี้ ไทยก็สามารถส่งข้าวไปประกวดได้รับรางวัลเป็นที่ ๑ ของโลก และยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนียที่โอนจากฟาร์มบางเบิดมาให้รัฐจัดการ ก็ได้รับการรับรองเป็นที่เชื่อถือของตลาดโลกด้วย
ม.จ.สิทธิพร กฤษดากร ได้รับรางวัลแมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนไว้อาลัยเมื่อ ม.จ.สิทธิพรสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๔ ขณะอายุ ๘๘ ปี ไว้ว่า

“ในที่สุดวาระที่พวกเราหวาดหวั่นอยู่ก็มาถึง คือวันที่ท่านสิทธิพรสิ้นชีพิตักษัย
ผมหวาดเกรงวาระนี้อยู่แล้วเป็นเวลานานเพราะเหตุหลายประการ

ประการแรก ท่านทรงชราและพระสรีร่างก็แบบบาง ไม่สมดุลกับความบากบั่นทรหดต่องานที่ท่านทรงถือเป็นหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณชนจนถึงวันสิ้นพระชนม์ชีพ

ประการที่ ๒ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างผม ผู้มีหน้าที่ในเรื่องเศรษฐกิจการเงินเบื้องต้น เราได้รับประโยชน์เหลือล้นจากข้อสะกิดใจจากท่านสิทธิพร นักบุกเบิกเกษตรว่า “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” อนาคตของเกษตรกรไทยเป็นเรื่องที่จะต้องทะนุถนอมอย่างระมัดระวัง

อีกเหตุหนึ่ง ท่านสิทธิพร ทรงเป็นปากเสียงให้แก่ชาวไร่ชาวนาสามัญชน เพื่อประโยชน์ของสามัญชนส่วนใหญ่ในประชาชาติไทย และเพื่อความชอบธรรมในสังคม สมดังคำกล่าวของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ ที่ว่า “ใครเกิดมามีน้อย กฎหมายบ้านเมืองต้องยื่นสิทธิให้มากเข้าไว้”

อีกประการหนึ่ง ตราบใดที่ท่านสิทธิพรดำรงพระชนม์อยู่ พวกเราก็ได้เห็นแก่ตาซึ่งตัวอย่างของมนุษย์อัจฉริยะผู้กล้าหาญ และดื้อพอที่จะยึดมั่นในอุดมการณ์ของตน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อไปนี้โลกของเยาวชนจะจนลงถนัด

วันนี้ชาติไทยจนลงถนัด ชาวไร่ชาวนาจนลงถนัด ลูกชาวไร่ชาวนาจนลงถนัด นักศึกษาและนักเกษตรกรจนลงถนัด นักเศรษฐศาสตร์จนลงถนัด ท่านทั้งหลายกับผมจนลงถนัด เพราะเราขาดท่านสิทธิพร”

ในแนวทางที่ ม.จ.สิทธิพรทรงบุกเบิกไว้นี้ ใน พ.ศ.๒๔๘๒ เมื่อสงครามเปิดฉากขึ้นในยุโรป เหมือนอย่างเปิดฉากอยู่ที่ยูเครนในตอนนี้ รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม คาดการณ์ว่าอาจลุกลามมาถึงเอเชียได้ จึงรณรงค์ให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ไว้ หากเกิดสงครามจะได้ไม่ขาดแคลนอาหาร และเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและในเวลากระชั้นชิดแล้ว ในฐานะที่เป็นรัฐบาลเผด็จการ การเชิญชวนอาจจะไม่ทันการ จึงออกเป็นกฎหมาย “พระราชบัญญัติการสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช ๒๔๘๒” บังคับกันเลย หากใครไม่ทำก็มีโทษ 

แน่นอนว่าคนไม่พอใจก็มาก แต่คนเห็นประโยชน์ก็ไม่น้อย ต่อมาในปี ๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มาถึงไทย คนจึงเห็นความสำคัญของการทำสวนครัวกันมาก

ตอนนี้ควันสงครามโลกครั้งที่ ๓ เริ่มโชยขึ้นแล้ว ถ้ามาถึงบ้านเราเมื่อไหร่ จะซึ้งประโยคที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”






กำลังโหลดความคิดเห็น