ชื่อของ ‘ปิ่นยศ พิบูลสงคราม’ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Director of Commercial (ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์) สายการบินไทยเวียตเจ็ท แม้เขาก้าวเข้าสู่สายการบินนี้ได้ราวเกือบปี ทว่า คนในแวดวงย่อมรู้ดีว่าวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารของชายคนนี้ อยู่ในระดับ “ไม่ธรรมดา”
หนึ่งในสิ่งที่ช่วยยืนยันคือระยะเวลายาวนานถึง 16 ปี ที่เขาทำงานกับสายการบินนกแอร์ เริ่มจากทำงานในทีมสตาร์ทอัพของนกแอร์ ที่ต้องระดมความคิดกันว่าจะใช้ชื่อสายการบินอะไร สีอะไร กล่าวได้ว่า เขาคือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสดใสของสายการบิน ก่อนจะอำลานกแอร์ ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ Senior Vice President
ก่อนที่ปิ่นยศจะตัดสินใจก้าวสู่บ้านหลังใหม่ คือไทยเวียตเจ็ท ซึ่งนับว่าท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเขาก้าวเข้ามาในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเขาสามารถรับมือและเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจยิ่ง ไม่ว่าการวางแผน การคาดการณ์สถานการณ์ ระดมสมองกับทีมงาน รวมทั้งการวิเคราะห์ ใส่ใจลูกค้า ประเมินเส้นทางการบิน สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจแก่ลูกค้า ด้วยการเพิ่มเที่ยวบินและเพิ่มเครื่องบินให้เพียงพอแก่ความต้องการ
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังวิเคราะห์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ วัย Gen Z และผู้โดยสารในยุคหลังวิกฤติโควิด-19 รวมทั้ง วิเคราะห์และแนะแนวทาง หลักการ หนทางขององค์กรที่จะอยู่รอดได้ในโลกยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างน่าสนใจ
ขณะที่บางสายการบินใช้วิธีสลับการขึ้นบินของแอร์โฮสเตทและนักบิน หรือให้พนักงาน Leave without pay การหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน ทว่า สำหรับสายการบินไทยเวียตเจ็ท ปิ่นยศตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าสวนกระแส ต่างจากสายการบินอื่นๆ เพราะแม้ในช่วงโควิด-19 ไทยเวียตเจ็ทก็ยังอยู่ใน ‘Growth Mode’ มีการเพิ่มเครื่องบินเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อที่จะรองรับการเดินทางภายในประเทศ ทำให้เที่ยวบินกับเครื่องบินของไทยเวียตเจ็ทมีเพิ่มมากขึ้น แม้ในช่วงโควิด-19
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ปิ่นยศ พิบูลสงคราม’ Director of Commercial สายการบิน ไทยเวียตเจ็ท ถึงที่มาของความสำเร็จที่ไม่เคยหยุดบินในประเทศเลย แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เขาย้ำอย่างหนักแน่นด้วยว่า เป็นสายการบินเดียวในไทย ที่ไม่เคยหยุดบินในประเทศ
ถ้อยความเหล่านี้ จึงสะท้อนความเฉียบคมในวิสัยทัศน์ และความสามารถในการอ่าน วิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลต่างๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่ทีมงานเสมือนคนในครอบครัว
ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในทีม ทุกฝ่าย ทุกแผนก นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเวียตเจ็ท ประสบความสำเร็จ สวนทางกับภาพรวมของธุรกิจการบินที่ประสบปัญหาไม่น้อย ในห้วงเวลาเดียวกัน
ก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 5 ระลอก
เมื่อถามถึงหลักและแนวคิดสำคัญในการทำงานทั้งโดยภาพรวม และเมื่อจำต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 4 ระลอก กระทั่งเข้าสู่ ระลอกที่ 5 ในปัจจุบันแล้ว สายการบินไทยเวียตเจ็ท มีวิธีรับมือกับปัญหาอย่างไร ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ปิ่นยศตอบว่า “ขอบคุณนะครับที่ให้โอกาสไทยเวียตเจ็ท ได้ให้ข้อมูล ต้องบอกว่า ในแง่ของการทำงาน จริงๆแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการทำงานของเราไม่ได้แตกต่างกันมาก จริงอยู่ ตอนนี้ เราอยู่ในช่วงวิกฤติ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวิกฤติหรือไม่วิกฤติ หลักการทำงานก็ไม่ได้ต่างกันครับ ในส่วนที่ต่างกันอาจจะเป็นเรื่องของความรวดเร็วและความอดทน” ปิ่นยศระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการทำงานส่วนตัวของตน จะให้ความสำคัญกับหลักการ 2-3 ข้อด้วยกัน ได้แก่
ข้อ 1 คือเรื่องของการวางแผน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่วิกฤติ คุณก็ต้องมีแผนรับมือที่ดี แล้วแผนที่จะดีตามทฤษฎี ก็ต้องเป็นแผนที่สอดคล้องกับบริษัท สอดคล้องกับ Vision กับแนวทางที่วางไว้ ทุกคนต้องมองไปในแผนเดียวกัน นี่คือหลักการโดยทั่วไปในข้อแรก
มี Plan A ,Plan B, Plan C
ปิ่นยศกล่าวว่า “แต่สิ่งที่จะต่างออกไปในช่วงวิกฤติ คือ เมื่อเรามีแผน เราต้องมี Plan A , Plan B ซึ่งผมให้ความสำคัญมากๆ
ในช่วงสถานการณ์ปกติ เราจะสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ เช่น ฤดูฝน คนจะเดินทางน้อยลง วันหยุด คนจะเดินทางมากขึ้น นี่คือตัวอย่างในช่วงปกติ แต่ในช่วงวิกฤติ เราต้อง มองว่ามันจะมีตัวแปรตัวอื่น ดังนั้น การทำ Plan A ,Plan B, Plan C จึงสำคัญมากๆ เราอาจจะไปพึ่งพาข้อมูลเก่าแทบไม่ได้เลย เช่น สงกรานต์ ในช่วงปกติ คนเดินทางเยอะ แต่พอเจอโควิด-19 wave สอง เมื่อปีที่แล้ว สงกรานต์พังเลยนะครับ
ดังนั้น ในการ การทำ Plan A ,Plan B, Plan C คือผมจะบอกทีมเสมอว่าคุณต้องใส่สมมติฐานที่ชัดเจน
ยกตัวอย่างนะครับ ตอนนี้ อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมจะเข้าสู่เมษายนแล้ว เราก็ต้องวางแผนแล้ว ว่าเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน เราจะบินแบบไหน
ถ้าเป็นแผน 1 คือ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ สงกรานต์คนเที่ยวในไทยได้ ตามปกติ
แผน 2 หากเริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงแล้ว เป็นไปได้ไหมว่า การเดินทางอาจจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ การเดินทางจะลดลงกี่ % จากเส้นทางไหนไปยังปลายทางไหน
แผน 3 คือ ทางที่แย่ที่สุด ประเมินไว้ในกรณีที่แย่ที่สุดคือมีล็อคดาวน์ นี่คือสมมตินะครับ หากเกิดเหตุล็อคดาวน์ แล้วเราจะบินแบบไหนอย่างไร นี่คือประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวางแผนนะครับ เราต้องตัดสินใจล่วงหน้า ว่าเราจะดึงแผน 1 แผน 2 แผน 3 มาใช้ล่วงหน้าเมื่อไหร่ อย่างไร
ผมมองว่าหลายครั้งอาจจะเป็นแบบนี้ เพราะผมก็เคยเป็นหลายครั้ง เช่น ยกตัวอย่าง เราอยากจะเดินไปตามแผน 1 ทั้งที่จริงๆ แล้ว เงื่อนเวลา ไม่สามารถใช้แผน 1 ได้แล้ว แผน 1 หลุดไปแล้ว เราควรจะดึงแผน 2 มาได้แล้ว แต่ว่าไม่ได้เอามาใช้
เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญข้อแรกเลยคือ ต้องมีแผน 2 คือ มีแผน 1 แผน 2 แผน 3 และดูด้วยว่าเมื่อไหร่เราควรจะเอาแผนอะไรมาใช้ให้มันทันการณ์ นี่เป็นเรื่องของสิ่งแรกที่ผมให้ความสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน แผนกไหนก็ตาม อย่างในตอนนี้ผมดูฝ่ายพาณิชย์ใช่ไหมครับ เราใช้หลักการทำงานแบบนี้ แต่ในแผนกอื่นๆ ฝ่ายการตลาด เราก็ใช้หลักการเช่นเดียวกัน
แม้แต่ฝ่ายขาย คุณก็ต้องมีแผน 1 แผน 2 แผน 3 เช่น คุณจะโปรโมตเส้นทางนี้ แต่เส้นทางเขายังไม่เปิด แต่กำลังจะเปิดให้นักท่องเที่ยว มาเร็วๆ นี้ คุณก็ต้องเตรียมตัวไว้ให้ดี” ปิ่นยศระบุ
หาโอกาสในทุกวิกฤติ
ปิ่นยศกล่าวว่า อีกสิ่งสำคัญ คือเป็นการหาโอกาสในทุกวิกฤติ ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ครับทำให้ไทยเวียตเจ็ท พ้นวิกฤติโควิด-19 มาอย่างที่เรียกว่าพอใช้ได้ เพราะเรามองว่า ในช่วงโควิด-19 มีหลายๆ อย่างที่ทำให้กลายเป็นโอกาสของไทยเวียตเจ็ท ยกตัวอย่างเช่น บางเมือง สิทธิการบิน หรือการเข้าสู่เมืองนั้นๆ ในเวลาปกติ เราเข้าไม่ได้เลย แต่เมื่อโควิด-19 มาถึงปุ๊บ หลายสายการบินหยุดบิน ทำให้เราก็สามารถเข้าไปในเมืองเหล่านั้นได้” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ทระบุ ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญประเด็นต่อมา คือ ช่วงโควิด-19 ธุรกิจการบินนิ่งหมด แต่จริงๆ แล้ว เรามองว่า เป็นช่วงเวลาดีมาก เพราะเป็นช่วงของการสร้างสิ่งใหม่ๆ
“ไทยเวียตเจ็ท ของเราในช่วงโควิด-19 มีการสร้างระบบ back-end สร้างและพัฒนาหลายๆ อย่าง เช่น
แชตบอต ระบบ Loyalty Program หรือแม้กระทั่งการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ เราก็ใช้โอกาสนี้ไปพูดคุยกับทางญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ทำ Network ร่วมกัน แล้วช่วงที่มันเกิดวิกฤติน่ะครับ หลายคนจะยอมที่จะเป็นพาร์ทเนอร์กัน เพราะการรวมตัวกันแล้วทำให้เป็นผลดี คือลุยไปด้วยกัน ดังนั้น เรื่องของการหาโอกาสในวิกฤติ เราจึงให้ความสำคัญมากครับ” ปิ่นยศระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อาจจะท้าทายคือในช่วงวิกฤติโควิด-19 ช่วงที่ไม่ Normal มันก็อาจจะยากกว่าช่วง Normal เท่านั้นเอง
ให้ความสำคัญกับ ‘ทีม’
ขณะที่สิ่งสำคัญประการต่อมา ปิ่นยศเน้นย้ำว่า เขาคิดว่าสิ่งนี้สำคัญมาก ในช่วงโควิด-19 นั่นคือเรื่องของทีม หรือการกระตุ้นทีมในการทำงานตามแผนที่วางไว้ซึ่งจะให้ความสำคัญกับกรณีนี้เป็นพิเศษมากๆ เรียกว่า มากว่าในช่วงเวลาที่ปกติ ปิ่นยศกล่าวว่า
“เนื่องจากในเวลาปกติ เมื่อทุกอย่างขายได้ตามแผน มีลูกค้า มีรายได้เข้ามา แต่ในช่วงโควิด-19 มันคนละแบบเลยครับ น้องๆ ทีมงานก็ยังต้องมาทำงานในช่วงที่มีโควิด เขาก็เสี่ยง ขับรถมาเอง หรือมาทำงานด้วยวิธีไหนก็ตาม เขาก็กลัว กลัวที่จะอยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ กลัวว่าจะติดโควิด กลัวเอาไปติดคนที่บ้านบ้าง
ประเด็นต่อมา รายได้ของบริษัทที่อาจจะน้อยลงในช่วงโควิด-19 เราก็มี Passionให้กับทีมงานเพิ่มเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น เราจึงมองได้ว่า ทางทีมอาจจะมี Pressure สองด้าน ด้านแรกคือด้านการทำงาน ด้านที่สองคือด้านชีวิตส่วนตัวก็มี Pressure ด้วย เราก็มองไปถึงว่าคนหนึ่งคน คือผมไม่ได้มองว่าเขาเป็นเครื่องจักรที่มาทำงานให้เรา แต่เขาก็มีครอบครัว บางครอบครัวก็ เหนื่อยมาก เหนื่อยน้อยไม่เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่น บางครอบครัว สามีถูก Lay off ให้ออกงาน พนักงานผมเขาก็ต้องทำงานอยู่คนเดียว ต้องแบกคนทั้งบ้าน เพราะฉะนั้น เราต้องดูแลรักษาจิตใจของพนักงานแบบเป็นพิเศษในช่วงวิกฤติโควิด-19 เราต้องเข้าใจเขาด้วย บางทีน้องพนักงานบอก ‘พี่ครับ วันนี้ขอลาไปช่วยที่บ้าน’ เราก็บอก ไม่เป็นไรเลย ดังนั้น เราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วยครับ เราก็ Flexible ยืดหยุ่นได้ เราก็เข้าใจความรู้สึกของทีมงานที่มีความเครียด และให้กำลังใจตลอดเวลา เพราะเราถือว่า ทุกคนเป็นผู้นำในองค์กรของตนเอง CEO ไม่ใช่ผู้นำในบริษัทเพียงอย่างเดียว จริงอยู่ว่า CEO คือนำบริษัท ส่วนผมเองก็นำแผนกของผม ขณะเดียวกัน ผมก็มีลูกน้องเป็นผู้นำของลูกน้องเขาอีกสองคน เป็นต้น ดังนั้น ทุกคนมีหน้าที่นำทีมงานของตน แล้วก็ผลักดันไปในทางที่ Positive ไม่ใช่ว่า ผมเข้ามาถึงออฟฟิศแล้ว น้องๆ บอก ‘เหนื่อยว่ะ’” ปิ่นยศหัวเราะอย่างอารมณ์ดี และกล่าวว่า หากตัวเขาทำให้ลูกน้องรู้สึกเช่นนั้น Energy ก็จะหายไปเลย แต่ที่เราทำคือ มีการพูดคุยวางแผนว่าวันนี้จะทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ประเมินร่วมกัน เช่น ‘อ้าว! วันนี้โควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น’ ผมก็บอกว่า ‘ไม่เป็นไร เดี๋ยวเรามาแก้ไขตรงนี้ด้วยกัน’ คือคิดเป็น Positive น่ะครับ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญ ซึ่งโดยสรุปก็มี สามประเด็นครับ คือเรื่องของการวางแผน เรื่องของการหาโอกาส และเรื่องของทีมงาน มีสามอย่างนี้ ที่ผมจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษครับ” ปิ่นยศระบุ
ถามว่า สิ่งที่บอกเล่ามาน่าสนใจมาก และมีประเด็นที่น่าสนใจคือ จากที่ได้ฟังปิ่นยศบอกเล่ามา สะท้อนได้ว่า คุณให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์มากพอสมควร
ปิ่นยศหัวเราะอย่างอารมณ์ดีและตอบอย่างชัดเจนว่า “ใช่ครับ ขอบคุณมากครับ”
วิเคราะห์หนทางอยู่รอด ในโลกยุคหลังโควิด-19
บทสนทนายังคงต่อเนื่อง ขอให้ปิ่นยศวิเคราะห์หรือมองโลกยุคหลังโควิด-19 และคาดว่ามีสิ่งใดบ้างที่สายการบินต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคหลังโควิด-19 เราจะอยู่ในโลกยุคสมัยเช่นนี้อย่างไร
ปิ่นยศตอบว่า “สำหรับผม คือมองว่ามีหลาย Scenarios ครับ
( หมายเหตุ : Scenarios หมายถึง สถานการณ์ ) เช่นเดียวกันเลยครับ เหมือนที่ผมพูดถึงเรื่องการวางแผน เราจะมองไว้หลาย Scenarios ครับ” ปิ่นยศระบุ และกล่าวถึงรายละเอียดว่า
Scenario ที่ 1 ก็คือมองโควิด-19 ไม่ต่างจาก ไข้หวัดนก H5N1 ในช่วงเวลาหนึ่ง ถามว่าเมื่อเกิดไข้หวัดนก ทุกวันนี้ เราเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรไหม คำตอบก็คือ ยังเหมือนเดิม เรากลับไปโลกปกติ เพราะฉะนั้น ก็อาจเป็นได้ว่า โควิด-19 อาจมีวันที่ เมื่อเป็นแล้วไม่มีอาการ ไม่ลงปอด เป็นแล้วหาย ก็เป็นไปได้ว่าทุกคนกลับมาทำตัวตามปกติ ในมุมมองของปิ่นยศ นี่คือ Scenario ที่ 1
สำหรับในส่วนที่วางแผนไว้เกี่ยวกับธุรกิจการบิน ปิ่นยศกล่าวว่า อาจจะพูดรวมๆ ก่อนว่าในกลุ่มธุรกิจสายการบิน ถ้ากำลัง Operate ต้องประเมินว่า Route ไหน ยังไงบ้าง ถ้าเป็นเส้นทางในประเทศไทย ถือว่าโชคดี เพราะเป็นจุดท่องเที่ยว เป็น Destination อันดับต้นๆ ของโลก ปิ่นยศจึงมองว่า เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไร ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก็จะไม่หายไปไหน
จะต้องกลับมาฟื้นตัวแน่นอน ยกตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เกาะพีพีก็จะยังคงมีอยู่และรอคอยนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาก็ยังมี ดังนั้น เรื่องการท่องเที่ยว ไม่ต้องเป็นห่วง
“ผมมองว่าการท่องเที่ยวจะยังดีอยู่ แต่เมื่อเราพูดถึงการท่องเที่ยว ก็จะมีบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น เป็นไปได้ว่าการเดินทางเป็นกรุ๊ปใหญ่ๆ ก็จะลดน้อยลง เช่น ขึ้นสปีทโบ๊ท เบียดกัน 40 คนไปเกาะ เราก็ไม่อยากทำแล้ว เพราะฉะนั้น เราจะเริ่มเห็นความเป็น Private มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวกับ Airline ต้องปรับให้ทัน ธุรกิจสายการบิน Airline กรุ๊ปใหญ่ๆ กรุ๊ปทัวร์อาจจะน้อยลง แต่ก็ยังจะมีอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่กรุ๊ป 30-40 คนแล้ว แต่จะเป็นแค่ครอบครัวเล็กๆ ดังนั้น อันดับแรกเลย ที่ผมอยากบอกเล่าคือ เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า ที่เปลี่ยนแปลงไป จริงๆ ผมให้ข้อนี้อยู่ในสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งเลย และผมให้ความสำคัญกับ Journey ของลูกค้าด้วย อาจมีเรื่องของ Leisure Private มากขึ้น Airline ก็ต้องปรับตัว” ปิ่นยศระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของ Flexibility เราต้องเข้าใจว่าในระยะสั้น เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ เช่น สัปดาห์ที่แล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจอยู่ที่ 5,000 คน แต่วันนี้อาจมี 20,000 คน
อาจมีกรณีที่ลูกค้าอยากขอเลื่อน ขอเลิก มีเหตุผลทางธุรกิจ หรือเหตุผลต่างๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดต้องมีความเข้าใจตัวแปรและปัจจัยเหล่านี้ ถ้ามีมุมมองว่า ‘เอ๊ะ! ทำไมลูกค้าเรื่องเยอะ’ คุณก็จะแพ้คู่แข่ง ที่เขาปรับตัวเพื่อรองรับลูกค้าได้เร็วกว่า
ทั้งยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ปิ่นยศกล่าวว่า เขาเพิ่งกลับมาจากสิงคโปร์ เช่ารถพร้อมคนขับ เป็นระยะเวลาสามวัน
“เมื่อแรกเจอกัน ผมก็ถามว่ามาตรการ Safety จากโควิด-19 ของเขาเป็นยังไง เขาก็บอกว่าเขาเทสต์ ATK สัปดาห์ละครั้งอยู่แล้ว ส่วนผมก็กังวลอยู่บ้าง เพราะว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สิงคโปร์ก็ยังสูงอยู่ ผมก็ยังกลัว ผมก็ถามเขาว่า คุณเทสต์ ATK ทุกวันได้ไหม เดี๋ยวผมเอา ATK ให้คุณ แล้วทุกเช้า ก่อนที่คุณจะมารับผม คุณก็เทสต์ แล้วถ่ายรูปส่งมาให้ผมดู เขาก็ตอบว่าโอเค นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนขับรถเขา Flexible พอ ถ้าเขาบอกว่า ‘ไม่สะดวกนะ’ รับประกันได้เลยครับ ว่าผมอาจจะหาคนขับใหม่แน่นอน” ปิ่นยศระบุและอธิบายว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องของการปรับตัวให้ทันกับความต้องการของลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ปิ่นยศมองว่า ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ภายในองค์กรมีการปรับตัวไปแล้ว อาทิ มีการประชุมกันผ่านวิดีโอคอล ซึ่งส่งผลดีในหลายๆ ด้าน ได้เนื้อหาของงานเยอะกว่าการประชุมในรูปแบบเดิมมากการประชุมออนไลน์นี่เอง สะท้อนไปถึงกลุ่มลูกค้า ที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ หรือ Business traveler ซึ่งปิ่นยศประเมินว่าลูกค้ากลุ่มนี้ อาจมีน้อยลงแน่ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ก็มีส่วนอย่างมากที่สายการบินต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ไม่ได้เหมือนคนรุ่นเก่าแล้ว คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ เขาสื่อสารผ่านออนไลน์ เขาต้องการความรวดเร็ว ดังนั้น อาจไม่มีวิถีชีวิตแบบคนรุ่นเก่าที่ต้องมาทานข้าวคุยกัน แล้วบ่ายๆ ไปตีกอล์ฟกัน คุยงานกัน คนรุ่นใหม่ เขาไม่เป็นแบบนั้นแล้ว คนรุ่นใหม่เขาสื่อสารกันจบบนออนไลน์ได้ วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่นี่เอง คืออีกตัวแปร ที่จะเปลี่ยนเรื่องของการเดินทาง
ปิ่นยศยังประเมินไว้ด้วยว่า หากเมื่อไหร่ที่ Metaverse for online meetings มาถึง และเป็นที่นิยมแพร่หลาย สิ่งนี้จะเปลี่ยนเกมในการท่องเที่ยวและรูปแบบการเดินทางไปเลย เพราะเมื่อไหร่ที่สามารถใส่แว่นตาโลกเสมือนจริงแล้วประชุมพร้อมกันได้ ย่อมส่งผลสะท้อนถึงการเดินทางด้วย ซึ่งปิ่นยศเชื่อว่า Metaverse for online meetings จะมาเร็วกว่าที่ทุกคนคิด
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท มิได้หวั่นกลัว ตรงกันข้าม เขาวิเคราะห์ และพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า-อ่านใจคนวัย Gen Z
ปิ่นยศกล่าวว่า “ผมมองในภาพรวมครับ หากถามว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนมีอะไรบ้าง สรุป คือ ข้อ 1 ต้องดูพฤติกรรมของลูกค้า โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เป็น Leisure กลุ่มนี้ ผมเชื่อว่ายังไงเขาก็เที่ยว แต่เที่ยวเป็นกลุ่มน้อยลง มีรีเควสมากขึ้น ต้องการสิ่งต่างๆ มากขึ้น Flexibility มากขึ้น ส่วน Business traveler จะเปลี่ยนไป เพราะว่า ถ้าให้ผมบินไปจังหวัดหนึ่งเพื่อประชุมหนึ่งชั่วโมง ผมก็ไม่ทำ ขอ Call online จากร้านกาแฟแป๊บเดียวได้เนื้อหาสาระพอๆ กัน
ดังนั้น วิถีหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้วครับ แล้วกลุ่ม Gen Z จะเป็นกลุ่มที่เดินทางก่อน เพราะภาระเขาน้อย เขายังไม่มีครอบครัว เขาไม่ต้องกังวล อย่างผมเอง ผมบินกลับมา ผมก็กลัวว่าจะเอาโควิดไปติดที่บ้านหรือเปล่า” ปิ่นยศวิเคราะห์พร้อมหัวเราะให้กับความต่างของตนเองและความคล่องตัวของวัยรุ่น Gen Z
ความสำเร็จของ ‘ไทยเวียตเจ็ต’ ไม่เคยหยุดบินในประเทศแม้ช่วงโควิด-19
ถามต่อเนื่องว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เท่าที่ทราบ บางสายการบินใช้วิธีสลับการขึ้นบินของแอร์โฮสเตทและนักบิน เป็นช่วงเวลา 3-6 เดือน หรือ Leave without pay การหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน โดยยังคงสถานะของพนักงาน สายการบินไทยเวียตเจ็ตใช้วิธีดังกล่าวบ้างหรือไม่
ปิ่นยศตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ต้องบอกว่าของเราสวนกระแสเลยครับ
ช่วงโควิด-19 เราอยู่ใน Growth Mode ไทยเวียตเจ็ตของเรามีการเพิ่มเครื่องบินด้วยซ้ำ และมีการเพิ่มเที่ยวบิน คือไทยเวียตเจ็ตเริ่มเข้ามาทำการบินในไทย ปี ค.ศ. 2015 ในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 นั้น เราบินต่างประเทศซะเยอะเลยครับ ไม่ค่อยได้บินภายในประเทศ ดังนั้น เมื่อมีโควิด-19 เราก็หันมาบินภายในประเทศ
ในจังหวะนั้น เราจำเป็นต้องเพิ่มเครื่อง เพื่อที่จะรองรับการเดินทางภายในประเทศ ทำให้เที่ยวบินของเรากับเครื่องบินของเรามีเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงโควิด-19 เราอาจจะได้ยินข่าวว่าบางสายการบินต้องคืนเครื่องบ้าง ต้องให้ พนักงานออกบ้าง แต่เราไม่มีปัญหาเหล่านั้นเลยครับ เราเพิ่มเที่ยวบิน และเพิ่มผู้โดยสาร ต้องบอกว่าเราโชคดีที่เมื่อตอนเกิดโควิด-19 ไทยเวียตเจ็ต กำลังอยู่ใน Growth Mode เราก็เลยไม่ต้องลดจำนวน ตรงกันข้าม เราต้องเพิ่มจำนวนเที่ยวบินด้วยซ้ำไป เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร ถือว่าโชคดีครับ
ขณะที่สายการบินอื่น แอร์โฮสเตทต้องออกจากงานบ้าง นักบินต้องพักบ้าง แต่ไทยเวียตเจ็ตเรามีเครื่องบินทั้งหมด 16 ลำเลยนะครับ ในช่วงนั้น เพราะฉะนั้น เรายังต้องบิน เรายังต้องเพิ่มเครื่อง แม้ในช่วงโควิด-19
ก่อนหน้านี้ ผมเคยอยู่นกแอร์มา 16 ปี และมาอยู่ไทยเวียตเจ็ต 8-9 เดือนที่แล้ว เข้ามาในช่วงโควิด-19 พอดี ซึ่งหมายความว่า ทางสายการบิน ไม่ได้มีการให้คนออก แต่รับคนเข้าสายการบินในช่วงโควิด-19 ดังนั้น ต้องบอกว่าสายการบินไทยเวียตเจ็ต ไม่เหมือนที่อื่นจริงๆ ครับ” ปิ่นยศสะท้อนให้เห็นเห็นถึงภาพความเติบโตของไทยเวียตเจ็ต แม้ในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 สายการบินแห่งนี้ก็ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง
ถามว่า มีวิธีเรียกความเชื่อมั่นของผู้โดยสารกลับคืนมาอย่างไร หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่บางคนอาจกลัวที่จะกลับมาบินอีกครั้ง
ปิ่นยศยอมรับว่า “เรื่องนี้ไม่ง่ายเลยครับ ทั้งในเชิงระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ ลูกค้าเขารู้สึกกังวลอย่างไร ประเด็นนี้ ผมมองว่า เป็นเรื่องที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้ความมั่นใจของลูกค้ากลับคืนมา ทั้งภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และภาครัฐ
ขณะที่ในส่วนของเรา สิ่งที่เราทำคือ ประการแรก เราใช้เรื่องของราคาที่ดึงความสนใจให้ลูกค้ามาลอง ต้องยอมรับว่า เราเป็นน้องใหม่ใช่ไหมครับ ดังนั้น เราก็ต้องให้เขาหันมามองเราว่าไทยเวียตเจ็ตน่าลองบิน ราคาก็ดี เส้นทางก็เยอะ
เราไม่ได้พูดตรงๆ แต่เราใช้จำนวนของเที่ยวบิน เพื่อที่จะสื่อว่า เราเชื่อถือได้นะ เช่น เราบินไปเชียงใหม่ วันละ 10 เที่ยวบิน มีบินไปภูเก็ตวันละ 8 เที่ยวบิน แสดงให้เขาเห็นว่าเราไม่ใช่สายการบินเล็กๆ ที่เดี๋ยวบิน เดี๋ยวหยุด นี่คือการสร้างความมั่นใจในส่วนของตัว Flights
ส่วนในแง่ของการประชาสัมพันธ์ คือผมคิดว่าในมุมลูกค้า เขายิ่งเห็นแบรนด์เรามาก เขายิ่งรู้สึกน่าเชื่อถือ อันนี้ตามหลักจิตวิทยาของมาร์เก็ตติ้งหลักๆ เลยครับ ว่า ยิ่งเห็นแบรนด์นี้เยอะๆ เขายิ่งเชื่อใจ ดังนั้นเราก็ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เราให้บล็อกเกอร์ บินกับเราตลอด บินแล้วรีวิว ใครอยากบินกับเราแล้วไปรีวิว เอาตั๋วเครื่องบินไปเลย คุณขึ้นไปรีวิวได้เลย เราใช้การประชาสัมพันธ์ PR (Public Relations) พอสมควร” ปิ่นยศเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ถึงปัจจัยที่ทำให้สายการบินเติบโต
หลักการสำคัญที่ทำให้องค์กรอยู่รอด
อดถามไม่ได้ว่า ในมุมมองของเขา องค์กรที่จะอยู่รอดได้ในยุคหลังภาวะวิกฤติโควิด-19 ต้องเป็นองค์กรแบบไหน และไทยเวียตเจ็ตเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ปิ่นยศตอบพร้อมเสียงหัวเราะอารมณ์ดีว่า “ก็ต้องตอบว่าใช่เนอะ 2-3 หัวข้อที่ผมพูดไปตอนต้น องค์กรเราต้องมีเลย คือมีการวางแผน มีแผนสำรอง และมีทีมเวิร์คที่ดี นอกจากนี้ องค์กรที่คิดว่าจะไปข้างหน้าได้ในยุคนี้ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้ ทำยังไงให้ Income streams หรือแหล่งรายได้ มีช่องทางของรายได้ให้มากและไปในทิศทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น สายการบินเราหารายได้จากค่าตั๋วเครื่องบินใช่ไหมครับ
แต่อนาคตอาจจะได้เห็นอย่างอื่นด้วย เช่น นอกจากค่าตั๋วแล้ว อาจมีการขายประกัน ขาย Surf Skate ขายครีมกันแดด ฟังอย่างนี้แล้วอาจสงสัยใช่ไหมครับ ว่าเกี่ยวอะไร ผมขออธิบายว่า ทางสายการบินเรามี Database เยอะมาก
เรามีข้อมูลทั้งหมด ว่ามีคนบินเฉลี่ยปีละ 10 ล้านคน เราสามารถรู้ได้ว่า เดือนหน้าคนจะไปภูเก็ตมาก เมื่อคนไปภูเก็ต ไปทะเล อย่างไรเขาก็ต้องก็ใช้ครีมกันแดด และคน Gen Z วัยนี้ ก็อาจจะเล่น Surf Skate เรามีและเราเชื่อใน Database เป็นเรื่องของการเพิ่มช่องทางสินค้าที่เราจะ Offer ให้กับลูกค้าเลย เพื่อที่เมื่อเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา รายได้เราจะไม่หายไป 100%
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาเราไม่เคยหยุดบินในประเทศเลย แต่เราหยุดบินต่างประเทศช่วงโควิด-19 ผมก็หันไปขาย Cargo เครื่องบินบรรทุกสินค้า เราไม่เคยหยุดบินในประเทศเลยครับ แม้แต่ในช่วงโควิด-19 เลย และเรายังมี Cargo ด้วย เราเป็นสายการบินเดียวในไทย ที่ไม่เคยหยุดบินในประเทศเลย”
ปิ่นยศสะท้อนวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้า และการบริหารแหล่งรายได้ ที่น่าสนใจไม่น้อย
ปิ่นยศกล่าวด้วยว่า ประเด็นดังกล่าว สามารถนำไปใช้ได้กับทุกธุรกิจ ถ้าขายสินค้าเพียงหนึ่งอย่าง คุณต้อง Diversify กระจายความเสี่ยงและทำให้สินค้ามีความหลากหลาย
ปิ่นยศระบุถึงหลักต่อมาที่เขาเห็นว่า องค์กรในยุคอนาคตจำเป็นต้องมี
คือ Be To Market เพราะในสายตาของปิ่นยศ เขามองว่า ทุกวันนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คู่แข่งเกิดขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกดิจิทัล การที่เราจะนำเอาอะไรออกไปสู่ท้องตลาดสักครั้งหนึ่ง เราควรต้องมีพาร์ทเนอร์
“ผมมองว่า ถ้าเราจะทำอะไร ทำเองฝ่ายเดียวอาจไม่พอ แต่เราต้องมีพาร์ทเนอร์ เพราะธุรกิจในยุคใหม่ เมื่อแต่ละพาร์ทเนอร์ที่มีความเก่งในเรื่องต่างๆ มาเจอกัน มาทำงานร่วมกัน จะเกิดประโยชน์อย่างมาก แทนที่จะเป็นคู่แข่งกัน มาทำงานร่วมกันดีกว่า ผมคิดว่าหลายองค์กร ควรจะเอาแนวคิดนี้มาใช้
หลักสำคัญต่อมา คือ ต้นทุนจะอยู่ได้หรือไม่ อยู่ที่ cash flow ต้องบริหารต้นทุนให้ดีมากๆ กำไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน อันดับแรก ต้องนำเงินเข้ามาก่อน ต้องมีเงินหมุนให้ธุรกิจเดินต่อได้ อันนี้แผนระยะสั้นนะครับ ผมมองว่า cash flow หรือกระแสเงินสดถือว่าสำคัญมาก เหล่านี้คือมุมมองผมนะครับ เป็นสามหลักการที่สำคัญ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไทยเวียตเจ็ตทำอยู่แล้วและให้ความสำคัญมาโดยตลอดครับ” ปิ่นยศกล่าวตอกย้ำความเชื่อมั่นที่ว่าองค์กรของเขาพร้อมก้าวสู่ยุคแห่งอนาคต
Lifestyle หลงใหลกีฬา extreme-เคล็ดลับความอ่อนเยาว์ ไม่เครียด
เมื่อครบถ้วนทุกข้อสงสัยในโลกธุรกิจ บทสนทนาทิ้งท้าย จึงอดถามไม่ได้ถึงไลฟ์สไตล์ การดูแลตัวเอง เคล็ดลับที่ดูอ่อนกว่าเยาว์และอารมณ์ดีอยู่เสมอ จึงทำให้รู้ถึงความสามารถทางกีฬาที่น่าทึ่ง
ถามว่าอายุเท่าไหร่ บอกได้หรือไม่
ปิ่นยศตอบด้วยน้ำเสียงสดใสว่า “ผมอายุ 45 แล้วครับ ผมว่าตัวผมเองไม่ได้เป็นคน Healthy นะครับ แต่เป็นคนเล่นกีฬา และไม่ค่อยเครียด แล้วก็พยายามมี Passion หลายๆ อย่าง นอกจากนั้น ผมก็เป็นครูสอนดำน้ำด้วยครับ และชอบเล่น Surf ชอบดำน้ำ เล่น Kite Surf อาจเป็นกีฬาที่ทำให้เรายังหนุ่มได้อยู่มั้งครับ ( หัวเราะ) ผมเล่นมานานแล้วครับ เล่นตั้งแต่ 10 ขวบแล้วครับ ทั้งสกี Snow Board ผมจะมาสายนี้ สายกีฬา extreme และผมไม่ค่อยเครียด เพราะเขาก็มักบอกกันว่า ความเครียดอาจทำให้แก่เร็ว” ปิ่นยศบอกเล่าถึงความสุข ความรักและความหลงใหลที่เขามีต่อกีฬาที่เขาเรียกว่าแนว extreme ถามว่า ฝีมือระดับเป็นครูสอนดำน้ำ และเล่นกีฬาเหล่านี้มาตั้งแต่ 10 ขวบ กระทั่งถึงวันนี้ น่าจะเรียกว่าฝีไม้ลายมืออยู่ใน “ระดับเทพ” เลยก็ว่าได้
และเช่นเคย เสียงหัวเราะสดใสอย่างเขินอายและถ่อมตน เป็นคำตอบปิดท้ายของบทสนทนาที่ครบถ้วนทั้งวิสัยทัศน์ในการนำพาองค์กรก้าวข้ามผ่านวิกฤติได้โดยที่สายการบินไม่เคยหยุดบินในประเทศ รวมทั้งหลักสำคัญที่เขาเชื่อมั่นว่า จะนำพาองค์กรไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นใจ การให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ของคนในทีม การคาดการณ์ยุคสมัย การวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของลูกค้าในโลกยุคหลังโควิด-19 การให้ความเชื่อมั่น การบริหารต้นทุน การก้าวให้ทันเทคโนโลยี การอ่านและวิเคราะห์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ทั้งหลายทั้งปวงจึงไม่น่าแปลกใจ ว่าเพราะเหตุใด ชายคนนี้ จึงโลดแล่นอยู่ในโลกของธุรกิจการบินมายาวนานกระทั่งก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 และได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงถึงวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมและคาดการณ์ได้อย่างยาวไกล น่าชื่นชม
………….
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by สายการบินไทยเวียตเจ็ท