xs
xsm
sm
md
lg

ยังต้องการแสงสว่างเพิ่ม อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสาไฟกินรีเพิ่ม 720 ต้น ทั้งที่ของเก่ายังถูก ป.ป.ช.สอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบ อบต.ราชาเทวะ ยังต้องการแสงสว่างเพิ่ม ใช้เงินสะสม 68.4 ล้าน จัดซื้อเสาไฟกินรีเพิ่มอีก 720 ต้น ทั้งที่ของเก่าเกือบ 7 พันต้น ยังถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบอยู่


รายงานพิเศษ

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ประกาศ TOR (ขอบเขตงาน) ระบุถึงโครงการจัดซื้อ “เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ชนิดกิ่งเดี่ยวพร้อมติดตั้งในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 720 ต้น” โดยกำหนดราคากลางไว้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 เป็นราคา 68.271 ล้านบาท คิดเป็นราคาต้นละประมาณ 9.4 หมื่นบาท

ถือเป็นการทำโครงการจัดซื้อ “เสาไฟกินรี” เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยติดตั้งไปแล้วเกือบ 7 พันต้น


การติดตั้งเสาไฟกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ เดิมที่ติดตั้งไปแล้วเกือบ 7 พันต้น ยังอยู่ระหว่างถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบในหลายประเด็น ทั้งราคาของเสาไฟเหมาะสมหรือไม่ เหตุใดจึงต้องเป็นเสาไฟกินรีที่มีราคาสูง

การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ มีการฮั้วประมูลหรือไม่ เพราะมีผู้รับเหมารายเดียวที่ชนะการประกวดราคาทุกโครงการ คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด

และประเด็นสำคัญคือ การติดตั้งเสาไฟเป็นไปตามหลักการหรือไม่ เนื่องจากถูกวิจารณ์ว่า มีเสาไฟเกินความจำเป็น ติดตั้งถี่เกินไป ติดตั้งสองฝั่งทั้งที่อยู่ในซอบแคบๆ และไปติดตั้งในจุดที่ไม่มีบ้านเรือนประชาชนและไม่ใช่ทางสัญจร


โครงการล่าสุดในปี 2565 อบต.ราชาเทวะ ระบุว่า ใช้เงินจากงบประมาณจากเงินสะสมของ อบต. โดยหากอ้างอิงจากเอกสาร TOR โครงการจัดซื้อครั้งล่าสุดจะพบว่า ใช้ TOR รูปแบบเดียวกันกับโครงการที่เคยทำมาแล้ว ระบุคุณสมบัติของพัสดุ คือ เสาไฟประติมากรรมกินรี พร้อมแผงโซลาร์เซลล์ มีรายละเอียดต่างๆ ของเสาไฟและลวดลายประติมากรรมเหมือนโครงการเดิมก่อนหน้านี้ทุกประการ

และยังมีข้อกำหนดเหมือนเดิม แต่เป็นข้อกำหนดที่น่าสนใจ คือ กำหนดให้ “ผู้เสนอราคาจะต้องนำตัวอย่างอุปกรณ์มาทดทดสอบหรือทดลองในสถานที่ที่ อบต.ราชาเทวะกำหนด เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาผล พิจารณาภายใน 1 วัน นับจากวันที่เสนอราคา” 

ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่จะเสนอราคาทำโครงการนี้ จะต้องมีตัวอย่าง “เสาไฟกินรี” ตามรูปแบบใน TOR อยู่ก่อนแล้ว จึงจะมาเข้าร่วมการเสนอราคาได้




ย้อนกลับไปในช่วงปี 2556-2564 อบต.ราชาเทวะ ทำโครงการจัดซื้อ “เสาไฟประติมากรรมกินรี” ไปแล้วมากถึง 7 พันต้น เป็นเงินรวมกันเกือบพันล้านบาท

ทีมข่าว MGR Online เคยตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และพบประเด็นที่สำคัญ คือ การติดตั้งเสาไฟส่องสว่าง มีหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า “มาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ” ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หากจะติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะ จะต้องติดตั้ง “ตามความจำเป็น” ดังนี้

“มาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ” บอกว่า ความกว้างของถนน มีผลต่อการติดตั้งเสาไฟฟ้า โดยในมาตรฐานข้อ 2.2 รูปแบบการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะตามแนวถนน ทางแยก วงเวียน สามารถเลือกชนิดของโคมไฟและดวงโคมที่จะใช้งานได้ตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับภูมิทัศน์ของพื้นที่นั้นๆ แต่กำหนดรูปแบบการติดตั้งดังนี้

1. ติดตั้งฝั่งเดียวกันของถนน เหมาะสำหรับถนนเล็กๆในซอย หรือทางเท้า (รูป 2-2)

2. ติดตั้งสองฝั่งถนนสลับกัน เหมาะสำหรับถนนกว้างไม่เกิน 6 เมตร (รูป 2-3)

3. ติดตั้งสองฝั่งของถนน ตรงข้ามกัน เหมาะสำหรับถนนกว้าง 8 เมตรขึ้นไป (รูป 2-4)

4. ติดตั้งกลางถนน โดยแยกโคมไฟฟ้าเป็นสองทางในเสาต้นเดียวกัน เหมาะสำหรับถนนกว้าง 8 เมตรขึ้นไป และมีเกาะกลางถนน (รูป 2-5)






เมื่อนำมาเทียบกับการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรี ที่ อบต.ราชาเทวะ ติดตั้งไปแล้ว ก็จะพบว่า มีหลายพื้นที่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนี้ เพราะติดตั้งเสาไฟ “ถี่มาก” 

บางจุดที่เป็นซอยแคบๆ ควรจะติดตั้งเพียงฝั่งเดียวของถนน ก็ติดตั้งทั้ง 2 ฝั่ง และเสาแต่ละต้นมีระยะห่างกันเพียงประมาณ 5 เมตร รวมทั้งยังติดตั้งเสาไฟตรงข้ามกันพอดี ไม่สลับฟันปลา ทั้งที่เสาไฟเพียงต้นเดียวก็สามารถให้แสงสว่างเพียงพอสำหรับถนนแคบๆ ได้แล้ว 

ยังไม่รวมว่ามีเสาไฟจำนวนมากถูกติดตั้งในจุดที่ไม่จำเป็น เช่น ในพงหญ้า หรือถูกติดตั้งโดยหันโคมไฟเข้าบ้านคนและหันโคมไฟออกจากถนน จนเกิดคำถามใหญ่ตามมา


คำถามนั้น คือ การจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีของ อบต.ราชาเทวะ เกิดขึ้นจากความต้องการแสงสว่างในชุมชน แล้วจึงสำรวจเพื่อจัดหาเสาไฟตามความต้องการอย่างเหมาะสม หรือ จัดซื้อเสาไฟมาก่อนเป็นจำนวนมาก แล้วจึงค่อยไปหาที่ติดตั้งให้ครบตามจำนวนที่จัดซื้อมากันแน่

ดังนั้นจึงกลับมาตรวจสอบที่โครงการล่าสุด ต้นปี 2565 ใน TOR ได้ระบุถึงความต้องการ “เสาไฟ” สำหรับชุมชนต่างๆ จำนวน 11 หมู่ ในตำบลราชาเทวะไว้อย่างละเอียด แต่ก็มีหลายจุดที่น่าสนใจ เช่น

หมู่ที่ 1 จำนวน 17 ต้น, หมู่ที่ 3 จำนวน 8 ต้น, หมู่ที่ 5 จำนวน 6 ต้น, หมู่ที่ 6 จำนวน 9 ต้น, หมู่ที่ 7 จำนวน 17 ต้น


ส่วนประเด็นเรื่องราคา “เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมแผงโซลาร์เซลล์” ที่ตั้งไว้ ต้นละ 9.4 หมื่นบาท ทีมข่าวตรวจสอบแหล่งข่าวใน สตง. ได้รับข้อมูลว่า สตง.เคยตรวจสอบราคาการจัดทำเสาไฟฟ้าสาธารณะมาก่อนแล้ว และพบว่า ราคาของเสาไฟฟ้าบวกกับแผงโซลาร์เซลล์ คือ 3.1 หมื่นบาทต่อต้น

หมายความว่า ค่าจัดทำประติมากรรมกินรี ของเสาไฟที่ติดตั้งใน อบต.ราชาเทวะ จึงมีราคาต้นละประมาณ 6.4 หมื่นบาทต่อต้น

เงินที่ใช้ทำเฉพาะประติมากรรมกินรี บนเสาไฟ 1 ต้น จึงมีค่าเท่ากับเสาไฟพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีกินรี 2 ต้น

เมื่อคิดต่อไปว่า สามารถติดตั้งเสาไฟฟ้าให้มีแสงสว่างเพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยติดตั้งตาม “มาตรฐานไฟฟ้าสาธารณะ” ก็อาจลดจำนวนเสาไฟที่ต้องติดตั้งไปไปได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ใช้ไป

เมื่อคิดรวมทั้งจำนวนเสาไฟที่สามารถลดจำนวนลงได้น้อยลงไปกว่าครึ่ง บวกกับไม่ต้องมีกินรี ก็อาจสรุปได้ว่า งบประมาณส่วนนี้ อาจจะสามารถปรับลดลงไปได้มากกว่า 70%


เมื่อตรวจสอบไปยัง นางสาวชฎารัตน์ อนรรฆอร ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.ภาค 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ตรวจสอบเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะอยู่ ได้คำตอบว่า ในระหว่างที่ผลการตรวจสอบยังไม่มีข้อสรุป ยังไม่ถูกชี้มูลว่ามีความผิด ทาง อบต.ก็ยังสามารถดำเนินโครงการในรูปแบบเดิมอีกได้ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ภาค 1 กำลังเร่งตรวจสอบในทุกประเด็นที่มีข้อสงสัยข้างต้น

แต่โครงการมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งภาคเอกชน จึงยังต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกซักระยะ แต่ยืนยันว่า ป.ป.ช. ภาค 1 รับทราบแล้ว อบต.ราชาเทวะ ได้ทำครงการใหม่ขึ้นมา และได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น