"ดร.ศุภวุฒิ" คาด "รัสเซีย" จ้องเผด็จศึก "ยูเครน" ให้ได้ใน 3-5 วันนี้ เหตุยิ่งยืดเยื้อยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการแซงชั่น เตือนไทยอั้นราคาพลังงาน ทำประชาชนไม่ประหยัด รายจ่ายรัฐพุ่งส่งผลเสียระยะยาว
วันที่ 1 มี.ค. 2565 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "วัดพลัง 2 ขั้ว สงครามเศรษฐกิจ รัสเซีย-ยูเครน"
โดย ดร.ศุภวุฒิ กล่าวในช่วงนึงว่า รัสเซียพยยามยึดครองยูเครน โดยที่ปูตินคิดว่า 2 วันจบ แต่นี่เข้าวันที่ 6 แล้ว ก็ยังไม่สามารถยึดครองได้ ขณะที่แรงกดดันจากทั่วโลกหนักขึ้น รัสเซียจึงต้องรีบเผด็จศึกใน 3-5 วัน ตอนนี้ก็ล้อมกรุงเคียฟ เมืองหลวงแล้ว ตนมองว่าสิ่งที่ปูตินต้องการเห็นหลังบุกยึดกรุงเคียฟ คือล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีเซเลนสกี ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด แล้วให้บอกทั่วโลกว่ารัฐบาลยูเครนพึงพอใจให้รัสเซียยึดครอง ฉะนั้นประเทศอื่น ๆ จะไปคว่ำบาตรรัสเซียต่อไปทำไม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใน 3-5 วันนี้ รัสเซียคงโจมตียูเครนอย่างหนักและรุนแรง ยอมให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นพันเป็นหมื่น จุดสูงสุดของสงครามคงสักประมาณเสาร์-อาทิตย์ที่จะถึงนี้ หรืออาจเร็วกว่านั้น
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นถ้ารัฐบาลยูเครนยังรอดอยู่ได้ จะเป็นปัญหาสำหรับรัสเซียอย่างมาก เพราะแซงชั่นต่าง ๆ เริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจผลจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สมมติไม่เป็นไปตามคาดของปูติน รัฐบาลยูเครนยังอยู่ จะทำให้ยุโรป อเมริกา และประเทศอื่น ๆ แซงชั่นรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการนึงที่ตนไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นการจะถอนสถาบันการเงินของรัสเซียออกจากสวิฟต์ แซงชั่นแม้กระทั่งแบงก์ชาติของรัสเซียเอง
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า อย่างแรกนักท่องเที่ยวรัสเซียไม่มีแล้ว ค่าเงินของเขามาไม่ได้แน่ ตอนนี้ 3 รูเบิลเท่ากับ 1 บาท นอกจากนี้ราคาพลังงานจะแพงขึ้น ผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นค่าจ้าง จะเจอปัญหาเดียวกันทั่วโลก แต่ของเรามีปัญหาเพิ่ม คือการพยายามอั้นราคาพลังงาน โดยหวังดีไม่อยากให้ส่งผลกระทบ โดยที่กองทุนน้ำมันขาดทุน รัฐบาลก็เฉือนภาษีสรรพสามิต แต่ปัญหาคือทำแบบนั้นคนไทยก็ไม่ประหยัดพลังงานเท่าที่ควร เพราะราคาไม่ขึ้นมากกองทุนก็ขาดทุนต่อไป
ต้นทุนการนำเข้าก็สูงขึ้น เงินบัญชีเดินสะพัดลดลง โอกาสบาทอ่อนก็จะมากกว่าบาทแข็ง การไม่ปรับราคาน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก เป็นไปได้มากที่จะทำให้ต้นทุนการใช้พลังงาน ของเราที่นำเข้าทั้งหมด ขึ้นไปถึง 20% จากปีก่อน รายจ่ายที่ต้องจ่ายทั้งหมดดีไม่ดีอาจจะพุ่ง 2 ล้านล้านบาท
ตนมองว่าการอุดหนุนราคาพลังงานไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นแค่มาตรการระยะสั้น ทำให้ราคาถูกผิดปกติ มันไม่ใช่การแก้ปัญหา