สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังส่งผลกระทบแผ่ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทะลุระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ไปแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตด้านพลังงานโดยแท้
แน่นอน ผลกระทบนี้จะส่งตรงไปยังประชากรทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้เห็นความพยายามของภาครัฐระดมเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่เกือบหมดทุกอย่างแล้ว เพื่อยันราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะดีเซลเป็นต้นทุนสำคัญด้านการขนส่ง การเดินทาง ซึ่งเชื่อมโยงกับค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง
ช่วงที่ผ่านตั้งแต่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กันยายน 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเครื่องมือหลักสำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยพยุงราคาพลังงานภายในประเทศไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าพลังงานที่สูงเกินไป เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงต้องแบกรับภาระการอุดหนุนต่อเนื่องยาวนาน และเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารจัดการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถกู้ยืมเงินตามกรอบกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จำนวน 20,000 ล้านบาท และขยายเพดานเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการ คาดว่าจะได้เงินมาเติมสภาพคล่องราวเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน มีรายจ่ายเดือนละประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันเดือนละ 5,000 ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,000 ล้านบาท ส่วนประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ติดลบ 21,838 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 4,988 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 26,826 ล้านบาท
นอกเหนือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับบทเจ้าภาพหลักช่วยพยุงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว รัฐบาลยังได้ผสมผสานใช้เครื่องมือด้านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมาตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 30 บาท/ลิตร โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาวางแนวทางบริหารราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายหลังจากมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีผลทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากเดิมจัดเก็บ 5.99 บาท/ลิตร ปรับเป็น 3.20 บาท/ลิตร หรือลดลง 2.79 บาท/ลิตร โดย กบน. มีมติลดภาระค่าน้ำมันดีเซลให้กับประชาชนทันที 2 บาท/ลิตร และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ได้ต่อเนื่องนานยิ่งขึ้น
ในด้านการบริหารจัดการมีการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลทุกชนิด เริ่มต้นที่ 5% หรือ B5 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคา B100 ที่มีราคาสูง ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
ด้วยสถานการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ประกอบกับภาครัฐก็ได้หามาตรการต่างๆ เพื่อให้ราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาท/ลิตร อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อจำกัดของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ และการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตลอดจนการใช้เครื่องมือต่างๆ จากภาครัฐแล้ว อาจทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาท/ลิตรได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนไม่อยากให้เกิดอย่างแน่นอน
เหนือสิ่งอื่นใด ภาวะวิกฤตราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเอาไม่อยู่นี้ ภาครัฐคงต้องอาศัยความร่วมมือของภาคประชาชนร่วมด้วยช่วยกันในการประหยัดพลังงานเป็นแรงเสริมที่จะเป็นพลังสำคัญให้ประเทศฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
(Advertorial)