พบรถรางหรือแทรม (Tram) ต้นแบบ ประกอบโดยฝีมือคนไทย จัดแสดงที่หน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนถึง 6 มี.ค.นี้ ก่อนจะนำมาวิ่งทดสอบจริงรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
วันนี้ (26 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ถนนกลางเมือง เขตเทศบาลนครขอนแก่น ได้มีการจัดแสดงรถราง หรือแทรม (Tram) ต้นแบบที่ประกอบโดยฝีมือคนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565” (Isan Creative Festival 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. ถึง 6 มี.ค. 2565
สำหรับรถราง หรือแทรมดังกล่าวได้ประกอบขึ้นจำนวน 2 คัน ได้แก่ส่วนหัวและส่วนท้ายของขบวน ออกแบบและวิจัยโดย ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และคณะ ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการหัวข้อ "ขนส่งสาธารณะเชื่อมเมือง" เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจ
อย่างไรก็ตาม สำหรับรถรางต้นแบบดังกล่าวยังคงต้องนำกลับไปปรับปรุงเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2565 ก่อนจะวิ่งทดสอบภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และใช้ในโครงการรถรางรอบบึงแก่นนคร ระยะทาง 4 กิโลเมตร ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น ก่อนที่จะนำมาใช้กับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT ขอนแก่น
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT ขอนแก่น สายแรก ช่วงบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ ระยะทาง 26 กิโลเมตร ใช้เกาะกลางถนนและไหล่ถนนมิตรภาพ บางช่วงเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น จากประตูมอดินแดงถึงสามแยกวงเวียน มข. มี 20 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับดิน 12 สถานี สถานียกระดับ 8 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น
โดยรูปแบบการลงทุนจะใช้เงินจาก บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัทในจังหวัดขอนแก่นประมาณ 20 บริษัท เมื่อได้รับสัญญาอนุญาตจากภาครัฐ จึงจะระดมทุนจากชาวจังหวัดขอนแก่นและผู้สนใจ ในลักษณะการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) จากนั้นจะเข้าจดทะเบียนเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โครงการนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี อุปสรรคสำคัญคือ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนงานที่จะก่อสร้างถูกเลื่อนมานานกว่า 2 ปี อีกทั้งยังต้องจัดหาเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน และประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง กรมการข้าว (เจ้าของที่ดินศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น) ส่งมอบที่ดินเพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างต่อไป