xs
xsm
sm
md
lg

ร.๘ รับสั่งไม่อยากเป็นกษัตริย์! ขี้เกียจ-พระโทรนสูง ตกลงไปพระยาพหลฯจะดุเอา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ด้วยเหตุมีความขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎรหลายเรื่อง และไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้
ทั้งยังไม่มีพระราชโอรสและพระราชนัดดา ฉะนั้นในวันที่ ๖-๗ มีนาคม สภาผู้แทนราษฎรจึงเปิดประชุมด่วนและเป็นการประชุมลับเพื่อพิจารณาเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่
พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ได้ทำบัญชีลำดับการสืบราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แจกจ่ายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้รับทราบ ซึ่ง น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า เป็นบัญชีที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ได้ตรวจสอบและรับรองว่าถูกต้องแล้ว
“เพราะฉะนั้นลำดับที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้น ได้ดำเนินตามกฎมณเฑียรบาล หาใช่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นไม่”
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเสริมว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนไม่เห็นชอบในลำดับที่ ๑ ก็ให้พิจารณาลำดับที่ ๒ ต่อไปตามลำดับ
ผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้อภิปรายว่า
“กฎมณเฑียรบาลนั้นวางขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ซึ่งเป็นกฎหนึ่งแห่งครอบครัวเท่านั้น จึงไม่สามารถบังคับสภาผู้แทนราษฎรให้จำต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลนั้นได้...”

ประธานสภาจึงแย้งว่า
“...ถ้ากฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ใช้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญให้ใช้กฎมณเฑียรบาล”

ในที่สุดสมาชิกสภาก็ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง แถลงต่อที่ประชุมว่า

“ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรสคือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้น เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล”

พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้อ่านบันทึกเรื่องนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยมีใจความสำคัญว่า

พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา ณ วังตำบลปทุมวัน โดยนายกรัฐมนตรีได้กราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัฐบาลเห็นว่าไม่มีวิถีทางใดที่จะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กลับคืนสู่พระนครได้ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแนะนำผู้ที่สมควรขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติ จึงเท่ากับว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน จึงมาเข้าเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาทในอันที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชสมบัติต่อไป

สมเด็จพระพันวัสสาฯทรงรับสั่งว่า 

“เรื่องนี้ฉันไม่มีเสียงอะไร ฉันพูดอะไรไม่ได้ การจะเป็นไปอย่างไรย่อมแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นประมุขแห่งพระราชวงศ์”

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กราบทูลว่า ตนได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งครั้งที่กรุงลอนดอน และกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติว่า หากลาออกจากราชสมบัติแล้วจะทรงตั้งผู้ใดขึ้นครองราชสมบัติแทนต่อไป ทรงรับสั่งว่าจะไม่ตั้งผู้ใด เพราะจะเป็นการกระทบกระเทือน ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะจะเป็นการป้องกันมิให้มีเหตุยุ่งยากในภายหน้า ซึ่งรัฐบาลก็มีดำริเช่นนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย มาเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯแล้วว่า เพื่อเห็นแก่พระราชวงศ์ขอให้ทรงรับ สมเด็จพระพันวัสสาฯรับสั่งว่า

“ถ้าหากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นดังนั้นก็ต้องทรงรับอยู่เอง ...กรมเทววงศ์ฯได้มาบอกแล้ว ฉันก็ได้รับทราบไว้ แต่ฉันไม่มีเสียงอะไร ทั้งนี้ก็แล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

หลวงธำรงฯยังได้แถลงต่อสภาว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ได้ไปเข้าเฝ้าหม่อมสังวาล พร้อมพระองค์เจ้าอานันท์ พระองค์หญิงใหญ่ และพระองค์น้องด้วย แต่มิได้มีอะไรอภิปรายกันมากนัก เพราะพระองค์เจ้าอานันท์มีชันษาแค่ ๘ ขวบ ยังพูดกันไม่ได้เนื้อถ้อยกระทงความ เป็นแต่เพียงเยี่ยมอาการทุกข์สุขเท่าที่เป็นอยู่ เท่าที่สอบสวนดูทรงสบายดี เมื่อได้พูดถึงเรื่องการที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เจ้าอานันท์ท่านบอกว่าไม่อยากเป็นด้วยเหตุผล ๖ หรือ ๗ ประการ แต่จะไม่ขอแถลงในสภาแห่งนี้
ในที่สุดประธานสภาฯได้ถามมติของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า 

“สำหรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลองค์นี้ ท่านผู้ใดเห็นด้วย หมายความว่าควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น”

ปรากฏว่ามีสมาชิกยืนขึ้น ๑๒๗ นาย
จากนั้นได้ถามมติของที่ประชุมอีกครั้งว่า

“ท่านผู้ใดเห็นว่าเจ้านายพระองค์นี้ไม่ควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ โปรดยืนขึ้น”

ปราฏว่ามีสมาชิกยืนขึ้น ๒ นาย แต่ในรายงานการประชุมมิได้ระบุชื่อว่าเป็นผู้ใด
เป็นอันว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยคะแนนเสียงไม่เอกฉันท์ ๑๒๗ ต่อ ๒ เสียง นับเป็นครั้งแรกที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์

ส่วนที่พระองค์เจ้าอานันท์บอกว่าไม่อยากเป็นกษัตริย์ ๖ หรือ ๗ ประการ ที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไม่ขอแถลงในสภานั้น ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” กล่าวไว้ว่า “สมเด็จย่า” ได้มีจดหมายไปกราบทูล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีความตอนนี้ว่า

“นันทได้บอกหลวงธำรงฯ ว่าไม่อยากเป็นคิงเพราะ
๑.เป็นเด็ก
๒.ไม่รู้จักอะไร
๓.ขี้เกียจ
๔.พระเก้าอี้ (นันทเรียกว่าโทรน) สูงนักแล้วนันทก็เป็นคนหลุกหลิก เดี๋ยวจะตกลงไป พระยาพหลฯ ก็จะดุเอา
๕.เวลาไปไหนต้องกางร่ม ทำให้ไม่ได้แดด
๖.เวลาจะเดินไปไหนก็มีคนเกะกะ ทั้งข้างหน้าข้างหลัง วิ่งไม่ได้

ข้อเหล่านี้นันทคิดขึ้นเองทั้งหมดทั้งนั้น เมื่อทราบว่าหลวงธำรงจะมา”

นั่นเป็นความคิดของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา






กำลังโหลดความคิดเห็น